ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแล้วว่า ณ เวลานี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามามีอิทธิพลและมีส่วนร่วมค่อนข้างมากในการสร้างสรรค์ผลงานของมนุษย์
ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือเทคโนโลยี AI มีความสามารถมากกว่าการช่วยร่างแบบฟอร์มจดหมาย คิดคอนเทนต์ หรือสร้างภาพเสมือนจริง เพราะก้าวหน้าถึงขั้นช่วยออกแบบบ้านในฝันให้แก่มนุษย์ที่ตรงใจทุกกระเบียดนิ้ว ตั้งแต่หลังคาจรดพื้นบ้าน ซึ่งเทคโนโลยี AI ที่ว่านี้มีชื่อว่า ‘วิตรูวิอุส’ (Vitruvius)
เท้าความก่อนว่า วิตรูวิอุสเป็น AI ที่พัฒนาโดย ‘ไอคอน’ (ICON) บริษัทสตาร์ทอัพรับออกแบบบ้านก่อตั้งโดย เจสัน บัลลาร์ด (Jason Ballard) เริ่มพัฒนาตั้งแต่ต้นปี 2018 ก่อนเปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง South by Southwest ที่จัดขึ้นในเมืองออสติน (Austin) รัฐเท็กซัส (Texas) เมื่อปี 2022
จุดเด่นของวิตรูวิอุส คือการออกแบบและพัฒนาบ้านแก่ผู้ใช้งานด้วยฟังก์ชัน ‘การพิมพ์ภาพ 3 มิติ’ (3D-Printed Housing Developments) โดยวิตรูวิอุสจะประมวลหน้าตาและรูปแบบบ้านที่ดีที่สุดให้โดยอัตโนมัติ เพียงผู้ใช้งานตอบคำถามว่า พิกัดบ้านของคุณอยู่ที่ไหน ต้องการสถาปัตยกรรมแบบใด, ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง, ขนาดตัวบ้านกี่ชั้น และไลฟ์สไตล์ของคุณเป็นแบบไหน
จากนั้น AI จะประมวลผลแปลนบ้านออกมาเป็นภาพ 3 มิติ พร้อมแจกแจงรายละเอียด เช่น จำนวนฐานเสาบ้าน, วัสดุก่อสร้างที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ, ลักษณะการตกแต่งภายในห้องแต่ละห้อง แม้กระทั่งเครื่องมือที่ต้องใช้ก่อสร้าง เพื่อให้ผู้ใช้งานพิจารณาก่อนตัดสินใจเนรมิตบ้านในฝัน
“ไม่มีเหตุผลที่จะต้องสร้างบ้านราคาสูงเกินจริง เป้าหมายของเราคือการทำให้ผู้คนมีโอกาสครอบครองบ้านในราคาที่สมเหตุสมผล วิสัยทัศน์ของเราที่มีต่อวิตรูวิอุส คือการก้าวผ่านขีดจำกัดของมนุษย์ในการสร้างบ้าน มากไปจนถึงการจัดการรายละเอียดเล็กน้อยที่มนุษย์สามารถทำได้ ทั้งเอกสารงบประมาณและตารางเวลาการก่อสร้าง รวมไปถึงการใช้หุ่นยนต์เข้ามามีส่วนพัฒนาบ้าน” บัลลาร์ด ซีอีโอไอคอนกล่าวถึงจุดประสงค์การพัฒนาวิตรูวิอุส ทั้งยืนยันว่า AI ของเขาช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายต่อการสร้างบ้านหนึ่งหลังได้อย่างน้อย 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7,279,100 บาท)
แม้จะได้รับคำชื่นชมและการันตีคุณภาพโดยบรรดาบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างนาม เลนนาร์คอร์ปอเรชัน (Lennar Corporation) ที่ตัดสินใจใช้งาน AI ดังกล่าว เพื่อทดลองออกแบบบ้านจัดสรรราว 100 หลัง ย่านเมืองจอร์จทาวน์ (Georgetown) สหรัฐฯ แต่ก็มีผู้คนบางส่วนเคลือบแคลงสงสัยถึงความสามารถของวิตรูวิอุส ดังกรณีที่มีผู้ใช้งานรายหนึ่งให้ AI ออกแบบบ้านบนต้นไม้คล้ายในการ์ตูน ทว่าเมื่อประมวลผลออกมา วิตรูวิอุสเลือกที่จะปรับแต่งลักษณะตัวบ้านให้มีความมั่นคงตามหลักฟิสิกส์และสถาปนิก เช่น เพิ่มฐานเสาบ้านโดยรอบ โดยที่บ้านยังอยู่บนต้นไม้ตามความต้องการเดิมของผู้ใช้งาน
ขณะเดียวกัน แผนการต่อไปของบริษัทไอคอน คือการนำนวัตกรรม ‘คอนกรีตคาร์บอนต่ำ’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้าง ที่เมื่อรวมกับการร่นระยะเวลาการก่อสร้างและต่อเติมที่ได้ AI ช่วยวางแผนแล้ว ก็จะยิ่งช่วยลดปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะโลกร้อนและปัญหามลพิษ
ถึงกระนั้น ณ เวลานี้ วิตรูวิอุสยังเผชิญข้อครหาที่ว่า นำสไตล์การออกแบบของสถาปนิกชื่อดังมาใช้ในการออกแบบบ้าน ซึ่งอาจเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ ทว่าบัลลาร์ดกลับไม่คิดเช่นนั้น และมองว่านี่เป็นเพียงแรงบันดาลใจในการออกแบบเหมือนที่มนุษย์ทำกัน และการออกแบบของ AI ก็พัฒนาไปตามแนวคิดของสถาปนิก หรือบรรดาตัวแทนบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้
สุดท้าย อนาคตของ AI ชื่อคล้ายสถาปนิกนามอุโฆษชาวโรมัน คงต้องดูกันยาวๆ ต่อไป ดังกรณีของ AI เจ้าดังทั้งหลายที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการใช้งานพวกมัน ดังนั้น ตอนนี้จึงเป็นการหาสมดุลร่วมกันว่า มนุษย์จะอยู่กับ AI อย่างไรให้ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบ เสียเปรียบ หรือถูกกลืนกินความคิด
แต่กับกรณีของวิตรูวิอุสอาจเป็นความหวังเล็กๆ แก่ใครก็ตามที่หวังมีบ้านหลังแรกเป็นของตัวเอง ได้สเป็กบ้านที่พอใจ คุ้มราคา และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก หากในอนาคต AI นี้ประสบผลสำเร็จและใช้งานจริง
ที่มา:
– https://www.cnbc.com/2024/03/19/icons-vitruvius-ai-program-designs-dream-homes.html
– https://www.bnnbloomberg.ca/this-ai-architect-will-design-your-climate-friendly-dream-home-1.2045908
– https://iconbuild.com/vitruvius
Tags: ICON, Business, AI, เทคโนโลยี, บ้าน