สิบกว่าปีแล้วที่คนไทยถูกทำให้เชื่อว่าการโกงเป็นปัญหาใหญ่ของไทย และก็เหมือนวาทกรรมที่ถูกปั่นกรณีอื่นๆ ‘การโกง’ ถูกกระแสการต่อสู้และความขัดแย้งทางการเมืองลดทอนเป็นปัญหาคนโกง ซึ่งต้องแก้ด้วย ‘รัฐบาลปราบโกง’ อย่างที่เชื่อกันในปี 2549 และถูกยัดเยียดให้เชื่อหนักหน่วงขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี การยึดอำนาจแล้วลากยาวท่ามกลางข่าวราคากลางอุทยานราชภักดิ์ ปมนาฬิกาหรูกับไม่แจงทรัพย์สิน ฯลฯ ทำให้ประเด็น ‘รัฐบาลปราบโกง’ กลายเป็นเรื่องตลก ถ้าเทียบกับวันแรกที่ท่านนายพลตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อการยึดอำนาจใกล้เวียนมาครบสี่ปี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในวันที่ 9 ก.พ. เผยโพลล์ว่า ประชาชนให้คะแนนรัฐบาลด้านแก้ทุจริตสองปีหลังต่ำกว่าสองปีแรก จากนั้นอีกหกวัน มหาวิทยาลัยหอการค้าก็เปิดผลสำรวจว่า สถานการณ์คอร์รัปชั่นในเดือนธันวาคมรุนแรงขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน

เอาให้เห็นภาพยิ่งขึ้น นักธุรกิจ ข้าราชการ และประชาชน จำนวน 2,400 ราย ประเมินว่า มูลค่าคอร์รัปชันในรูปแบบการจ่ายเงินใต้โต๊ะในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 อยู่ระหว่าง 66,200 – 198,000 ล้านบาท เทียบเท่า 2.29 – 6.86 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณประเทศ ตัวเลขนี้เป็นอัตราสูงสุดในรอบสามปี

ถ้าเชื่อว่าผลโพลล์และผลการศึกษาของสองมหาวิทยาลัยน่าเชื่อถือบ้าง งานคู่นี้ก็บอกว่า สี่ปีของการยึดอำนาจที่ผ่านมายังแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ได้ การโกงขั้นมูลฐานอย่างการเรียกสินบนกำลังเพิ่มขึ้นจนน่าตระหนก หรือพูดอีกอย่างคือ เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยฉ้อฉลเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวที่สูงขึ้นภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน

สี่ปีของการยึดอำนาจที่ผ่านมายังแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ได้ การโกงขั้นมูลฐานอย่างการเรียกสินบนกำลังเพิ่มขึ้นจนน่าตระหนก

ขณะที่สถาบันการศึกษาของไทยรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องจนพบว่า ‘ปริมาณ’ การคอร์รัปชั่นในส่วนของการจ่ายสินบนยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่มขึ้นจนน่าวิตก ตัวเลขที่ต้องติดตามคือองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติจะสัมภาษณ์นักธุรกิจทั่วโลกแล้วจัดอันดับไทยด้าน ‘ภาพลักษณ์’ ออกมาอย่างไร

จากการสำรวจล่าสุด อันดับด้าน “ภาพลักษณ์’ ความโปร่งใสของไทยร่วงไปที่ 101 ต่ำกว่าปี 2558 และ 2555 ซึ่งอยู่ที่ 76 และ 88 ตามลำดับ หากเชื่อมโยงเรื่องนี้กับสัญญาณที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสของไทยถอนตัวจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ โอกาสที่อันดับด้านภาพลักษณ์ของไทยในปี 2560 อาจจะต่ำลงไปอีก

เมื่อผลการสำรวจของสามหน่วยงานชี้ไปทางเดียวกัน คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะสรุปว่าประเทศไทยปี 2560 มีปัญหาคอร์รัปชันจนตัวชี้วัดบอกว่า ประชาชนรู้สึกเรื่องรัฐบาลปราบโกงล้มเหลว ทั้งที่ยึดอำนาจมาแล้วสี่ปี

บนเงื่อนไขที่ประเทศเสียโอกาสเดินหน้าเพราะข้ออ้าง “ปราบโกง” ตั้งแต่ปี 2557 คำถามที่ต้องคุยในแง่บริหารนโยบายสาธารณะคือ ทำไมรัฐทหารล้มเหลวเรื่องสินบนและการต้านโกง?

กองหนุนรัฐบาลสายหัวหมอแย้งว่า มหาวิทยาลัยพูดเรื่องการเพิ่มขึ้นของ ‘สินบน’ แต่ไม่ได้พูดเรื่องโกง ทว่าข้อเท็จจริงที่เด็กประถมยังรู้คือ สินบนเป็นการโกงที่ง่ายและแพร่หลายที่สุด สินบนที่ขยายตัวจึงทำให้การโกงขยายตัว และการทำความเข้าใจเรื่องนี้ย่อมช่วยให้เข้าใจความไร้สมรรถภาพของรัฐด้วยเหมือนกัน

สินบนเกิดทุกที่ และมีแบบแผนบางอย่างคล้ายๆ กัน

ในรายงานของธนาคารโลกเพื่อต้านโกง ชิ้นที่ให้น้ำหนักเรื่องการจ่ายสินบน ข้อค้นพบคือสินบนเกิดทุกที่ ปรากฏในแทบทุกสังคม เกี่ยวข้องกับคนทุกสถานะ แต่ทั้งหมดมีแบบแผนบางอย่างคล้ายๆ กัน

สรุปง่ายๆ สินบนเกี่ยวข้องกับการให้และรับผลประโยชน์เพื่อผลตอบแทนตั้งแต่ ชนะประมูล ได้งานก่อสร้าง ล็อกสเป็ก นโยบายอุ้มภาคธุรกิจทางการเงิน สิทธิพิเศษทางภาษี คำวินิจฉัยทางกฎหมาย ฯลฯ หรือกับคนทั่วไปคือเรื่องประเภทยัดลูกเข้าโรงเรียน ลัดขั้นตอนราชการ เร่งใบอนุญาต หรือแม้แต่เป่าคดี

นักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาสินบนบางคนเสนอว่า คนจ่ายสินบนเพื่อซื้ออภิสิทธิ์สามอย่าง อย่างแรกคือความสะดวก อย่างที่สองคือความได้เปรียบ และอย่างที่สามคือความลำเอียง สินค้าใน ‘เศรษฐกิจสินบน’ จึงได้แก่บริการสาธารณะที่ให้อภิสิทธิ์ข้อใดก็ได้ ส่วนผู้ขายคือคนที่นำบริการสาธารณะให้ผู้อื่นด้วยเหตุผลส่วนตัว

ด้วยเหตุนี้ สินบนจะเติบโตภายใต้เงื่อนไขทางสังคมอย่างต่ำสองข้อ ข้อแรกคือ ผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะต้องสามารถจัดบริการสาธารณะให้ผู้อื่นได้ตามอำเภอใจ ส่วนข้อสองคือผู้ซื้ออภิสิทธิ์เหนือบริการสาธารณะต้องมีความสามารถเข้าถึงและ ‘จ่าย’ ผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะ จะโดยทางตรงหรืออ้อมก็ตาม

เห็นได้ชัดว่า การเบ่งบานของสินบนนั้นเชื่อมโยงกับ ‘อภิสิทธิ์’ และ ‘เครือข่าย’ โดยตรง

คนจ่ายสินบนเพื่อซื้ออภิสิทธิ์สามอย่าง อย่างแรกคือความสะดวก อย่างที่สองคือความได้เปรียบ และอย่างที่สามคือความลำเอียง

เมื่อสินบนคือการเอาบริการสาธารณะไปให้บุคคล สังคมที่ไม่เสมอภาค จึงเป็นดินที่เอื้อให้การค้าสินบนงอกงามที่สุด เพราะมีแต่สังคมแบบนี้ที่มีคนมีอภิสิทธิ์พอจะซื้อบริการสาธารณะเป็นของส่วนตัวได้ รวมทั้งมีผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะที่พร้อมจะขายสินบนแลกเงินจนกระทั่งคนธรรมดาถูกเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัว

ด้วยเหตุนี้ สังคมที่เสมอภาคจึงมีศักยภาพจะคุมสินบนได้ดีกว่าสังคมที่คนบางกลุ่มอยู่เหนือกฎหมายหรือเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ สิบชาติชั้นนำด้านความโปร่งใสจึงเป็นประชาธิปไตยที่เน้นสวัสดิการประชาชนอย่างเดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ แคนาดา ฯลฯ โดยไม่มีเผด็จการติดกลุ่มแม้แต่ประเทศเดียว

แน่นอนว่าไม่มีสังคมไหนปลอดโกง แต่สิ่งที่หลายประเทศทำเพื่อหยุดปัญหา ล้วนเป็นการเปิดตำแหน่งสาธารณะให้สังคมเข้าถึงมากขึ้น องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติพูดชัดว่า ทางแก้ ได้แก่ การสร้างความโปร่งใส ขยายการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ เพิ่มอำนาจประชวชนในการควบคุมรัฐบาล ให้ชุมชนตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณ ฯลฯ ซึ่งถึงที่สุด อยู่บนหลักการมีส่วนร่วมบนความเสมอภาคของทุกฝ่ายในสังคม

ศาลไคฟง กับการต้านโกงแบบไทยๆ

ในกรณีประเทศไทย นักบริหารที่พูดเรื่องนี้มากที่สุดอย่าง บรรยง พงษ์พานิช ย้ำนับครั้งไม่ถ้วนเรื่องความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน ความเปิดกว้าง หรือแม้แต่การมีผู้เชี่ยวชาญอิสระคอยตรวจสอบการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในเรื่องสำคัญๆ ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี รัฐบาลนี้ไม่สนข้อเสนอแก้โกงโดยสร้างความโปร่งใสบนหลักเสมอภาค แต่ใช้วิธีให้ข้าราชการคุมข้าราชการเป็นกลไกแก้คอร์รัปชั่น และเหนือระบบราชการคือหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ใช้อำนาจโดยตรวจสอบไม่ได้และไม่ต้องรับผิดชอบกับใคร หรือพูดง่ายๆ คือ แก้โกงโดยยกหัวหน้าคณะเป็นเทวดา

ภายใต้ระบบนี้ มาตรการแก้โกงที่ประชาชนได้ยินมากที่สุดคือ เทวดาเปิดงานต้านโกง แขวะยิ่งลักษณ์ เหน็บเพื่อไทย ใช้คำสั่งคณะรัฐประหารย้ายคนตามใจชอบ ให้องค์กรตั้งเองอย่าง ศอตช.ตรวจสอบคนที่เทวดาสงสัย ฯลฯ

ผลลัพธ์คือยอดสินบนยุครัฐบาลนี้อาจถึงสองแสนล้าน หรือสูงสุดในรอบสามปี

ปัญหาของการต้านโกงโดยวิธีนี้คือเราไม่มีทางรู้ว่า หัวหน้า คสช.เล่นงานคนกลุ่มต่างๆ ด้วยเหตุเรื่องโกง หรือปราบคนที่ตัวเองมองว่าเป็นศัตรู เพราะถ้าเป็นแบบหลัง สิ่งที่จะตามมาคือการไม่แตะพวกเดียวกันที่โกง รวมทั้งไม่ย้ายรองนายกฯ ที่คนกว่าแปดหมื่นสงสัย ทั้งที่เคยย้ายผู้ว่าฯ และ อบต. นับสิบรายด้วยเหตุเดียวกัน

รัฐบาลนี้ไม่สนข้อเสนอแก้โกงโดยสร้างความโปร่งใสบนหลักเสมอภาค แต่ใช้วิธีให้ข้าราชการคุมข้าราชการเป็นกลไกแก้คอร์รัปชั่น และเหนือระบบราชการคือหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ใช้อำนาจโดยตรวจสอบไม่ได้และไม่ต้องรับผิดชอบกับใคร

คนที่ศึกษาเรื่องโกงอย่างจริงจังต่างรู้ว่า ปัญหานี้ต้องแก้ด้วยเครื่องมือทางเทคนิคและกระบวนการ ส่วนปรัชญารัฐบาลคือ ตั้งศาลไคฟงแล้วอุปโลกน์คนขึ้นเป็นเทพ แต่ดัชนีโกงคือหลักฐานว่าวิธีนี้แก้โกงไม่ได้ ตัวเลขสินบนคือใบเสร็จของระบอบค่าต๋งที่ทำให้สุจริตชนเสียหาย ซ้ำเทพอาจกลายเป็นคนเก็บค่าต๋งไปเอง

แก่นแท้ของปัญหาคอร์รัปชั่นคือ อภิสิทธิ์ชนขโมยทรัพยากรสาธารณะ ประตูบานแรกสู่การต้านโกงจึงได้แก่การสร้างระบบที่ไม่มีใครยึดตำแหน่งและบริการสาธารณะตามใจชอบ เสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชน ความเสมอภาค คือกลไกปกป้องประโยชน์สาธารณะจากผู้มีอำนาจที่ดีที่สุด คอร์รัปชั่นในสังคมประชาธิปไตยจึงโตยากเมื่อเทียบกับระบบอำนาจนิยมที่ก็แค่จ่ายและเคลียร์ให้ทุกคน

สินบนสองแสนล้านบอกคนไทยว่า ต้องต้านโกงอย่างจริงจัง และหยุดเชื่อกลุ่มที่ใช้เรื่องโกงเป็นเหตุยึดอำนาจได้แล้ว

Tags: , ,