ช่วงเช้าของหลายวันที่ผ่านมา ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่แถบกรุงเทพมหานคร ติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด จากการจัดอันดับของเว็บไซต์ airvisual.com ที่วัดตามมาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศสหรัฐ หรือ Air Quality Index (AQI) และมีท่าทีว่าวันใดที่อากาศนิ่ง ไม่มีลม อันดับค่าฝุ่นในประเทศจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
ปีนี้ไม่ใช่ปีแรก แต่ปัญหาฝุ่นควันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาแล้วทุกครั้ง และทุกปี แต่ทุกครั้ง กลับดูเหมือนไม่เคยมีแผนรับมือมาก่อน
ปัญหาดังกล่าว ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า รัฐบาลจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาหรือรับมือกับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ที่เล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์อย่างไร หรือแท้จริงแล้วประเทศไทยมี 4 ฤดูกาล ไม่ใช่ 3 ฤดูแบบที่เราเคยรับรู้ คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว และ ‘ฤดูฝุ่น’ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นวนเวียนเป็นประจำทุกปี จนรัฐบาลต้องประกาศให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’
The Momentum สำรวจแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ภายหลังการประกาศวาระแห่งชาติ เพื่อไล่เช็คดูว่ารัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง
โครงการปฏิบัติการทำฝนหลวง (ทำแล้ว)
ภายใต้แผนการปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ ปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว 5 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้
ป้องกันหมอกควันข้ามแดน (ไม่ชัดเจน)
การป้องกันหมอกควันข้ามแดน คือ มาตรการระยะสั้น (พ.ศ. 2562 – 2564) จากการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ โดยใช้กลไกทุกระดับทั้งอาเซียน ระดับคณะกรรมการชายแดนภายใต้กระทรวงกลาโหม และระดับจังหวัดชายแดนคู่ขนานระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากการขนส่ง
ขสมก. เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศเก่าของขสมก. ให้เป็น รถโดยสารปรับอากาศ NGV ให้ครบ 489 คัน ภายในมีนาคม 2562 (ทำแล้ว)
บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ได้ทำสัญญาซื้อขายส่งมอบรถโดยสารปรับอากาศแบบใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน แก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา
แต่ทั้งหมด ก็มีเพียงแค่ 489 คัน ที่ถูกเปลี่ยนเป็นรถโดยสารปรับอากาศแบบใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จากจำนวนรถเมล์ทั้งหมดของกรุงเทพมหานครที่มี 2,771 คัน (ข้อมูลปี 2561) ซึ่งหมายความว่ารถเมล์ส่วนใหญ่ในระบบของขสมก. ยังคงเป็นรถปรับอากาศรุ่นเก่า มีค่ามาตรฐานไอเสียเกินกำหนด และมีควันดำค่อนข้างมาก
เปลี่ยนเครื่องมือตรวจควันดำแบบทึบแสง แทนเครื่องมือตรวจควันดำแบบกระดาษกรอง (ไม่ชัดเจน)
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เริ่มให้เจ้าหน้าที่เปลี่ยนมาใช้เครื่องมือตรวจควันดำแบบทึบแสงทั้งหมด แทนแบบเก่าที่เป็นกระดาษกรอง ภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เนื่องจากเครื่องมือตรวจควันดำแบบกระดาษกรองมักมีผลตรวจวัดมลพิษคลาดเคลื่อน ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการเก็บตัวอย่างไอเสีย
ติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษอากาศ ที่โรงงานอุตสาหกรรม (ไม่ชัดเจน)
การขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ในมาตรการระยะสั้น พ.ศ. 2562- 2564 กำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศในพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละออง จัดการติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติบริเวณปล่องของโรงงานอุตสาหกรรม 3 จำพวก เตาเผาเชื้อเพลิง หม้อไอน้ำ และแหล่งกำเนิดความร้อน โดยโรงงานจะต้องรายงานผลผ่านระบบออนไลน์ ตามประกาศกระทรวง อุตสาหกรรม จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานชัดเจนว่าโรงงานอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามมาตรการเหล่านี้แล้วหรือไม่
วางระบบการเดินทางร่วมกันของเจ้าหน้าที่ราชการ (ไม่ได้ทำ)
การวางระบบการเดินทางร่วมกันของเจ้าหน้าที่ในหน่วยราชการต่าง ๆ (Car Pooling) หรือ (Ride sharing) เกิดขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้รถยนต์ร่วมเดินทางไปด้วยกัน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นหนึ่งในการเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5
บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ ยูโร 6 ภายในปี พ.ศ. 2565 (ไม่ได้ทำ)
การควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ เป็นมาตรการระยะสั้น (พ.ศ. 2562-2564) บังคับมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ ยูโร 5 ภายในปี 2564 เร่งให้มีการจัดการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะ ทั้งระบบหลักและระบบรองให้มีประสิทธิภาพ ปลอดมลพิษ ปรับลดอายุรถที่ต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถประจำปี และเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชนมากขึ้น เช่น ทางจักรยาน ทางเดินเท้า
บังคับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm (ไม่ได้ทำ)
การบังคับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน 10 ppm ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2567 และบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ ยูโร 6 ภายในปี 2565 เป็นมาตรการระยะยาว (พ.ศ.2565-2567) เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของประชาชน
น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถัน 10 ppm เป็นน้ำมันที่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สมบูรณ์ ส่งผลให้ปล่อยฝุ่นละอองน้อยกว่าเชื้อเพลิงตามมาตรฐานยูโร 4 ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน โดยมีปริมาณกำมะถัน 100 ppm
ขยายเขตพื้นที่ในการจำกัดเวลา รถบรรทุกขนาดใหญ่ (ไม่ได้ทำ)
มาตรการนี้เป็นการขยายขอบเขตพื้นที่ และระยะเวลาการห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ที่ใช้น้ำมันดีเซลเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ โดยนับจากขอบเขตเส้นถนนกาญจนภิเษก จากมาตรการปกติที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงเวลา 06.00 น. – 10.00 น. และ 15.00 น. – 21.00 น. ทุกวันเว้นวันหยุดราชการ และหลังจากช่วงเวลาดังกล่าวสามารถเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ โดยมาตรการสิ้นสุดลงเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563
ยกระดับความเข้มงวดตรวจสอบและตรวจจับรถควันดำ (ไม่ชัดเจน)
การยกระดับความเข้มงวดตรวจสอบรถควันดำ เป็นมาตรการที่ปฏิบัติร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจรในการยกระดับความเข้มงวดการตรวจสอบตรวจจับรถโดยสารและรถบรรทุก เพื่อออกคำสั่งห้ามใช้รถยนต์ที่มีมลพิษเกินมาตรฐาน ที่กำหนดใช้ในการเดินรถและออกกฎกระทรวงเพื่อตรวจจับรองรับรถยนต์ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งแล้วตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกปี รัฐบาลควรมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน เมื่อสิ่งเหล่านี้มันเกิดซ้ำ ๆ จึงทำให้ประชาชนตั้งคำถามได้ว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำอะไรเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้บ้าง แต่กลับมีการซื้อเวลาอยู่ตลอด เช่น การเปลี่ยนเครื่องรถยนต์ ก็บอกว่าต้องใช้เวลา สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็วนกลับมาที่ประชาชนต้องป้องกันตัวเอง ซึ่งแสดงออกชัดว่าที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย
นอกจากนี้ รัฐบาลควรเริ่มแก้ปัญหาอย่างเข้มงวด ด้วยการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนและหันไปสนับสนุนขนส่งสาธารณะ แต่ระบบขนส่งสาธารณะประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์แย่มาก ส่งผลให้ประชาชนไม่อยากใช้บริการ และรถบริการสาธารณะ ก็ควรต้องมีการตรวจเช็กสภาพรถล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อเตรียมเข้าสู่ฤดูฝุ่น ส่วนการแก้ไขระยะยาวอย่างน้อยที่สุดระบบสาธารณะ รถเมล์ รถแท็กซี่ ต้องเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมดซึ่งรัฐบาลจะต้องยื่นมือมาช่วยเหลือ จัดการ และควรทำมาตรการทุกอย่างแบบต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนคุ้นเคยว่าต้องทำอะไรบ้าง
“ประชาชนทุกคนอยากได้อากาศที่ดีในการหายใจ และทุกคนทราบว่าอากาศที่ดีมักมากับงบประมาณที่มาก ประชาชนไม่ควรต้องใช้เงินในการซื้ออากาศบริสุทธิ์ในการหายใจ แต่ควรเป็นฝ่ายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญและเข้ามาช่วยเหลือ และทำเรื่องนี้ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ไม่ใช่ว่าอากาศกรุงเทพฯ ดี แต่นนทบุรีไม่ดี เชียงใหม่ไม่ดี แบบนี้ไม่ได้เรียกว่าการแก้ไขปัญหา” รศ.ดร.เจษฎา กล่าว
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เป็นแผนการที่ดี ครอบคลุมทุกอย่าง แต่รัฐบาลกลับขาดโรดแมปในการทำงาน ขาดการกำหนดเป้าหมายว่าปีนี้ทำอะไรไปแล้วบ้าง เช่น ปีนี้ตั้งเป้าลดค่า PM2.5 ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลสามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้ไหม ตอนนี้เหมือนกับรัฐบาลทำแผนรับมือไว้แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้
ปัญหารถยนต์เก่าที่ก่อมลพิษทางอากาศ ยังไม่ได้รับการแก้ไขเพราะระบบโครงสร้างภาษีที่รถยนต์ยิ่งเก่า ยิ่งสามารถลดหย่อนภาษีได้เยอะ จึงไม่เกิดแรงจูงใจให้ประชาชนซื้อรถยนต์คันใหม่ ส่วนเรื่องเกษตรกรมองว่ารัฐต้องทำการสนับสนุนเครื่องมือเกษตรกรที่ถูกต้องแทนการเผา โดยการสร้างแรงจูงใจด้วยการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเกษตรกร เมื่อมีมูลค่า เกษตรกรก็จะไม่เผา ยกตัวอย่างเช่น การนำเศษวัสดุเกษตรส่งไปยังโรงงานปศุสัตว์ โรงงานไฟฟ้าชีวมวล นอกจากนี้ ภาคเอกชนควรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบช่วยเหลือเกษตรกรด้วยเพราะเป็นเจ้าของโรงงานรับซื้อ ไม่ควรผลักภาระให้เกษตรกรเพียงอย่างเดียว
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าเป็นห่วง ประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานบรรยากาศทั่วไปอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ในองค์กรอนามัยโลกค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปคือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หมายความว่า รัฐบาลประเทศไทยอนุญาตให้ประชาชนมีปอดที่แข็งแรงกว่าชาติอื่นถึง 2 เท่า ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้มาจากรากฐานความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย หากประเทศไทยเข้มงวดมากก็ไม่มีใครอยากมาลงทุน แต่รัฐบาลควรแยกเรื่องเศรษฐกิจ ออกจากเรื่องสุขภาพ
รศ.ดร.วิษณุ ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลควรรายงานผลความเสี่ยงตามมาตรฐานกรมอนามัยโลก เพื่อประชาชนจะได้ตระหนักถึงความรุนแรงและป้องกันความเสี่ยงได้มากขึ้น อย่างที่ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น เคยพูดไว้ว่า วิธีที่จะทำให้ประชาชนของท่านปลอดภัยมากที่สุด คือการบอกความจริงกับประชาชน
Tags: ค่าฝุ่น, อากาศ, ทวงคืนอากาศบริสุทธิ์, วาระแห่งชาติ, PM2.5