ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี โทมัส มัลแคร์ (Thomas Mulcair) ผู้นำพรรคประชาธิปไตยใหม่ลุกขึ้นโจมตี จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแห่งแคนาดา ต่อกรณีการปฏิเสธที่จะประณามนโยบายการห้ามประชาชนจากประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาว่านโยบายดังกล่าวละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และสิ่งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อแคนาดาอย่างเลี่ยงไม่ได้

ในครั้งนั้น ทรูโดตอบกลับว่า “…เราจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า เรากำลังปกป้องพันธกิจของแคนาดาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีความสัมพันธ์ในการทำงานเชิงสร้างสรรค์กับหุ้นส่วนและพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญของเรา…และเรายังยืนหยัดเพื่อค่านิยมและหลักการของแคนาดา”
​        ขณะเดียวกัน อาเหม็ด ฮุสเซน (Ahmed Hussen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมือง ผู้ลี้ภัย และสัญชาติแห่งแคนาดา ผู้ซึ่งอดีตเป็นผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลีย กล่าวเสริมเรื่องนี้ว่า “…จุดเน้นอยู่ในนโยบายของเราเอง เพื่อให้แน่ใจว่าเรายังคงเป็นประเทศที่เอื้ออาทรและมีเมตตาต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาแหล่งพักพิง”

      ในเมื่อข้อโจมตีของมัลแคร์ก็มิได้ผิด แล้วทรูโดกับฮุสเซนกำลังพูดถึงอะไร ?

  คำตอบส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ในหนังสือเล่มใหม่เรื่อง The Ordinary Virtues: Moral Order in a Divided World(2017) ของ ไมเคิล อิกนาเทียฟ (Michael Ignatieff) อธิการบดีแห่ง Central European University (CEU) อดีตผู้นำพรรคเสรีนิยมแห่งแคนาดา และอดีตผู้อำนวยการ Carr Center for Human Rights Policy แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาพูดถึงนโยบายผู้ลี้ภัยของแคนาดาว่า “คุณถามว่าเหตุใดนโยบายผู้ลี้ภัยของแคนาดาจึงประสบความสำเร็จ ก็เป็นเพราะมันไม่ได้ใช้ภาษาสิทธิ อันที่จริงเรากล่าวว่า ‘เราเป็นประเทศที่เอื้ออาทร เราเป็นประเทศที่เห็นอกเห็นใจ นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเมตตา นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรา’…”

 

คุณถามว่าเหตุใดนโยบายผู้ลี้ภัยของแคนาดาจึงประสบความสำเร็จ ก็เป็นเพราะมันไม่ได้ใช้ภาษาสิทธิ

  อย่างไรก็ตาม ก็ดูจะเกินเลยไปเสียหน่อยที่ว่าความสำเร็จในเรื่องผู้ลี้ภัยของแคนาดาไม่ได้ใช้มิติเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่กระนั้น ก็ชวนให้สงสัยว่า เหตุใดอิกนาเทียฟจึงแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ภาษาสิทธิมนุษยชน (human rights language) กับ ‘คุณธรรมประจำใจ’ (ordinary virtues)

    สำหรับอิกนาเทียฟ สิทธิมนุษยชนคือผู้ท้าชิงตำแหน่งทางจริยธรรมสากลหรือจริยธรรมระดับโลก (เดิมเจ้าของตำแหน่งคือศาสนา) ปรากฏการณ์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือการที่รัฐต่างๆ ให้สัตยาบัน เข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ การอนุวัติการกฎหมาย หรือตอบสนองต่อแรงกดดันด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ

  แต่กระนั้น ก็ยังพบปัญหาที่ลักลั่นหรือข้อจำกัดในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจากประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งจากกลไกประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมาก สิ่งเหล่านี้เองที่ท้าทายการสถาปนาความเป็นสากล (universalism) หรือการเป็นจริยธรรมสากล (global ethics) ของสิทธิมนุษยชน

    ขณะเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม อิกนาเทียฟมองว่า ‘คุณธรรมประจำใจ’ ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่โดยทั่วไปหรือเป็นคุณค่าสากล หากแต่เป็นคุณค่าในระดับชุมชน/ท้องถิ่น (local values) เอง พูดง่ายๆ ก็คือ มันเป็นคุณธรรมทั่วไปในชีวิตประจำวันของคนธรรมดาสามัญ เช่น ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเอื้ออาทร ความอดทนอดกลั้น การให้อภัย การคืนดี และการฟื้นกลับคืนสู่สภาพเดิม คุณค่าเช่นนี้มีความเฉพาะตัว และมีลักษณะความสัมพันธ์ในระดับปัจเจกกับปัจเจก

 หากนี่คือความต่างกันระหว่างคุณค่าท้องถิ่นและคุณค่าสากล …แล้วคุณธรรมประจำใจสำคัญอย่างไร

  กล่าวได้ว่า แคนาดาไม่ได้เป็นกรณีแรกหรือกรณีเดียวที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของคุณค่าท้องถิ่นอย่างคุณธรรมประจำใจ ในหนังสือเล่มนี้อิกนาเทียฟศึกษาผู้คนธรรมดาๆ ในหกประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา บราซิล บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา พม่า ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ เพื่อตอบคำถามว่า ในชีวิตประจำวันของผู้คน เขาทำอย่างไรกันเมื่อเผชิญหน้ากับประเด็นเฉพาะทางทางศีลธรรม เช่น ระหว่างหลักการทางศาสนากับทางโลก ระหว่างหลักการเรื่องสิ่งแวดล้อมกับเรื่องผลประโยชน์ หรือระหว่างจารีตประเพณีท้องถิ่นกับสิทธิสากล และสำหรับคนทั่วไปแล้ว พวกเขาทำความเข้าใจผู้อื่นอย่างไร และจะเป็นเช่นไรเมื่อพวกเขาปฏิเสธ/ไม่ยอมรับ/ไม่เห็นด้วย หรือเมื่อความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น ?

 

สิทธิมนุษยชนคือผู้ท้าชิงตำแหน่งทางจริยธรรมสากลหรือจริยธรรมระดับโลก (เดิมเจ้าของตำแหน่งคือศาสนา)

    อิกนาเทียฟตอบคำถามที่ว่านี้ผ่านระบบปฏิบัติการทางจริยธรรม (moral operating systems) ด้วยการเข้าไปมีปฏิสังสรรค์กับคน เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าสากลอย่างสิทธิมนุษยชนกับคุณค่าในระดับชุมชน/ท้องถิ่น ในฐานะที่คุณธรรมเหล่านี้เป็นตัวกำหนดระเบียบทางศีลธรรมระหว่างมนุษย์และยังเป็นตัวสร้างโลกทางศีลธรรม

  กล่าวคือ เมื่อรัฐประชาชาติต่างรับรองและส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนโดยสากลแล้ว เราน่าจะเห็นการปฏิสังสรรค์ระหว่างภาษาทางจริยธรรมระดับโลกและระดับท้องถิ่นได้ เป็นต้นว่า เราสามารถมองเห็นผลกระทบของสิทธิมนุษยชนต่อคุณธรรมประจำใจ/คุณค่าเชิงบวก ยกตัวอย่างเช่น สิทธิมนุษยชนอาจเป็นตัวเปลี่ยนแปลงหรือขยับขยายคุณธรรมประจำใจให้กว้างขวางขึ้น หรือคุณค่าเชิงบวกในระดับท้องถิ่นอาจเป็นตัวก่อรูปหรือเป็นแหล่งที่มาของคุณค่าความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชน

  แต่ผลคือ คุณค่าแบบสากลและคุณค่าแบบชุมชน/ท้องถิ่นกลับมีความตึงแย้งระหว่างกันตั้งแต่ระดับพื้นฐาน

  กล่าวคือ หากสิทธิมนุษยชนมีความเป็นสากล มนุษย์ย่อมยอมรับความเป็นมนุษย์โดยสากล ฉะนั้น ท่ามกลางหมู่มวลมนุษย์จึงย่อมไม่มีคนอื่น มีแต่พวกเรา (There is no ‘other’; there is only us)
นั่นคือ ตามมุมมองแบบสิทธิมนุษยชน ‘ความเหมือน’ หรือคล้ายคลึงจนเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษย์ (common humanity) เป็นมุมมองปฐมภูมิ ขณะที่ความแตกต่างเช่น เชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาวะ ฯลฯ ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นนี้เป็นมุมมองทุติยภูมิ

    ในทางกลับกัน มุมมองของคนทั่วไป ความแตกต่าง (difference) และความเป็นอื่น (otherness) กลับเป็นมุมมองปฐมภูมิ ไม่ว่าจะเป็นที่มาที่ไป เสื้อผ้าที่สวมใส่ สีผิวที่แตกต่างกัน เพศสภาวะ รสนิยมทางเพศ หรือสำเนียงภาษา ฯลฯ นี่คือรากฐานอันดับแรกเมื่อคนธรรมดาสามัญเห็นคนแปลกหน้า และมุมมองทุติยภูมิกลายเป็นเรื่องของความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันของมนุษย์

 

‘คุณธรรมประจำใจ’ เป็นคุณค่าในระดับชุมชน/ท้องถิ่น เป็นคุณธรรมทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเอื้ออาทร ความอดทนอดกลั้น การให้อภัย

    จากการศึกษา เขาพบว่า คนทั่วๆ ไปไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กันบนฐานสิทธิมนุษยชน ดังนั้น มุมมองที่ต่างกันนี่เองที่เป็นความตึงแย้ง (tension) ระหว่างคุณค่าสากลและคุณค่าท้องถิ่น

  ขณะที่คุณค่าแบบชุมชน/ท้องถิ่นอย่างคุณธรรมประจำใจดำเนินอยู่ทั่วไปในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้คน คำถามที่ผุดขึ้นเมื่อคนธรรมดาสามัญเผชิญหน้ากับความแตกต่าง/ความเป็นอื่นก็คือ “เขาหรือเธอผู้นั้นเป็นพวกเราหรือเป็นพวกเขา” ในแง่นี้ ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่การเอาชนะความแตกต่าง/ความเป็นอื่น แต่ประเด็นน่าจะอยู่ที่ว่า เราจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร หรือจะต้อนรับขับสู้ (hospitality) เขาหรือเธอผู้นั้นอย่างไร

  เมื่อความสำคัญของคุณธรรมประจำใจอยู่ที่มันเป็นสิ่งที่คนธรรมดา ใช้เป็นฐานในการเข้าไปมีปฏิสังสรรค์ระหว่างกัน แล้วสิทธิมนุษยชนล่ะ

  ปฏิเสธไม่ได้ว่านับตั้งแต่คำประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และการต่อสู้เพื่อเชื้อชาติ เพศสภาวะ ความเท่าเทียมทางเพศในระยะต่อ ๆ มา ได้สร้างบรรทัดฐานว่าด้วย เสียงที่เท่ากัน (equal voice) ในความหมายที่ว่า พวกเขามีสิทธิที่จะพูด และมีสิทธิที่จะได้รับการได้ยิน ไม่ว่าผู้นั้นจะมีสถานะเป็นเช่นไร (แต่เสียงใครจะดังกว่ากันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง) กระนั้นก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิทธิมนุษยชนเป็นภาษาหรือชุดคุณค่าที่ถูกใช้และเข้าใจกันในหมู่ชนชั้นนำ (elites) หรือจำกัดตัวเองอยู่ในกลุ่มเฉพาะมากๆ เช่น ปัญญาชน ชนชั้นกลาง นักวิชาการ นักศึกษา นักกิจกรรม กลุ่มผู้เสียหาย สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่รัฐ มากกว่าประชาชนหรือสาธารณชนทั่วไป

  ขณะเดียวกัน อิกนาเทียฟยังมองว่า การขยายตัวของสิทธิมนุษยชนก็เช่นเดียวกับการขยายตัวของภาษาอังกฤษ ที่ต้องผ่านขั้นตอนการปรับตัวให้เข้ากับสำเนียงและการออกเสียงของพื้นถิ่น

  และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อนักการเมือง/นักเคลื่อนไหวใช้ภาษาสิทธิมนุษยชนเพื่อระดมการสนับสนุนจากสาธารณชน จึงไปสอดรับกับวิธีคิดหรือเป็นเหตุเป็นผลกับกลุ่มเฉพาะมากกว่า — แต่ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างหรือได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนหรือสาธารณชนทั่วไป

  พูดง่ายๆ ก็คือ ถึงแม้จะถูกต้องตามหลักการทุกอย่าง แต่กลับไม่ make sense กับคนส่วนใหญ่ในสังคม

 

นักการเมือง/นักเคลื่อนไหวใช้ภาษาสิทธิมนุษยชนเพื่อระดมการสนับสนุนจากสาธารณชน แต่ยังไม่เพียงพอที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนหรือสาธารณชนทั่วไป

  ทั้งนี้ หากย้อนกลับมาพิจารณาเรื่องผู้ลี้ภัยของแคนาดา หากคุณเป็นนักการเมือง/นักเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ การอ้างสิทธิของผู้ลี้ภัย/ผู้แสวงหาที่พักพิงของคนแปลกหน้าต่อพลเมืองในรัฐอธิปไตยนั้นก็มิได้ผิด แต่ก็ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะในทางหนึ่งแล้วมันลากให้คุณค่าสิทธิมนุษยชนสากลกับคุณค่าประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (พลเมือง) ให้มาเผชิญหน้ากัน

    แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ว่า การกล่าวอ้าง/อ้างอิงเช่นนี้เพียงพอแล้วหรือที่จะสร้างหรือได้รับแรงสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในสังคม – ซึ่งถ้าหากได้รับแรงสนับสนุนเพียงพอก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่ล่​

  สำหรับอิกนาเทียฟแล้ว เขายอมรับว่าประเทศของเขาพูดว่า “เราเป็นประเทศที่เอื้ออาทร เราเป็นประเทศที่เห็นอกเห็นใจ นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเมตตา นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรา” – และนี่คือของขวัญที่พลเมืองมอบให้แด่คนแปลกหน้า นี่คือคุณธรรมประจำใจที่เข้าถึงและกินใจคนธรรมดาสามัญ

  ถึงที่สุดแล้ว เราก็มิอาจที่จะปฏิเสธคุณค่าใดคุณค่าหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าของหลักการสิทธิมนุษยชน หรือคุณค่าของหลักการประชาธิปไตย เช่นเดียวกับที่มิอาจละเลยคุณค่าเชิงบวกหรือคุณธรรมในชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น การก้าวให้พ้นทางออกจากปัญหาสังคมการเมืองที่แห้งแล้งแบบชี้นิ้ว/กล่าวโทษ จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะหาจุดลงตัวหรือการผสานระหว่างกัน นี่จึงเป็นบทสนทนาที่จำต้องดำเนินกันต่อไป

 

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Mark Blinch

 

FACT BOX:

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :

Ignatieff, Michael. The Ordinary Virtues: Moral Order in a Divided World. Harvard University Press, 2017.
Ignatieff, Michael. “Human Rights, Global Ethics, and the Ordinary Virtues.” Ethics & International Affairs 31.1 (2017): 3-16.

Tags: , , , ,