“วิทยาศาสตร์บอกว่า ความเครียดมีประโยชน์” ชัชพล เกียรติขจรธาดา หรือ ‘หมอเอ้ว’ ยืนยันอย่างนั้นด้วยน้ำเสียงและท่าทางเป็นกันเอง ก่อนจะเริ่มอธิบายในสิ่งที่เราสนใจ ว่าความเครียดที่ดูเหมือนเป็นสภาวะอารมณ์ในเชิงลบ จะสร้างเสริมพลังทางบวกให้กับตัวเราได้อย่างไร

นอกจากในฐานะนายแพทย์แล้ว หลายคนน่าจะรู้จักชัชพลในฐานะนักเขียนสายป๊อป-ไซ (Pop Science) อย่างหนังสือเล่มล่าสุดของเขา ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างมนุษย์และเชื้อโรค ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า ‘สงครามที่ไม่มีวันชนะ’ ฟังดูราวกับการต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้นและเหนื่อยยาก แต่การดำดิ่งลงไปกับความรู้และนำกลับมาเล่าใหม่ กลับเป็นประสบการณ์ที่ไม่ต่างจากการเดินทางท่องโลกกว้างสำหรับชัชพล ยิ่งรู้มาก ไฟกระหายอยากถ่ายทอดยิ่งทวีคูณเพิ่มขึ้นเท่านั้น

เขาเริ่มมีความคิดอยากเขียนหนังสือตั้งแต่ 10 ปีก่อน จนถึงวันที่ตัดสินใจหันหลังให้กับอาชีพแพทย์รักษามะเร็ง ปัจจุบัน ชัชพล เกียรติขจรธาดา ในวัย 45 ปี เรียกตัวเองว่าเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์  ณ ตอนนี้มีผลงานหนังสือถึง 7 เล่มแล้ว

เร็วๆ นี้เขามีโปรเจกต์ที่วางแผนจะ ‘เล่า’ อีกครั้ง เป็นเรื่องราวของวิทยาศาสตร์แห่งความเครียด ว่าด้วยความเครียดมีผลต่อร่างกายอย่างไร เราสามารถใช้ประโยชน์จากความเครียดได้จริงไหม นี่จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เราอยากชวนคุณหมอพูดคุย และก่อนอื่นเราอยากชวนไปทำความรู้จักเขาให้มากขึ้นอีกสักหน่อย

คุณนิยามตัวเองในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง

เราไม่ได้พยายามนิยามชัดเจนขนาดนั้น เมื่อก่อนเคยมองว่าตัวเองเป็นนักเขียนที่เขียนเรื่องทางวิทยาศาสตร์ เอาสิ่งที่เรารู้มาบอกเล่าในสไตล์ของเรา เราชอบอธิบายวิทยาศาสตร์ในเชิงประวัติศาสตร์ ชอบศึกษาที่มาของสิ่งนั้นสิ่งนี้

มันเกิดจากความรู้สึกว่าอยากจะทำให้คนอื่นเข้าใจมันได้ง่าย ซึ่งอะไรพวกนี้มักอยู่ในตำราหนาๆ ภาษาค่อนข้างวิชาการ คนวงการแพทย์สมัยก่อนไม่ค่อยสนับสนุนให้เขียนออกมาในเชิง Popular Science ขนาดนั้น เพราะอยากคงข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงไว้ให้มากที่สุด แต่เรากลับมองว่ามันสามารถถ่ายทอดออกไปให้ทุกคนเข้าใจได้ ถ้าทำให้มันสนุก วิธีการของเราคือชำแหละข้อมูลออกมาเป็นประเด็น สร้างข้อคิดข้อสงสัยให้คนอยากรู้อยากติดตามต่อไป ถ้าจะนิยามจริงๆ ตอนนี้ เราอยากใช้คำว่า ‘นักเล่าความรู้’ มากกว่า เพราะเราไม่ลิมิตตัวเองอยู่แค่มีเดียเดียวแล้ว ความสนใจของเราหลากหลายขึ้นกว่าเดิมด้วย เราอยากจะสื่อสารสิ่งที่เราสนใจ โดยมีเป้าหมายคือพยายามทำความรู้ให้มันน่าสนุกและเสพได้ง่าย

สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้มีอะไรบ้าง

งานเขียนคือสิ่งที่เราโฟกัสที่สุด จะว่าไปแล้วเราค่อนข้างถนัดกับการเขียนหนังสือเป็นเล่มมากกว่า การเขียนหนังสือมันมีพื้นที่ให้เล่าได้อย่างอิสระ เราสามารถปล่อยพลังแบบเต็มที่ แล้วก็มีโปรเจกต์ที่กำลังวางแผนอยู่มาสักระยะหนึ่งแล้ว คือเราอยากเล่าผ่านสื่ออื่น อยากจะขยายขอบเขตของสิ่งที่ทำมากขึ้น อาจจะอยู่ในรูปแบบของวิดิโอหรือพอดแคสท์ เรารู้สึกว่าช่องทางพวกนี้ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย
ตัวเราเองก็ชอบดูพวกสาระความรู้อะไรแปลกใหม่ที่เขาทำเป็นวิดีโอเหมือนกัน มันน่าสนใจดี แล้วก็ชวนให้อยากดูต่อ หัวข้อที่จะเล่าก็คงไม่จำกัดอยู่แค่วิทยาศาสตร์หรือการแพทย์เท่านั้น เราอยากโฟกัสไปที่ความรู้ด้านอื่นด้วย เช่นเรื่องของประวัติศาสตร์สากล เรื่องของปรัชญาตะวันตก ประวัติของสิ่งที่แฝงไว้ด้วยที่มาที่ไปทางศาสนา รวมถึง Myth ตำนานต่างๆ

ฟังดูเหมือนหลากหลาย แต่สิ่งเหล่านี้มันมีความเกี่ยวโยงกันอยู่ หากเราย้อนอดีตกลับไปดูรากของวิทยาศาสตร์ จะพบว่ามีศาสตร์หลากหลายที่เกิดร่วมกันมา แล้วค่อยแตกออกไปเป็นสาขาอื่นๆ ถ้าได้ถ่ายทอดผ่านสื่อพวกนี้ คิดว่าคนจะเข้าใจวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น ส่วนงานบรรยายก็มีอยู่เรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นงานที่องค์กรติดต่อมามากกว่า บางทีเขาเห็นเรากำลังสนใจเรื่องนี้ ก็เชิญไปบรรยายในแง่มุมที่เป็นประโยชน์กับเขา จริงๆ ไม่ได้ตั้งว่าตัวเองจะเป็นนักสื่อสารในลักษณะพูดบรรยายขนาดนั้น ยังคงอยากให้อยู่ในรูปแบบของงานเขียนเป็นแกนหลัก

อยากให้คุณพูดถึงหนังสือเล่มใหม่ ‘สงครามที่ไม่มีวันชนะ’ สักหน่อย

เป็นหนังสือว่าด้วยการต่อสู้อันยาวนานระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรค หรือเชื้อดื้อยาที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มันคือปัญหาที่แวดวงสาธารณะสุขการแพทย์รู้กันดีอยู่แล้ว คนมักเข้าใจกันว่าเชื้อดื้อยาพวกนี้เกิดจากการใช้ยาเยอะเกินจำเป็น ซึ่งแท้จริงมันมีอะไรมากกว่านั้น เราถึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพราะคิดว่ามันน่าสนใจสำหรับคนทั่วไป

เราอยากเริ่มปูพื้นฐานให้ผู้อ่านเห็นภาพก่อนว่าสมัยก่อนการติดเชื้อเป็นเรื่องที่อันตรายและน่ากลัวมาก จนกระทั่งถึงยุคที่มีการผลิตยาปฏิชีวนะออกมาใช้กันอย่างดาษดื่นเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน สิ่งที่ทางการแพทย์รู้คือยาปฏิชีวนะเมื่อเราใช้ไปนานๆ วิวัฒนาการของแบคทีเรียจะเกิดขึ้น ส่งผลให้อาการเชื้อดื้อยาตามมา
แม้สาธารณสุขจะพยายามคิดค้นยาใหม่อยู่เรื่อยๆ ก็ไม่สามารถทันต่อวิวัฒนาการของแบคทีเรียได้ ไอเดียของหนังสือเล่มนี้จะเป็นการเล่าประวัติศาสตร์ให้คนเข้าใจถึงการมีอยู่ของปัญหา เราใช้ชื่อว่า ‘สงครามที่ไม่มีวันชนะ’ ก็เพราะมนุษย์กับเชื้อโรค ต่างฝ่ายต่างเปลี่ยนแปลงปะทะต่อสู้กันมายาวนานเหลือเกิน มันยังเป็นสงครามที่มนุษย์ไม่อาจเอาชนะได้ เราเพียงต้องการสื่อสารว่า การอยู่ร่วมกับบางคนหรือบางสิ่งที่ดูเหมือนจะยาก อาจจะต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่มันเป็น และปรับตัวเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตของตัวเองต่อไปได้อย่างปกติสุข

อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจในการผลิตคอนเทนต์ใหม่อยู่เรื่อยๆ

เรามองว่าวิทยาศาสตร์มันสำคัญ การเรียนแพทย์มาทำให้ตระหนักเสมอว่าความรู้ทางวิทยาศาสร์ ไม่ใช่เพียงรักษาคนเจ็บคนป่วยเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้คนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ แล้วสามารถนำไปใช้ในการมองโลกหรือในการใช้ชีวิตของเขา มันก็เปรียบเหมือนเป็นการเยียวยารักษาหรือปกป้องพวกเขาเช่นกัน

คนส่วนใหญ่มักจะมีชุดความคิดที่ว่า วิทยาศาสตร์ต้องอยู่ในลักษณะของงานวิจัยหรืองานวิชาการเกี่ยวกับการคิดค้น การอธิบายโลก โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ซึ่งอาจจะยังไม่เป็นที่สนใจหรือว่าเข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนทั่วไป

ว่ากันตามตรง ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยแทรกซึมเข้าไปในสังคมขนาดนั้น เลยกลายมาเป็นไอเดียเมื่อประมาณ 10-15 ปีที่แล้ว ว่าอยากจะเขียนหนังสือที่เป็นแนววิทยาศาสตร์ เราอยากผลิตสื่อความรู้ออกมาให้มีลักษณะเหมือนโรงเรียนในบ้าน ความหมายของโรงเรียนในบ้านตรงนี้มีอยู่สองอย่าง คือมันจะไม่เป็นความรู้ที่ดูวิชาการเกินไป เน้นเล่าเรื่องให้มันน่าสนใจ เด็กหรือเยาวชนอ่านด้วยตัวเองแล้วรู้เรื่อง

ความคิดนี้ยิ่งทรงพลังขึ้นเมื่อเรามีลูก นั่นทำให้เราเริ่มนึกถึงขั้นตอนต่อไปคือเรื่องการศึกษาของลูก หากเราเอาเรื่องเข้าใจยากๆ พวกนี้มาเล่าให้มันสนุก ก็คงจะสร้างพื้นฐานความรู้ที่ดีให้กับเด็กได้ อย่างที่สอง เราตีความหมายของโรงเรียนในบ้านในลักษณะความรู้ที่คนทั่วไป ไม่ว่าทำงานสาขาอาชีพอะไรก็ตาม เขาสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับตัวเขาได้

เราเคยดูแชแนลในยูทูบที่ชื่อ Point of view เป็นรายการที่น้องผู้หญิงคนหนึ่งทำวิดิโอความรู้ เล่าเรื่องเกี่ยวกับวรรณกรรม วรรณคดีไทย นิทานพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ แล้วเราคิดว่าเจ๋งดีที่สามารถเอาวรรณคดีไทยมาเล่าให้เป็นเรื่องสนุก ก็เกิดไอเดียแรงบันดาลใจจากตรงนั้น เพียงแค่เราอยากถ่ายทอดเรื่องที่เรารู้ในแบบของเรา อีกอย่างหนึ่งเราเป็นคนที่ชอบดูหนัง ดูซีรีส์ ซึ่งอะไรพวกนี้เป็นทรัพยากรที่หยิบนำมาใช้ได้ค่อนข้างเยอะ จนกลายมาเป็นสีสันในการเล่าเรื่องของเรา ทั้งการลำดับเหตุการณ์ให้น่าติดตาม และการเรียบเรียงข้อมูลให้คนอ่านเข้าใจแบบเห็นภาพ

ก่อนจะสื่อสารออกมา คุณต้องเตรียมตัวและศึกษาเพิ่มเติมมากน้อยแค่ไหน

ช่วงที่เริ่มเขียนแรกๆ เราซื้อหนังสือเกี่ยวกับศิลปะการเขียนมาอ่านเยอะมาก ถามว่าเตรียมตัวหรือศึกษาเพิ่มเติมแค่ไหน เราเป็นคนที่สนใจชื่นชอบการเล่าเรื่องอยู่แล้ว แต่การจะนำวิทยาศาสตร์สุขภาพหรือประวัติศาสตร์มาอธิบายมาย่อยให้มันสนุกสำหรับคนทั่วไป ก็เป็นเรื่องท้าทายพอสมควร จนถึงตอนนี้ก็ยังฝึกฝน ยังเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เราสนใจ และวางแผนโปรเจกต์ใหม่อยู่ตลอด เพื่อต่อยอดพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เรามีอะไรที่อยากเล่าอีกเยอะในทิศทางของตัวเอง

เคยมีช่วงเวลา Information overloaded หรือการมีข้อมูลในหัวเยอะเกินไปจนจัดการไม่ถูกบ้างไหม

มีนะ จนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ บางครั้งข้อมูลในหัวของเราเยอะ ก็มีช่วงที่บล็อค เขียนไม่ออก ไม่รู้จะเรียบเรียงงานออกมาอย่างไรดีเหมือนกัน จำได้ว่าตอนอายุน้อยๆ เคยตกอยู่ในสภาวะเครียดหนัก จนไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง แพสชั่นมันหายไปไหน แต่พอเข้าสู่สภาวะเปลี่ยนผ่านหลายๆ ครั้ง มันก็ทำให้เราเข้าใจวงจรธรรมชาติของชีวิต ช่วงเวลาแบบนั้นมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ผ่านมาและผ่านไป

อารมณ์ของมนุษย์ก็เหมือนกัน สามารถเปลี่ยนไปตามปัจจัยภายนอกได้เสมอ เมื่อมันส่งผลกระทบมาถึงปัจจัยภายในของเรา เพราะฉะนั้นเวลาท้อ เครียด กดดัน หรือขี้เกียจขึ้นมา สิ่งที่เราทำคือจัดการตัวเอง ซึ่งการจัดการตัวเองของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

เราต้องเข้าใจก่อนว่ามันเป็นเรื่องปกติ คนเราต้องมีช่วงท็อปฟอร์ม ช่วงฟอร์มตกอยู่แล้ว แน่นอนว่าในการทำงานมันมีตอนที่เราทำแล้วสนุกกับตอนที่เบื่อ พอเรารู้ว่าจะมีวงจรพวกนี้เกิดขึ้น ก็เลยไม่ได้เครียดกับมันมากจนเกินไป ช่วงที่ทำได้ก็ทำ ช่วงที่ทำไม่ได้ก็พัก ไม่ได้ไปกะเกณฑ์หรือฝืนตัวเองขนาดนั้น แค่เปลี่ยนไปให้เวลากับอย่างอื่นเพื่อเบี่ยงเบนโฟกัส เอาแค่ว่าควบคุมให้ทุกอย่างยังอยู่ในแผนของเราก็โอเค เพราะว่ายิ่งต่อสู้กับมัน ยิ่งทำให้สมองของเราติดอยู่กับสภาวะอารมณ์นั้น จนกลไกการทำงานของสมองไม่ได้หยุดพัก ไม่มีจังหวะให้ซ่อมแซม นั่นก็คงไม่ได้ส่งผลดีต่อสิ่งที่เราทำในระยะยาวอยู่แล้ว

แล้วเราสามารถควบคุมตัวเองได้ไหม หากบอกว่าเหตุเกิดของความเครียดมาจากสารเคมีในสมอง

ขอใช้คำว่าสามารถปรับพฤติกรรมได้แล้วกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับวิธีคิด ถ้าเรามองว่ามันเป็นปัญหา ก็จะยิ่งเพิ่มความวิตกกังวล ยิ่งเพิ่มความเครียดจนส่งผลต่อร่างกายขึ้นไปอีก หากพิจารณาดีๆ จะรู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้เลยที่ไม่เปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในความไม่แน่นอนทั้งสิ้น และความกังวลมันก็เป็นภาวะปกติของมนุษย์ เพียงแต่พฤติกรรมการแสดงออกความเครียดของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนชิลล์ได้ แต่บางคนก็จัดการกับความเครียดของตัวเองไม่ได้เลยก็มี

สมัยนี้คนเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะซึมเศร้ากันมากขึ้น ซึ่งก็ต้องถามต่อว่าเขามีความพยายามที่จะหาวิธีบำบัดตัวเองเพื่อออกจากสภาวะนั้นมากน้อยแค่ไหน ในปัญหามันจะมีที่เราสามารถจัดการได้ด้วยตัวเองกับปัญหาที่เกินความสามารถของเราในการจัดการด้วยตัวเองเสมอ กรณีสำหรับบางคนที่เครียดจนอยู่เหนือการควบคุมแล้ว การเลือกระบายความรู้สึกให้คนที่พร้อมรับฟัง การปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อขอรับยามาปรับสารเคมีในสมอง ก็เป็นหนทางที่ช่วยย่นระยะเวลาดำดิ่ง

ยามตกอยู่ในสภาวะอารมณ์เหล่านั้น มันควรจะมีทัศนคติที่ว่า อยากเอาตัวเองออกมาจากเรื่องราวเหล่านั้นก่อน เพื่อพิจารณาทบทวนตัวเองลำดับความสำคัญว่าสิ่งใดที่เราทำได้ สิ่งใดที่เราทำไม่ได้ แล้วก็เอาพลังงานไปโฟกัสกับเรื่องที่เราสามารถทำและเปลี่ยนแปลงได้ นี่คือการปรับพฤติกรรมที่จะช่วยให้สารเคมีในสมองนั้นลดลง

คุณหมอช่วยอธิบายเรื่องวิทยาศาสตร์ความเครียดคร่าวๆ ได้ไหม

ต้องบอกก่อนว่าความเครียดเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากฮอร์โมนชื่อคอร์ติซอล ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจและร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ภาวะเครียดมีทั้งด้านดีและด้านลบ ด้านดีคือเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น อยากควบคุมสถานการณ์ อยากทำให้สำเร็จ ในทางกลับกันภาวะด้านลบทำให้รู้สึกกดดัน ไม่มั่นคง ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ร่างกายจะตอบสนองต่อความเครียดทั้งสองสภาวะคล้ายกัน หากแต่ส่งผลต่อจิตใจต่างกัน

ความเครียดด้านลบยังแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ระดับที่หนักที่สุดมักเป็นเรื่องสาหัสกับชีวิต ค่อนข้างเป็นปัญหาระยะยาวจนยากที่จะถอนจากสภาวะอารมณ์นั้นได้ เช่น ป่วยเป็นโรค ติดหนี้ ทำให้ไม่สามารถขจัดความกังวลได้ในทันที รองลงมาก็จะเป็นความเครียดในระดับที่กดดันอย่างหนัก ถึงแม้ปัญหาจะไม่ร้ายแรง เช่น ความเครียดจากที่ทำงาน ความเครียดเรื่องรายรับรายจ่าย
ระดับถัดมาเป็นความเครียดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน จะไม่ค่อยรุนแรงมากนัก เช่น งานเยอะ รถติด พักผ่อนน้อย และสุดท้ายคือความเครียดระดับเล็กที่สุด เป็นภาวะพารานอยด์ที่เกิดจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ความเครียดระดับนี้ก็สามารถไปกระตุ้นให้ความเครียดระดับอื่นรุนแรงขึ้นได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าเรารู้จักแยกแยะปัญหาที่ทำให้เกิดความเครียดเหล่านี้ ก็จะช่วยให้จัดการกับสภาวะอารมณ์ของตัวเองง่ายขึ้น

เราเคยบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์ความเครียดไปแล้วในประเด็นที่ว่า ทำไมความเครียด ซึ่งเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ถึงมีผลเสียกับร่างกายซึ่งเป็นรูปธรรม นั่นเพราะปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีระบบประสาทอัตโนมัติสองระบบ ระบบหนึ่งเรียกว่าระบบประสาท Sympathetic ทำความเข้าใจง่ายๆ ก็คือระบบเตรียมตัวสู้หรือหนี ซึ่งมีกลไกคือเพิ่มการไหลเวียนของเลือด หยุดการทำงานของระบบย่อยอาหาร ขยายม่านตา และหายใจเข้าเพื่อนำปริมาณอากาศไปใช้ในร่างกายมากกว่าปกติ ส่วนอีกระบบหนึ่ง คือระบบประสาท Parasympathetic ที่เป็นระบบพักซ่อมแซมตัวเอง กลไกก็คือจะปรับให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานเป็นปกติ

ทั้งสองระบบทำงานคู่กัน แต่ไม่ได้ทำงานพร้อมกัน ถ้าระบบหนึ่งทำงานเยอะ อีกระบบจะทำงานน้อย เพราะฉะนั้นเวลาที่ร่างกายเราเข้าสู่สภาวะเครียด ระบบ Sympathetic จะทำงานหนัก จนอีกระบบหนึ่งไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าเปรียบเป็นรถก็เหมือนเป็นการเร่งเครื่องตลอดเวลา ไม่ได้พักหรือทำการซ่อมแซม ร่างกายของเราโดยรวมก็จะอ่อนแอลง ป่วยง่ายขึ้น แก่เร็วขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นการบรรยายครั้งต่อไปจะเป็นการอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ความเครียดในแง่ประโยชน์ด้านดีให้คนได้เข้าใจอย่างละเอียด

ทำไมคุณถึงยืนยันว่าความเครียดมีประโยชน์

ความเครียดเป็นผลดีกับร่างกายได้นะ หากนำมาใช้อย่างถูกทาง ความเครียดไม่ได้เป็นสิ่งไม่ดี มันเป็นสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเวลาสมองถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าจนทำให้รู้สึกไม่มั่นคง แต่ขึ้นอยู่กับว่าความเครียดนั้นส่งผลต่อจิตใจในลักษณะอย่างไร ความเครียดในปริมาณที่น้อยกับปานกลางจะช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น สมองตื่นตัว โฟกัสได้ดีขึ้น

แต่ถ้าความเครียดมีมากเกินไปหรือลากยาวเกินไป อันนี้อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย หากต้องการใช้ประโยชน์จากความเครียดก็คงต้องขึ้นอยู่กับทัศนคติวิธีคิดด้วย เพราะมันจะนำไปสู่การปรับพฤติกรรมของเรายามเผชิญปัญหา

ปัจจุบันมีงานวิจัยและบุคคลจำนวนไม่น้อยที่พิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขาประสบความสำเร็จจากการลงมือทำในสิ่งที่รัก โดยที่ในกระบวนการทำงานของเขามีความเครียดเป็นแรงขับ ยกตัวอย่างเช่น สตีฟ จ็อบส์ เขาเป็นคนอารมณ์รุนแรงพอสมควร เวลาเครียดหรือโมโห เขาจะแสดงอารมณ์ออกมาอย่างก้าวร้าว แต่มันก็ช่วยให้เขาลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่เชื่อด้วยพลังแห่งอารมณ์เหล่านั้น กระทั่งผู้คนเคารพยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น

มีคำแนะนำสำหรับคนที่ต้องการเยียวยาตัวเองจากความเครียดที่มากเกินไปไหม

ปกติคนเราจะมีระบบอัตโนมัติทำหน้าที่ดูแลร่างกายและปรับจิตใจให้กลับมาเป็นปกติอยู่แล้ว แต่กระบวนการทำงานตรงนั้นย่อมใช้เวลา ในทางวิทยาศาสตร์ มันก็มีวิธีจัดการกับสภาวะอารมณ์ของตัวเองให้มั่นคงด้วยเทคนิคทางกายภาพเหมือนกัน นั่นคือการออกกำลังกายและการทำสมาธิเพื่อฝึกโฟกัสกับบางสิ่งบางอย่าง มีงานวิจัยบ่งบอกว่ามันเป็นวิธีที่ช่วยลดความเครียดได้ในระยะยาว โดยเฉพาะการออกกำลังกาย สามารถเปลี่ยนระดับสารเคมีในสมองกับร่างกายได้ดีเลยทีเดียว

จริงๆ แล้วการออกกำลังกายเป็นสภาวะธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ กลไกการทำงานต่างๆ ภายในร่างกายถูกออกแบบวิวัฒนาการมาเพื่อการเคลื่อนไหว ใช้พลังงาน และหลั่งสารเคมีออกมา ร่างกายจะได้ซ่อมแซมและแข็งแรงขึ้น แต่ก็มีคนที่พอเครียดจนถึงจุดหนึ่งแล้ว ฉุดตัวเองไม่ขึ้น ไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่สภาวะอารมณ์ปกติจนถึงขั้นมีปัญหาทางด้านสังคม มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ซึ่งคนกลุ่มนี้ถ้าได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชโดยตรงก็จะแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่า

แม้การแพทย์เจริญก้าวหน้ามากขึ้น แต่คนก็มีปัญหาสุขภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน คิดว่าเพราะอะไร

สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปมีส่วนทำให้คนในสังคมปัจจุบันเกิดปัญหาสุขภาพมากขึ้น อย่างที่บอก เชื้อโรคก็มีวิวัฒนาการของตัวมันเอง เมื่อการติดเชื้อแบบใหม่เกิดขึ้น โรคใหม่ก็เกิดขึ้น ปัญหาสุขภาพย่อมหลากหลายไปด้วย ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้นมีเยอะมาก
ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ค่านิยม พันธุกรรม อาหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดความเครียดของคนสมัยใหม่ ความเป็นเมืองคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์ ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี การดิ้นรนต่อสู้ เพื่อปรับตัวให้เท่าทัน มีผลต่ออารมณ์ของเราทั้งทางตรงและทางอ้อม ยิ่งมีสิ่งเร้ามาก ยิ่งตอบสนองไว กระทั่งภูมิคุ้มกันคนเราต่ำลง ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะปรับตัว หรือมีวิธีการจัดการตัวเองอย่างไร

เรื่องค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในไทยทุกวันนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งเหมือนกัน เพราะยาที่ดีกว่า อุปกรณ์ที่ดีกว่า โปรแกรมการรักษาที่ดีกว่า มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก กลายเป็นว่าการรักษาในโรงพยาบาล ไม่ได้เป็นตัวเลือกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับคนบางกลุ่มมันเป็นสิ่งที่สร้างความลำบากให้กับพวกเขาเสียด้วยซ้ำ

ทุกวันนี้หลายคนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพด้วยตัวเองจนกลายเป็นเทรนด์ มีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

เรามองว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ตามยุคสมัยที่เกิดขึ้น และจะคงอยู่ต่อไปในระยะยาว มันมีคนที่สนใจเรื่องการดูแลสุขภาพนานแล้ว แต่ช่วงแรกเกิดขึ้นด้วยความจำเป็นมากกว่า ส่วนใหญ่มักจะพบในกลุ่มผู้สูงอายุที่พยายามดูแลตัวเองเมื่อรู้ตัวว่าป่วย เนื่องจากค่ารักษาในโรงพยาบาลค่อนข้างสูง ยิ่งป่วยหนักยิ่งแพง พวกเขาถึงหันมาใส่ใจสุขภาพร่างกายมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่าย ต่อมาก็เริ่มส่งผลไปที่กลุ่มผู้ใหญ่วัย 30-40 ปี เนื่องจากหลายคนทำงานหนักจนล้มป่วยและเป็นโรค ค่านิยมเรื่องดูแลสุขภาพจึงไม่จำกัดเฉพาะอยู่แค่ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยแล้ว คนทั่วไปหันมาใส่ใจสุขภาพ พยายามป้องกันไม่ให้เกิดโรค แล้วมันก็กระจายไปที่คนอายุน้อย ซึ่งเป้าหมายก็จะเป็นไปในลักษณะของการทำเพื่อให้ตัวเองดูดีขึ้นด้วยสุขภาพที่ดี พอทำแล้วเกิดประโยชน์ คนก็พากันทำตามต่อมาจนมันเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของพวกเขา

ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารและการส่งต่อที่เร็วมาก การสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญสำคัญอย่างไร

มันมองได้หลายมุมเหมือนกัน เคยได้ยินคำว่าประวัติศาสตร์ถูกบันทึกโดยผู้ชนะไหม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลนี้น่าเชื่อถือ ข้อมูลนี้ถูกต้อง อย่างแรกเลย ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในแวดวงนั้นคุณจะไม่มีทางรู้ทุกอย่างแจ่มแจ้งหรอก แม้แต่คนในแวดวงก็เหมือนกันเพราะเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ไม่ได้มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่เขาบันทึก แต่สิ่งหนึ่งที่เรามองว่าสำคัญก็คือความเชื่อใจในตัวผู้เชี่ยวชาญ
คนที่เขียนคงไม่ใช่อยู่ๆ นึกจะบันทึกอะไรก็ได้ เขาย่อมมีการศึกษาหาข้อมูลมาในระดับหนึ่ง ถึงได้มาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องใช้ความเชื่อใจ เพราะถ้าเราปิดกั้นมันก็อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสหรือการรับรู้ข้อมูลบางอย่างไป สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือวิจารณญาณและทักษะการแยกแยะของผู้รับข้อมูลมากกว่า บางทีสิ่งที่ถูกต้องเป็นจริงในยุคสมัยหนึ่ง ต่อมามีคนพิสูจน์ได้ว่ามันสิ่งที่เราเข้าใจผิด ทำผิดมาตลอด เราอาจจะต้องพิจารณาดูกันเป็นบริบทไป

แต่การตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เพราะถ้าเป็นข้อมูลที่ผิดจะได้รีบแก้ไขความเข้าใจให้ถูกต้อง ทุกวันนี้มีบทความสุขภาพมากมาย อย่างพวกกินวิตามินตัวนั้นตัวนี้แล้วเห็นผลภายในสองสามเดือน ถ้าไปถามหมอ หมออาจจะบอกว่าไม่ได้ผลหรอกแต่กินได้ไม่เสียหาย สำหรับบางคนการรับข้อมูลตรงนั้นมาแล้วได้ทำตามความเชื่อก็สร้างความสบายใจให้กับเขา ในมุมมองส่วนตัวเราว่าไม่ใช่เรื่องผิด แน่นอนการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์มันสร้างความมั่นใจ สร้างความน่าเชื่อถือให้พวกเขาได้ดีกว่าอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้คนเข้าใจง่ายและข้อมูลไม่ถูกบิดเบือนไปก็อีกเรื่องหนึ่ง

ผลของการมีข้อมูลไม่ถูกต้องเป็นอย่างไรบ้าง

ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ข้อมูลแปลกๆ มีเยอะอยู่แล้วตั้งแต่ไหนแต่ไร สิ่งที่ต่างไปคือโลกทุกวันนี้มีเทคโนโลยีทำให้คนสามารถส่งต่อข้อมูลง่ายขึ้น เร็วขึ้น ข้อมูลที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องถึงแพร่กระจายออกไปบนโลกออนไลน์ปะปนกันเต็มไปหมด ส่วนตัวมองว่าในแง่หนึ่งมันช่วยทำให้คนเจนเนอเรชั่นใหม่มีสติและรู้จักใช้วิจารณญาณในการเสพสื่อมากขึ้น เพราะถ้าเขาเอะใจ สนใจ ศึกษาเพิ่มเติม นั่นก็ช่วยทำให้เขามีทักษะในการคิดวิเคราะห์มากขึ้นด้วย

บางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าผิดในบริบทหนึ่ง อาจจะถูกในอีกบริบทหนึ่งก็ได้ หากไม่ไตร่ตรองให้ดี เราก็อาจจะเสียโอกาส คนสมัยนี้เลือกเสพข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยประกอบการตัดสินใจในชีวิต ถ้าเราได้ข้อมูลที่มีหลักฐานแน่ชัด โอกาสที่เราจะไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการย่อมมากกว่า เช่นเราอยากหายป่วย ถ้าเราเลือกการรักษาที่มีผลการยืนยันมากกว่า โอกาสที่เราจะหายก็คงมากกว่า แต่บางครั้งคนเราก็ต้องการข้อมูลที่สร้างความสบายใจ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ถูกต้อง แต่ถ้ามันมีคุณค่าทางจิตใจ ทำให้พวกเขารู้สึกเชื่อมต่อกับสิ่งที่พวกเขาเชื่อก็คงไม่ได้ผิด ร้ายแรงอะไร เพราะฉะนั้นอาจจะต้องพิจารณาจากบริบทปัจจัยหลายอย่าง

จากการทำงานในช่วงที่ผ่านมา คุณพบว่าคนทั่วไปได้รับสารในแบบที่คุณต้องการสื่อสารมากน้อยแค่ไหน

เคยคิดเรื่องนี้เหมือนกันว่าคนจะเข้าถึงหรือเข้าใจสิ่งที่เราสื่อสารออกไปได้อย่างที่ตั้งใจไหม มีอยู่ช่วงหนึ่งเราคาดหวังมากแต่สุดท้ายก็กลับมาจุดเดิม คือเราแค่พยายามเล่าสิ่งที่เรารู้ เราสนุกกับการถ่ายทอดในแบบของเรา แล้วคนที่อ่านหนังสือหรือมาฟังเขาก็ชอบของเขาเอง ไม่รู้ว่าทำไม อาจจะต้องไปถามพวกเขา ที่ผ่านมาเราคิดว่าก็ประสบความสำเร็จในส่วนที่ตั้งใจไว้ประมาณหนึ่งนะ
เพราะเราได้ทำสิ่งที่เราต้องการจะทำจริงๆ การเขียนงานสารคดีในรูปแบบของการศึกษา ว่าด้วยเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ออกมาสนุกและเกิดประโยชน์กับทุกคนคือความมุ่งหวังของเราแหละ แต่เราเชื่อว่าสังคมมีกลุ่มคนที่รออ่านหรืออยากรู้อะไรพวกนี้อยู่ เราแค่ทำออกมาในแบบของเราเพื่อเติมเต็มพวกเขา ทำให้เขามีความรู้ที่ถูกต้องจากความสนใจและความพยายามของเรา ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นหมอรักษาคนแล้ว อย่างน้อยสิ่งที่เราทำมันก็คงจะเป็นประโยชน์กับใครสักคนอย่างแน่นอน นั่นถึงได้ทำให้เรายังมีใจอยากทำต่อไปเพราะเราคิดว่ามันเป็นความสุข