มันเริ่มขึ้นที่ทวิตเตอร์ เมื่อกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดา และซาอุดิอาระเบีย ทวีตข้อความโต้ตอบกันอย่างรุนแรง สุดท้ายลุกลามไปจนซาอุดิอาระเบียขับไล่ทูตแคนาดาออกจากประเทศ ระงับการลงทุนกับแคนาดา และยกเลิกโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา

“แคนาดามีความกังวลอย่างมากต่อการจับกุมนักเคลื่อนไหวและนักสิทธิสตรีในซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งซามาร์ บาดาวิ” ​นี่เป็นข้อความที่ทวีตมาจากบัญชีทางการกระทรวงต่างประเทศของแคนาดา เมื่อวันที่ 3 ส.ค.

ทวิตเตอร์จากรัฐบาลแคนาดาทวีตด้วยว่า “เราขอเรียกร้องให้ทางการซาอุฯ ปล่อยพวกเขาและนักสิทธิมนุษยชนทั้งหมดทันที” ข้อความนี้ สืบเนื่องมาจากที่รัฐบาลซาอุฯ ปราบปรามนักรณรงค์สิทธิสตรีครั้งล่าสุด นับแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้ถูกจับกุมแล้วมากกว่าสิบคน

จากนั้น บัญชีทวิตเตอร์ของกระทรวงต่างประเทศซาอุดิอาระเบียก็ตอบโต้ด้วยการทวีตข้อความติดๆ กัน หลายครั้ง

การตอบโต้เช่นนี้ ทำให้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 ส.ค. รัฐบาลซาอุดิอาระเบียประกาศขับไล่ทูตแคนาดาและเนรเทศเขาออกจากประเทศภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงเรียกทูตซาอุฯ ในแคนาดากลับประเทศ นอกจากนี้ ยังระงับการเจรจาและการลงทุนต่างๆ กับแคนาดา

ยังไม่จบแค่นั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ส.ค. ยังยกเลิกโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาและทุนวิจัย รวมถึงสั่งให้นักศึกษาที่อยู่ในแคนาดาหาทางย้ายไปเรียนที่ประเทศอื่น สายการบินแห่งชาติซาอุฯ ก็ยกเลิกเที่ยวบินไปโตรอนโตด้วย

ขณะที่รัฐบาลแคนาดาก็ยืนยันในจุดยืนและไม่ถอนคำพูด ในวันจันทร์ คริสเทีย ฟรีแลนด์ (Chrystia Freeland) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของแคนาดากล่าวว่า “แคนาดาสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในแคนาดาและทั่วโลก และสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน”

ปฏิกิริยารุนแรงจากซาอุดิอาระเบียต่อการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ทางการซาอุระบุว่า คำที่ทำให้ไม่พอใจคือ ‘การปล่อยตัวทันที’ (immediate release) ในแถลงการณ์ของแคนาดา ซึ่งซาอุฯ เห็นว่าเป็นภาษาที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่น และเตือนว่าความพยายามใดๆ ก็ตามในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศหมายความว่า ซาอุดิอาระเบียก็สามารถแทรกแซงกิจการภายในประเทศแคนาดาได้ด้วยเช่นกัน

รัฐบาลซาอุดิอาระเบียถูกวิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการจับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งจากองค์การสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกา แต่รัฐบาลซาอุฯ ก็ตอบโต้ด้วยการออกแถลงการณ์ที่กล่าวว่า “ไม่ยอมรับการแทรกแซงกิจการภายใน”

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และปาเลสไตน์ประกาศอยู่ข้างซาอุดิอาระเบีย ทำให้เพิ่มความเป็นไปได้ว่าแคนาดาอาจต้องเผชิญกับเสียงสะท้อนจากภูมิภาคนี้

การตอบโต้รุนแรงต่อการวิพากษ์วิจารณ์แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของการปฏิรูปของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน วัย 32 ปี ซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศ พระองค์พยายามเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม แต่ไม่ผ่อนปรนการห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่อนุญาตผู้ใดให้โต้แย้ง พระองค์ใช้อำนาจเด็ดขาด ปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วย และจับกุมนักเคลื่อนไหว

แม้เมื่อเดือนมิถุนายนจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ดูมีความหวังด้านสิทธิผู้หญิงบ้างเล็กน้อยจากการที่ซาอุดิอาระเบียเพิ่งยกเลิกการห้ามผู้หญิงขับรถ แต่ก็ยังมีการจับกุมนักเคลื่อนไหว รวมทั้งนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีจำนวนมาก

โธมัส จูโน (Thomas Juneau) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง มหาวิทยาลัยออตโตวามองว่า แคนาดาไม่ใช่หนึ่งในประเทศที่ซาอุดิอาระเบียให้ความสำคัญมากที่สุด แต่ต้องการส่งข้อความถึงประเทศตะวันตกทั้งหมดว่า “เราจะไม่อดกลั้นต่อการวิพากษ์วิจารณ์กิจการภายในประเทศ ถ้าคุณวิจารณ์ ก็จะได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง” นี่เป็นหนึ่งในวิธีการของโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งพยายามควบคุมกระบวนการปฏิรูป “การปลดล็อคให้ผู้หญิงขับรถได้ และจับกุมนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีไปพร้อมกัน ไม่ใช่เรื่องขัดแย้งกัน มันช่างสอดคล้องกัน เป็นวิธีที่พระองค์ต้องการจะบอกว่า “ฉันกำลังปฏิรูปทางสังคมอยู่ แต่พวกคุณที่เป็นกลุ่มประชาสังคมไม่เข้าใจหรอก”

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานยังควบคุมตัวเชื้อพระวงศ์ 11 คน รัฐมนตรีสี่คน และอดีตสมาชิกรัฐสภาอีกนับสิบคน ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชั่น ทุจริตในหน้าที่การงาน ฉ้อโกงเงินหลวง ซึ่งระหว่างจับกุมมีเจ้าชาย 2 พระองค์เสียชีวิต

แอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนลบอกว่า แทนที่จะปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลซาอุดิอาระเบียกลับเลือกทางที่ขจัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์

 

บรรยายภาพ: ซามาร์ บาดาวิ นักเคลื่อนไหวที่ถูกทางการซาอุดิอาระเบียจับกุม และเป็นหนึ่งในนักสิทธิมนุษยชนที่ทางการแคนาดาเรียกร้องให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียปล่อยตัว (ภาพเมื่อปี 2012 โดย ALEX WONG / AFP

 

อ้างอิง:

Tags: , , ,