หลังจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียตกเป็นจำเลยการฆ่านักข่าวซาอุฯ จามาล คาช็อกกิ จนถึงขณะนี้ก็มีผู้สื่อข่าว นักลงทุน และซีอีโอของบริษัทต่างๆ หลายรายเริ่มถอนตัวจากการประชุมทางธุรกิจและการเงินในกรุงริยาด ที่ชื่อ ‘Future Investment Initiative’ หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า “การประชุมดาวอสในทะเลทราย” ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคมที่จะถึงนี้

การประชุม ‘Future Investment Initiative’ จัดโดยมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง HSBC มาสเตอร์การ์ด และอูเบอร์ ตั้งเป้างานครั้งนี้ไว้ว่าจะเป็นเหมือนการวางอนาคตของศตวรรษที่ 22 มีผู้ลงทะเบียนว่าจะเข้าร่วมงานกว่า 3,800 คน และมีวิทยากรมากกว่า 200 คนขึ้นพูดบนเวที

การถอนตัวนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะราชวงศ์ซาอุดีฯ ซึ่งมีอำนาจควบคุมรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย มีบทบาทในการลงทุนจำนวนมหาศาลและความร่วมมือทางธุรกิจอันแข็งแกร่งในเกือบแทบทุกแวดวง ตั้งแต่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ไปจนถึงบริษัทน้ำมันระดับโลกหลายแห่ง การที่บริษัทต่างชาติและเหล่าซีอีโอประกาศถอนตัวจากการประชุมที่จะถึงนี้ ย่อมหมายความว่าอาจมีการตัดความสัมพันธ์อื่นๆ อีกเช่นกันในอนาคต

เว็บไซต์ Quartz สรุปรายชื่อบริษัทและสำนักข่าวต่างๆ ที่ถอนตัวแล้ว ดังนี้

สำนักข่าว ได้แก่ CNN, CNBC, The Financial Times, Bloomberg (ถอนการสนับสนุน), The Economist, The New York Times และ The LA Times 

ทางด้านบริษัท ก็เช่น ซีอีโอของอูเบอร์ ดาร่า โคชโรว์ชาฮี (Dara Khosrowshahi) กล่าวว่าจะไม่เข้าร่วม ”หากไม่มีข้อเท็จจริงอื่นที่แตกต่างไปจากนี้” หรือ สตีฟ เคส (Steve Case) จาก AOL ระงับแผนการเข้าร่วมไว้ก่อน เพื่อรอข้อมูลที่มากกว่านี้

ส่วนประธานเวิลด์แบงก์ ซีอีโอของเจพีมอร์แกน ประธานฟอร์ดมอร์เตอร์ ซีอีโอมาสเตอร์การ์ด ซีอีโอ HSBC ซีอีโอ BNP Paribas ต่างประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมการประชุมแล้ว

ด้านสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ บอกว่าเขาจะไม่เข้าร่วมงาน หลังจากได้หารือกับโดนัลด์ ทรัมป์ และไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ก่อนหน้านี้

ส่วนซีอีโอที่มีข่าวว่าถอนตัวจากการประชุมแล้วแต่ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ หรือเพียงแสดงท่าทีกดดันรัฐบาลซาอุดีฯ ว่าจะไม่เข้าร่วม ก็ได้แก่ บริษัทแบล็กสโตน บรัษทสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด บริษัทเครดิตสวิส

ในขณะที่ ประธาน IMF อย่างคริสตีน ลาการ์ด ซึ่งมีตารางขึ้นพูดบนเวทีบอกว่า ยังคงจะเข้าร่วมเพื่อไปพูด “แสดงความคิดเห็นของเธอ” ที่ริยาด รวมทั้งธนาคารดอยซ์แบงก์, บริษัทซีเมนส์ เอจี, Deloitte, E&Y, Boston Consulting, McKinsey, PW ยังคงเป็นพาร์ตเนอร์กับงานดังกล่าว

ตัวบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจมองว่า เหตุการณ์ฆาตกรรมคาช็อกกินี้จะทำให้บริษัทชาติตะวันตกทั้งหลายถูกกดดัน หากคิดจะเข้าไปทำธุรกิจในซาอุดีอาระเบียต่อไป

แต่สำนักข่าวรอยเตอร์ส มองว่า การหยุดเจรจาทำการค้าใหม่ๆ ต่อกันอาจจะกินเวลาเพียงไม่กี่เดือน เพราะบริษัทตะวันตกหลายแห่งอาจต้องเสี่ยงสูญเสียประโยชน์มหาศาล หากละทิ้งโอกาสที่จะกอบโกยได้จากเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียไป ในขณะที่บางบริษัทก็บอกว่าจะส่งผู้บริหารระดับล่างไปเข้าร่วมงานแทน

บางกลุ่มกลัวว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้อาจทำให้อำนาจการปกครองภายในประเทศของมกุฎราชกุมารฯ อ่อนกำลังลง สั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมือง และอาจทำให้กระบวนการปฏิรูปประเทศที่เขาคิดเอาไว้ล่าช้าลงไป ดังที่นายธนาคารคนหนึ่งในริยาดแสดงความกังวลไว้ว่า เรื่องนี้อาจจะล้มล้างความพยายามที่มีมาทั้งหมดในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาในการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ

ความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ และการกำจัดคอร์รัปชันที่ผ่านๆ มาได้ทำให้ มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้รับการสนับสนุนจากชาวซาอุดีฯ แต่การปราบปรามของเขาก็ได้กำจัดเหล่าเชื้อราชวงศ์และนักธุรกิจไปหลายราย เหตุการณ์อื้อฉาวในครั้งนี้อาจจะกลายเป็นตัวจุดชนวนให้มีการเอาคืนและโต้กลับจากเหล่าอริทางการเมืองที่ต้องประสบเคราะห์กรรมเหล่านั้น

 

 

ที่มาภาพ: FAYEZ NURELDINE / AFP

ที่มา:

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

Tags: , ,