วันที่ 12 ตุลาคมเป็นวันชาติแห่งราชอาณาจักรสเปน ในปีนี้ (2017) มีการรณรงค์เดินขบวนขนาดใหญ่เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพของชาวสเปน ซึ่งเป็นการแสดงออกที่ค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการส่งสารไปยังแคว้นกาตาลุญญาที่กำลังมีกระแสเรียกร้องการประกาศอิสรภาพแยกดินแดนออกมาตั้งรัฐใหม่
ส่วนขบวนการของกาตาลัน ถือเอาวันที่ 11 กันยายนเป็นหมุดหมายสำคัญของ ‘ชาติกาตาลัน’ และมีกิจกรรมการเมืองวัฒนธรรมต่อเนื่องจริงจังมากขึ้นในปีที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะปี 2014 และ 2017 ที่มีการทำประชามติแสดงความต้องการของคนในแคว้นกาตาลุญญา แม้จะไม่ใช่การลงคะแนนที่มีผลทางกฎหมาย แต่ภาวะร้อนแรงของการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะภาพข่าวการสลายชุมนุมด้วยตำรวจปราบจลาจลในเมืองบาร์เซโลนา ได้ดึงดูดสายตาชาวโลกให้จับตาสถานการณ์ในสเปนเป็นอย่างมาก
หากลองแคะบริบททางการเมืองของสเปนและกาตาลุญญาออกมา อาจทำให้เห็นว่า ประชาชนหลงลืมหรือถูกทำให้เดินพลัดหลงทางไป หรือมีบางอย่างที่ทำให้ลืมความตั้งใจของขบวนการประกาศอิสรภาพ
ความเข้าใจที่ผิดพลาดเรื่องจำนวนและสัดส่วนคะแนนเสียง
ไม่ว่าจะเป็นการลงประชามติแยกดินแดนในปี 2017 ที่ถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่สเปน หรือเมื่อคราวปี 2014 ที่สามารถจัดประชามติไปได้ตามประสงค์ของรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลุญญา ถ้าดูให้ลึกลงไป ยังไม่เคยมีครั้งไหนที่เสียงเกินกึ่งหนึ่งของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงในแคว้นกาตาลุญญาออกมาว่าสนับสนุนการประกาศอิสรภาพ เพราะคนที่ไม่มาลงคะแนนยังเป็นอัตราส่วนเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
การตีขลุมว่าคนกาตาลัน (เกิดและเติบโตในแคว้นและมีพ่อแม่เป็นคนกาตาลัน) ส่วนใหญ่ เลือกลงคะแนนสนับสนุนประกาศอิสรภาพ ยังเป็นความเข้าใจผิดพลาด มีการพูดถึงขั้นว่า “คนพูดกาตาลันได้จำนวนไม่น้อย ไม่ต้องการแยกออกไปจากสเปน แต่คนที่พูดกาตาลันไม่ได้สักคำ กลับเป็นคนที่เลือกออกจากสเปน”
ดังนั้น ประเด็นที่ว่า คนในแคว้นกาตาลุญญาคือใคร มีสัดส่วนแต่ละกลุ่มขนาดไหน แต่ละกลุ่มมีอะไรขับเคลื่อนทิศทางการเมืองของตน จึงเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจในแต่ละเงื่อนไขและรายละเอียด
“คนพูดกาตาลันได้จำนวนไม่น้อย ไม่ต้องการแยกออกไปจากสเปน แต่คนที่พูดกาตาลันไม่ได้สักคำ กลับเป็นคนที่เลือกออกจากสเปน”
ความทรงจำดำมืดที่ถูกซ่อนเร้น ความพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้ายผ่านปลายปากกาปาป้าเฮมมิงเวย์และจอร์จ ออร์เวล
จริงอยู่ที่เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ชาตินิยมกาตาลันมีผลต่อสำนึกและจิตวิญญาณของคนแคว้นกาตาลุญญา จนสามารถเร้าอารมณ์ร่วมให้เข้าขบวนการประกาศอิสรภาพได้มาก แต่ประวัติศาสตร์ชุดชาติกาตาลันเข้มข้นนี้เพิ่งกลับมาโผล่บนพื้นที่สาธารณะหลังสิ้นสุดยุคเผด็จการทหารฟรังโกไปแล้วเมื่อ 1975 หรือเพียง 42 ปีเท่านั้น
เรื่องราวอีกเวอร์ชันถูกนำมาใช้สู้กับประวัติศาสตร์ชาติสเปนที่ไหลเวียนอยู่ก่อนในระบบการศึกษานานกว่าสี่ทศวรรษ พล็อตเรื่องพูดถึงคนกาตาลันผู้พ่ายแพ้ ถูกยึดอำนาจ วัฒนธรรมถูกบ่อนทำลายโดยเจ้าอาณานิคมสเปน ถูกหักหลังผิดสัญญาครั้งแล้วครั้งเล่าจากรัฐบาลมาดริด ประวัติศาสตร์ชุดสำคัญที่สุดของชาติกาตาลันเห็นจะเป็นสงครามกลางเมืองช่วง 1936-1939 ที่ทหาร อาสาสมัครนักรบ และประชาชนในแคว้นกาตาลุญญาเสียชีวิตไปมหาศาล
การใช้ประวัติศาสตร์ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ก็ยังมีข้อสงสัยว่า สเปนและรัฐบาลมาดริดคือผู้ร้ายฝ่ายเดียว ที่ทำลายชีวิตคนกาตาลันจริงหรือ
แต่การใช้ประวัติศาสตร์ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ก็ยังมีข้อสงสัยว่า สเปนและรัฐบาลมาดริดคือผู้ร้ายฝ่ายเดียว ที่ทำลายชีวิตคนกาตาลันจริงหรือ เพราะขณะที่ประวัติศาสตร์ชาตินิยมกาตาลันบอกเล่าความโหดร้ายป่าเถื่อนของฟาสซิสต์ฟรังโก ผู้ประหัตประหารด้วยการทิ้งระเบิดหว่านและลอบสังหารแกนนำทางการเมืองท้องถิ่น แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็แฝงด้วยปัญหาความแตกแยก การหักหลัง ลอบทำร้ายกันเอง ของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายที่มุ่งปลดแอกกาตาลุญญาออกจากสเปน ดังปรากฏในวรรณกรรมของนักเขียนก้องโลกอย่าง ปาป้าเฮมมิงเวย์ และจอร์จ ออร์เวล ผู้ประกาศอาสาเข้าร่วมรบกับกองกำลังปลดแอกแนวหน้าฝ่ายซ้ายของกาตาลุญญา และก็เห็นได้ว่าทั้งคู่ผิดหวังและสลดใจกับขบวนการต่อสู้ทางการเมืองที่ตนได้สัมผัสถึงเพียงไหน
การอพยพของแรงงานสเปน พร้อมครอบครัวในยุคมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ 1960-70s
การใช้เรื่องประวัติศาสตร์ชาตินิยมกาตาลัน หรือวิธีวิเคราะห์แบบกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบผู้ถูกรังแก จึงอาจไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้อย่างครบถ้วน เพราะยังมีเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้สัดส่วนประชากรผู้มีสิทธิลงคะแนนเปลี่ยนไปจากเมื่อเริ่มมีรัฐธรรมนูญปี 1978 นั่นคือ อัตราการอพยพเข้ามาทำงานในแคว้นกาตาลุญญาของคนสเปนจากแคว้นอื่นๆ ซึ่งประมาณการณ์ว่าช่วง 1960-70s มีผู้อพยพเข้ามาทำงานพร้อมหอบหิ้วสมาชิกครอบครัวมาด้วยนับล้านคน
แน่นอนว่าผู้อพยพส่วนใหญ่เข้ามาขายแรงงานในภาคการผลิต พาณิชย์ และบริการ ที่ขยายตัวหลังจากนายพลฟรังโกเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น แคว้นกาตาลุญญาที่มีศักยภาพในการแข่งขันตามระบบตลาดเสรีย่อมสามารถดึงดูดแรงงานเหล่านี้เข้ามาในแคว้นได้ แต่แรงงานอพยพย่อมมีสำนึกเชื่อมโยงกับความเป็นสเปนซึ่งมีแก่นอยู่ที่ภาษาสเปน แม้ต่อมาจะหลิ่วตาให้เข้ากับเมืองกาตาลุญญา แต่สำนึกในใจตน และการปลูกฝังแนวคิดต่อไปยังรุ่นลูกหลานก็ยังยากจะทำนายได้ว่า จะทำให้คนรุ่นถัดไปฝักใฝ่ไปทางใ
รายได้ในแคว้นกาตาลุญญามาจากน้ำพักน้ำแรงคนกาตาลันเท่านั้นหรือ
แรงงานคือผู้ผลิต แต่ส่วนเกินจากการผลิตถูกสะสมโดยเจ้าของปัจจัย ซึ่งก็คือนายทุน นายจ้างกาตาลันผู้อยู่มาก่อนได้กำไรจากสินค้าและบริการที่แรงงานอพยพสร้าง เช่นเดียวกับที่พักอาศัยหรือพื้นที่อาคารพาณิชย์ที่ผู้ย้ายเข้ามาต้องเสียค่าเช่าให้กับเจ้าของเดิม การผลิตในแคว้นกาตาลุญญาจึงไม่ต่างจากมหานครอื่นทั่วโลก ที่ยืนอยู่บนการผลิตของแรงงานจากหลากหลายรากเหง้า
นวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เศรษฐกิจสังคมสเปน และทำให้แคว้นกาตาลุญญากลายเป็นมหานครที่รุ่งโรจน์โชติช่วงในทศวรรษหลัง เห็นจะไม่พ้น ‘รถไฟความเร็วสูง’ ที่เชื่อมโยงโครงข่ายไปทั่วประเทศ และข้ามเขตพรมแดนไปยังฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ ในยุโรป
เมืองใหญ่ที่มีศักยภาพในการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจมากกว่าอย่างกาตาลุญญา จึงเปรียบเสมือนปลาใหญ่ที่ได้เขมือบปลาเล็กในแคว้นอื่นๆ เข้ามาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตน ทั้งในแง่เพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้กับนักท่องเที่ยวที่ใช้บาร์เซโลนาเป็นจุดตั้งต้นหรือสิ้นสุดเมื่อจะเข้า/ออกสเปน และยังช่วยขนแรงงานฝีมือ ผู้เชี่ยวชาญ ช่างฝีมือ ฯลฯ เข้ามาทำงานในแคว้นได้ ทั้งแบบเช้าไปเย็นกลับ หรือต้น-ปลายสัปดาห์
เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคยุโรปใต้ ล้วนได้รับผลสะเทือนของการเคลื่อนตัวของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ แต่รัฐบาลทั้งหลายย่อมมีศักยภาพในการปรับตัวรับกับสถานการณ์ได้ไม่เท่ากัน รัฐบาลที่ใหญ่เทอะทะ อุ้ยอ้าย ไม่มีประสิทธิภาพ ความด้อยประสิทธิภาพของระบบราชการ ยิ่งทำให้รัฐบาลที่มีขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพเป็นที่ปรารถนา
การผลิตในแคว้นกาตาลุญญาจึงไม่ต่างจากมหานครอื่นทั่วโลก ที่ยืนอยู่บนการผลิตของแรงงานจากหลากหลายรากเหง้า
คนรุ่นใหม่ที่เบื่อหน่ายกับการแข่งขันไม่สิ้นสุด และเสี่ยงจะตกเป็นแรงงานค่าจ้างต่ำ ความเสี่ยงสูง เริ่มผันตัวเป็นศิลปิน/ผู้ประกอบการอิสระ นิยมการมีพื้นที่เล็กให้โชว์ทักษะฝีมือในการปรุง แต่ง ชง สร้างสรรค์ผลงาน แต่ต้องเผชิญค่าเช่าและภาษีที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องจ่ายสองต่อให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลชาติ ที่ไม่อาจแน่ใจว่าเอาเงินมาใช้อย่างเป็นประโยชน์กับพวกเขา
การเรียกร้องความอิสระในการมีพื้นที่ทำงานเล็กๆ แต่ค่าเช่าถูก หลักประกันชีวิตที่ไม่ผูกติดกับนายจ้างสถานประกอบการ สวัสดิการจากรัฐที่มาจากการเลือกของตน เป็นเสียงให้คนรุ่นใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง จึงเป็นเรื่องที่คนตื่นตัวสนใจกันมาก
แม้ปัญหาคาราคาซังอย่างการว่างงานที่ปัจจุบันลดลงไปมากแล้ว เพราะคนรุ่นใหม่หารายได้จากงานอิสระ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับค่าเช่าสูง ความเสี่ยงสูง รวมไปถึงความผิดหวังที่เงินภาษีถูกโกงไปโดยนักการเมือง หรือนำไปหล่อเลี้ยงชีวิตและธุรกิจลับของชนชั้นนำ ความรู้สึกนี้เปลี่ยนเป็นความเดือดดาลที่ต่อเนื่องมาจากครั้งการชุมนุมต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลในปี 2012 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ก็เหมือนทุกครั้งที่นักปกป้องระบบทุนนิยม สามารถซ่อนแก่นปัญหาที่แท้ว่าด้วยการผูกขาดการถือครองปัจจัยการผลิตของสารพัดนายทุนน้อยใหญ่ ที่ทรงอิทธิพลมาแต่เก่าก่อน แล้วเบี่ยงอารมณ์ความรู้สึกเดือดดาลของผู้คนให้ไปผจญกับประเด็นละเอียดอ่อนอย่างเรื่อง ‘ชาตินิยม’ แทน
สหายเอยลืมแล้วหรือ?
การเมืองในระดับประเทศสเปน มีพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ถือกำเนิดจากขบวนการยึดพื้นที่สาธารณะเพื่อต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัด พรรคดังกล่าวคือ พรรคโปเดมอส (Podemos แปลว่า We can หรือ เราทำได้) ซึ่งได้สัดส่วนในรัฐสภาสเปนและสภาแคว้นต่างๆ หรือรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ จำนวนไม่น้อย (กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ในการเมืองทุกระดับ) เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหาที่เกิดจากทุนนิยมและการตกหล่มนโยบายทางการเมืองเรื่องรัดเข็มขัด เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองขวากลางของคนรุ่นใหม่ ที่มาเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนหลังเกิดภาวะเสื่อมศรัทธาต่อสองพรรคใหญ่ของประเทศ
แต่ในแคว้นกาตาลุญญา กลายเป็นว่าเครือข่ายชนชั้นนำอันประกอบไปด้วยนักการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายขวาและผู้สนับสนุน ทั้งนายทุน ศิลปิน และผู้นำทางวัฒนธรรม กลับฉวยโอกาสนี้สร้างเวทีเสนอทางเลือกใหม่ในการจัดการแคว้นของตน ด้วยการแสวงหาแนวทางการแยกตัวออกไปสร้างรัฐใหม่ที่ออกแบบได้เองตั้งแต่ต้น ชูธงการรณรงค์ว่าจะสร้างประสิทธิภาพในการบริหารกิจการสาธารณะ
เมื่อการเมืองระดับประเทศไม่อาจแก้ปัญหาพื้นฐานในชีวิตของคนได้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่การเมืองระดับท้องถิ่นจะฉวยใช้ปัญหาเพื่อแสวงหาโอกาสให้กับตัวเองได้อย่างฉับไว
Tags: แคว้นกาตาลุญญ่า, การประกาศอิสรภาพ, ประชามติ, มาดริด, บาร์เซโลนา, catalonia referendum, สเปน