พอใกล้ถึงวันคริสต์มาส นอกจากจะต้องหาของขวัญไว้เตรียมแลก แจก หรือจับแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องตระเตรียมเช่นเดียวกันก็คือต้นคริสต์มาส สำหรับคนไทยอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเคร่งครัด เพราะการประดับประดาบ้านเรือนด้วยต้นคริสต์มาสไม่ใช่วัฒนธรรมแต่ดั้งเดิมของเราอยู่แล้ว โดยเฉพาะชาวไทยพุทธ อย่างมากก็ไปถ่ายรูปคู่กับต้นคริสต์มาสที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างสวยงามตามห้างร้านต่างๆ ก็ถือว่าได้อินกับเทศกาลไปแล้ว
แต่สำหรับฝรั่งหรือคริสตศาสนิกชนก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ต้องถึงกับเคร่งศาสนา แต่ต้นคริสต์มาสนั้นมาพร้อมกับเรื่องราว วัฒนธรรม การเฉลิมฉลอง ที่แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิต (ปลายปี) มาตั้งแต่เด็ก จะว่าไปก็คงเหมือนกับที่เราต้องซื้อพวงมาลัยมาไหว้พระทุกวันพระนั่นแหละ
ถึงแม้ว่าจุดกำเนิดการตกแต่งประดับประดาต้นคริสต์มาสนั้นจะเกิดขึ้นที่เยอรมนีในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 และเดินทางสู่อเมริกาในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 ก็ตาม แต่ในปัจุบันนี้สหรัฐอเมริกากลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดทั้งการปลูกต้นคริสต์มาสและการตัดขายทุกๆ ปี เมื่อเพลง All I Want From Christmas Is You ของมารายห์ แครี่ เริ่มเปิดในห้างตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม (แม้ตามประเพณีจะเริ่มติดตั้งต้นคริสต์มาสในบ้านและประดับประดาในช่วงวันที่ 21-22 ธันวาคมก็ตาม) เทศการการหาต้นคริสต์มาสสวยๆ มาประดับบ้านก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว
คำว่าต้นคริสต์มาส หลายคนอาจจะนึกว่ามันชื่อต้นคริสต์มาสจริงๆ ที่จริงมันคือต้นไม้ประเภทไม่ผลัดใบ โดยส่วนมากที่มักนำมาทำเป็นต้นคริสต์มาสจะเป็นไม้จำพวกตระกูลสน ทั้ง บัลซัมเฟอร์ เฟรเซอร์เฟอร์ ดักลาสเฟอร์ แกรนด์เฟอร์ โนเบิลเฟอร์ ไวท์เฟอร์ ฯลฯ โดยพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐอเมริกาก็คือเฟรเซอร์เฟอร์ ตามมาด้วยโนเบิลเฟอร์ และดักลาสเฟอร์
สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศที่ซื้อต้นคริสต์มาสอย่างจริงจัง ฟาร์มต้นคริสต์มาสส่วนมากจะอยู่ในเขตรัฐโอเรกอน หรือนอร์ทแคโรไลนา เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำฟาร์มต้นคริสต์มาสก็คือเมืองแอช ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ที่แต่ละปีสามารถปลูกต้นคริสต์มาสขายได้เกือบ 2 ล้านต้นเลยทีเดียว โดยใน 6 เมืองใหญ่ของทั้งสองรัฐที่ทำฟาร์มต้นคริสต์มาสเป็นล่ำเป็นสัน ผลิตต้นคริสต์มาสป้อนสู่ตลาดในสหรัฐอเมริกากว่า 70% ของทั้งประเทสเลยทีเดียว
ในปี 2018 ที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกา ต้นคริสต์มาสจริงขายได้ประมาณ 32.8 ล้านต้น (ตกราคาต้นละ 78 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2017 ประมาณ 20% ราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 4% ในขณะเดียวกันก็พบว่าต้นคริสต์มาสเทียม (ทำจากพลาสติก) มีการซื้อสูงถึง 23.6 ล้านต้น และสูงขึ้นจากปี 2017 ประมาณ 12% ราคาเพิ่มขึ้น 3% ที่สำคัญคือกลุ่มคนที่ซื้อต้นคริสต์มาส (ทั้งจริงและเทียม) มากที่สุดก็คือกลุ่มมิลเลนเนียลส์ ที่เพิ่งจะสร้างครอบครัว แม้ว่าจะเป็นเจเนอเรชั่นที่อาจจะยังมีบ้านน้อยกว่ากลุ่มเจนเอ็กซ์ เจนวาย หรือเบบี้บูมเมอร์ก็ตาม
ว่าแต่ต้นคริสต์มาสจริงกับเทียม แบบไหนส่งผลเสียด้านสิ่งแวดล้อมากกว่ากัน จากการศึกษาของกลุ่ม The Carbon Trust เพื่อเปรียบเทียบการสร้างคาร์บอน (Carbon Footprint) ในการซื้อต้นคริสต์มาส ทั้งต้นจริงและเทียมว่าแบบไหนสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน พบว่า
ต้นคริสต์มาสจริง สูงไม่เกิน 2 เมตรตัดโดยไม่มีราก ซึ่งเมื่อเหี่ยวเฉาและตายลงก็จะกลายเป็นขยะสู่บ่อฝังกลบนั้น สร้างปริมาณคาร์บอนประมาณ 16 กิโลกกรัม ในขณะที่ต้นคริสต์มาสจริงที่มีรากมาด้วย ซึ่งสามารถปลูกต่อได้ สร้างปริมาณคาร์บอน 3.5 กิโลกกรัม สำหรับต้นคริสต์มาสเทียมที่ทำจากพลาสติกนั้น สร้างปริมาณคาร์บอน 40 กิโลกรัม ด้วยเพราะผลิตจากพลาสติกซึ่งในกระบวนการผลิตมีส่วนที่ทำให้เกิดคาร์บอนจำนวนมาก อีกทั้งต้นคริสต์มาสส่วนมากยังผลิตมาจากจีน ซึ่งมีการขนส่งทางไกลที่สร้างคาร์บอน และหากจะใช้ต้นคริสต์มาสเทียมเพื่อความยั่งยืนมากกว่าการใช้ต้นคริสต์มาสจริงก็ต้องใช้ต้นเดิมต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 12 ปี
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อมบอกว่า ถ้าคุณมีต้นคริสต์มาสเทียมอยู่แล้วให้ใช้มันต่อไปให้ได้ยาวนานที่สุด ส่วนคนที่กำลังหาซื้อต้นคริสต์มาสจริงขอให้ซื้อในแบบที่มีรากหรือมาเป็นกระถางที่สามารถปลูกต่อเป็นไม้ประดับบ้านได้ และใช้ต่อในปีต่อๆ ไป ที่สำคัญคือจงซื้อจากฟาร์มหรือแหล่งเพาะปลูกในเขตใกล้บ้านของคุณเพื่อลดการขนส่งอันเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
หลายคนอาจจะคิดว่า กะอีแค่ต้นคริสต์มาส ทำไมต้องคำนวณอะไรกันนักหนา ก็เพราะว่าทุกๆ การกระทำของเรา ทุกๆ การบริโภคของเรา หรือแม้แต่การมีชีวิตอยู่ของเรา ล้วนแต่สร้างปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาะอากาศในปัจจุบันนี้ และหากเราสามารถออกแบบการใช้ชีวิตได้ ตั้งแต่ไม่ใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ไปจนถึงในทุกๆ การเลือกบริโภคที่คำนึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้เราทำร้ายโลกลดลง คงไม่ต้องรอให้เด็ก 16 ปีมาว่า How Dare You หรอกนะคะ แก่แล้ว…อายเด็กมันบ้าง
ส่วนคำแนะนำง่ายๆ สำหรับคนไทยก็คือไปถ่ายรูปต้นคริสต์มาสตามห้างดีกว่า ประหยัดเงินและช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย
อ้างอิง
https://realchristmastrees.org/dnn/News-Media/Industry-Statistics/Consumer-Survey
https://edition.cnn.com/2019/11/28/business/christmas-trees-millennials/index.html
ภาพ : Orlando Estrada/AFP
Tags: ปรากฏการณ์เรือนกระจก, รอยเท้าคาร์บอน, ต้นคริสต์มาส, สภาวะโลกร้อน