การพัฒนาเมืองให้เป็น ‘เมืองอัจฉริยะ’ (Smart City) ถือเป็นแนวคิดที่หลายประเทศบนโลกพยายามจะทำให้ได้ ส่วนหนึ่งเพราะเชื่อมั่นว่าเมืองที่ดี เมืองที่รองรับเทคโนโลยีทันสมัย จะช่วยส่งเสริมให้ชีวิตประจำวันของมนุษย์มีความสะดวกสบายมากขึ้น มีคุณภาพชีวิต สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่เมืองจะต้องวิ่งให้ทันการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของเทคโนโลยี
การพัฒนาเมืองถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งกับการใช้ชีวิตของประชาชน จึงทำให้เกิดงานที่ชื่อว่า ‘Thailand Smart City Expo 2022’ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ครอบคลุม 7 กลุ่มอุตสาหกรรมโดยผู้แสดงสินค้ากว่า 150 แบรนด์ดัง ซึ่ง ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เอ็น.ซี.ซี.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
“การพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City จะช่วยลดความแออัดของประชากรในเขตเมืองใหญ่ กระจายความเจริญออกไปยังพื้นที่โดยรอบ ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยตามอัตลักษณ์ทางสังคมของเมือง พร้อมทั้งกำหนดโซนพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม”
ศักดิ์ชัยกล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า ได้ดึงพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วทุกมุมโลก มาให้ความรู้และจุดประกายแนวคิดการพัฒนาเมืองโดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม รวมถึงผู้ประกอบการชั้นนำของไทย อาทิ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS), บริษัท โคเน่ จำกัด (มหาชน),บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด, บริษัทซีนเนอร์ยี่ เทคโนโลยี จำกัด, บจก. แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์), บมจ. ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์, บริษัท เอช ไอ พี โกลบอล จำกัด, บจก. อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย), บจก. ฟูจิ อิเลคทริค (ประเทศไทย) , บจก. ล็อกซเล่ย์ อีโวลูชั่น เทคโนโลยี ฯลฯ
สำหรับส่วนแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีภายในงาน จะมุ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการด้านระบบที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ อาทิ ระบบจัดการด้านพลังงาน, ระบบบ้านและอาคารอัจฉริยะ, ระบบโรงงานอุตสาหกรรมและร้านค้าปลีก, ระบบด้านสุขภาพและโรงพยาบาล, ระบบสื่อสารโทรคมนาคม, ระบบขนส่งและยานยนต์ และระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยพยายามแสดงให้เห็นว่าให้ความสำคัญต่อแนวคิด Smart City จึงกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่และเมืองอัจฉริยะ บรรจุไว้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยังยืน
ที่ผ่านมามีชุมชนและเมืองในพื้นที่ต่างๆ ยื่นข้อเสนอแผนพัฒนาเมืองทั้งสิ้น 61 ข้อ ใน 33 จังหวัด และมีเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว 30 พื้นที่ อาทิ สามย่านสมาร์ตซิตี้ เมืองอัจฉริยะย่านพระราม 4 เมืองอัจฉริยะจังหวัดพิษณุโลก เมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ ขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ แสนสุขสมาร์ตซิตี้ จังหวัดชลบุรี ยะลาเมืองอัจฉริยะฯ
สำหรับการพัฒนาเมืองสมาร์ตซิตี้ในแต่ละพื้นที่ ผู้พัฒนาเมืองจะดึงเอาความต้องการของคนในพื้นที่มาเป็นหลัก แต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่เอาไว้ โดยเฉพาะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ แหล่งที่อยู่อาศัย พื้นที่เฉพาะ เพื่อพัฒนาและอนุรักษ์ในเขตเมือง เช่น เขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ, เขตนวัตกรรม, พื้นที่พิเศษเพื่อการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดี, มรดกทางสถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรม, อัตลักษณ์และวิถีชีวิตพื้นถิ่น รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมืองที่ดี 7 ด้าน ประกอบด้วย
1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
2. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
3. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)
4. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)
5. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
6. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
7. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
ในแต่ละเมืองก็จะมีแนวคิดการจัดการเมืองและประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น ‘ยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน’ ที่เสนอโดยเทศบาลนครยะลา จะเน้นระบบอัจฉริยะใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Govermance) ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) โดยมีแนวทางขับเคลื่อนดังต่อไปนี้
1. การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการสื่อสารโทรคมนาคม
2. การบูรณาการระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีอยู่เดิม
3. การยกระดับขีดความสามารถ และสมรรถนะของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั้งระบบ
4. การติดตั้งอุปกรณ์และนวัตกรรมเพิ่มเติม
ประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับ คือการยกระดับมาตรฐานด้านการจัดการความมั่นคงปลอดภัย และลดภาพด้านลบของเมืองในเรื่องความไม่มั่นคงปลอดภัย “ให้คนนอกยะลา เห็นเมืองยะลาอย่างที่คนยะลาเห็น” ยกระดับยะลาสู่เมืองคุณภาพชีวิตมาตรฐานสากล สร้างจุดขายเพื่อทวงคืนบทบาทการเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการลงทุนแห่งภูมิภาค เพื่อสร้างยะลาสู่เมืองเข้มแข็งในอดีต และเข้มแข็งยิ่งขึ้นในศตวรรษที่ 21
ศักดิ์ชัยกล่าวถึงกรณีตัวอย่างนี้ว่า “การที่จะพัฒนาแต่ละพื้นที่ ผู้พัฒนาเมืองหรือผู้นำชุมชน จำเป็นต้องนำองค์ความรู้ของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เชื่อมโยงความต้องการ และอัตลักษณ์ชุมชนโดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาจัดการอย่างเป็นระบบ
“ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ‘ดีป้า’ จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เอ็น.ซี.ซี.) จัดงาน ‘Thailand Smart City Expo 2022’ งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีระดับนานาชาติด้านเมืองอัจฉริยะ เพื่อให้ผู้พัฒนาเมืองหรือผู้นำชุมชนสามารถหาความรู้ หาแนวคิดในการพัฒนาพื้นของตนเอง รวมถึงหานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง”
ภายในงานนอกจากรวบรวมสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยีมาจัดแสดงแล้ว ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ สัมมนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 5G ครอบคลุมทุกด้านในการใช้ชีวิต การให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ เพื่อสร้างเครือข่าย แบ่งปันความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในหลายอุตสาหกรรม การจัดแสดงหุ่นยนต์อัจฉริยะ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับ Metaverse กับเทคโนโลยี AR และ 3D Interactive ผ่านแอปพลิเคชัน ‘Graffity Mappers’ รวมถึงการมอบรางวัล Smart City Solutions Awards 2022 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ซึ่งเป็นรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติสำหรับผู้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อการบริการประชาชน
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมงาน Thailand Smart City Expo 2022 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ณ ฮอลล์ 3-4 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สามารถลงทะเบียนชมงานล่วงหน้า และดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://thailandsmartcityexpo.com/
Tags: การพัฒนาเมือง, เมืองอัจฉริยะ, Stay Curious Be Open, Thailand Smart City Expo 2022, ชุมชน, Branded Content, Smart City