วันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่งาน E3 2019 งานแสดงเกมระดับโลกประจำปี ที่ที่บริษัทเกมทั่วโลกต่างใช้เป็นช่วงเวลาเปิดตัวเกมใหม่ๆ ของตัวเอง บริษัท CDProjekt Red บริษัทเกมเจ้าของผลงานซีรีส์ The Witcher จากโปแลนด์นำเทรเลอร์เกมไซไฟที่ทุกคนรอคอยอย่าง Cyberpunk 2077 ขึ้นโชว์บนเวที XBOX ของไมโครซอฟต์ ตัวเทรเลอร์เป็นตัวอย่างแบบ Cinematic กราฟิกคุณภาพสูง ไม่ต่างจากเทรเลอร์เกมฟอร์มยักษ์อื่นๆ ที่เปิดตัวที่งานมาทั้งวัน จนตอนท้ายสุดของเทรเลอร์นั่นแหละ CDProjekt ถึงได้ทิ้งบอมบ์ลูกใหญ่ที่สุดของ E3 ปีนี้ลงกลางงาน

ในเทรเลอร์ ตัวละครของเราโดนถล่มจนเกือบตาย ภาพตัดไปเป็นโลโก้เกม แต่เทรเลอร์ยังไม่จบเพียงเท่านี้ อยู่ดีๆ ตัวละครของเราก็ตื่นขึ้นมาบนกองเศษเหล็กนอกเมือง และที่มุมสายตา ชายคนหนึ่งก็เดินมายืนมองร่างของเรา

“Way to fuck up, Samurai. We’ve got a city to burn.”  

ชายคนนั้นย่อตัวลงมาหาเรา คนๆ นั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นดาราดังประจำปีอย่างคีอานู รีฟส์นั่นเอง 

คนทั้งฮอลล์กู่ร้องพร้อมกัน ในปี 2019 ที่ถือได้ว่าปีทองของคีอานูแบบนี้ ใครจะไปคิดว่าดาราแห่งปีอย่างเขาจะมาอยู่ในเกมที่เราเล่นกัน ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อภาพยนตร์ตัวอย่างจบลง ไฟเวทีก็สว่างขึ้นพร้อมกับที่คีอานูตัวจริงเดินออกมาบนเวทีและประกาศว่าเขาไม่ได้เป็นแค่ตัวละคร teaser ขำๆ แต่เขาจะรับบทเป็นหนึ่งในตัวละครหลักในเกมอย่างแน่นอน

Cyberpunk เป็นหนึ่งในหลายเกมช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่มีนักแสดงจากฮอลลีวูดมารับบทนำ ไม่ว่าจะเป็นเกม Death Stranding ที่มี นอร์แมน รีดัส จากซีรีส์ The Walking Dead มารับบทนำพร้อมแมดส์ มิคเคิลเซน จากซีรีส์ Hannibal หรือเกม Beyond: Two Souls ที่มีเอลเลน เพจและวิลเลม เดโฟเป็นตัวละครหลัก

แมดส์ มิคเคลเซน ใน Death Stranding

เอลเลน เพจ ใน Beyond: Two Souls

ทำไมอยู่ดีๆ ดาราฮอลลีวูดถึงมารับบทในเกมกันมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา? เพื่อหาคำตอบ เราจะย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของการนำนักแสดงมารับบทในยุคๆ แรกของวงการเกม ซึ่งหนึ่งในคนที่จะช่วยพวกเราได้ดีที่สุดก็คือนักมวยนามว่า ไมค์ ไทสัน

น็อคเอาท์ครั้งแรก

ปี 1987 ไมค์ ไทสัน เป็นนักมวยดาวรุ่งที่คนทั่วโลกจับตามอง หลังทำลายสถิติคว้าแชมป์เฮวี่เวทสภามวยโลกด้วยอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ เขากลายมาเป็นตัวเต็งแชมป์เฮวี่เวทโลกในสมัยนั้น และขณะที่เขาเตรียมตัวขึ้นชกชิงตำแหน่งใหม่ ชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ชื่อมิโนรุ อาราคาวะ ก็ติดต่อมาหาเขาพร้อมข้อเสนอทางธุรกิจข้อหนึ่งอย่างที่ไม่เคยมีใครในโลกทำมาก่อน

มิโนรุ อาราคาวะ คือผู้ก่อตั้งบริษัทนินเทนโดสาขาอเมริกาและรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์เกมต่อยมวยที่ชื่อ Punch Out ! อยู่ในตอนนั้น ผู้เล่นรับบทเป็นนักมวยมือใหม่ Little Mac บุกตะลุยแชมป์สามคนเพื่อท้ามวยโคตรแชมป์ในตำนานในด่านสุดท้าย หลังอาราคาวะมีโอกาสดูมวยนัดที่มีไทสัน เขายื่นขอเสนอกับไทสันว่าจะจ่ายเงินให้เขาห้าหมื่นเหรียญ แลกกับการใช้หน้าตาและชื่อของไทสันเป็นเวลาสามปีในฐานะบอสใหญ่มหาโหดของเกม

ไม่มีอะไรการันตีว่าไมค์ ไทสันจะได้แชมป์มวยในปีนั้น และถ้าไทสันไม่ได้แชมป์ นั่นก็แปลว่านินเทนโดปล่อยเงินห้าหมื่นเหรียญหายไปต่อหน้าต่อตา แต่อาราคาวะกล้าเสี่ยง และไทสันก็กล้าเซ็นสัญญา

ผลปรากฎว่าไทสันชนะแชมป์โลกเฮวี่เวทในปีนั้น ส่งผลให้เกม Punch Out ! ขายได้ถึงหนึ่งล้านตลับ นับเป็นครั้งแรกที่บริษัทเกมนำเอาคนมีชื่อเสียงมาใส่ในเกมจนประสบความสำเร็จในด้านยอดขาย

ไมค์ ไทสัน ใน Punch Out!

แต่นอกจากเกม Punch Out ! ก็แทบไม่มีการนำคนมีชื่อเสียงมาใส่ในเกมช่วงปลายยุค 80s และต้น 90s อีกเลย ถึงแม้จะมีเกมที่ออกมาเกาะกระแสภาพยนตร์ในสมัยนั้นมากมาย แต่ข้อจำกัดทางการแสดงผลทั้งภาพและเสียงของเครื่องเกมยุคแรกๆ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถเลียนแบบหน้าตาดาราในเกมได้สมจริงเท่าที่ควร อีกทั้งคนส่วนมากในยุคนี้ยังถือว่าวิดีโอเกมเป็นของเล่นเด็กๆ นิยมในคนเฉพาะกลุ่ม การลงเม็ดเงินเพื่อจ้างดาราหลักล้านมาใส่ในเกมเลยเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า จนการมาถึงของเทคโนโลยีภาพ 3 มิติราคาถูกในปลายยุค 90 ถึงได้เปลี่ยนความคิดนี้ไปอย่างสิ้นเชิง

ยุค 3 มิติ

ปลายยุค 90 ราคาของเทคโนโลยีการแสดงผลสามมิติเริ่มลดลงจนผู้บริโภคเริ่มเอื้อมถึง เกมสามมิติอย่าง Quake, Tomb Raider ภาคแรกหรือ Super Mario 64 ขายดีเทน้ำเทท่า จนเริ่มมีความพยายามในการนำรูปร่างหน้าตาของคนมีชื่อเสียงมาจำลองเป็นภาพสามมิติขึ้นมาเป็นครั้งแรกๆ หนึ่งในนั้นก็คือเกม Indiana Jones and the Infernal Machine (1998) ที่พยายามจำลองใบหน้าของแฮร์ริสัน ฟอร์ดในเกม (ที่แทบจะไม่มีอะไรเหมือนแฮร์ริสัน ฟอร์ดตัวจริงแม้แต่นิดเดียว) แต่ทางบริษัทก็ทำได้แค่จำลองหน้าตาเท่านั้นเนื่องจากสู้ค่าตัวจ้างแฮร์ริสันมาพากย์เสียงจริงไม่ไหว

แฮร์ริสัน ฟอร์ด ใน Indiana Jones and the Infernal Machine

หนึ่งในเกมแรกๆ ที่ลงทุนใช้ทั้งใบหน้าและเสียงของนักแสดงในเกม 3 มิติได้ครบเป็นครั้งแรกๆ ก็คือเกม Apocalypse (1998) ที่ได้บรูซ วิลลิสมารับบทนำ และ Omikron: Nomad Soul (1999) ที่นักร้องดังอย่างเดวิด โบวี่ทำเพลงประกอบให้แลกกับการที่ทางทีมงานต้องใส่เขาเข้าไปในเกมด้วย จนเกิดเป็นหนึ่งในตัวละครหลักในเกมชื่อ Boz คู่กับภรรยาของเขาในชีวิตจริงอย่าง Iman

บรูซ วิลลิส ใน Apocalypse

เดวิด โบวี่ ใน Omikron

ที่เห็นได้บ่อยกว่าก็คือเกมกีฬาที่นำนักกีฬาในสมัยน้ันมาโปรโมตเกมของตัวเองอย่าง ไทเกอร์ วูดส์ ที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ซีรีส์เกมกอล์ฟ Tiger Woods PGA Tour และโทนี่ ฮอว์ค ที่เป็นพรีเซนเตอร์ของเกมสเก็ตบอร์ด Tony Hawk Pro Skater จนโด่งดัง

ยุค PS2

เมื่อถึงช่วงปี 2000 ต้นๆ ประสิทธิภาพในการแสดงผลของเกมต่างๆ ก็พัฒนาขึ้นมาก ทำให้การเล่นเกมเริ่มกลายเป็นที่นิยมในสังคม เด็กและวัยรุ่นทั่วโลกแห่กันไปซื้อเกมมาเล่นมากกว่าที่เคย ส่งผลให้เกมต่างๆ เริ่มมีทุนในการสร้างสูงขึ้น และที่สำคัญก็คือขนาดของฮาร์ดดิสก์และแผ่นเกมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ผู้สร้างเกมสามารถสร้างโลกเกมที่ซับซ้อนให้เหมือนภาพยนตร์ได้มากขึ้น หลายบริษัทเลยจ้างนักแสดงฮอลลีวูดมาพากย์เสียงในเกมของตัวเอง ตัวอย่างก็เช่นซีรีส์ Grand Theft Auto ภาค San Andreas ที่ดึงแซมูเอล แจ็คสัน หรือปีเตอร์ ฟอนดา มาพากย์เสียงตัวละคร หรือคู่แข่งในสมัยนั้นอย่าง True Crime: Streets of LA (2003) ก็จ้างนักแสดงทั้งแกรี่ โอล์ดแมน, มิเชล ร็อดริเกซ หรือแม้แต่แรปเปอร์อย่างสนู้ป ด็อก มาให้รูปร่างหน้าตาและพากย์ตัวละครในเกมเช่นกัน

แซมูเอล แจ็คสัน ใน Grand Theft Auto: San Andreas

สนู้ป ด็อกก ใน True Crime: Street of LA

นอกจากเกมที่พยายามทำให้ตัวเองเหมือนภาพยนตร์แล้ว เกมที่ทำมาจากภาพยนตร์เองก็ใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นให้เป็นประโยชน์ ภาพยนตร์หลายเรื่องเลือกที่จะเล่าภาคต่อหรือภาคแยกในรูปแบบเกมแทนภาพยนตร์ เช่นเกมส์ 007 ยุคเพียร์ซ บรอสแนนอย่าง 007: Nightfire (2002) และ 007: Everything or Nothing (2004) ที่จ้างวิลเลม เดโฟมาเป็นตัวร้าย รวมถึงคีอานู รีฟส์เจ้าเก่าของเราก็พากย์เสียงให้กับเกม Enter the Matrix (2003) ที่เล่าเรื่องคู่ขนานไปกับภาพยนตร์ภาค Reloaded ไม่รวมถึงใบหน้าของเขาที่ไปปรากฎในเกม The Matrix Online และ Matrix: The Path of Neo (2005) ที่ออกมาในปีเดียวกัน

เป็นที่น่าสนใจว่า ถึงแม้เกมเหล่านี้จะมีนักแสดงดังจำนวนมากมาร่วมงาน แต่เกมส่วนมากกลับไม่ได้ใช้ชื่อของนักแสดงมาเป็นจุดขาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ถึงกราฟิกของเกมในสมัยนี้จะพัฒนาขึ้นมาก แต่เทคโนโลยีก็ยังมีข้อจำกัด ไม่สามารถแสดงผลสีหน้าค่าตาของนักแสดงได้เหมือนจริงเต็มร้อย หน้าที่ของนักแสดงส่วนมากในยุคนี้เลยเป็นการพากย์เสียงตัวละครเท่านั้น

การมีนักแสดงในหลายๆ เกมในยุคนี้เลยเหมือนเป็นการสร้างสีสันให้ตัวเกมมากกว่าเป็นจุดขายหลัก จนกระทั่งผู้เล่นหน้าใหม่ในวงการนักแสดงในเกมที่ชื่อว่า วิน ดีเซลเข้ามาเปลี่ยนแนวความคิดนี้ไปชั่วข้ามคืน

Riddick, John Woo และนักดนตรี

ปี 2004 ภาคต่อของหนังไซไฟเล็กๆ อย่าง Pitch Black (2000) ที่ชื่อ The Chronicles of Riddick เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก สตูดิโอ Universal หมดเงินไปกับภาพยนตร์เรื่องนี้กว่า 120 ล้านดอลลาร์ ผลปรากฎว่า หนังทำเงินไปได้เพียง 50 ล้านดอลลาร์ในอเมริกา รายได้ทั่วโลกขาดทุนยับ นักวิจารณ์สับตัวหนังเละเทะ  แต่ในความพังพินาศของภาพยนตร์เรื่องนี้ เทรนด์ใหม่ของการใช้นักแสดงในเกมก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

ขณะที่ Universal ปลุกปั้นตัวภาพยนตร์ วิน ดีเซลมองไปไกลกว่าโลกจอเงิน เขาก่อตั้งบริษัท Tigon Studios เพื่อผลิตเกมที่มีตัวเขาเป็นตัวละครหลักโดยเฉพาะ ขณะที่ตัวภาพยนตร์ Riddick กำลังถ่ายทำ เขาก็ดำเนินการสร้างเกม The Chronicles of Riddick: Escape from Butcher Bay (2004) เพื่อเล่าเนื้อเรื่องก่อนเรื่องราวในภาพยนตร์ทั้งสองภาค โดยเขามีสิทธิควบคุมการสร้างในทุกขั้นตอนและใช้เทคโนโลยี motion capture การแสดงของเขาเองเพื่อให้แน่ใจว่าเกมจะออกมาดีที่สุด

วิน ดีเซล ใน The Chronicles of Riddick: Escape from Butcher Bay

ในขณะที่ตัวหนังเละไม่เป็นท่า ตัวเกมก็ออกวางขาย ในชั่วข้ามคืน เกมขายดีเทน้ำเทท่าตรงกันข้ามกับตัวหนัง ขายได้เกือบ 160,000 กล่องภายใน 3 เดือน นักวิจารณ์เกมทั่วโลกต่างพากันยกย่องให้เป็นหนึ่งในเกมที่ดีที่สุดของปี เป็นการพิสูจน์ว่าเกมที่ทำจากหนังก็มีดีได้ และเทคโนโลยีเกมมาถึงจุดที่นักแสดงสามารถเป็นจุดขายของเกมได้แล้ว

นอกจากนักแสดงอย่างวิน ดีเซล แล้วผู้กำกับฮ่องกงชื่อดังอย่าง จอห์น วู ก็เล็งเห็นความเป็นไปได้ของการใช้นักแสดงมาขายเกมเช่นกัน เขาทำภาคต่อของภาพยนตร์เรื่อง Hard Boiled (ทะลักจุดแตก) เป็นเกม Stranglehold (2007) ได้โจวเหวินฟะกลับมารับบทนักสืบจอมเดือดของเรื่องอีกครั้ง

โจวเหวินฟะใน Stranglehold

ส่วนนอกจากโลกภาพยนตร์แล้ว นักดนตรีก็เริ่มเข้ามีส่วนร่วมกับโลกเกมเช่นกัน ทั้งเกมดนตรีตระกูล Guitar Hero หรือ Rock Band ที่ได้วงดนตรีอย่าง Green Day และ The Beatles มาอยู่ในเกม หรือแม้แต่ศิลปินแร็ปอย่าง 50 Cent ก็ออกเกมของตัวเองเพื่อแย่งชิงตลาดแฟนเพลงแร็ปโดยเฉพาะ

‘เกมจากหนัง’ ตีกลับมาเป็น ‘เกมที่อยากจะแทนที่หนัง’

กลางยุค 2000 เมื่อเครื่องเกมประสิทธิภาพสูงอย่าง Playstation 3 และ XBOX 360 ออกวางตลาด วิธีในการสร้างเกมก็เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่เกมๆ หนึ่งใช้คนทำแค่ไม่กี่สิบคน บริษัทต่างๆ เริ่มต้องจ้างคนเป็นร้อยเพื่อสรรสร้างโลกเกมให้สมจริงเท่ากับกราฟิกที่เครื่องเกมแสดงผลได้ จนเกิดเป็นเกมชนิดที่เรียกว่า ‘AAA Games’ หรือเกมทุนสูง เทียบเท่าได้กับภาพยนตร์สตูดิโอของฮอลลีวูดขึ้นมา

เมื่อเม็ดเงินลงทุนมากขึ้น บริษัทเกมต่างๆ ก็ต้องหาแหล่งกำไรใหม่ๆ เพื่อหาเงินให้เท่าทุนการผลิตของตัวเอง ซึ่งตลาดที่ยังมีโอกาสเดินเกมได้มากก็คือกลุ่มคนที่ไม่ใช่เกมเมอร์มาก่อน พูดง่ายๆ ก็คือกลุ่มคนที่เป็นนักดูหนังนั่นเอง เกมต่างๆ เลยทำในสิ่งที่เกมยุคก่อน Riddick ทำมาแล้ว นั่นคือดึงเอานักแสดงจำนวนมากมารับบทในเกม แต่เพิ่มเติมด้วยการเขียนบทเกมต่างๆ ให้เอื้อกับความสามารถของนักแสดงมากขึ้นพร้อมพัฒนางานภาพให้เลียนแบบหน้าตานักแสดงให้ได้เหมือนที่สุดในบางกรณี  

ตัวอย่างก็เช่นเกมอย่าง Call of Duty: Advanced Warfare ที่ดึงเอาดารา(ชื่อเสีย) อย่างเควิน สเปซีย์มารับบทตัวร้าย Batman: Arkham City ที่ได้มาร์ค แฮมิลจาก Star Wars มาพากย์เสียง The Joker หรือ Until Dawn ที่ได้รามี มาเล็ค มาร่วมทีม

เควิน สเปซีย์ใน Call of Duty: Advanced Warfare

มาร์ค แฮมิล ใน Batman: Arkham City

รามี มาเล็ค ใน Until Dawn

เทคโนโลยีด้านการบันทึกสีหน้าพัฒนาไปไกลจนหลายเกมนำเทคโนโลยีมาเป็นจุดขายหลัก เช่น เกมสืบสวนสอบสวนอย่าง L.A. Noire (2011) ที่เราต้องจับโกหกผู้ต้องสงสัยจากการสังเกตสีหน้าตัวละคร ซึ่งตัวเกมใช้เทคโนโลยีการบันทึกใบหน้านักแสดงจริงอย่างละเอียด สมจริงจนกลายเป็นวิดีโอเกมแรกที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกอย่าง Tribeca Film Festival เลยทีเดียว ส่วนสตูดิโออย่าง Quantic Dream ก็เน้นไปที่ระบบกราฟิกของเกมเพื่อสร้างประสบการณ์เกมของตัวเองให้เหมือนภาพยนตร์ที่สุด จนแทบจะเป็นภาพยนตร์มากกว่าเกม เช่น Heavy Rain (2010) และผลงานล่าสุดอย่าง Detroit: Become Human (2018) ที่แทบจะเป็นภาพยนตร์จริงๆ ไปแล้ว

L.A. Noire

Detroit: Become Human

จากของเด็กเล่นในยุค 80s ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าวงการเกมในปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมความบันเทิงที่มีรายได้สูงที่สุดในโลก เหนือกว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือดนตรีด้วยซ้ำ เมื่อเทียบยอดเปิดตัวภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องล่าสุดอย่าง Avengers: Endgame ที่มียอดเปิดตัวทั้งสัปดาห์ 357 ล้านดอลลาร์กับเกม AAA อย่าง Grand Theft Auto V ที่มียอดขายกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในเวลาสามวันแรก เราจะเห็นได้ชัดว่าเกมทุนสูงสามารถชนะรายได้ของหนังฟอร์มใหญ่ได้ขาดลอย ซึ่งนี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่นักแสดงต่างๆ หันมารับบทในเกมกันมากขึ้นเพื่อเป็นที่รู้จักของผู้คนในหมู่กว้างมากขึ้น อย่างที่คีอานู รีฟส์รับบทในเกม Cyberpunk 2077 นั่นเอง

อนาคต

ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า โลกของนักแสดงในวงการบันเทิงอาจจะเปลี่ยนไป อาจจะมีภาพยนตร์ที่เชื่อมโยงเรื่องราวเข้ากับโลกเกมมากขึ้น คล้ายๆ กับสิ่งที่ Enter the Matrix พยายามทำเมื่อสิบกว่าปีก่อน หรืออุตสาหกรรมเกมอาจจะเอาชนะโลกภาพยนตร์ได้โดยสิ้นเชิง

ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับระบบการแสดงในเกมอาจกลายมาเป็นความสามารถที่นักแสดงทุกคนต้องมี คล้ายยุคเปลี่ยนผ่านจากภาพยนตร์เงียบไปสู่ภาพยนตร์เสียง นักแสดงหลายคนอาจไม่สามารถเปลี่ยนความสามารถทางการแสดงของตัวเองไปสู่โลกเกม หรือ motion capture ได้จนนักแสดงยุคใหม่ขึ้นมาแทนที่

นักพากย์เสียงในเกมอาจจะกลายเป็นที่รู้จักในสังคมทั่วไปมากขึ้น แม้แต่ในปัจจุบัน นักพากย์เสียงหลายคนก็เริ่มมีชื่อเสียงนอกวงการเกม เช่น สตีฟ บลัม, ทรอย เบเกอร์ หรือเจนนิเฟอร์ เฮล เป็นต้น

ไม่แน่ บริษัทเกมในอนาคตอาจจะสแกนนักแสดงเก็บไว้ทั้งตัว บันทึกวิธีการพูดการแสดงเอาไว้ทั้งหมด แล้วเอามาจำลองเป็นตัวละครในเกมของตัวเองโดยไม่ต้องให้นักแสดงทำ motion capture อีกต่อไปก็อาจจะเป็นไปได้

แต่ค่อนข้างแน่นอนว่า กว่าปี 2077 จะมาถึงจริงๆ พวกเราน่าจะได้เห็นนักแสดงที่พวกเรารักในเกมกันอีกเยอะทีเดียว