ในจำนวนภาพที่ผมบันทึกมา มีภาพของ ณิณี – อนุษฐา เชาว์วิศิษฐ ที่ไม่ยิ้มอยู่ 2-3 เฟรม ขณะนั่งคุยกันผมพยายามจินตนาการว่า หากผมถ่ายภาพเธอด้วยสีหน้าเรียบเฉย แต่จดจ่ออยู่ที่ดวงตา จะได้ภาพอย่างไร ดวงตาของเธอจะบอกถึงบุคลิกภาพและรอยยิ้มของเธอเหมือนในระหว่างช่วงเวลาที่คุยกันได้ไหม

แต่เมื่อมองผ่านช่องมองภาพของกล้อง ผมรู้สึกว่า หากเพียงมีรอยยิ้มในดวงตา แต่ไม่ปรากฏบนริมฝีปากและใบหน้าของเธอ อาจเป็นไปได้ว่าคนในภาพคือณิณีที่ไม่อยู่ในธรรมชาติจริงของเธอ คนที่รู้จักเธอคงรู้สึกเหมือนผมว่าณิณีเป็นหญิงสาวอารมณ์ดี คุยเรื่องจริงจังแต่ไม่รู้สึกคร่ำเคร่ง อาจเป็นเพราะทัศนคติต่อชีวิตและการทำงาน ซึ่งเธอแสดงออกมาผ่านแววตาและรอยยิ้ม

 

ณิณีเติบโตขึ้นมาในฐานะลูกสาวคนโตและหลานคนโตในครอบครัวที่มั่งคั่ง เริ่มเรียนที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล เด็กหญิงณิณีได้รับการอบรมให้มีระเบียบวินัย และถูกฝึกให้ดูแลตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อต้องอยู่ประจำที่โรงเรียนตอนประถมฯ 5 เธอบอกว่ารู้สึกสนุกและมีความสุขมากในวัยเด็กที่ได้อยู่ในโลกที่ห้อมล้อมไปด้วยเพื่อนวัยเดียวกัน มีตู้เสื้อผ้าที่โรงเรียนที่ต้องจัดเอง มีเวลาที่แน่นอนในการใช้ชีวิต การมีมารยาทบนโต๊ะอาหาร และการดูแลกันเองระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง แม้ว่าจะมีกฏเกณฑ์ให้ต้องเดินตามซึ่งขณะที่เธอยังเด็กเธอไม่รู้เหตุผลเหมือนกันว่าจะทำไปเพื่ออะไร แต่ก็ยอมรับมันได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนถูกกำหนดมาก่อนที่เธอจะมาอยู่โรงเรียนนี้

เมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งที่เธอมีประสบการณ์ร่วม ได้บ่มเพาะความเป็นณิณีในปัจจุบัน นอกเหนือจากมีชีวิตที่มีความสุขในวัยเรียนแล้ว เด็กหญิงณิณีได้รับเลือกเป็นนักเรียนตัวอย่าง จากการเรียนดีและประพฤติดี

“สายสะพายกับมงกุฎ ยังเก็บไว้อยู่เลย” เธอบอกด้วยรอยยิ้มสดใส ผมกำลังนึกถึงหญิงสาวคนที่นั่งอยู่ข้างหน้าซึ่งย่อขนาดให้เล็กลง แต่รอยยิ้มคงไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

“ณิณีว่าตอนเป็นเด็กเราไม่รู้หรอกว่าเหนื่อยไม่เหนื่อย เราทำได้เราก็ทำไป ไม่ได้คิดมากอะไร แต่เพื่อนที่เข้ามาใหม่ตอน ป.5 อาจจะปรับตัวยากหน่อยทั้งเรื่องระเบียบ แล้วก็ต้องมาอยู่โรงเรียนประจำ แต่ณิณีไม่มีปัญหาอะไร คือถูกสอนมาตั้งแต่อนุบาล มีโอกาสปรับตัวมาเรื่อยๆ”

จากนั้น การศึกษาของเธอก็ดำเนินไปตามเส้นทางที่เธอบอกว่า ‘เป็นแบบกระแสหลัก’ คือ เรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนชีวิตของเด็กหญิงให้กลายเป็นนางสาว ณิณีได้พบกับชีวิตนอกโรงเรียนประจำที่ไม่มีกรอบของระเบียบวินัยมาตีเป็นเส้นให้เธออยู่ภายใน เธอสามารถกำหนดเวลาในการเรียนการเล่นได้อย่างมีอิสระมากขึ้น เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แม้ว่าวินัยจะหย่อนลงบ้าง แต่สิ่งที่ถูกปลูกฝังเป็นพื้นฐานที่แข็งแรงไม่ได้หายไปกับวันเวลา มันยังคงอยู่กับเธอ เธอยังรับผิดชอบตัวเองได้ดี

“สามารถกินข้าวเหนียวหมูปิ้ง กินโค้ก เวลาไหนก็ได้ อิสระดี ชอบมาก” ณิณีเล่าด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะดังกว่าเดิม

ณิณีเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ เพราะความฝันที่อยากเป็นทันตแพทย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเธอพบว่าความฝันนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะวิชาฟิสิกส์เป็นสิ่งที่เธอไม่ถนัด เธอเบนเข็มสู่สาขาเศรษฐศาสตร์ เข้าเรียนปริญญาตรีและปริญญาโทในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนไปเรียนสายเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมที่ International Political Economy, University of Warwick ประเทศอังกฤษ

แม้เธอจะเป็นลูกสาวของหุ้นส่วนบริษัทขนาดใหญ่ แต่เส้นทางชีวิตของเธอไม่ได้ถูกกำหนดโดยครอบครัว เธอดำเนินชีวิตอย่างที่เลือกเอง

“เป็นคำแนะนำของครอบครัวหรือเปล่าที่เลือกเรียนด้านเศรษฐศาสตร์” ผมถาม เพราะคิดว่าเธอน่าจะถูกวางเส้นทางการทำงานไว้แบบนั้นในฐานะที่ครอบครัวเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่

“เปล่าค่ะ เขาปล่อยให้เราใช้ชีวิต ให้เราเลือกเองทั้งหมด ตอนนั้นไม่เคยคิดว่าจะมาทำงานกับที่บ้าน เราวางแผนไว้ว่าจะทำงานในองค์กรต่างๆ เพราะบริษัทของเราเป็นบริษัทที่ร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น มีคนทำหน้าที่ต่างๆ อยู่แล้ว ถ้าจะให้ตรงก็ควรเรียนบริหารธุรกิจ แล้วก็ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน อะไรแบบนี้ แต่ณิณีไม่ได้เรียนเลย เวลาสื่อสารกับคนญี่ปุ่นก็ใช้ภาษาอังกฤษ”

หลังเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษ เธอทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารตราสารทุน บริษัท เงินทุนธนชาติ จำกัด (มหาชน) จากนั้นขยับมาเป็นเศรษฐกร สายนโยบายการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องข้อมูล และติดตามผลประกอบการของแต่ละภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องน้ำมัน ข้อมูลที่เธอรวบรวมก็เพื่อใช้เป็นจิ๊กซอว์ของเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ซึ่งเป็นข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์สำหรับกำหนดนโยบายดอกเบี้ย เธอทำหน้าที่วิจัยข้อมูลที่เหมือนเป็นการงานที่ไม่รู้จบอยู่นาน 5 ปี จึงตัดสินใจลาออก

“เหมือนงานที่รับผิดชอบมันไม่มีวันจบสิ้น ทุกเดือนเราต้องเริ่มทำงานซ้ำเหมือนเดิม” ณิณีใช้เวลาไม่กี่เดือนตัดสินใจลาออก แล้วเปลี่ยนบทบาทจากนักวิจัยมาเป็นผู้จัดการส่วนค้าตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน)

“เป็นเทรดเดอร์ซื้อขายตราสารหนี้ ติดต่อกับธนาคารต่างๆ กองทุนฯ บริษัทประกันชีวิต หรือผู้ลงทุนที่เป็นบุคคล เวลาขายตราสารหนี้ เราใช้วิธีโทรคุยเลยนะ งานสนุกมาก รู้จักคนเยอะ งานจบเป็นวันๆ เห็นผลงานเลยว่าเราทำอะไรสำเร็จไปบ้าง”

เรื่องธุรกรรมทางการเงินที่เธออธิบายให้ผมฟังนั้น อยู่นอกเหนือความเข้าใจของผมอย่างมาก ตราสารหนี้ หุ้นกู้ และอะไรต่อมิอะไร แม้จะขอให้เธออธิบายซ้ำอยู่ 2-3 รอบ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ผมเข้าใจมากขึ้นเลย… เอาเป็นว่าพักเรื่องนี้ไว้ก่อน

“แล้วณิณีมาทำงานที่โตโยต้า ทูโชได้ยังไง”

“คุณปู่เรียกให้มาทำ ท่านบอกว่าไปคุยกับหุ้นส่วนมาแล้วนะ เราก็คิดว่าคงถึงเวลา ไม่ได้อึดอัดอะไร เพราะถึงแม้ว่าคุณปู่จะมาทำงานที่บริษัททุกวัน แต่ท่านก็อายุมากแล้ว คงอยากให้เรามาช่วย”

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 61 ปีที่แล้ว หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณสุจินต์ เชาว์วิศิษฐ รู้จักและเคยทำธุรกิจกับ Mr. Nobuo Hayashi เพื่อนชาวญี่ปุ่น หลังสงครามโลกฯ เป็นช่วงเวลายากลำบาก และชาวญี่ปุ่นก็เป็นที่หวาดระแวง วันหนึ่งคุณ Hayashi ถามคุณสุจินต์ว่า

“คุณสนใจจะร่วมเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับคนญี่ปุ่นไหม”

“ถ้าคนญี่ปุ่นคนนั้นหมายถึงคุณ ผมยินดีอย่างยิ่ง” คุณสุจินต์ตอบ

“ไม่ใช่ผม แต่เป็นเพื่อนของผม ซึ่งผมเชื่อใจเขาอย่างมาก แต่มันยากสำหรับคนญี่ปุ่นหลังสงคราม” จากการพูดคุยกันครั้งนั้น นำไปสู่การแนะนำเพื่อนที่สนใจจะมาลงทุนในประเทศไทยให้คุณสุจินต์รู้จัก

“เป็นคนญี่ปุ่น ไม่เกี่ยวอะไรกับมิตรภาพระหว่างเพื่อน” คุณสุจินต์บอกคุณ Hayashi ไปแบบนั้น

“ถ้าคุณเชื่อใจเขา ผมก็เชื่อใจเขาเช่นเดียวกัน”

จาก พ.ศ. 2500 ด้วยมิตรภาพของความเป็นเพื่อน คุณสุจินต์ เชาว์วิศิษฐ จึงได้ก่อตั้งบริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท โตโยต้า ทูโช คอร์เปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเข้าสินค้า อุปโภคบริโภค เครื่องจักรอุตสาหกรรม และยางรถยนต์จากญี่ปุ่น

“คุณปู่บอกว่า การเป็นหุ้นส่วนต้องเริ่มจากความไว้ใจ เชื่อใจกัน” ณิณีเล่าถึงคุณปู่ของเธอ

ณิณีเข้ามาทำงานในบริษัทที่ครอบครัวเป็นหุ้นส่วนในฐานะพนักงานคนหนึ่ง รับผิดชอบบัญชีการเงิน โดยมีหัวหน้าเป็นชาวญี่ปุ่น จากเวลานั้นถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 10 ปี จากพนักงานฝ่ายบัญชี ตอนนี้เธอรับผิดชอบเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ฝ่ายวางแผนองค์กร

“ใครๆ ก็รู้ว่าณิณีนามสกุลอะไร แล้วคนอื่นๆ คิดยังไง เกรงใจไหม”

“เราเคยทำงานเป็นพนักงานที่อื่นมาก่อน เราต้องมีสติ แยกหมวกให้ถูกว่า เราสวมหมวกใบไหนอยู่ ตอนนั้นเราเป็นพนักงาน ไม่ใช่หุ้นส่วน พนักงานก็จะมีหน้าที่ความรับผิดชอบแบบหนึ่ง เราก็ต้องรับผิดชอบส่วนนั้น ถ้าเราเผลอคิดว่าเราเป็นหุ้นส่วน เราจะหลุดจากความรับผิดชอบที่ควรจะทำ ถ้าเป็นแบบนั้นเราเครียดตายแน่”

“ทำงานกับคนญี่ปุ่นที่เขามีวัฒนธรรมที่เคร่งครัดในระเบียบวินัย ปรับตัวยังไง”

“โชคดีที่สมัยรุ่นคุณปู่ บริษัทมีระบบที่ดีมาแล้ว คือเป็นระบบแบบญี่ปุ่น ทำมาอย่างไรก็ทำไปแบบนั้น แล้วอะไรที่ไม่ราบรื่นก็ปรับให้เข้ากับคนไทย ที่สาขาอื่นๆ ทั่วโลกก็เป็นแบบนี้ ช่วงหลังก็ทำให้ระบบเป็นสากลมากขึ้น ก็มีบริษัทต่างชาติเข้ามาแนะนำการวางระบบ คนญี่ปุ่นมาทำงานในไทยก็ปรับตัว มีการอบรมวัฒนธรรมไทย วิถีชีวิต วินัยอาจจะไม่เคร่งครัดเท่าที่ญี่ปุ่น แต่เขาก็มีความสุขนะ หลายคนอยากทำงานอยู่ที่เมืองไทยนานๆ เราก็ทำงานเหมือนเป็นพนักงานคนหนึ่ง ทำตามระบบที่วางไว้”

“แต่โดยทั่วไปคนจะมีภาพจำว่าคนญี่ปุ่นเคร่งครัดมากในเรื่องระเบียบวินัยและเป็นคนสมบูรณ์แบบ”

“เราว่าคนญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่มีโอกาสเดินทาง ไปเรียน หรือไปใช้ชีวิตต่างประเทศ เขาก็ปรับตัวนะ หมายความว่าเขาก็ยังมุ่งมั่นแบบเดิม แต่จะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น อาจจะไม่เข้มงวดหรือเป๊ะมาก กับคนต่างชาติ แต่กับคนญี่ปุ่นยังคงเคร่งครัดเหมือนเดิม เรียกว่า โอนอ่อนมากขึ้น แต่ได้ผลเหมือนกัน เขาก็ปรับตัว อาจเพราะเรียนรู้ที่จะเปิดกว้าง เราว่าคนก็เหมือนกันหมดนะ ถ้าไม่มีระบบก็ไม่มีระเบียบ ถ้าให้คนไทยไปอยู่ญี่ปุ่น คนไทยก็จะมีระเบียบมากขึ้น ถ้าให้คนญี่ปุ่นมาอยู่เมืองไทย เขาก็อาจจะเคร่งครัดในวินัยน้อยลง อย่างแรงงานไทยที่ทำงานในโรงงานที่เป็นระบบ ถือว่าเป็นแรงงานคุณภาพมากๆ ในภูมิภาคนี้”

“หมายความว่าณิณีคิดว่าคนจะมีคุณภาพเพราะระบบที่ดี ถ้าหากปล่อยคนให้ควบคุมตัวเอง ก็จะมีวินัยหย่อนลง”

เชื่อว่าคนเหมือนกันทั้งโลก ต้องมีระบบที่ดี ตัวอย่างง่ายๆ คือ คนต่างประเทศมาเมืองไทยก็กลับรถกลางถนน ไม่ข้ามถนนตรงทางม้าลาย แต่อยู่ที่บ้านเมืองของเขา เขาทำไม่ได้ เพราะมีกฎมีระเบียบ เราว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ สังคมญี่ปุ่นประณามการทำผิด เขาจึงสำนึก แล้วออกมายอมรับผิด พอสังคมเป็นแบบนี้ เขาจะไม่ทำอะไรที่มัน against law”

หากย้อนมองกลับไป นับแต่วัยเด็ก ณิณีอยู่ในระบบที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีมาโดยในตลอด ทำให้เชื่อในระบบที่ดี มากกว่าความหลากหลายและอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงเมื่อไรก็ได้ หากเกิดสิ่งเร้า ตัวอย่างที่เราเห็นมากมาย เมื่อคนเข้าสู่ระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เขาจะกลับกลายเปลี่ยนแปลงในทางที่ด้อยลง พวกเขาอาจจะหาโอกาสเอารัดเอาเปรียบ แต่คนคนเดียวกันนั้นสามารถปรับตัวไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้ เมื่ออยู่ในเบ้าหลอมของระบบที่ทรงประสิทธิภาพ

“แล้วในฐานะที่ณิณีสวมหมวกเป็นหุ้นส่วนของบริษัท ในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น เขาให้ความสำคัญกับผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย รู้สึกถึงสิ่งเหล่านี้บ้างไหมในเวลาทำงาน

“ณิณีไม่รู้สึกถึงการแบ่งแยกเรื่องเพศนะ แต่จะรู้สึกถึงเรื่องเชื้อชาติมากกว่า แอบเครียดเหมือนกัน แต่ก็คิดว่าจะเป็นหุ้นส่วนกัน เราต้องสร้างประโยชน์ให้อีกฝ่ายหนึ่ง มีคุณค่าในสายตาของเขา จึงจะทำงานด้วยกันได้ดี และเติบโตไปด้วยกัน เราแสดงให้เห็นว่าเราร่วมหัวจมท้ายกัน จริงใจกับเขา ปู่เคยบอกว่า การทำงานไม่เฉพาะกับทำงานญี่ปุ่น เราต้องคิดถึงประโยชน์ร่วมกัน จะทำอะไรก็ตาม ต้องให้เกียรติอีกฝ่าย แล้วเขาก็ให้เกียรติผู้หญิง อย่างเวลาไปงานที่ไม่เป็นทางการมาก เขาก็ชวนภรรยาไปด้วย เราคิดว่าคนญี่ปุ่นมองว่าหญิงไทยสตรองนะ ความเท่าเทียมของเพศชายเพศหญิงในไทยนี่ถือว่าเลิศมาก

ขณะมองผ่านวิวไฟน์เดอร์ เพื่อถ่ายภาพหญิงสาวกับรอยยิ้ม สมองของผมกำลังคิดทบทวนถึงสิ่งเธอพูดกับผมเมื่อครู่ นอกจากระบบที่ดีแล้วเรายังต้องการอะไร? การเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจต่างก็หวังจะประสบความสำเร็จ มีกำไร และเติบโตรุ่งเรือง เช่นเดียวกับการเป็นหุ้นส่วนชีวิตของคู่รัก การเป็นพลเมืองของสังคม การร่วมใช้อำนาจทางการเมือง การใช้ชีวิตร่วมกันของมนุษย์ในโลกใบนี้ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน หากจะคิดว่าเราจะได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว คงไม่ใช่สิ่งที่ฉลาดนัก วิธีคิดแบบนี้ไม่ทำให้สิ่งใดมั่นคงยั่งยืน เพราะเราต่างเป็นหุ้นส่วนของสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยกันทั้งสิ้น หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดในระบบล้มเหลว ย่อมพาระบบทั้งหมดพังครืนลงมา แต่นอกจากระบบที่ทรงประสิทธิภาพแล้ว เรายังต้องการสปิริตแบบไหนเพื่อให้ระบบนั้นคงอยู่

มันทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงความไว้เนื้อเชื่อใจและความปรารถนาดี ระหว่างเพื่อนต่างสัญชาติ 2 คน เมื่อ 61 ปีที่แล้ว

 

อนุษฐา เชาว์วิศิษฐ | Associate Director & General Manager Corporate Planning Department Toyota Tsusho (Thailand) Co., Ltd.

Camera: Medium Format 6 x 6

Black and White Negative Film

Fact Box

หลังเรียนจบปริญญาตรี และ MA in International Economics and Finance คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และ MA in International Political Economy, University of Warwick, UK

อนุษฐาเคยทำงานที่ บริษัท เงินทุนธนชาติ จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารตราสารทุน แล้วย้ายไปทำงานเป็นเศรษฐกร สายนโยบายการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จากนั้นเป็นผู้จัดการส่วนค้าตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) กระทั่งกลับมาทำงานให้กับ บริษัท โตโยต้า ทูโช (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ครอบครัวของเธอเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ

Tags: , ,