เทศกาลหนังเมืองคานส์มาทีไร โซเชียลมีเดียเดือดเป็นไฟทุกที แต่ไม่ได้เดือดเรื่องหนังที่ได้ palme d’or ว่าเหมาะไม่เหมาะ ดีไม่ดี หรือทำไมผู้กำกับหญิงถึงมีน้อยกว่าผู้ชายหลายเท่าตัวนะ อ้อ…ถูกแล้วหรือที่ไม่ให้หนังจากเน็ตฟลิกซ์เข้าร่วมประกวดในเวทีนี้ด้วย

แต่เราเดือดเรื่องพรมแดง

ใครแต่งชุดแบรนด์อะไร ชุดใครสวยกว่ากัน เพชรราคากี่ล้าน คนนี้ได้ไปเดินพรมแดงเพราะอะไร ใครเชิญ ฯลฯ สารพัดประเด็นที่กลายเป็นข่าวดราม่า โดยเฉพาะในบ้านเราที่ต้องสืบค้นแม้กระทั่งว่า บัตรเชิญมาจากไหน

หนึ่งในดราม่าที่ว่อนไปทั่วโซเชียลมีเดียก็คือ หง็อก ตรินห์ นางแบบ/ดีไซเนอร์ชาวเวียดนาม บนพรมแดงในรอบฉายภาพยนตร์เรื่อง A Hidden Life ที่ถูกวิจารณ์ยับว่าแต่งตัว “โป๊” ด้วยชุดกระโปรงซีทรูปักด้วยลูกปัดแหวกข้างสูงโชว์แก้มก้น ซึ่งหลายคนบอกว่าเกือบจะเห็น “จิ๊มิ” เลยด้วยซ้ำ อันเป็นเหตุให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งเรื่องชุด ความโป๊ เธอเป็นใคร ไปทำหนังหรือแสดงหนังเรื่องไหน แม้แต่สื่อเมืองนอกก็กล่าวว่า แทบจะไม่เหลืออะไรไว้ให้จินตนาการ หรือแม้แต่นำเธอไปเปรียบเทียบอีวา ลองโกเรีย ในงานเดียวกันว่า ในขณะที่เดินพรมแดงอยู่ จู่ๆ ชุดกระโปรงผ่าหน้าที่เธอสวมใส่เปิดขึ้น อีวารีบใช้มือจับไว้ไม่ให้โป๊ ในขณะที่ตรินห์ยินดีเปิดเต็มที่ (อันนี้ฉันเขียนตามที่เขาว่ามานะคะ)

หง็อก ตรินห์

ฮัลโหลลล…คนที่เขียนข่าวคงจะเพิ่งติดตามพรมแดงเมืองคานส์เป็นปีแรกสินะ ปี 2016 เบลล่า ฮาดิด ก็เดินพรมแดงเมืองคานส์ด้วยชุดกระโปรงแหวกข้างเห็นแก้มก้นเช่นเดียวกัน อีกทั้งความแหกความแหวกของชุดนั้นทำให้เห็นถึงจัปปิ้งหรือจีสตริงสีแดงเข้าชุดกันกับชุดกระโปรงที่เธอใส่ ปีนี้ในงานปาร์ตี้ตอนกลางคืน เธอใส่ชุดลูกไม้ซีทรูโนบราเห็นจุกด้วยซ้ำไป นี่ยังไม่รวมชุดของ โรมี สตริจด์, อเลสซานดรา แอมโบรซิโอ นางแบบวิกตอเรียซีเครทที่ก็โป๊พอๆ กัน และอีกหลากหลายนาง หลากหลายปีที่ผ่านมาก็ใช่ว่าจะน้อยไปกว่าหง็อก ตรินห์

แม้แต่แม่ชมของเรา ปีนี้ยังมีชุดซีทรูเห็นกางเกงในเลยค่ะ

ใช่สิ เบลลา ฮาดิด เธอเป็นใครล่ะ คนทั้งโลกรู้จักเธอ เธอเป็นนางแบบ ขึ้นปกโว้กเกือบจะทุกเอดิชั่นทั่วโลก เดินแบบถ่ายแคมเปญให้กับแบรนด์แฟชั่นสุดหรู และเสื้อผ้าที่เธอใส่ แม้จะโป๊สะบัดก็งานระดับกูตูร์ทั้งนั้น Alexandre Vauthier, Christian Dior, Roberto Cavalli ที่แม้จะโป๊ แต่มันถูกรองรับไว้ด้วยสถานะทางสังคม แบรนด์ ราคาของชุด ความเป็นนางแบบ/ความเป็นแฟชั่น ในขณะที่หง็อก ตรินห์ แม้แต่ชื่อเรายังแทบไม่รู้จักเลยว่าเธอเป็นใครมาจากไหน

Bella Hadid (ภาพเมื่อ 18 May 2016 โดย WENN.com)

 

Alessandro Ambrosio

 

สิ่งที่ถูกนำมาตัดสินร่างกายของผู้หญิงคนหนึ่งในกรณีของหง็อก ตรินห์ มันจึงไม่ใช่แค่คัตติ้งของชุดว่าแหกขึ้นไปกี่เซ็นฯ เห็นแก้มก้นมากเท่าไหร่ ไม่ใช่แค่ร่างกายที่ถูกนำมาตัดสิน แต่รวมถึงความเป็นเอเชีย ความเป็นใครก็ไม่รู้ ไม่มีหน้าตาชื่อเสียงในสังคมมากพอที่จะมารองรับข้อหาคำว่า “โป๊” ให้ดูแพง ให้ดูแฟชั่น ให้ดูโอต์กูตูร์ได้

ภายใต้ความเป็นผู้หญิงที่นอกจากจะถูกตัดสินด้วยเนื้อตัวร่างกายแล้ว ยังมีเลเยอร์แยกย่อยลงมาตามลำดับชั้นอีกมากมาย ทั้งชนชั้นและชาติพันธุ์ เรียกได้ว่าในกรณีของหง็อก ตรินห์ ครบทั้ง Class Race and Gender เลยทีเดียว

ถ้าเป็นวิทยานิพนธ์ เธอคงได้วิทยานิพนธ์ทางสังคมศาสตร์ดีเด่นเลยค่ะ

และถ้าสิ่งที่หง็อก ตรินห์ สวมใส่จะถูกกล่าวหาว่าโป๊สำหรับงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ ก็ขอให้ย้อนไปในปี 1953 นะคะ เมื่อนักแสดงสาววัยชาวฝรั่งเศสวัย 18 ปี (ในขณะนั้นซึ่งอาจจะยังไม่เรียกว่าพรมแดง) บริดจิตต์ บาร์โดต์ สวมชุดบิกินีมาโพสริมชายหาดให้นักข่าวถ่ายรูปในเทศกาลหนังเมืองคานส์เลยด้วยซ้ำไป และไม่ใช่แค่บริดจิตต์นะคะ อาร์โนลด์ ชวาสเนกเกอร์ ก็เคยใส่กางเกงในตัวจิ๋วมายืนเบ่งกล้ามริมชายหาดในเทศกาลหนังเมืองคานส์เพื่อโปรโมทหนังในปี 1977 เช่นเดียวกัน หรือคุณแม่มาดอนน่าของเราก็เคยใส่ชุดสุดเก๋ที่เหมือน ไม่เหมือนล่ะ ใช่เลย ชุดชั้นในเพียงแต่มีชุดคลุมสุดหรูมาด้วย (แต่แม่ก็เปิดโชว์ของอยู่แล้วตามสไตล์แม่)

เพราะฉะนั้นถ้าพูดเรื่องความโป๊ ความฉาว หง็อก ตรินห์ น่ะ ยังชิดซ้ายถ้าเราดูประวัติศาสตร์พรมแดงงานเมืองคานส์กันจริงๆ จังๆ และใช้เกณฑ์การตัดสินที่ไม่ได้พ่วงด้วยอคติทางเชื้อชาติ ชนชั้น ความดังไม่ดัง สวยไม่สวย เก๋ไม่เก๋ กันจริงๆ

ไม่ว่าจะชุดโป๊ ซีทรู แหวกข้าง ชุดปักคริสตัลระยิบระยับดูแพงหรูหรา หรือชุดกระโปรงสุ่มใหญ่หางปลายาวสามเมตรสุดโอต์กูตูร์ ใส่เพชรเม็ดเบ้อเร่อ หรือรวมไปถึงดาราไทยหลายคนที่โดนค่อนขอดว่าได้เล่นหนังหรือเปล่าหรือได้บัตรมาจากไหนถึงได้ไปพรมแดง ไม่ว่าจะด้วยดราม่าเรื่องอะไร ทุกคนก็ล้วนแต่มีอะเจนด้าในการไปร่วมงานด้วยกันทั้งนั้น เพื่อขายตัวเอง ขายสปอนเซอร์ที่เป็นเสื้อผ้า เครื่องเพชร เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม หรือแม้แต่ไม่มีอะไรจะต้องขาย ก็ต้องไปเพื่อที่จะขายตัวเองให้ได้ อย่าลืมว่านี่คือโลกของธุรกิจ

งานเทศกาลหนังเมืองคานส์ไม่ใช่แค่เทศกาลหนังอาร์ต ฉายหนังที่ไม่มีใครดูรู้เรื่องแล้วปรบมือเชียร์กันเอง แต่มันคือธุรกิจหนังทั่วโลกที่มีผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ นักลงทุน งานแฟร์ขายลิขสิทธิ์หนัง ฯลฯ มาร่วมงานกว่า 30,000 คน ทุกคนล้วนแล้วแต่มุ่งหน้าไปเพื่อทำธุรกิจภายใต้อะเจนด้าของตัวเอง ภายใต้กรอบอะไรบางอย่าง กรอบของชุด เครื่องประดับ การแต่งหน้าทำผมของสปอนเซอร์ที่ให้ใส่แบบนี้ ต้องการลุคแบบนี้ กรอบของคนที่ไม่มีสปอนเซอร์แต่ต้องการอยากจะให้ตัวเองมีสปอนเซอร์ในอนาคต มีงาน มีคนเห็น รู้จัก มีคนจ้าง อย่าลืมว่า ช่วงแรกฟ่าน ปิง ปิง ก็ไปด้วยการเล่นใหญ่เล่นโตจนถูกวิจารณ์เหมือนกัน แล้วไงล่ะ สุดท้ายเธอได้เป็นจูรี่งานเมืองคานส์

แล้วมันผิดตรงไหนไม่ทราบ…ฮึ

ด้วยความที่เทศกาลหนังเมืองคานส์กลายเป็นเทศกาลหนังที่ยิ่งใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่จำนวนคนมาพรมแดงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจการซื้อขายหนัง สปอนเซอร์ และอื่นๆ ทำให้นี่เป็นอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายของคนทั่วโลกที่หวังอยากจะ “แจ้งเกิด” จากที่นี่ หรือนำการได้มาเดินพรมแดงเมืองคานส์ไปต่อยอด สร้างโปรไฟล์ ก่อนหน้านี้เราเห็นขบวนนักแสดงนางงามชาวอินเดียหมุนเวียนเปลี่ยนกันมาเป็นระลอก ปีนี้เป็นเทรนด์ของสาวจีนบ้าง และไม่ใช่ดารานักแสดงนะคะ บล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนเต็มไปหมด จนสื่อขนานนามพรมแดงเมืองคานส์ในปีนี้ว่าเป็น “China Town” หนึ่งในดราม่าที่เกิดขึ้นก็คือ สาว Shi Yufei ที่เดินพรมแดงนานสองนานไม่ยอมไปไหนสักที จนเจ้าหน้าที่ต้องมาเชิญออก แล้วเธอก็กลับมาใหม่อีกรอบ

ในจีนเกิดธุรกิจการขายตั๋วเดินพรมแดงเมืองคานส์เกิดขึ้น โดยเหล่าเอเจนซี่ที่อ้างว่าสามารถหาตั๋วให้อินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ ดารา นักร้องหรือใครทั้งหลายที่ยอมจ่ายเงินไปเดินพรมแดงได้ โดยราคาตั๋วมีตั้งแต่ 65,000- 200,000 หยวนเลยทีเดียว ซึ่งก็มีอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ ในโลกโซเชียลมีเดียหลายคนยอมจ่าย จ่ายเสร็จ ไปเดินเสร็จ มีรูปมาโชว์ ก็ออกมาให้ข่าว จนเกิดเป็นแฮชแท็กในโลกโซเชียลฯ “Paying 100,000 yuan to walk along Cannes’ red carpet show” ซึ่งมีคนดูถึง 50 ล้านวิวเลยทีเดียว อย่าถามถึงคำวิจารณ์เลย ดาราไทยที่ถูกวิจารณ์ทั้งเรื่องชุดหรือไปเดินพรมแดงได้อย่างไร ได้ตั๋วมาจากไหน ได้เล่นหนังจริงหรือเปล่าจงดีใจ เพราะที่จีนดรามาและรุนแรงกว่านี้เยอะ

นอกจากดราม่าไร้สาระเหล่านี้ ยังมีดราม่าอื่นๆ ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในเมืองคานส์ปีนี้ ทั้งการประท้วงกฎหมายทำแท้งของเหล่านักแสดงและผู้กำกับหญิงจากอาร์เจนตินา ประเด็นเรื่องการจัดงานคานส์นั้นทำลายสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน ของกลุ่ม Greenpride และที่ฉันชอบที่สุดก็คือสีสันของขบวนนักแสดงจากเรื่อง Port Authority ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศทั้งชาย หญิง เกย์ ทรานส์ ที่เดินพรมแดงอย่างกับกำลังเต้นโว้ก

ฉันไม่ได้เรียกร้องว่าจะต้องซีเรียสกับเทศกาลหนังเมืองคานส์ขนาดนั้น หนังเรื่องนี้ใครกำกับ ลึกล้ำยังไง คุยแต่เรื่องตัวหนังกันเถอะ คานส์แมสโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วโลกแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องหนังก็ด้วยพรมแดง เซเลบริตี้ที่ไม่ได้มีหนังฉายแต่มาร่วมงาน ซึ่งบางทีจุดนี้เองที่อาจจะทำให้ให้คานส์อยู่รอดสปอนเซอร์เข้ารัวๆ ก็ได้ใครจะไปรู้

มันมีอีกหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้ เพราะเราไม่ได้เป็นคนที่ได้บัตรไปเดินพรมแดงเมืองคานส์ ไม่รู้ว่าภายใต้ในการได้บัตรมา ได้ชุดมา ได้รูปมา ใครได้อะไร ใครจ่ายอะไร ผลประโยชน์อะไรเกิดขึ้นแก่ใครบ้าง บางทีในฐานะคนนั่งดูอยู่แค่หน้าจอสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ได้แต่แชร์ คอมเมนต์ ต่างๆ นานา ชุดไม่สวยเลยไม่สมกับเป็นพรมแดง ชุดคนนั้นสวยกว่า ทำไมดู Cheap จัง ทำไมโป๊จัง ไปทำไม ใครเชิญ หนังก็ไม่ได้เล่น ไม่เห็นมีใครถ่ายรูปเลย ฯลฯ มันอาจจะน่าหัวร่อกว่าและเงินก็ยังไม่ได้สักกะผีกอีกด้วย

แต่เอ๊ะ! ปีนี้หนังเรื่องไหนได้รางวัลนะ

 

อ้างอิง

Tags: , , , ,