เมื่อเร็วๆ นี้ สามเณรโฟล์คตกเป็นข่าวดังขึ้นอีกครั้ง เมื่อสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีหนังสือลงวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ถึงเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ให้ตรวจสอบสามเณรรูปหนึ่ง ที่เข้าร่วมชุมนุมกับคณะราษฎรซึ่งอาจเข้าข่ายการขัดคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง ภาพเริ่มจึงชัดว่าเขาเป็นสามเณรที่เข้าร่วมการชุมนุม 

ในวันที่ผู้ชุมนุมเดินขบวนจากแยกสามย่าน ไปสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี สามเณรรูปดังกล่าว ผู้บอกเพียงชื่อเล่นว่าโฟล์คได้ไปรอยังจุดนัดหมายหน้าห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ตั้งแต่ช่วงบ่ายพร้อมกับทีมอาสาสมัคร หน่วยแพทย์และพยาบาลเพื่อมวลชน หรือ พมช. ของภาคีนักศึกษาศาลายา 

พลันที่สามเณรวัย 21 ปี เสร็จสิ้นจากการช่วยหน่วยแพทย์และพยาบาล จัดกระเป๋า เตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น จึงพร้อมเปิดใจถึงแรงกดดันหลังจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ให้ตรวจสอบการร่วมชุมนุมของเขา 

มีความพยายามผ่านวัดสุทธิวราราม และมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ผมสึกจากการเป็นสามเณร

สามเณรโฟล์คเล่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ทั้งวันที่เขาอยู่ในสภาพจีวรเปื้อนสีชุ่มโชกในเหตุการณ์ตำรวจจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมไผ่ ดาวดินที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 13 ตุลาคม หรือครั้งที่กลายเป็นไวรัลจากการเข้าห้ามตำรวจสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน ซึ่งสามเณรโฟล์คอธิบายว่า วันนั้นเข้าไปเพื่อห้ามตำรวจไม่ให้ฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม และจากภาพทั้งสอง เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่มาของการถูกตักเตือน ก่อนที่หนังสือของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะออกมาอย่างเป็นทางการ 

แม้จะรู้ดีว่าการชุมนุมทางการเมืองเป็นเรื่องโลกิยะหรือเรื่องที่เกี่ยวกับทางโลก ซึ่งอาจมีคนมองว่าไม่เหมาะสม แต่สามเณรรูปนี้ยืนยันว่า เหตุผลเพียงแค่นี้จะบังคับให้สึกจากสมณเพศไม่ได้ เพราะภิกษุสามเณรที่จะสิ้นความเป็นพระเณรไปโดยปริยาย หรือต้องสึกในทันที ต้องประกอบความผิดวินัยร้ายแรง 4 ประการคือ 1. ลักทรัพย์ 2. เสพเมถุนหรือมีเพศสัมพันธ์ 3. ฆ่าคน และ 4. อวดอุตริมนุสธรรม หรืออวดอ้างความวิเศษแห่งตน 

ม็อบครั้งก่อนมีพระพุทธอิสระ แต่ตอนนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับเลือกที่จะไม่พูด ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ผู้ชุมนุมมีความรุนแรง แต่ผมไปสั่งห้ามรถหยุดฉีดน้ำ ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดหลักธรรม กลับบีบให้ผมสึก”  

สามเณรโฟล์คเปรียบเทียบการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองของผู้ที่อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ถึงช่วงที่ผู้ชุมนุม กปปส. มีอดีตพระพุทธอิสระเป็นหนึ่งในแกนนำและมีภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่ส่อถึงความรุนแรงด้วยซ้ำ กลับไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหนังสือเตือนหรือบีบบังคับให้ลาสิกขา ต่างจากการที่ตนร่วมชุมนุมกับกลุ่มราษฎรและห้ามความรุนแรง กลับถูกทำหนังสือตรวจสอบ และบีบบังคับให้สละสมณเพศ  

สามเณรโฟล์คเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาศาสนา คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นการเรียนร่วมห้องกับนักศึกษาฆราวาส จำวัดหรือพำนักในน้ำทองสิกขาลัย สำนักสงฆ์ของวิทยาลัยศาสนศึกษา แต่ที่ผ่านมามีชื่อจำวัดชั่วคราวที่วัดสุทธิวราราม เพราะช่วยทำงานให้วัด และทางวัดสุทธิวรารามก็ช่วยสนับสนุนค่าเทอม  

ตอนแรก มีคนกดดันทางวัดสุทธิฯ ให้ตักเตือนผม ต่อมาก็กดดันให้ทางวัดบีบให้ผมสึก ซึ่งจริงๆ ผมไม่ได้เป็นเณรลูกวัดของวัดสุทธิฯ ตอนนี้ทางวัดสุทธิฯ ไม่ได้ให้ไปช่วยทำงานเหมือนเดิม และไม่ได้ให้ปัจจัยเพื่อเป็นค่าเทอมแล้วสามเณรโฟล์คบอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากยังร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะราษฎร  

สามเณรรูปนี้เป็นชาวพะเยา บวชเณรตั้งแต่อายุ 12 ปี หลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อร่ำเรียนโรงเรียนปริยัติธรรมสายสามัญศึกษาในจังหวัดพะเยา จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหิดล รวมเวลาอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ 9 ปีแล้ว 

นับจากเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล สามเณรโฟล์คมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ขององค์การนักศึกษา และที่นี่กลายเป็นเส้นทางให้สามเณรจากพะเยาได้ร่วมกับนักศึกษาเข้าชุมนุมกับเยาวชนปลดแอกตั้งแต่การการชุมนุมครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 

จากนั้น ในการชุมนุมใหญ่แต่ละครั้ง สามเณรโฟล์คเข้าร่วมชุมนุมเรื่อยมา กระทั่งในวันที่ตำรวจสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามวิงวอนไม่ให้ตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุม เพียงแต่ว่าไม่เป็นผล 

ถ้าคุณได้ออกไปบิณฑบาต คุณก็จะเห็นว่าคนมีความทุกข์มากมาย มีปัญหาที่ไม่ได้แก้อย่างถึงรากถึงโคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นักศึกษาเคยพูดในงานวิชาการ หรือแม้กระทั่งงานเขียนต่างๆ ที่นักศึกษาแสดงออกมา ผมก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ที่เราจะควรแก้ปัญหาทางสังคม การแก้ปัญหาอย่างถึงรากถึงโคน คือแก้ที่ตัวรัฐมากกว่าสามเณรโฟล์คสะท้อนสิ่งที่ได้พบเห็นเมื่อย่ำเท้าบิณฑบาตในทุกๆ เช้า 

นอกจากนี้ เขายังเป็นเจ้าของวลีถ้าการเมืองดี ผมก็คงไม่ต้องบวชเรียนตั้งแต่แรกซึ่งกลายเป็นวลีที่ผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร นำไปขยายความให้เห็นว่าการเมืองสัมพันธ์กับทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องในวัด 

สามเณรโฟล์คอธิบายเรื่องนี้ว่า เขาเกิดในครอบครัวเกษตรกร มีน้องสาว 1 คน หลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อยากเรียนต่อแต่ฐานะทางบ้านไม่เอื้ออำนวย จึงต้องหาทางออกด้วยการบวชเป็นสามเณรเพื่อเรียนในโรงเรียนปริยัติธรรม  

ที่ภาคเหนือบ้านผมจะมีคนที่อยากเรียนต่อแต่ฐานะทางบ้านไม่ดีเยอะมาก ก็จะอาศัยบวชเรียน ซึ่งผมมองว่าถ้าการเมืองดี สวัสดิการต่างๆ ดี ผมอาจไม่ต้องมาบวชเรียน

สามเณรรูปนี้เล่าที่มาที่ไปของการได้บวชเรียน ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ทางบ้านเพื่อให้น้องสาวได้เรียนจนจบชั้นอุดมศึกษา ซึ่งตอนนี้ น้องสาวเรียนมหาวิทยาลัย ปี 1 แล้ว   

แม้จะถูกกดดันอย่างไร แต่สามเณรโฟล์คยังยืนยันจะร่วมชุมนุมกับกลุ่มราษฎร โดยร่วมสนับสนุนในส่วนของภาคีนักศึกษาศาลายา ซึ่งส่วนใหญ่ คือจัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้หน่วยแพทย์และพยาบาลเพื่อมวลชน เพื่อดูแลผู้ชุมนุม แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์คับขัน เณรก็บอกว่าจะไปอยู่ในแนวหน้าทันที และทำอย่างที่นักบวชควรทำ คือช่วยปกป้องประชาชน 

หากนับความขัดแย้งทางการเมืองจากปี 2549 เป็นต้นมา มีพระภิกษุร่วมชุมนุมให้เห็นบ่อยครั้ง ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สมณะจากสำนักสันติอโศก ร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สนามหลวง ขณะที่ภิกษุส่วนหนึ่งจากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ร่วมชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. 

ในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 มีพระภิกษุเข้าร่วมชุมนุมด้วยเช่นกัน ซึ่งจบลงด้วยการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริงทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ และปรากฏภาพพระภิกษุ 4 รูป ที่ร่วมชุมนุมถูกจับมัดมือไพล่หลัง 

ต่อมาในการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในปี 2556-2557 อดีตพระพุทธอิสระ หรือนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ เข้าร่วมชุมนุมในฐานะแกนนำ ก่อนถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งว่า นอกจากจะไม่ใช่โลกุตระยังมีบทบาทที่อาจเข้าข่ายสนับสนุนการใช้ความรุนแรง เช่นเบื้องหลังเหตุการณ์ปะทะกันที่แยกหลักสี่ ที่มีมือปืนป๊อบคอร์นเป็นการ์ดและเกิดกรณีกระสุนปืนโดนลุงอะแกว แซ่ลิ้ว นอนเป็นอัมพาตนาน 8 เดือนก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา รวมถึงเวทีชุมนุมแจ้งวัฒนะที่อดีตพระพุทธอิสระเป็นแกนนำ มีการใช้อาวุธสงครามยิงใส่ผู้ชุมนุมอีกฝ่าย หรือมีข่าวว่าการ์ดจับตำรวจสันติบาลและคนขับรถชนกรวยจราจรไปซ้อมจนได้รับบาดเจ็บ

ทั้งนี้ คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง ..2538 มีข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 2 ข้อ คือ ห้ามพระภิกษุสามเณร เข้าไปในที่ชุมนุมหรือในบริเวณสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใด หรือในที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่ากรณีใดๆ และห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ  

แต่ในรอบ 14 ปีนับจากปี 2549 เป็นต้นมา มักเห็นผู้อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ปรากฏตัวในการชุมนุมทางการเมืองแทบทุกครั้ง สะท้อนความสัมพันธ์ของนักบวชและฆราวาสในสังคมพุทธไทยที่ไม่อาจแยกขาดจากกัน ภายใต้โครงสร้างสังคมที่รัฐสถาปนาขึ้นเอง 

Tags: , , ,