ต่อไปนี้ ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะได้เห็นจำนวนแคลอรีในเมนูตามร้านอาหาร เป็นผลจากการที่กฎหมายขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) บังคับใช้วันจันทร์นี้ อันเนื่องมาจากความพยายามของรัฐในการควบคุมรอบเอวของชาวอเมริกัน

การออกกฎหมายที่กำหนดให้ร้านอาหารแบบมีสาขา ร้านขายของชำ โรงภาพยนตร์ สวนสนุก และตู้กดอัตโนมัติแสดงปริมาณแคลอรีอาหาร มีที่มาจากกฎหมายบริการทางสาธารณสุขของอเมริกัน ค.ศ. 2010 (Affordable Care Act) และเอฟดีเอต้องขยายความเองว่าธุรกิจควรจะปฏิบัติอย่างไร กฎหมายนี้ล่าช้าจากกำหนดเดิมมาปีกว่า

กฎหมายกำหนดให้ร้านอาหารที่มีสาขา 20 แห่งขึ้นไปต้องระบุข้อมูลโภชนาการและแสดงจำนวนแคลอรีที่เห็นได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น ถ้าซื้อกาแฟแก้วกลางของสตาร์บัคส์จะเห็นว่าให้พลังงาน 190 แคลอรี ส่วนบิ๊กแมคในแมคโดนัลด์ให้พลังงาน 530 แคลอรี

ผู้บริโภคจะเห็นปริมาณแคลอรีได้ที่ร้านที่มีที่นั่งกิน ร้านแบบไดร์ฟ-ทรู ร้านซื้อกลับบ้าน เช่น พิซซ่า แซนด์วิชที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อ มัฟฟินจากร้านกาแฟหรือร้านขนม ป็อปคอร์นในโรงภาพยนตร์ ร้านไอศกรีม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางประเภทในร้านอาหาร

จากปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินของชาวอเมริกา ที่พบว่าชาวอเมริกันมากถึง 40% เป็นโรคอ้วน ผู้จัดทำนโยบายอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการออกกฎหมายนี้ ด้วยความหวังว่าผู้บริโภคทั่วไปจะคิดทบทวนก่อนซื้ออาหาร

สก็อตต์ ก็อตตลิเอบ (Scott Gottlieb) กรรมการของเอฟดีเอกล่าวในงานประชุมประจำปีของเอฟดีเอว่า “ตอนนี้ผมรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะสนับสนุนการติดฉลากไว้บนเมนู แต่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลเหล่านี้ และสภาคองเกรสได้มอบอำนาจมาแล้ว เอฟดีเอทำงานหลายขั้นตอนเพื่อทำให้การให้ข้อมูลง่ายขึ้น และร้านอาหารหลายแห่งก็แสดงข้อมูลนี้อยู่แล้ว การแข่งขันขึ้นอยู่กับความโปร่งใส และระดับของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นผู้บริโภคสามารถเลือกได้จากข้อมูลที่มากขึ้น เมื่อพวกเขาซื้ออาหารหรือกินอาหารนอกบ้าน”

เขาเห็นว่ามันจะเป็นการยกระดับการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหาร กฎหมายนี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจอย่างมีข้อมูลได้

“สถิติแสดงให้เห็นว่า ถ้าคุณรู้ข้อมูลจากเมนู ผู้บริโภคโดยเฉลี่ยจะลดปริมาณแคลอรีที่กินเข้าไปประมาณ 30-40 แคลอรีต่อวัน เท่ากับ 5 ปอนด์ต่อปี คุณลดน้ำหนักได้ด้วยการมีข้อมูลที่ดีขึ้น” ก็อตตลิเอบให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์

ขณะที่กลุ่มธุรกิจแสดงความกังวลว่ากฎนี้อาจจะยุ่งยากและเป็นภาระเกินไป เช่น ร้านพิซซ่า เพราะพิซซ่ามีหน้าให้เลือกมากมาย และยังมีเมนูเฉพาะของพิซซาแบบส่งถึงบ้านอีก แต่เจตนาของเอฟดีเอคือทำให้เมนูนี้ใช้งานง่ายและไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงนัก อาจจะระบุปริมาณแคลอรีที่ครอบคลุมหน้าพิซซาหลายแบบได้

งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การแสดงข้อมูลแคลอรีไม่ได้ส่งผลให้คนตัดสินใจซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และไม่ชัดเจนว่าผู้บริโภคได้รับแรงจูงจากโภชนาการมากกว่าราคาหรือรสชาติ เพียงเพราะได้เห็นปริมาณแคลอรีของอาหารที่จะกินเข้าไป

นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์กวิเคราะห์ใบเสร็จและทำแบบสอบถามผู้บริโภคหลายพันคนในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด 4 แห่งในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเมืองที่กำหนดให้ต้องระบุปริมาณแคลอรีอาหารมาเกือบทศวรรษแล้ว ผลคือ ไม่พบว่า ข้อมูลโภชนาการหรือการระบุปริมาณแคลอรีส่งผลต่อการซื้ออาหารหรือเข้าร้านอาหารอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่ได้ทำให้พวกเขาไปร้านอาหารนั้นน้อยลง

ในปี 2008 นักวิจัยมหาวิทยาลัยมินนิโซตาได้ศึกษาวัยรุ่นและผู้ใหญ่จำนวน 594 คน ที่กินอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำ พบว่า พวกเขาสั่งอาหารมื้อละประมาณ 842 แคลอรีเมื่อรู้ข้อมูลแคลอรี ไม่ใช่ราคา แต่เมื่อไม่มีข้อมูลปริมาณแคลอรี แต่เป็นราคา พวกเขาสั่งอาหารเฉลี่ยประมาณ 827 แคลอรี

 

ที่มา:

Tags: , , , , , ,