ก่อนจะเป็นที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครอย่างทุกวันนี้ พื้นที่บริเวณสี่แยกปทุมวันแห่งนี้เคยมีประวัติลุ่มๆ ดอนๆ และกว่าจะเกิดเป็นหอศิลป์กรุงเทพฯ ขึ้นมา ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ราว 20 กว่าปีก่อนหน้านี้ สมัยที่รถไฟฟ้าบีทีเอสยังไม่ได้สร้าง พื้นที่หัวมุมแยกปทุมวันเคยเป็นห้องแถว ภายในมีห้องสมุดประชาชน จนกระทั่งมีการเวนคืนพื้นที่ ซึ่งเดิม กรุงเทพมหานครก็ตั้งใจว่าจะสร้างห้องสมุดแห่งใหม่ แต่ในปี 2539 เครือข่ายศิลปินเสนอว่า อยากให้กรุงเทพมหานครมีหอศิลป์ และจะได้สร้างเป็นหอศิลป์เฉลิมพระเกียรติในรัชกาลที่ 9
โครงการสร้างหอศิลป์จึงเกิดขึ้นในสมัยที่พิจิตต รัตตกุลเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมกับแนวคิดว่า น่าจะตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการเตรียมโครงการหอศิลป์ฯ และเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากคนทั่วๆ ไป จึงประกาศให้มีการประกวดการออกแบบอาคารหอศิลป์ เปิดให้สถาปนิก และนักศึกษาสายออกแบบมาร่วมกันประกวดการออกแบบหอศิลป์ จนกระทั่งในปี 2541 ก็สามารถคัดเลือกแบบที่ชนะเลิศได้ เป็นงานของ บริษัท โรเบิร์ต จี บุย แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด
เอกลักษณ์สำคัญคือเป็นอาคารทรงกระบอก ที่มีพื้นที่เปิดโล่งส่วนกลาง โดยมีทางเดินพื้นลาดโค้งเวียนรอบพื้นที่ นำสายตาไปสู่ชั้นบนของอาคาร ทำให้สามารถเห็นกิจกรรมต่างๆ ในตัวอาคาร มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 25,000 ตร.ม.
แต่หลังจากนั้น ในปี 2544 ก็ถึงคราวเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ โดยมีสมัคร สุนทรเวช ออกมาแสดงวิสัยทัศน์ว่า อยากเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้เป็นอาคารพาณิชย์ มีอาคารจอดรถ และมีหอศิลป์อยู่ภายใน ทั้งยังแสดงความเห็นด้วยว่า โครงการที่ผ่านมามีความไม่โปร่งใส
“ที่ดินนั้นเป็นของ กทม. ผมดูแบบก่อสร้างที่เขาไปออกแบบกันมาแล้วเห็นว่ามันไม่เข้าท่า ผมไม่เห็นด้วยเพราะหน้าตามันดูไม่ได้ รูปทรงน่าเกลียดเหมือนถัง 200 ลิตร มีครีบข้างบน ผมวินิจฉัยได้ว่าดีหรือไม่ดี และเห็นว่าไม่มีที่จอดรถ ไม่มีส่วนบริการอะไรเลย มีแต่พื้นที่สำหรับการจัดแสดงงานศิลปะอย่างเดียว ในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้อย่างไร คนที่ไปหอศิลป์ฯ จะจอดรถที่ไหน จะกินข้าวกินขนมอย่างไร หาซื้อของที่ระลึกได้ที่ไหน
“ถ้าอยากจะสร้างหอศิลป์จริงๆ ที่เอกชนเยอะแยะทำไมไม่ไปสร้างกันเอง ผมไม่ได้ห้าม แต่ที่นี่เป็นที่ของ กทม. และผมเป็นผู้ว่า กทม. ทำไมผมต้องไปทำประชาพิจารณ์” สมัคร สุนทรเวช เคยกล่าวไว้
ทุกฝ่ายที่ขับเคลื่อนกันมา เห็นท่าว่านี่ไม่ใช่แบบที่คุยกันไว้แน่ๆ ศิลปินจึงออกมาเคลื่อนไหว เกิดเป็นม็อบศิลปิน มีการฟ้องศาลปกครอง โดยมีอาจารย์ปรีชา เถาทอง สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทยในเวลานั้นเป็นตัวแทนยื่นฟ้อง ซึ่งช่วยชะลอโครงการสร้างหอศิลป์ (ซึ่งอาจไม่เหมือนที่คิดกันไว้) ไปได้ในระดับหนึ่ง
จากนั้นก็ได้เวลาเลือกตั้งผู้ว่าราชการใหม่อีกครั้ง สมัยนั้นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรณรงค์กันเรื่อง Green Vote ชวนกันไปเลือกแคนดิเดตผู้ว่าฯ ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้านกลุ่มศิลปิน ก็ใช้วิธีคล้ายกัน มีการรณรงค์ Art Vote ทำบัตรเลือกตั้งให้มีตัวเลือกระหว่าง เลือกหอศิลป์ กับ ไม่เลือกหอศิลป์ ซึ่งผู้สมัครผู้ว่าฯ หลายคน อย่างสองคนเด่นๆ ได้แก่ อภิรักษ์ โกษะโยธิน และ ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ก็ให้สัญญาไว้ว่าจะเลือกหอศิลป์ ส่วนพื้นที่บริเวณสี่แยกปทุมวันซึ่งเป็นพงหญ้าร้างก็มีกลุ่มศิลปิน นักร้อง นักแสดง มาจัดกิจกรรม เล่นคอนเสิร์ต มีหนังกลางแปลง รณรงค์ขอให้กรุงเทพฯ มีหอศิลป์กทม.เสียทีเถิด
การเลือกตั้งครั้งนั้น ผู้ชนะคืออภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ก็ต้องทำตามสัญญาว่าจะคืนโครงการสร้างหอศิลป์ให้กลับมา จนในปี 2548 สภากรุงเทพมหานครอนุมัติงบประมาณ 504 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม ปี 2551
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจึงเกิดขึ้น ภายใต้การดำเนินการโดยมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เป็นประธานคณะกรรมการมูลนิธิฯ และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 13 คน คณะกรรมการมีวาระ 2 ปี และมีคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ ที่ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยการแต่งตั้งจากกรรมการมูลนิธิรวม 10 ท่าน ซึ่ง ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ เป็นประธานกรรมการบริหาร และฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที เป็นผู้รักษาการผู้อำนวยการหอศิลปะฯ
เมื่อ กทม.ทวงถามความเป็นเจ้าของหอศิลป์ฯ
แม้จะไม่ได้เป็นผู้บริหารงานโดยตรง แต่ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครเองก็มีพันธะในฐานะของรัฐที่อำนวยพื้นที่สร้างสรรค์ ผ่านการสนับสนุนงบประมาณราว 40% ซึ่งเป็นไปตามปฏิญญาว่าด้วยเรื่องข้อตกลงความร่วมมือทางด้านศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างกรุงเทพมหานครและพันธมิตรด้านศิลปวัฒนธรรม ที่ลงนามระหว่างกรุงเทพมหานครและพันธมิตรด้านศิลปวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548
จนความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อ 11 พ.ค. 2561 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม. คนปัจจุบัน ที่จู่ๆ ก็บอกว่า อยากพัฒนาพื้นที่ของอาคารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ให้มีพื้นที่สำหรับนั่งติวหนังสือ และกรุงเทพมหานครจะนำไปบริหารเอง
นี่จึงเป็นเหมือนฝันร้าย เพราะคนต่างเห็นต้นแบบการบริหารพื้นที่สร้างสรรค์ของกทม.มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์เด็ก ห้องสมุดประชาชนต่างๆ จนทำให้หลายกลุ่ม ประสานแรงสร้างแคมเปญรณรงค์คัดค้าน ระดมชื่อใน change.org เพื่อแสดงจุดยืนว่า ไม่ต้องการให้ กทม. เข้ามาบริหารจัดการหอศิลป์ฯด้วยตัวเอง และมีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่าหมื่นคนภายในเวลา 3 วัน
ดูเหมือนกระแสค้านจะทำงานได้ดีระดับหนึ่ง เพราะล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 61 พล.ต.อ.อัศวิน ก็ประกาศถอยแล้ว บนเงื่อนไขที่ให้ทางมูลนิธิเป็นผู้ดูแลหอศิลป์ไปจนกว่าจะสิ้นสุดบันทึกความตกลง ซึ่งมีกำหนดปี 2564 หรืออีกเพียง 3 ปีข้างหน้านี้
นอกจากนี้ ศึกนี้ยังมีคลื่นใต้น้ำ เพราะก่อนที่ พล.ต.อ.อัศวิน จะออกมาประกาศว่าอยากจะดึงเอาหอศิลปวัฒนธรรมไปบริหารเอง ในช่วงปีที่ผ่านมา ยังมีประเด็นที่เกิดขึ้นในการประชุมของสภากรุงเทพมหานคร ที่มีสมาชิกสภากรุงเทพฯ ที่มาจากการสรรหาออกมาโต้แย้งว่า ที่จริงแล้ว กทม.ไม่ควรให้งบสนับสนุนหอศิลป์ เพราะถือว่า ผิดพ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 เพราะ มูลนิธิฯ มีสถานะเป็นนิติบุคคล ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับ กทม. จึงเข้าข่ายเป็นองค์กรเอกชนตามมาตรา 96
นอกจากนี้ การเข้ามาบริหารของมูลนิธิฯ ก็ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม. และรมว.มหาดไทย จึงอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
หากตีความดังนี้จริง ว่ากทม.สนับสนุนหอศิลป์อย่างไม่ถูกกฎหมายมาตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา กทม. ก็มีอย่างน้อยสองแนวทางที่ต้องเลือก คือ ให้สภา กทม.และรมว.มหาดไทยลงนาม มอบหมายให้มูลนิธิฯ เป็นผู้บริหารงานหอศิลป์ฯ หรือไม่เช่นนั้น กทม. ก็ดึงหอศิลป์กลับมาบริหารเอง ซึ่งก็มีข้อเสนอให้สำนักวัฒนธรรมฯ เป็นผู้บริหาร แต่ทางเลือกหลังนี้ มวลชนประกาศชัดแล้วว่าไม่เห็นด้วย
- ที่มาภาพภายในหอศิลป์: Ken OHYAMA
- ขอบคุณภาพจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ที่มา:
- ‘ความเป็นมาของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร’
- ‘ลำดับเหตุการณ์สำคัญ’
- เกษร สิทธิหนิ้ว. ‘เอาไหมหอศิลป์ร่วมสมัยในศูนย์การค้า.’ นิตยสารสารคดี (ฉบับ “60 ปี เสรีไทยวีรกรรมของผู้รับใช้ชาติ”) ปีที่ 17 ฉบับที่ 202 ธันวาคม 2544, หน้า 24-27.
- วิมล อังสุนันทวิวัฒน์. ‘กว่าจะมาถึงวันนี้ของหอศิลปวัฒนธรรม กทม.’ . นิตยสารผู้จัดการ. กันยายน 2551.