…Was traveling really more important to me than the girl? There I was, on my way to Xam Neua, folded on too small a seat in a rambling bus packed with half-drunk men and chicken in bamboo cages, thinking hard about what I had just done: throwing away the opportunity to spend the night in a comfy bungalow with the girl I was starting to fall in love with…

 

ผมกำลังนึกภาพ และติดตามเรื่องที่บาร์ทบรรยายฉากให้ฟัง เมื่อเขาเพิ่งแยกจากหญิงสาวคนหนึ่งที่พบกันโดยบังเอิญบนเส้นทางป่าของเมืองงอย หมู่บ้านเล็กๆ ไม่ไกลจากหลวงพระบางเมื่อสิบกว่าปีก่อน

วันรุ่งขึ้นทั้งสองพบกันอีกครั้งบนเรือข้ามแม่น้ำอู ตามแผน บาร์ทจะต้องจับรถบัสเพื่อเดินทางต่อไปในส่วนอื่นๆ ของประเทศลาวตอนเหนือ หญิงสาวคนนั้นแวะพักค้างคืนที่หนองเขียวเมืองกลางทางเพื่อเข้าหลวงพระบางในวันพรุ่ง พวกเขามีเวลาอีกเพียงหนึ่งวันร่วมกัน

เมื่อถึงเวลา บาร์ทเริ่มถกเถียงกับตัวเองระหว่างความคิดและความรู้สึกอยู่บนรถบัสอย่างตัดใจไม่ได้ เพราะช่วงเวลาที่ใช้ด้วยกันสั้นๆ บอกเขาว่ามันเป็นความรู้สึกพิเศษบางอย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่แล้วในที่สุด บาร์ทตัดสินใจเดินตามเส้นทางของตัวเองต่อไป โดยทิ้งความรู้สึกพิเศษกับหัวใจเต้นแรงนั้นไว้เบื้องหลัง

โชคยังดี, หญิงสาวคนนั้นถ่ายภาพบาร์ทไว้ในทางป่าที่ใช้เวลาเดินด้วยกันตามลำพังในบ่ายวันฝนพรำ หลังจากได้พบกันในเพิงร้านอาหารข้างทาง ในระหว่างเส้นทางเดิน เขาและเธอได้แลกอีเมลแอดเดรสเพื่อว่าจะส่งภาพถ่ายไปให้ และไม่นานระหว่างการเดินทางในประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ บาร์ทได้รับการติดต่ออีกครั้งจากหญิงสาวคนนั้น (ผู้ซึ่งกลายเป็นภรรยาของเขาในปัจจุบัน)

ผมนัดพบกับบาร์ทที่บ้านของเขาย่านสุทธิสาร ดร. บาร์ท ลอมเบร็คส เป็นชาวดัตช์ ร่ำเรียนมาทาง Urban Planning ในระดับปริญญาโท และ Environmental Sciences ในระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เขาเป็นหนุ่มดัตช์ใจเย็น ยิ้มง่าย ความคิดละเอียดสมกับที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่สำคัญ เขาไม่เคยเบื่อที่จะอธิบายซ้ำๆ กับคำถามถึงประเด็นปัญหาด้านภูมิศาสตร์เมืองที่เขาคงจะเจอมานับครั้งไม่ถ้วน

หลังจากความสัมพันธ์กับหญิงสาวที่หลวงพระบางเริ่มสานต่อ พวกเขาตัดสินใจคบกันอย่างจริงจัง หลายปีต่อมา บาร์ทแต่งงานกับหญิงสาวคนนั้น จากนั้นตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่เมืองไทย โดยสมัครงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ

8 ปีที่ผ่านมา เขาเป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบสาขาวิชา Urban Planning and Environment (การวางผังเมืองและสภาพแวดล้อม) ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ควบกับการเป็นอาจารย์พิเศษ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม

ไม่นานมานี้ บาร์ทได้รับเชิญไปงานสัมมนาที่ประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี องค์การอาเซียน โดยเจ้าภาพเน้นประเด็นเรื่องการเตรียมตัวให้พร้อมสู่การเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก บาร์ทไปดูงานไฟฟ้าพลังงานลมทางตอนเหนือของกรุงมะนิลา จากนั้นก็ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการวางแผนระบบขนส่งมวลชนที่ระยอง สำหรับพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินนั้น เขาบอกว่าในอีกไม่กี่สิบปี โรงงานไฟฟ้าถ่านหินน่าจะหมดไปจากโลก เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบันต่างมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น มีตัวเลือกมากมายที่เราควรให้ความสำคัญ ชัดเจนว่าถ่านหินนั้นไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป

การพบกับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเมือง การวิเคราะห์ภูมิศาสตร์เมือง และวิถีชีวิตของมนุษย์ ผมจึงอดไม่ได้ที่จะชวนเขาสนทนาเรื่องยุ่งๆ ของกรุงเทพฯ และสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งแม้ว่ามันจะเป็นคำถามที่น่าเบื่อ มีคำตอบที่คาดเดาได้ แต่การได้ฟังอีกครั้งมันตอกย้ำลงไปว่า ปัญหาที่เคยมีไม่เคยเปลี่ยนไปเลย ข้อเสนอไม่เคยได้รับการพิจารณา และคุณภาพชีวิตไม่เคยปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

บาร์ทบอกว่ามันเป็นปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในวิธีคิด ยกตัวอย่างง่ายๆ เขาอธิบายว่าทุกๆ ปีเขาจะได้อ่านรายงานสารพิษในอาหาร และผลวิจัยคือสารพิษยังมีอยู่ในอาหารทุกปี คำถามคือทำไมถึงเป็นแบบนั้น รู้ทั้งรู้ว่าสารพิษเหล่านี้อันตราย มันไม่ได้ฆ่าคุณทันทีทันใด แต่มันสะสมและจะเป็นปัญหากับชีวิตคุณในวันใดวันหนึ่ง ทำไมรัฐบาลถึงไม่แก้ไข เขาคาดหวังว่ามันควรเป็นหน้าที่ของรัฐในการกำหนดมาตรการบังคับใช้ แต่ก็ไม่เคยมี ทุกปี เราก็ยังได้เห็นรายงานสารพิษในอาหารเหมือนเดิม เขาคิดว่าควรตั้งคำถามว่าทำไม ซึ่งแน่นอน มีหลากหลายเหตุผล และต่อจากนั้นก็ควรแก้ไข เขาบอกว่าเขาไม่อยากกินยาพิษทั้งๆ ที่รู้ แต่ปัญหาไม่เคยมีการแก้ไข ยังไม่นับรวมถึงการแก้ไขผังเมือง น้ำท่วม การบริหารจัดการขยะ และสิ่งแวดล้อม ปัญหาอีกท่วมท้นที่หมักหมมอยู่ในกรุงเทพมหานคร

อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเขาเชี่ยวชาญ คือเรื่องการวางระบบขนส่งสาธารณะ บาร์ทอธิบายว่าในกรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าสามระบบซึ่งไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาคือมันมาจากการคิดแยกส่วนของสามระบบ BTS คิดระบบของตัวเองแบบหนึ่ง MRT คิดแบบหนึ่ง และ Airport Rail Link ก็คิดอีกแบบหนึ่ง จากนั้นทั้งสามส่วนจึงหาทางเชื่อมโยงกันในภายหลัง การเชื่อมโยงนั้นจึงไม่สมบูรณ์ มันเป็นความล้มเหลวของระบบสาธารณะซึ่งควรมีจุดเริ่มต้นร่วมกันในการออกแบบเพื่อเอื้อต่อความสะดวกในการเดินทางเป็นสำคัญ ซึ่งระบบที่ไม่สมบูรณ์นี้จึงสร้างปัญหาในปัจจุบัน และยังเป็นการสร้างปัญหาสำหรับอนาคตด้วย

คำถามของผมคือทำไมจึงเป็นแบบนี้? ทำไมเราถึงปล่อยให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น?

“ผมสงสัยว่าชนชั้นกลางในเมืองซึ่งมีโอกาสมากทางการศึกษา ได้เดินทางมาก ได้เห็นว่าต่างประเทศเขาพัฒนากันไปในแนวทางไหน แต่พวกเขากลับเพิกเฉย ไม่มีบทบาทอะไรมากนักที่จะผลักดันการวางผังเมืองหรือการจัดการปัญหาต่างๆ เหล่านี้” นี่คือคำตอบของบาร์ท

ผมถามต่อว่าแล้วเขาคิดอย่างไรกับวิธีคิดของคนไทย คำตอบของเขา (ซึ่งคงต้องตอบแบบนี้มาหลายครั้งหลายหน) คล้ายๆ กับที่ผมเคยได้ยินได้ฟังได้อ่านมาตลอดคือ การคิดตั้งคำถาม และการวิเคราะห์ปัญหาอย่างถึงที่สุด ยังเป็นข้อหลักที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนไทย หากคิดจะยกระดับการพัฒนาการศึกษา และเทียบกับการแข่งขันในโลก

นึกย้อนกลับไปนับตั้งแต่ผมจำความได้ ผมได้ยินคำว่าปฏิรูปการศึกษาครั้งแรกเมื่อยุคคุณชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (2526-2529) และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็มีการปฏิรูปการศึกษากันอีกไม่รู้กี่ครั้ง แต่อย่างที่เราเห็น ขณะที่โลกเปิดกว้างขึ้นทางการศึกษา แต่วิธีคิดประจำชาติของคนไทยยังไปไม่ถึงไหน

หากเราใช้แว่นของนักภูมิศาสตร์เมืองมองลึกเข้าไปในภูมิทัศน์ทางความคิดของคนไทย เราคงเห็นการเชื่อมต่อทางความคิดที่ไม่เป็นระบบ ไม่ไหลลื่น ไม่นำไปสู่สิ่งใหม่ หากแต่เป็นระบบความคิดที่ขาดตอน และล้มเหลว การปรับปรุงแก้ไขสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับวิถีชีวิตมนุษย์ หรือปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่ปรับกันได้ หากมีความปรารถนาในการยกระดับคุณภาพชีวิต แต่การปรับภูมิทัศน์ในใจนั้นคงต้องว่ากันอีกยาว และอาจจะต้องรื้อสร้างกันใหม่ ซึ่งไม่แน่ใจว่าต้องใช้เวลาอีกยาวนานแค่ไหนกับระบบคิดและทัศนคติที่ฝังรากลึกอยู่ในใจของคน ยิ่งหากเจ้าของความคิดนั้นยังไม่ยอมรับว่าระบบความคิดนั้นขาดห้วง ไม่สมบูรณ์ ทั้งยังไม่พร้อมจะตั้งคำถาม วิเคราะห์ให้ถึงที่สุด และลงมือแก้ไขมัน

“ขอถามหน่อยเถอะบาร์ท คุณเป็นชาวดัตช์ คุณขี่จักรยานในกรุงเทพฯ ไหม”

“โอ้ว ผมขี่จักรยานเฉพาะในย่านใกล้ๆ บ้านครับ ไป MRT สุทธิสาร ไปซื้อของในตลาดใกล้ๆ อะไรแบบนี้ แต่ผมไม่ขี่จักรยานไปมหาวิทยาลัย ถนนในกรุงเทพฯ อันตรายเกินไป ผมเห็นคนขี่จักรยานบนถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งผมจะไม่ทำแน่ๆ เพราะนั่นมันเกือบจะเป็นการฆ่าตัวตาย”

 

 

Dr. Bart Lambregts | Urban Geographer and Lecturer | Kasetsart University

ดร. บาร์ท ลอมเบร็คส | นักภูมิศาสตร์เมือง และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Medium Format 6 x 6 | Black and White Negative Film

Tags: , , , , , ,