เมื่อโรงเรียนสั่งปิดชั่วคราวเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 แรกเริ่มเด็กๆ เหมือนได้พักหายใจ มีวันหยุดมากขึ้น แต่พอโรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนใหม่อีกครั้งในรูปแบบออนไลน์นานต่อเนื่องเกือบสามปี สังคมไทยก็ได้รับทราบทั่วกันว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถมีสมาร์ตโฟน โน๊ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตดีๆ เพื่อเข้าห้องเรียนออนไลน์และศึกษาหาความรู้ได้เหมือนการเดินทางไปยังโรงเรียน

แรกเริ่มของการปรับตัวในยุคโรคระบาดด้วยการเรียนออนไลน์ มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายคนเผยแพร่ภาพแม่ค้าคนหนึ่งกำลังใช้โทรศัพท์มือถือรับออร์เดอร์จากลูกค้า เมื่อวางสายก็ต้องรีบนำมือถือไปให้ลูกใช้เรียนออนไลน์ต่อ เพราะไม่ใช่ทุกบ้านจะมีมือถือเป็นของตัวเองกันทุกคน

เด็กบางคนต้องเดินออกจากบ้านนั่งตากแดดเพื่อเข้าเรียนออนไลน์ เนื่องจากสัญญาณไม่ดีพอจนทำให้การเชื่อมต่อเครือข่ายติดขัดจนเรียนไม่รู้เรื่อง และยังมีเด็กๆ อีกมากที่จำเป็นต้องหยุดเรียนกะทันหันเพราะพวกเขาไม่มีอะไรที่สนับสนุนการเรียนออนไลน์เลยสักอย่าง แม้กระทั่งไฟฟ้าที่ทุกบ้านควรจะต้องมี เด็กเหล่านี้ก็ไม่มีใช้

 

เด็กและเยาวชนไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าที่คิด

ช่วงกลางปี 2564 หลายคนคงได้เห็นเหตุการณ์ที่กลุ่มนักเรียนแขวนป้ายขนาดใหญ่ใจความว่า “เด็ก 1.8 ล้านคน กำลังหลุดจากระบบการศึกษา” เพื่อแสดงให้เห็นว่าในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด มีเด็กนักเรียนจำนวนมากไม่สามารถเข้าห้องเรียนได้ตามปกติ

ตัวเลขที่ระบุว่าตั้งแต่โควิด-19 มีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษาถึง 1.8 ล้านคน มีที่มาจากรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ทำไว้ในปี 2563 โดยประมวลจากจำนวนนักเรียนยากจนที่สมัครคัดกรองใหม่ภาคเรียนที่ 1/2562 และ 1/2563 ขณะที่ตัวเลขของปีการศึกษา 1/2564 มีนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษาราว 1.9 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมากหากเทียบกับนักเรียนในการศึกษาภาคบังคับที่มีอยู่ทั้งหมด 9 ล้านคน

จากสถิติจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาปี 2564 สามารถแบ่งตามสังกัดได้ดังนี้

1. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 78,003 คน

2. สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) จำนวน 50,592 คน

3. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 55,599 คน

4. ผู้พิการในวัยเรียนสังกัดกระทรวงการศึกษาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จำนวน 54,513 คน

ทำให้ในปี 2564 มีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษาอย่างน้อย 238,707 คน

หากเจาะลึกลงไปถึงเรื่องโอกาสทางการศึกษาที่หายไปของเด็กไทย ข้อมูลในปีเดียวกันระบุว่ามีเด็กกว่า 43,060 คน ที่ยังตรวจสอบไม่ได้ว่าหลังจากหลุดออกจากระบบการศึกษา พวกเขาได้กลับมาเรียนต่อแล้วหรือยัง และเด็กกลุ่มนี้มักเป็นเด็กนักเรียนชั้นรอยต่อ เช่น อนุบาล 3 ขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือประถมศึกษาปีที่ 6 กำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 กำลังจะขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

ครอบครัวของเด็กและเยาวชนเหล่านี้เผชิญกับปัญหารายได้ที่ลดลง พ่อแม่บางครอบครัวถูกเลิกจ้าง ถูกลดเงินเดือน และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเรียนออนไลน์ของเด็กๆ บางครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 1,094 บาท หรือวันละ 36 บาทเท่านั้น

เมื่อลองเทียบตัวเลขเงินรายวันที่ครอบครัวเหล่านี้ได้รับ คิดอย่างไรก็ได้คำตอบเพียงข้อเดียวคือ พวกเขาไม่สามารถประทังชีพและมีชีวิตที่ดีได้ด้วยจำนวนเงินเท่านี้อย่างแน่นอน

 

ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาแบบ ‘เรียนออนไลน์’

จริงหรือไม่ที่ยุคโควิด-19 เผยให้เห็นช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในไทยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น?

นักสังคมสงเคราะห์ในย่านคลองเตยเคยกล่าวถึงสถานการณ์น่าเป็นห่วงของเด็กๆ ในชุมชนว่า ตอนนี้โรคระบาดกับความเหลื่อมล้ำในสังคมเมือง ส่งผลกระทบต่อความยากจนเป็นอย่างมาก ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนในชุมชนทั้งที่อยู่ การศึกษา การทำงาน รายได้ เปลี่ยนไปอย่างรุนแรง หลายครอบครัวถูกเลิกจ้างงานถาวร เด็กๆ ที่เคยได้ไปโรงเรียนต้องออกจากการเรียนมาช่วยครอบครัวทำงานหาเงิน เด็กบางคนทำงานในบ่อนขนาดเล็ก เป็นเด็กเสิร์ฟ เด็กแจกไพ่ ไปเร่ขายลอตเตอรี่ ฯลฯ

ข้อมูลจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Programme for International Student Assessment: PISA) ระบุว่า ก่อนที่โลกจะเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 มีเด็กไทยที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยากจนกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์อยู่แล้วตั้งแต่แรก พวกเขาจึงได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์มากที่สุด ส่วนเด็กที่เหลือเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ยังคงสามารถเข้าถึงการเรียนทางไกลได้

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึงสถานการณ์ในยุคนี้ว่า มีเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ตลอดเวลาสองปีกว่าที่ผ่านมามีนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นถึง 1,244,591 คน คิดเป็น 19.98 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนทั้งหมด

หากการเรียนออนไลน์ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะยังต้องปรับตัวรับมือกับโรคระบาด ก็จะยิ่งทำให้ช่องว่างของเด็กที่มีฐานครอบครัวต่างกันกว้างขึ้นกว่าเดิม

 

‘ลมหายใจเพื่อน้อง’ การพยายามช่วยเหลือเด็กที่ถูกโรคระบาดผลักออกจากระบบการศึกษา

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยยังคงเกิดขึ้นทุกวัน ตัวเลขครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ทั้งในและนอกระบบการศึกษามีมากถึง 2 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วงชั้นรอยต่อระหว่างปีการศึกษาในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี คือช่วงเวลาสำคัญที่จะกำหนดชะตาชีวิตการเรียนต่อของนักเรียนในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

ก่อนปิดภาคเรียนที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่ามีนักเรียนในครัวเรือนยากจนพิเศษช่วงชั้นรอยต่อราว 60,000 คน เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ส่งผลให้ในอนาคตอันใกล้พวกเขาจะยังคงติดอยู่ในกับดักความยากจน มีโอกาสสูงมากที่ความยากจนจากรุ่นพ่อแม่จะถูกส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นปรากฏการณ์ปัญหาความยากจนข้ามชั่วคน (Intergenerational Poverty) ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน และจำต้องหาวิธีช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

โครงการลมหายใจเพื่อน้อง เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ กสศ. ที่ต้องการนำเด็กหลุดจากระบบการศึกษากว่า 6 หมื่นราย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลับเข้าเรียนในปีการศึกษา 2565 คืนโอกาสให้แก่เด็กนักเรียนและเยาวชนในช่วงชั้นรอยต่อ โดยตั้งเป้าหมายมอบทุนการศึกษา 150 ล้านบาท ผ่าน กสศ. ให้แก่เยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 กว่า 60,000 คนทั่วประเทศ

เพราะการศึกษาคือหนึ่งในรากฐานสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ปตท. จึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนด้านการศึกษา ทั้งการจัดตั้งสถาบันวิทยสิริเมธีและโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เพื่อส่งเสริมเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงมีโรงเรียนภายใต้ PTT Group Model School ที่สนับสนุนโดยกลุ่ม ปตท. อีกกว่า 200 แห่ง หรือการสร้างการมีส่วนร่วมอื่นๆ เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาของเด็กไทย

การจัดโครงการลมหายใจเพื่อน้องยังคงจำเป็นต้องพึ่งแรงของประชาชนที่ยังพอสามารถหยิบยื่นโอกาสให้กับเด็กๆ ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ทาง ปตท. จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมสร้างโอกาสในกิจกรรม PTT Virtual Run เพื่อแปลงกิจกรรมการเดินหรือวิ่งให้เป็นทุนการศึกษา ซึ่งกิจกรรมจะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่ 15 พฤษภาคมเป็นต้นไป

“ทุกลมหายใจของเราจะมีคุณค่ายิ่ง หากสามารถช่วยสนับสนุนการศึกษาให้กับน้องๆ กว่า 60,000 คน ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ปตท. จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกิจกรรม PTT Virtual Run เดินหรือวิ่งสะสมระยะทาง ทุก 1 กิโลเมตร มีมูลค่าเท่ากับ 250 บาท โดย 10 กิโลเมตร จะมีมูลค่าเป็นทุนการศึกษาจำนวน 2,500 บาท ซึ่งสามารถพาน้องกลับโรงเรียนได้ 1 คน” อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ระบุถึงใจความสำคัญของโครงการลมหายใจเพื่อน้อง

ปตท. และ กสศ. เชื่อมั่นว่า หากเด็กและเยาวชนได้รับโอกาสที่ดี สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้จริงๆ พวกเขาจะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

 

อ้างอิง

https://www.eef.or.th/news-eef-world-bank-raise-the-quality-of-the-school/

https://thestandard.co/key-messages-children-dropped-out-of-the-education-system/

https://www.thaichcom/news_detail/104371

Tags: , , , , , ,