แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์ พบตัวเองในเช้าวันหนึ่งที่จังหวัดลพบุรี เธอเห็นอาคารอิฐทรงเมดิเตอร์เรเนียนอันทรุดโทรมที่ทำให้เธอสงสัยใคร่รู้ หญิงสาวชาวฝรั่งเศสเดินเข้าไปดูให้ละเอียดยิ่งขึ้นจึงพบคำอธิบายว่าเป็นบ้านของฟอลคอน—เจ้าพระยาวิชเยนทร์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งทำให้เธอยิ่งประหลาดใจ แต่ตอนนั้นเป็นเวลาเช้าเกินไปก่อนอุทยานประวัติศาสตร์จะเปิดให้ชมและมีข้อมูลเพิ่มเติมให้เธอ
ในเช้าวันที่แสงแดดอ่อนสาดส่อง…เธอยืนจ้องมองอาคารทรงเมดิเตอร์เรเนียน และจดจำชื่อฟอลคอนไว้ ตั้งใจว่าจะเขียนบทความสักชิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้…
***
ผมจิบกาแฟร้อนจากแก้วกระเบื้องผิวบางบนคอนโดมิเนียมรุ่นแรกๆ ของกรุงเทพฯ เพดานห้องสูงโปร่ง หน้าต่างยาวตลอดแนวผนังทำให้เห็นท้องฟ้าเปิดกว้าง ผนังด้านหนึ่งมีต้นไม้ใบใหญ่สีเขียวเข้มในกระถางสร้างบรรยากาศสดชื่น มันเป็นเช้าที่สดใสเงียบสงบวันหนึ่ง…
แคลร์เกิดที่เมืองทริเอสเต้ (Trieste) ริมทะเลอาเดรียติก ตอนเหนือของอิตาลี แม่ของเธอเป็นชาวฝรั่งเศส ส่วนพ่อเป็นนายทหารอเมริกันที่ทำงานในกองทัพหลังสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งสงบลง วัยเด็ก-เธอเติบโตที่สหรัฐอเมริกา แล้วย้ายข้ามฝั่งแอตแลนติกเพื่อใช้เวลาส่วนหนึ่งของชีวิตวัยรุ่นที่ปารีส จากนั้นไปศึกษาต่อการเป็นล่ามที่สวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี แล้วจึงเดินทางกลับมาใช้ชีวิตและทำงานที่ปารีสอีกครั้ง
การเดินทางและการใช้ชีวิตในหลายประเทศทำให้แคลร์ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนใด แต่กลับรู้สึกว่ามีบางส่วนของทุกแห่งอยู่ในตัวของเธอ แคลร์คิดว่ามันเป็นข้อดีที่ทำให้เธอสามารถเลือกที่จะเป็นใครก็ได้ในที่ใดที่หนึ่งเสมอ จึงเป็นไปได้ว่านวนิยายที่เธอเขียนนั้นเป็นบางส่วนของสยามที่อยู่ในตัวเธอก็เป็นได้
แคลร์เป็นคนพูดเร็ว เล่าเรื่องได้น่าติดตาม ดวงตาสีเขียวของเธอฉายแววกระตือรือร้น
และสีสนิมรอบนัยน์ตาดำทำให้เกิดประกายแสงอยู่ในนั้น
แคลร์เคยเป็นล่ามให้กับประธานาธิบดีฌาค ชีรัค คราวที่มาเยือนประเทศไทยในปี 2549 และในอีกหลายวาระต่อมา และเธอยังเคยเป็นผู้อำนวยการที่สมาคมฝรั่งเศส (2552—2556) ผมมีโอกาสได้พบเธอในโอกาสต่างๆ อยู่หลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยผมไม่เคยรู้ว่าเธอเป็นนักเขียนมาก่อน และเธอก็ไม่เคยบอกผม ต่อเมื่อมีละครโทรทัศน์เรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับยุคสมัยพระนารายณ์มหาราช และมีเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นตัวละครหลัก ‘ฟอลคอนแห่งอยุธยา’ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในยุคดังกล่าวที่แคลร์เขียน จึงกลายเป็นหนังสือที่กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หากใครต้องการรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ให้กว้างขวางขึ้นจากมุมมองของนักเขียนตะวันตก ชื่อของแคลร์จึงปรากฏขึ้นอีกครั้งในการรับรู้ของผม และเราจึงได้พบกันอีกครั้ง
“เป็นแค่เพียงเช้าวันนั้นที่ลพบุรีหน้าบ้านของฟอลคอนหรือที่ทำให้คุณอยากเขียนนวนิยายเรื่องนี้”
“เช้าวันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เร้าให้ฉันเขียน แต่ฉันรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยตั้งแต่ฉันมาที่นี่ครั้งแรกเมื่อปี 2518” แคลร์เท้าความย้อนกลับไปสี่สิบปีก่อน ครั้งนั้นเธอมาร่วมงานสัมมนาที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนเดินทางกลับฝรั่งเศส แคลร์กับเพื่อนๆ อยากเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ก่อน พวกเธอเลือกมาเมืองไทย 2-3 สัปดาห์ โดยแวะที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ แม้ว่าตอนนั้นการเดินทางยังไม่สะดวกสบายมากนัก แต่เมืองไทยยังเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของดินแดน ‘exotic’ ความประทับใจครั้งแรกจึงนำพาเธอกลับมาที่ประเทศไทยทุกปีนับจากปีนั้น
“บางคนอาจจะเชื่อเรื่องชีวิตในชาติที่แล้ว แต่ฉันไม่แน่ใจว่าฉันเชื่อเรื่องนี้ไหม ฉันแค่รู้สึกตั้งแต่ครั้งแรกว่าที่นี่เหมาะกับฉัน”
แม้แคลร์จะไม่แน่ใจเรื่องชาติภพและการเกิดใหม่อย่างที่เธอสงสัย แต่จูลี่ กาเล—หญิงสาวลูกครึ่งอังกฤษ-ฝรั่งเศสใน ‘หยดน้ำตาสยาม’ นวนิยายอีกเรื่องของเธอ—เชื่ออย่างนั้น เมื่อหญิงสาวสมมติผู้นี้ตั้งความปรารถนาครั้งสุดท้ายว่าอยากจะกลับมาเกิดใหม่บนแผ่นดินสยาม อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสยามเกิดขึ้นก่อนที่แคลร์จะเริ่มสืบค้นลงลึกไปในประวัติศาสตร์โดยมีฟอลคอนเป็นผู้นำทาง และตัวละครอื่นๆ ในนวนิยายเรื่องอื่นๆ ของเธอล้วนผูกพันและรักสยามอย่างไม่ต้องสงสัย
แคลร์เคยบอกไว้ในงานเขียนของเธอว่า ฟอลคอนอาจไม่ใช่คนเลวร้ายอย่างที่เคยได้รับรู้ได้ฟังมา เธอมองเห็นบางแง่งามของนักเผชิญโชคคนนี้ “แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากการทำงานและชะตาชีวิตของเขาก็คือ เราควรจะเป็นมืออาชีพในงานของเรา แม้ว่าฟอลคอนจะเป็นคนเก่ง แต่เขาอาจไม่ซื่อตรงกับงานของเขานัก การทุจริตและมักใหญ่ใฝ่สูงจึงนำมาซึ่งโศกนาฏกรรม”
ฟอลคอลกับแคลร์มีอาชีพเดียวกันคือการเป็นล่าม ฟอลคอนเป็นล่ามให้กับกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนแคลร์เคยเป็นล่ามให้กับประธานาธิบดีฝรั่งเศส การเคารพและอยู่ในจรรยาบรรณของวิชาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญ การใช้วิชาชีพเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวถือเป็นสิ่งต้องห้าม หากไม่มีการทุจริตและความทะเยอทะยานอันเกินเลยของฟอลคอน ประวัติศาสตร์อยุธยาอาจจะเปลี่ยนไปเลยก็ได้
หลังจากเรื่องราวของฟอลคอนที่แคลร์เขียนขึ้น ข้อมูลที่เธอค้นคว้าจากหอจดหมายเหตุที่ฝรั่งเศส และบทบันทึกของมิชชันนารีชาวตะวันตกนำทางเธอต่อไปจนถึงเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เธอเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สยามเล่มที่สอง ‘ตากสิน มหาราชชาตินักรบ’ โดยร้อยเรียงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จากมุมมองของชาวตะวันตก แคลร์สร้างตัวละครสมมติ มาตยู (มาตีเยอร์-ชาร์ล เดอ แกร์แอร์เว) นายทหารรักษาพระองค์ที่หนีอาญาจากฝรั่งเศสมาใช้ชีวิตในช่วงปลายของอาณาจักรอยุธยา และให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวตะวันตกในประวัติศาสตร์สยามยุคนั้นอีกหลายคน ทั้งบาทหลวง พ่อค้า และหญิงสาวชาวโปรตุเกสในห้วงเวลาสุดท้ายก่อนอาณาจักรจะล่มสลาย เราได้เข้าไปอยู่ร่วมในสงครามบนหน้ากระดาษที่นายทหารฝรั่งเศสคนสนิทผู้นี้ระหกระเหินไปกับกองทัพของพระเจ้าตากที่เก่งกาจและเด็ดขาด กระทั่งได้รับรู้สถานการณ์ของปลายรัชกาลที่กษัตริย์นักรบพระองค์นี้ดับแสงลง
หากมองประวัติศาสตร์ผ่านตัวละครในนวนิยายของแคลร์ —กษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีก็เช่นเดียวกับนโปเลียน นายทหารหนุ่มผู้ซึ่งถูกสถานการณ์สร้างขึ้นในอีกแผ่นดินหนึ่งของโลก ทั้งสองเกิดร่วมสมัยเดียวกัน มีอำนาจในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นทหารที่เติบโตขึ้นเพราะเป็นผู้นำในสงครามกู้ชาติและจากความสั่นคลอนในชาติ ทั้งสองมีความกล้าหาญ และมีบุคลิกภาพอันโดดเด่นที่สามารถรวบรวมศรัทธาจากประชาชน วีรบุรุษผู้มาจากสามัญชนทั้งสองสร้างชาติขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นผู้นำสูงสุด แต่แล้วในช่วงปลายทางของชีวิตก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน กษัตริย์ผู้สถาปนาราชวงศ์ใหม่ถูกประหาร จักรพรรดิอีกคนถูกเนรเทศ จะว่าไปก็เป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับมหาบุรุษมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่มนุษย์จำความได้ ราวกับว่ามันเป็นชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
“คุณคิดว่าทำไมพวกเขาถึงไม่หยุดเมื่อถึงเวลาที่ควรจะหยุด พวกเขาก็น่าจะรู้ว่าในประวัติศาสตร์มักจะเกิดโศกนาฏกรรมแบบนี้เสมอๆ”
“ฉันคิดว่ามันยากที่จะหยุดเมื่อคุณอยู่บนจุดสูงสุด ยากที่จะกลับบ้านแล้วไปมีความสุขแบบง่ายๆ เรียนรู้ที่จะมีชีวิตหลังความสำเร็จ แล้ววางแผนการส่งต่ออำนาจไปสู่คนรุ่นหลัง ฉันคิดว่าอำนาจเหมือนยาเสพติด มันยากที่จะเดินจากมา” เธอหายใจลึกๆ ก่อนจะพูดต่อ
“ท่านเหล่านั้นเหมาะกับสถานการณ์หนึ่งๆ เมื่อการเมืองเปลี่ยนไป ‘ความเป็นท่าน’ ก็อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป ในกรณีของนโปเลียน ท่านก่อสงครามต่อเนื่องยาวนานและกว้างขวาง จนทหารเกิดความเหนื่อยล้า อดอยาก การใช้จ่ายอันเกินเลยของจักรวรรดิ และความพ่ายแพ้ในสงคราม ทำให้ความศรัทธาในตัวนโปเลียนที่เคยมีมาก่อนถูกลดทอนลง จนนำมาถึงการถอดถอนและเนรเทศไปอยู่บนเกาะเซนต์เฮเลนในบั้นปลายของชีวิต ในกรณีพระเจ้าตากนั้นก็ไม่ต่างกัน พวกเขาไปไกลเกินไป ความสำเร็จที่มากเกินไปเป็นอันตรายเสมอ การเปลี่ยนแปลงที่โหดร้ายแต่จำเป็นจึงเกิดขึ้น —It is a successful dangerous” แคลร์สรุปถึงความสำเร็จที่ไม่เหลือทางถอยไว้แบบนั้น
“คุณรู้ไหม ความสำเร็จไม่เคยสอนใคร คุณอาจจะโชคดีที่ประสบความสำเร็จก็ได้ แต่มันไม่เคยสอนคุณเรื่องชีวิต ความล้มเหลวต่างหากที่สอนคุณ” เธอพูดด้วยสีหน้าเรียบนิ่งเพื่อจบประเด็นสนทนาก่อนหน้านี้
การเดินทางผ่านประวัติศาสตร์ของแคลร์ยังคงดำเนินต่อไป ตัวละครสมมติชาวฝรั่งเศสยังคงมีชีวิตชีวา สร้างบทสนทนาและบรรยากาศอยู่ในพื้นที่ความทรงจำของประวัติศาสตร์สยาม ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญจากภัยคุกคามของประเทศเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสและอังกฤษ โดยมีฝรั่งเศสเป็น ‘ผู้ร้าย’ คนสำคัญในนวนิยายเรื่องที่สาม — ‘หยดน้ำตาสยาม’
“ฉันพยายามเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามประวัติศาสตร์อย่างซื่อตรงกับข้อมูลที่ฉันมีและจากสิ่งที่ฉันเข้าใจ โดยพยายามที่จะไม่ตีความไปเอง” นั่นเป็นความพยายามเดียวกันกับการทำงานล่ามซึ่งเคารพจรรยาบรรณทางวิชาชีพเหมือนที่เธอเอ่ยปากก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่มีสายเลือดฝรั่งเศส แคลร์มีความขัดแย้งในใจไม่น้อยที่จะต้องเล่าถึงประวัติศาสตร์อันแพรวพราวไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม การทรยศหักหลัง และความโลภของนโยบายล่าอาณานิคมเมื่อสองศตวรรษที่ผ่านมาจากน้ำมือของประเทศแม่ตัวเอง แคลร์บอกเล่าทัศนะของเธอในเรื่องนี้ผ่านสายตาของ จูลี่ กาเล หญิงสาวลูกครึ่งฝรั่งเศส-อังกฤษ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ที่บางกอกในช่วงวิกฤตทางการเมือง รศ.112 จูลี่เป็นตัวละครที่ถูกวางให้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งในจิตใจ
“ปกติฉันเขียนต้นฉบับเป็นภาษาฝรั่งเศส (‘ฟอลคอนแห่งอยุธยา’ / ‘ตากสิน มหาราชชาตินักรบ’) ช่วงแรกที่เขียนเรื่อง ‘หยดน้ำตาสยาม’ ฉันก็เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ไม่สามารถเขียนได้อย่างที่ควรจะเป็น จนกระทั่งเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้เปลี่ยนไปเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ฉันไม่แน่ใจในตอนแรกว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร แต่เมื่อลองทำก็พบว่าฉันสามารถเขียนได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ฉันพบเหตุผลหลังจากนั้นว่า มันอาจจะเป็นเพราะฉันไม่เห็นด้วยกับนโยบายของฝรั่งเศสสมัยนั้น จนเกิดเป็นการชะงักงันในการเขียน การเขียนเป็นภาษาอังกฤษนั่นหมายถึงฉันเปลี่ยนตัวตนของฉันเป็นคนอเมริกัน ซึ่งส่วนหนึ่งของตัวฉันก็เป็นคนอเมริกัน (ยิ้ม) การเปลี่ยนการใช้ภาษาช่วยทำให้เราเปลี่ยนมุมมองเช่นเดียวกัน”
“ผมเห็นด้วยว่าภาษาทำให้เราเปลี่ยนมุมมอง แต่ไม่คิดว่ามันจะมีผลต่อการเขียน เมื่อครู่คุณว่าอะไรนะ…คุณไม่เห็นด้วยกับนโยบายล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสสมัยนั้น?” ผมถามย้ำ เธอยิ้ม
“ใช่ และการเขียนวิพากษ์การเมืองสมัยนั้นทำให้ฉันรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อฝรั่งเศส การเขียนด้วยภาษาอังกฤษช่วงหลังจึงทำให้ฉันเขียนได้ไหลลื่นขึ้น ฉันพบว่าภาษาเป็นตัวกำหนดความคิดของเรา”
“ตอนนี้กี่โมงแล้ว ฉันมีนัดอีกครั้งตอนเที่ยง” แคลร์ทักถามระหว่างการสนทนาที่ลื่นไหลของเรา ผมหันไปมองที่หน้าต่าง ท้องฟ้ายังสดใส อากาศยังเย็นสบาย และหวังจะให้บทสนทนาทอดยาวไปอีกสักนิด
เวลาตอนนั้นคือสิบเอ็ดโมงสิบห้านาที “ยังมีเวลาอีกสักหน่อย เรายังคุยกันต่อได้” เธอถามผมว่าอยากได้กาแฟอีกสักแก้วไหม
แต่ผมอยากใช้เวลาที่เหลืออยู่ถ่ายภาพเธอมากกว่า
“คุณเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์สำคัญของสยามมาสามเล่มแล้ว ตอนนี้คุณกำลังเขียนนวนิยายเล่มใหม่อยู่หรือเปล่า” ผมชวนเธอคุยเพื่อให้ช่วงเวลานิ่งๆ ของการถ่ายภาพมีความเคลื่อนไหว
“ฉันกำลังเขียนนิยายเล่มใหม่อยู่ เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์สยามยุคใหม่ช่วงปี 2473—2488 ก่อนและหลังช่วงเวลานี้เล็กน้อย คุณคงเดาออกว่าเกี่ยวกับอะไร” แคลร์ยิ้ม “และแน่นอนว่าฝรั่งเศสมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในเรื่องนี้ด้วย”
ผมพอจะเดาออกว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไรและตั้งตารอ เพราะการอ่านนวนิยายของแคลร์ทำให้ผมได้รับรสชาติใหม่ๆ ของสิ่งที่คิดว่าเคยรู้มาบ้างแล้ว—ในอีกมุมมองหนึ่ง รวมไปถึงบทสนทนาที่เปิดเผยความเป็นมนุษย์และบรรยากาศของสยาม ผ่านการบรรยายของเธอซึ่งทำให้ภาพในจินตนาการที่คุ้นชิน—สวยงามแปลกตาออกไป
ผมไม่แน่ใจว่าแคลร์จะเชื่อเรื่องชาติภพและการเกิดใหม่หรือไม่ แม้เธอจะรู้สึกผูกพันกับสยามนับแต่การเดินทางมาถึงเป็นครั้งแรก แต่จูลี่ กาเลหญิงสาวลูกครึ่งอังกฤษ-ฝรั่งเศสในนวนิยายของเธอเชื่อเช่นนั้น…หญิงสาวสมมติผู้นี้ตั้งความปรารถนาครั้งสุดท้ายว่าอยากจะกลับมาเกิดใหม่บนแผ่นดินสยาม
Claire Keefe-Fox (แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์) | ล่าม | นักเขียน
Medium Format Camera
Black and White Negative Film
Fact Box
- แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์ ในวัยเกษียณ ยังคงใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานเป็นล่ามสามภาษา (ฝรั่งเศส-อิตาลี-อังกฤษ) เธอใช้ชีวิตครึ่งปีที่ปารีส โดยแบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปเรียนบัลเลต์อย่างมีวินัย และใช้ชีวิตอีกครึ่งปีที่เมืองไทย ตอนนี้เธอกำลังเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของสยามเล่มที่ 4
- นวนิยายอิงประวัติศาสตร์สยามสามเล่มของเธอ
- ‘ฟอลคอนแห่งอยุธยา’ (สำนักพิมพ์นานมีบุคส์ พ.ศ.2546 / ฉบับภาษาฝรั่งเศส ‘Le Minister des Mousons’ สำนักพิมพ์ Plon ปี 1998)
- ‘ตากสิน มหาราชชาตินักรบ’ (สำนักพิมพ์นานมีบุคส์ พ.ศ.2548 / ฉบับภาษาฝรั่งเศส ‘Le Roi des Rizières’ (Taksin) สำนักพิมพ์ Plon ปี 2006)
- ‘หยดน้ำตาสยาม’ (สำนักพิมพ์นานมีบุคส์ พ.ศ.2558 / ฉบับภาษาอังกฤษ ‘Siamese Tear’ สำนักพิมพ์ River Books ปี 2016)