เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้ยากไร้ราว 7,000 คนซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในยุโรป ได้เข้าร่วมพิธีมิสซาที่มหาวิหารนักบุญเปโตรในฐานะแขกพิเศษ และหลังจากเสร็จสิ้นพิธี สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสก็รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับบรรดาผู้ยากไร้ราว 1,200 คน
วันนั้นคือ ‘วันสากลแห่งคนยากจน’ (World Day of the Poor) วันแรกของโลก วันสำคัญที่มีจุดกำเนิดมาจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระสันตะปาปาองค์ที่ 266 แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก
ในวันนั้น พระองค์ตรัสกับฝูงชนประโยคหนึ่งว่า
“สิ่งที่เราลงทุนไปกับความรักจะยังคงอยู่ สิ่งอื่นๆ ที่เหลือจะสูญสลายไป”
เป็นความโชคดีของ The Momentum ที่มีโอกาสได้รับความรู้จากอาจารย์ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย ที่ปรึกษาสมเด็จพระสันตะปาปา ด้านสื่อสารสังคม สำนักวาติกัน และนายกสภามหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ในช่วงขณะที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนพม่าและบังกลาเทศ
เนื้อหาต่อจากนี้อาจจะทำให้ท่านพบคำตอบว่า เหตุใด ‘วันสากลแห่งคนยากจน’ และการเสด็จเยือนพม่าเป็นครั้งแรกจึงถือกำเนิดขึ้นในสมณสมัยของพระองค์
การเสด็จเยือนพม่าของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสมีที่มาอย่างไร
คริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม มีคริสตชนอยู่ประมาณ 1,300 ล้านคนในทุกประเทศทั่วโลก และมีพระสันตะปาปาเป็นประมุข หน้าที่ขององค์พระประมุขคือต้องไปเยี่ยมเยือนคริสตชน แต่พระสันตะปาปาไม่สามารถไปเยี่ยมได้หมดทุกแห่งหน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูว่าควรจะไปที่ไหน
พระสันตะปาปาแต่ละองค์มีความตั้งใจหรือมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ในสมัยก่อนซึ่งการเดินทางไม่สะดวกเหมือนกับสมัยนี้ พระสันตะปาปาจะไม่เสด็จไปในที่ไกลๆ จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งสมณสมัยของพระองค์คือประมาณ 27 ปี พระองค์เดินทางไปเยี่ยมคริสตชนถึงประมาณ 130 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ต่อมาในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ท่านเป็นพระสันตะปาปาอยู่ 8 ปี แต่ท่านเดินทางไม่มาก และส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรปกับอเมริกา พอมาในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ท่านขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อสี่ปีที่แล้ว แต่สุขภาพของท่านไม่ค่อยดี ท่านมีปอดข้างเดียว อย่างไรก็ตาม พระองค์ท่านตัดสินใจเดินทางไปเยี่ยมเยือนคริสตชนในประเทศต่างๆ มากถึง 20 ครั้ง หากนับพม่าและบังกลาเทศ ก็ทั้งหมด 22 ครั้ง
ที่ผมพูดเรื่องนี้เพราะต้องการจะบอกว่าจริงๆ แล้วท่านไม่ควรเดินทางมาก เนื่องจากเรื่องสุขภาพ แต่สังเกตได้ว่าท่านโปรดการเดินทางถ้าเป็นเรื่องเด็กและเยาวชน ดังนั้น เมื่อท่านขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2556 การเดินทางออกจากอิตาลีครั้งแรกของท่านคือไปร่วมงานชุมนุมเยาวชนโลกที่เมืองรีโอเดจาเนโร ซึ่งมีเยาวชนจากทั่วโลกเข้าร่วมงานประมาณ 3-4 ล้านคน ต้องใช้ชายหาดยาวประมาณ 5 กิโลเมตรเป็นที่สำหรับทำพิธีมิสซา นอกจากนี้ เรายังสังเกตได้อีกว่าท่านโปรดการเดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบภัยและผู้ที่มีความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนในชีวิต
การที่ท่านเสด็จมาที่พม่า เพราะที่พม่ามีความทุกข์ยากเดือดร้อน บังกลาเทศก็เช่นเดียวกัน เพราะคนที่เดือดร้อนจำนวนมากเหล่านี้ต้องหลบลี้หนีภัยจากพม่าไปบังกลาเทศ การเสด็จมาในลักษณะนี้ ถามว่าท่านช่วยอะไร ท่านช่วยอะไรไม่ได้มากนัก แต่ท่านสามารถดึงความสนใจของโลกได้ เหมือนกับท่านต้องการบอกให้โลกให้ความสำคัญกับกรณีนี้หน่อย ช่วยอย่างไรก็ได้ แต่ต้องช่วย เพราะเขาเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กและผู้หญิง ส่วนจะช่วยอย่างไร ช่วยแบบไหน จึงจะเหมาะสมและถูกต้อง ก็มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
แม้จะมีคนบอกว่าโรฮิงญาบางคนเป็นคนไม่ดีหรืออะไรก็ตาม นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ดีเรื่องอะไรก็ว่ากันไปตามกฎหมาย แต่ในภาพใหญ่ คนจำนวนมากกำลังเดือดร้อน เราต้องช่วยเขา ผมเชื่อว่าท่านจะส่งสัญญาณนี้ออกมาอย่างชัดเจน
ครั้งแรกที่พระสันตะปาปาเสด็จมาประเทศไทย คือในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 เมื่อปี 2527 ตอนนั้นเรามีผู้ลี้ภัยอพยพเข้ามาจากกัมพูชาเยอะมาก เพราะเวียดนามบุกกัมพูชา และมีกรณี พล พต ที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้มีคนอพยพหนีภัยเข้ามาในไทยจำนวนมาก สมเด็จพระสันตะปาปาก็เสด็จมาที่ไทย เพื่อดึงความสนใจของโลกว่ามีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่ไทยกำลังเป็นเจ้าบ้านดูแล มาช่วยกันหน่อย จุดมุ่งหมายของการเดินทางของพระสันตะปาปามักจะเป็นไปในลักษณะนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกครั้งที่พระสันตะปาปาทุกพระองค์เดินทางไปที่ใดก็ตาม มักมีผู้สื่อข่าวจากทุกสำนักที่สำคัญของโลกร่วมเดินทางไปในเครื่องบินพระที่นั่งด้วยเสมอ
ในกรณีโรฮิงญา ผมคิดว่าท่านคงจะพูดในลักษณะเดียวกัน คือให้โลกได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนของคนจำนวนมากที่เราควรจะต้องช่วยเหลือ ถึงแม้จะมีคนบอกว่าโรฮิงญาบางคนเป็นคนไม่ดีหรืออะไรก็ตาม นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ดีเรื่องอะไรก็ว่ากันไปตามกฎหมาย แต่ในภาพใหญ่ คนจำนวนมากกำลังเดือดร้อน เราต้องช่วยเขา ผมเชื่อว่าท่านจะส่งสัญญาณนี้ออกมาอย่างชัดเจน
ก่อนการเดินทางแต่ละครั้งคงต้องมีการปรึกษาหารือในเรื่องต่างๆ ที่ปรึกษาของพระสันตะปาปาคือใคร
ผมขออธิบายอย่างนี้ครับ สมณศักดิ์ในคริสตศาสนาของคาทอลิกจะมีบาทหลวง เราเรียกว่าคุณพ่อ ส่วนใหญ่จะประจำอยู่ตามโบสถ์ต่างๆ สูงขึ้นจากบาทหลวงในด้านการปกครองและรับผิดชอบก็จะเป็นพระสังฆราช ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Bishop มีหน้าที่ดูแลเขตสังฆมณฑล (Diocese) และยังมีพระสังฆราชอาวุโส (Archbishop) ทำหน้าที่ปกครองสังฆมณฑลพี่ หรืออัครสังฆมณฑล (Archdiocese) ซึ่งในไทยมีอยู่สองแห่ง คืออัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ กับอัครสังฆมณฑลท่าแร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนสังฆมณฑลมีอีกแปดแห่ง เพราะฉะนั้น จากบาทหลวงก็จะขึ้นมาเป็นบิชอป (Bishop) หรืออาร์ชบิชอป (Archbishop) และจากบิชอป (Bishop) หรืออาร์ชบิชอป (Archbishop) ก็จะมีบางท่านที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล (Cardinal) ซึ่งอาจจะมีสังฆมณฑลในปกครองหรือไม่ก็ได้ หากไม่มี ส่วนใหญ่ก็จะไปทำงานที่วาติกัน และดูแลสมณกระทรวงต่างๆ หรือไม่ก็เกษียณจากหน้าที่การงาน
วาติกันเป็นนครรัฐ (city-state) เหมือนกับสิงคโปร์ พูดง่ายๆ คือเป็นเมืองเมืองหนึ่ง แต่เป็นเมืองที่มีฐานะเป็นประเทศ นครรัฐวาติกันเป็นนครรัฐที่เล็กที่สุดในโลก มีพื้นที่เพียงแค่ 0.44 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรไม่ถึง 1,000 คน เพราะฉะนั้น หากมองในฐานะนครรัฐ ถือได้ว่าวาติกันไม่มีความสำคัญใดๆ กับโลก เพราะเล็กมาก แต่ในขณะเดียวกัน นครรัฐแห่งนี้ปกครองดูแลคริสตชนคาทอลิกทั่วโลกซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,300 ล้านคน หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้เรียกว่า Holy See ภาษาไทยใช้คำว่า สันตะสำนัก ดังนั้น สันตะสำนักจึงถือว่ายิ่งใหญ่และมีอิทธิพลสูงมาก
ทั้งนครรัฐวาติกันและ Holy See มีพระสันตะปาปาเป็นประมุข การเป็นประมุขที่ต้องดูแลคน 1,300 ล้านคน จึงจำต้องมีกระทรวง ทบวง กรม เหมือนกับประเทศต่างๆ แต่เป็นกระทรวงที่ไม่ไปวุ่นวายกับเรื่องการพาณิชย์ เศรษฐกิจ หรืออุตสาหกรรม แต่จะมีกระทรวงที่เกี่ยวกับการศึกษา วัฒนธรรม การบวชเรียน เรื่องเกี่ยวกับฆราวาสหรือนักบวช ผู้ที่เป็นเจ้ากระทรวงส่วนใหญ่จะเป็นพระคาร์ดินัล ซึ่งแต่งตั้งโดยพระสันตะปาปา เพราะฉะนั้น เมื่อถามว่าพระสันตะปาปามีที่ปรึกษาหรือไม่ คำตอบคือบรรดาพระคาร์ดินัลทุกองค์คือที่ปรึกษาของพระสันตะปาปา
ตำแหน่งพระสันตะปาปามีที่มาอย่างไร
พระสันตะปาปาได้รับเลือกจากบรรดาพระคาร์ดินัล ซึ่ง ณ เดือนพฤศจิกายน มีทั้งสิ้น 217 องค์จากทั่วโลก ประเทศไทยมีพระคาร์ดินัลอยู่สององค์ หลังจากพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์หรือลาออก การปกครองจะคืนกลับมาที่พระคาร์ดินัล เพราะฉะนั้น หลังจากรู้ว่าพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์หรือลาออก โดยไม่ต้องรอแจ้งจากวาติกัน บรรดาพระคาร์ดินัลจากทั่วโลก ถ้าเดินทางได้ จะเดินทางไปที่วาติกันเพื่อทำหน้าที่ปกครองพระศาสนจักร และหลังจากปลงพระศพของพระสันตะปาปาเสร็จสิ้น ก็จะมีการกำหนดวันที่จะเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ โดยพระคาร์ดินัลที่อายุยังไม่เกิน 80 ปีเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าไปในห้องที่มีการประชุมลับ แล้วก็ทำการเลือก การเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่แต่ละครั้งจะจบสิ้นต่อเมื่อได้คะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามบวกหนึ่งของจำนวนพระคาร์ดินัลทั้งหมดที่เข้าประชุม
พระคาร์ดินัลจะเป็นคนเลือกพระสันตะปาปาจากพระคาร์ดินัลด้วยกัน ดังนั้น พระคาร์ดินัลแต่ละองค์จึงมีสิทธิ์เลือกและมีสิทธิ์ได้รับเลือก ทุกองค์มีสิทธิ์ขึ้นเป็นพระสันตะปาปา ทุกองค์มีสิทธิ์มีเสียงหนึ่งเสียงเท่ากัน จริงอยู่ บางประเทศ เช่น อิตาลี อเมริกา หรือเยอรมนี มีพระคาร์ดินัลหลายองค์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพระคาร์ดินัลจากประเทศเดียวกันจะเทคะแนนให้กัน แต่บรรดาพระคาร์ดินัลจะมองว่าในโลกยุคปัจจุบัน ผู้ใดน่าจะเหมาะสมในการเป็นผู้นำพระศาสนจักร
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสในขณะที่ยังเป็นพระคาร์ดินัลได้ตรัสแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุมว่า ในโลกยุคปัจจุบัน เราต้องช่วยคนยากจน คนยากไร้ คนที่เดือดร้อน คนที่มีความทุกข์ยากลำบาก
ในระหว่างรอการเลือกพระสันตะปาปา และการปกครองมาอยู่กับพระคาร์ดินัล ทุกวัน พระคาร์ดินัลจะเข้าไปในห้องประชุมซึ่งจุคนได้ประมาณ 200 คน แล้ว Secretary of State ซึ่งมีหน้าที่คล้ายกับนายกรัฐมนตรี จะเสนอเรื่องต่างๆ ต่อที่ประชุมเพื่อการพิจารณาและตัดสินใจ หลังจากนั้นจะให้เวลากับพระคาร์ดินัลแต่ละองค์แสดงวิสัยทัศน์หรือแสดงความคิดเห็นว่าพระสันตะปาปาองค์ใหม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร จะให้คำแนะนำแก่พระสันตะปาปาองค์ใหม่ว่าควรสนใจเรื่องอะไรบ้าง มีรายงานข่าวว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสในขณะที่ยังเป็นพระคาร์ดินัลได้ตรัสแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุมว่า ในโลกยุคปัจจุบัน เราต้องช่วยคนยากจน คนยากไร้ คนที่เดือดร้อน คนที่มีความทุกข์ยากลำบาก เขาเป็นคนที่ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงที่จะเรียกร้องอะไรจากใครทั้งนั้น เราต้องช่วยเหลือคนพวกนี้
พระสันตะปาปาไม่มีอำนาจใดๆ ทางการเมืองในประเทศที่คริสตชนอาศัยอยู่ พระองค์ท่านจะไม่ยุ่งกับเรื่องการเมือง แต่ถ้าเป็นเรื่องจิตวิญญาณของผู้คน ท่านจะให้ความสำคัญ ตัวอย่างล่าสุดคือสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสขอให้ประกาศว่าวันที่ 19 พฤศจิกายน เป็นวันสากลแห่งคนยากจน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน นี่คือการให้ความสำคัญกับคนยากจน ภาษาอังกฤษเรียกว่า pastoral care คือการดูแลทางด้านจิตวิญญาณ จิตวิญญาณไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของจิตใจ แต่เป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ด้วย
ก่อนเสด็จเยือนพม่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเคยเสด็จเยือนประเทศใดในเอเชียบ้าง
ในปี 2557 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนเกาหลีใต้เป็นประเทศแรกในเอเชีย ปีต่อมา พระองค์ท่านเสด็จเยือนฟิลิปปินส์ แต่ระหว่างที่เดินทางไปฟิลิปปินส์ ท่านแวะศรีลังกาเพื่อแต่งตั้งนักบุญท้องถิ่นของที่นั่น นักบุญคือผู้ที่ไปสวรรค์ และมีการประกาศยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเขาอยู่ในสวรรค์ จุดประสงค์สำคัญของการประกาศแต่งตั้งนักบุญ คือเพื่อให้เราทุกคนได้รับรู้ถึงการเป็นคนดีของท่านผู้นั้น เพื่อเราจะได้เจริญชีวิตของเราตามแบบอย่างของเขา
คนที่ได้รับการประกาศเป็นนักบุญจำนวนไม่น้อยคือคริสตชนที่ถูกเบียดเบียน ถูกรังแก ถูกข่มเหง เพราะสาเหตุด้านศาสนา บ่อยครั้งเพื่อให้เปลี่ยนศาสนา แต่พวกเขาไม่ยอมละทิ้งความเชื่อถือในศาสนา ในเกาหลีใต้มีเป็นร้อยๆ คนที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับการเมืองไม่น้อย
ในอดีตช่วงจักรวรรดินิยมตะวันตกออกล่าอาณานิคม เกาหลีใต้ก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารุกราน ดังนั้น คริสตชนจึงถูกมองว่าเป็นคนที่นับถือศาสนาของประเทศผู้รุกราน และยังถูกมองว่าเป็นคนของประเทศเหล่านั้น ดังนั้นจึงสมควรตายสถานเดียวถ้าไม่เปลี่ยนศาสนา แต่พวกเขาก็เลือกที่จะไม่เปลี่ยนศาสนา ตายก็ตาย คนพวกนี้แหละที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Martyr แปลเป็นไทยคือ มรณสักขี คือตายด้วยการเป็นสักขีพยานในความเชื่อในพระเจ้าของเขา
ในประเทศไทยเคยมีการเบียดเบียนคริสตชนหรือไม่
ในประเทศไทยก็เคยมี ในช่วงสงครามอินโดจีน ฝรั่งเศสเข้ามายึดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง แถมยังบุกยึดตราดและจันทบุรี เอาเรือรบเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในทางการเมืองมีการใช้วิธีการเจรจาทางการทูตเพื่อแก้ปัญหา แต่ในระดับท้องถิ่น ฝรั่งเศสถูกมองว่าเป็นศัตรู ตอนนั้นมิชชันนารีในไทยส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส ชาวคริสต์จึงถูกมองว่าเป็นคนของศัตรู และต้องถูกจัดการ เราจึงมีมรณสักขีที่หมู่บ้านสองคอน จังหวัดมุกดาหาร
เหตุการณ์นี้เริ่มต้นจากตำรวจยิงครูสีฟอง อ่อนพิทักษ์ เสียชีวิต เนื่องจากครูสีฟองเขียนจดหมายร้องเรียนไปยังนายอำเภอเรื่องการเบียดเบียนคริสตชน หลังจากนั้นตำรวจก็สั่งให้ชาวบ้านเปลี่ยนศาสนา แต่มีคริสตชนรวมแล้วแปดคนที่ยืนยันไม่ละทิ้งความเชื่อ ตำรวจบอกว่าถ้าไม่เปลี่ยนศาสนาก็ตายนะ พวกเขาก็ตอบว่าตายก็ไม่เป็นไร สรุปแล้วมีผู้ยอมพลีชีพที่สองคอนเจ็ดคน แต่มีเด็กหญิงคนหนึ่งรอดชีวิต ดังนั้น ประเทศไทยก็มีสิทธิ์ที่จะมีคนได้รับแต่งตั้งเป็นนักบุญ เพราะตายด้วยการไม่ปฏิเสธความเชื่อในศาสนา
คนที่ได้รับการประกาศเป็นนักบุญจำนวนไม่น้อยคือคริสตชนที่ถูกเบียดเบียน ถูกรังแก ถูกข่มเหง เพราะสาเหตุด้านศาสนา บ่อยครั้งเพื่อให้เปลี่ยนศาสนา แต่พวกเขาไม่ยอมละทิ้งความเชื่อถือในศาสนา
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนฟิลิปปินส์ด้วยวัตถุประสงค์อะไร
ที่ฟิลิปปินส์ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จไปยังจุดที่ประสบวาตภัย ซึ่งมีผู้คนเสียชีวิตและบ้านเรือนเสียหายมาก ปรากฏว่าวันนั้นพายุเข้าอีก ตามกำหนดการต้องทำพิธีมิสซา ครั้งนั้นพวกเราจึงได้เห็นพระองค์ท่านประกอบพิธีโดยใส่เสื้อกันฝนเหมือนกับคนอื่นอีกหลายหมื่นคนที่ไปร่วมพิธี เป็นเสื้อกันฝนราคาถูก จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ขอให้ท่านรีบกลับกรุงมะนิลา เพราะไต้ฝุ่นลูกใหม่กำลังจะเข้า ฝนตกลงมาแล้ว พระองค์ท่านอยากจะอยู่นานๆ แต่ก็อยู่ไม่ได้ ในที่สุดท่านก็ต้องไปสนามบิน แต่ระหว่างทาง ท่านขอหยุดดูบ้านที่ถูกไต้ฝุ่นทำลาย ก็ปรากฏว่ามีคนแก่คนหนึ่งเดินออกมาจากบ้านไม่ได้ ท่านก็เข้าไปในบ้าน หน่วยรักษาความปลอดภัยก็วุ่นไปหมด เพราะท่านจะออกนอกเส้นทางอยู่เสมอ ซึ่งท่านก็บอกว่า ท่านเป็นอะไรไปก็ไม่ต้องห่วง เพราะมีระบบการเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ เพราะฉะนั้นอย่ามาห่วง อย่ามาปิดกั้นไม่ให้ท่านไปเยี่ยมเยียนคนที่ยากไร้
เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จไปที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เพื่อร่วมงานชุมนุมเยาวชนโลก ท่านก็บอกว่าท่านขอไปเยี่ยมที่สลัม ก็มีรถนำพระองค์ท่านไป ปรากฏว่าท่านสั่งให้รถหยุดขณะอยู่ที่แหล่งสลัม คราวนี้ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะตามหมายคือรถวิ่งไปอย่างเดียวเพียงเพื่อให้ท่านได้เห็นบรรยากาศและสภาพความเป็นอยู่ของคนในสลัม แต่ท่านให้รถพระที่นั่งหยุด และลงไปเดินพบปะพูดคุยกับคนในสลัม ในที่สุดเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งเพื่อทำพิธีมิสซาในบ้านหลังนั้น ชาวบ้านถึงกับร้องไห้น้ำตาไหลด้วยความปลื้มปีติ เพราะนึกไม่ถึงว่าจะมีโอกาสได้สัมผัสพระองค์อย่างใกล้ชิดเช่นนี้
พระองค์ดูเหมือนจะไม่ชอบพิธีรีตอง
ใช่ครับ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเป็นพระสันตะปาปาที่ติดดินมากๆ ท่านไม่ต้องการให้จัดที่พักอย่างหรูหราสำหรับท่าน ในวาติกัน ท่านขอไม่ไปประทับอยู่ในส่วนที่เป็นพระราชวัง แต่โปรดที่จะประทับอยู่ในอาคารที่เป็นที่พักของพระคาร์ดินัลทั้งหลาย ท่านเสด็จไปที่ไหน ท่านไม่เคยพักในโรงแรม ไม่เคยพักในวังหรือสถานที่ที่รัฐบาลจัดให้ ถ้ามีสถานทูตวาติกัน ท่านก็พักในสถานทูต ถ้าไม่มีสถานทูต อย่างที่พม่าไม่มีสถานทูตวาติกัน ท่านก็ขอพักในบ้านของสังฆราช และไม่ต้องไปซื้อเตียงใหม่ ที่รีโอเดจาเนโร เขาถ่ายรูปมาให้ดู เตียงของท่านเป็นเตียงเล็กๆ ไม่มีหัวเตียงด้วยซ้ำไป และมีโต๊ะเล็กๆ สำหรับให้ท่านทำงาน กับไฟอีกดวงหนึ่ง ในห้องมีแค่นั้น
รู้ไหมว่าในวันคล้ายวันเกิดของท่าน ท่านให้เจ้าหน้าที่ออกไปนอกวาติกัน แล้วเชิญคนจรจัดมากินข้าวฉลองวันเกิดกับท่าน และเป็นอย่างนี้ทุกปี
ในวัน Holy Thursday หรือวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ หรือวันฉลอง The Last Supper พระเยซูรู้ว่าจะมีคนมาจับ และพระองค์ท่านก็จะยอมให้จับกุม และรู้ว่าจะถูกทรมาน ท่านก็จะยอมให้เขาทรมาน และในที่สุดก็รู้ว่าจะต้องถูกตรึงกางเขน พระองค์ท่านก็จะยอมให้เขาตรึงกางเขน ก่อนรับประทานอาหารมื้อสุดท้าย พระเยซูก็ล้างเท้าของสาวกให้สะอาดตามธรรมเนียมของชาวยิว ดังนั้น ในวัน Holy Thursday ที่โบสถ์คริสต์ทุกแห่งทั่วโลก บาทหลวงจะทำพิธีล้างเท้า
ที่ผ่านมา คนที่ได้รับการล้างเท้า ซึ่งมีอยู่ 12 คนเท่ากับจำนวนสาวกของพระเยซู เป็นคนที่มีเกียรติและมีชื่อเสียงทั้งนั้น แต่สำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ท่านเข้าไปทำพิธีในคุก และท่านล้างเท้าให้กับนักโทษ ซึ่งมีนักโทษหญิงรวมอยู่ด้วย เป็นอย่างนี้เสมอมาทุกปี
วิกฤตครั้งใหญ่ของพระศาสนจักรคือช่วงที่มีการแยกเป็นนิกายโปรเตสแตนต์ใช่หรือไม่
ช่วงที่โปรเตสแตนต์แยกนิกายออกไปถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ คำว่า protestant มาจากคำว่า protest ดังนั้น พวกที่ protest ก็คือ protestant
พวกเขาประท้วงหลายอย่าง ถามว่าที่เขาประท้วง จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องใช่ไหม เป็นเรื่องที่ไม่ดีซึ่งเกิดขึ้นในพระศาสนจักรใช่ไหม คำตอบคือใช่ ต้องยอมรับว่าพระศาสนจักรในบางช่วงนั้นเหมือนกับเป็นยุคมืด ไม่ใช่ว่าดีไปหมด เพราะพระคาร์ดินัล หรือแม้กระทั่งพระสันตะปาปา ทุกองค์เป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงมีสิทธิ์ผิดพลาด เป็นที่น่าสังเกตว่าพระสันตะปาปาองค์หลังๆ ได้ขอโทษสำหรับการกระทำของพระศาสนจักรที่ผ่านมาที่ได้ทำอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจ
พระคัมภีร์มีความสำคัญอย่างไรสำหรับคริสตชน
พระคัมภีร์แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเรียกว่า Old Testament หรือภาคพันธสัญญาเดิม เริ่มจากหน้าแรกคือการที่พระเจ้าสร้างจักรวาล สร้างโลก และสร้างมนุษย์ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงช่วงก่อนพระเยซูประสูติ ส่วน New Testament หรือภาคพันธสัญญาใหม่ เริ่มต้นในช่วงก่อนพระเยซูประสูติ หรือการฉลองคริสต์มาส และลงรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตและคำเทศน์สอนของพระองค์ รายละเอียดเกี่ยวกับการที่พระเยซูยอมให้กล่าวโทษ ยอมให้จับกุม ยอมให้ทรมาน ยอมให้ตรึงกางเขน และในวันที่สาม พระองค์กลับคืนพระชนม์ชีพอย่างรุ่งเรือง (resurrection) คือวันฉลอง Easter ความตายไม่สามารถเอาชนะพระองค์ได้ คริสตชนถือว่าพระคัมภีร์คือพระวาจาของพระเจ้า
เมื่อเราจากโลกนี้ไป ในทางพุทธศาสนาคือมีการเกิดใหม่ อาจจะอีกหลายภพหลายชาติ แต่ในทางคริสตศาสนา เรามีชีวิตเดียว หลังจากโลกนี้ไปแล้ว สิ่งที่พระเจ้าต้องการคือ ให้เราได้รับชีวิตนิรันดรในความสุขกับพระองค์ นั่นคือสิ่งที่พระเจ้าต้องการ ดังนั้น การอ่านพระคัมภีร์จึงนำไปสู่คำตอบที่ว่าเราจะเจริญชีวิตอย่างไร เพื่อจะได้ไปสู่ชีวิตนิรันดรเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเคยตรัสว่าอย่าหาวิธีการให้เขามานับถือศาสนาของเรา ตรงกันข้าม เราต้องช่วยให้ผู้อื่นเจริญชีวิตที่ดี ให้ความรักของพระเจ้าผ่านทางตัวเราไปสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ยากไร้
เคยมีคนถามพระเยซูเกี่ยวกับเรื่องในอนาคต พระเยซูก็บอกว่าไม่รู้ และเทศน์สอนว่าไม่ต้องไปห่วงเรื่องอนาคต พระเจ้าซึ่งเป็นพ่อของเรา จะดูแลเราด้วยความรัก ถึงแม้ในบางช่วงเวลาของชีวิต เราจะมีความรู้สึกว่าตอนนี้เราตกต่ำเหลือเกิน เราแย่เหลือเกิน แต่ถ้าพระเจ้าไม่ดูแล เราจะแย่กว่านี้อีก คือต้องมองด้วยความเชื่อ มองด้านบวกเข้าไว้
ในสมัยก่อน ต้องยอมรับว่ามิชชันนารีเดินทางมาเพื่อประกาศศาสนา เดินทางมาเพื่อให้คนนับถือศาสนาคริสต์ นั่นคือเหตุการณ์เมื่อ 300-400 ปีที่แล้ว เพราะเขาเชื่อว่ากำลังช่วยให้เราได้ไปสวรรค์ เขากำลังทำสิ่งที่ดี แต่เมื่อมาถึงยุคสมัยนี้ เรื่องการไปสวรรค์ เรื่องการนับถือศาสนา เป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของการสมัครใจ จักต้องไม่บังคับหรือหลอกล่อให้มาเป็นคริสต์
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสชัดเจนมากกว่าสมเด็จพระสันตะปาปาองค์อื่นๆ พระองค์ท่านตรัสว่า คุณนับถือศาสนาใดก็ตาม ถ้าคุณเป็นคนดี เป็นคนที่มีคุณธรรม พระเจ้าจะดูแลคุณให้ได้รับความยุติธรรมหลังจากโลกนี้ไปแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเคยตรัสว่าอย่าหาวิธีการให้เขามานับถือศาสนาของเรา ตรงกันข้าม เราต้องช่วยให้ผู้อื่นเจริญชีวิตที่ดี ให้ความรักของพระเจ้าผ่านทางตัวเราไปสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ยากไร้
พระเจ้าในคริสตศาสนาเป็นพระเจ้าของทุกคน และเป็น living God เป็นพระเจ้าที่มีชีวิต นั่นหมายถึงว่าเราพูดอะไรกับพระองค์ พระองค์ได้ยิน และพระองค์ก็จะสื่อกับเรา สื่อทางไหน ทางหนึ่งคือสื่อผ่านพระคัมภีร์ ซึ่งถือว่าเป็นพระวาจาของพระเจ้า ลองไปเปิดพระคัมภีร์หน้าใดก็ได้ ลองอ่านสักประโยค นั่นแหละ พระเจ้ากำลังพูดกับเรา เราจะพบกับคำตอบบางอย่างที่เรากำลังแสวงหา
Tags: พระสันตะปาปา, สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส, Pope Francis, โรมันคาทอลิก, ผู้ยากไร้, วาติกัน, บังกลาเทศ, คริสตจักร, พม่า