สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ล่าสุดยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ หลังจากการเจรจาสันติภาพระหว่างทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยังไร้ซึ่งคำตอบ ขณะเดียวกันฝั่งชาติตะวันตก และประเทศในสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เริ่มมีการเคลื่อนไหวตอบโต้การรุกรานของรัสเซียที่น่าตื่นกลัวไม่น้อยกว่าการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือกองกำลังอาสาสมัครสนับสนุนยูเครน เพราะเป็นการเลือกตัดกำลังรัสเซียด้วยอาวุธทางเศรษฐกิจที่เรียกว่ามาตราการ ‘คว่ำบาตร’
ไม่กี่วันที่ผ่านมา ปรากฏภาพประชาชนชาวรัสเซียยืนต่อคิวแออัดอยู่บริเวณทางเข้าชานชาลารถไฟฟ้าใต้ดิน สาเหตุเป็นเพราะช่องทางธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ ที่ใช้กันทั่วโลกอย่าง Google Pay และ Apple Pay ถูกชาติเจ้าของระงับปิดกั้นการโอน-จ่าย ขณะเดียวกันระบบเครื่องอ่านบัตรโดยสารที่ต้องชำระผ่านธนาคาร VTB Bank ก็ไม่สามารถชำระได้เช่นกัน เพราะถูกคว่ำบาตรไปก่อนหน้าแล้ว
ขณะเดียวกัน ผลกระทบทางเศรษฐกิจแดนหมีขาวเริ่มหนักขึ้น เมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานสูงขึ้นจาก 9.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรองรับค่าสกุลเงินรูเบิลอ่อนค่าลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ชาติตะวันตกและกลุ่มสหภาพยุโรป ถอดธนาคารรัสเซียที่ส่วนใหญ่ใช้เงินสกุลเงินรูเบิลออกจากตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด ท่ามกลางความหวั่นวิตกของนักลงทุนที่พร้อมเทขายหุ้น หรือแม้แต่ประชาชนที่ต่างพาเหรดกันไปถอนเงินออกจากบัญชี และแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นในอัตราส่วนต่างถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เช่น 80 รูเบิล แลก 1 ยูโร และ 75 รูเบิล แลก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่นั่นยังไม่ทำให้นักธุรกิจชาวรัสเซียหวาดวิตกไปกว่าการที่ชาติตัวเองถูกคว่ำบาตรจากระบบการเงิน ‘SWIFT’
‘SWIFT’ หรือ Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication คือ ช่องทางเครือข่ายการเงินสากลที่เชื่อมต่อกับสถาบันทางการเงิน 11,000 แห่ง จาก 200 ประเทศทั่วโลก ที่ดำเนินกิจการโดยธนาคารยุโรปและสหรัฐฯ แบบไม่มีการผูกขาดเพียงเจ้าเดียว โดยระบบดังกล่าวทำหน้าที่เป็นตัวกลางโอนเงินข้ามประเทศได้รวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถแจ้งผลผลธุรกรรมได้เรียลไทม์ผ่านข้อความ SMS จึงเป็นช่องทางสำคัญที่หลายบริษัทระดับโลกเลือกใช้
ผลกระทบของการถูกคว่ำบาตรห้ามใช้ระบบการเงิน SWIFT จะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมและบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมทำเงินสำคัญของรัสเซีย เพราะการทำธุรกรรมโอน-จ่ายข้ามประเทศ ธนาคารจะต้องติดต่อโดยตรงกับอีกธนาคาร นั่นหมายความว่าจะต้องมีการเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม ส่งผลให้รัฐบาลรัสเซียได้ส่วนต่างภาษีรายได้ลดลง และช้าขึ้น ถึงแม้ ณ เวลานี้ รัฐบาลรัสเซียจะงัดระบบบัตรชำระเงินแห่งชาติ (National Payment Card System) ที่วางแผนรองรับตั้งแต่ปี 2019 มาใช้ แต่ อเล็กเซ คูดริน (Alexei Kudrin) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัสเซียมองว่า การถูกระบบการเงิน SWIFT คว่ำบาตร จะทำให้สภาวะเศรษฐกิจรัสเซียหดตัวลงถึง 5 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ มาตรการคว่ำบาตรยังส่งผลไปถึงการห้ามสายการบินสัญชาติรัสเซียบินผ่าน หรือลงจอดยังประเทศที่ไม่เห็นดีเห็นงามต่อการรุกรานยูเครน ยกตัวอย่าง สายการบิน Aeroflot ถูกสั่งห้ามเข้าลงจอดยังประเทศแคนาดา อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์ ที่ส่งผลกระทบยิ่ง โดยเฉพาะประเทศรายหลังที่มีธนาคารผู้ถือครองเงินกองทุนต่างๆ ของรัสเซียอยู่หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแม้แต่การระงับการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องบิน และชิ้นส่วนยุทโธปกรณ์ก็ตาม
ด้านปัจเจกบุคคล รัสเซียก็ยังถูกชาติที่ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรบีบกดดันอย่างหนัก ยกตัวอย่างกรณีของ โรมัน อับราโมวิช (Roman Abramovich) มหาเศรษฐีธุรกิจน้ำมันดิบ ผู้เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลเชลซี ยอดทีมแห่งเกาะอังกฤษ และบริษัทลงทุนเอกชน บริษัท มิลล์เฮาส์ แคปิทัล (Millhouse Capital) ที่ถูกกดดันให้ขายสโมสรฟุตบอลในความดูแลทิ้ง เพราะมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับประธานธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน หรือในรายของ อลิเชอร์ อุสมานอฟ (Alisher Usmanov) ที่ถูกสหภาพยุโรปอายัดทรัพย์ ข้อหามีส่วนสนับสนุนการรุกรานของรัสเซีย ตั้งแต่เหตุการณ์ยึดไครเมีย
อย่างไรก็ดี มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียยังคงถูกพิจารณาแตกออกเป็นสองเสียง ทั้งฝั่งที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบ โดยเฉพาะในกลุ่มฝั่งประเทศยุโรปบางประเทศ เช่น เยอรมนี ที่ยังต้องพึ่งการส่งออกพลังงานก๊าซธรรมชาติอยู่ แต่ความน่าสนใจต่อจากนี้ คือเมื่อรัสเซียถูกคว่ำบาตรโดยสมบูรณ์ และสกุลเงินรูเบิลแทบจะไร้ค่า รัฐบาลเครมลินจะมีวิธีรับมืออย่างไรต่อไป รวมถึงสภาพเศรษฐกิจหลังสงครามยุติ ที่ส่อแววถูกหลายประเทศผลักให้จนมุม เพราะนั่นคือผลกรรมที่ได้รับในยุคที่สงครามอันแท้จริงดำเนินด้วยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
Tags: รัสเซีย, ยูเครน, Business