สังเกตไหมว่าช่วงนี้อากาศแปรปรวนบ่อยขึ้นกว่าปกติ
ฤดูหนาวที่แสนสั้น พายุเข้าติดๆ กันในช่วงฤดูร้อน และฤดูร้อนที่เหมือนจะร้อนกว่าที่เคย
ยังไม่รวมถึงปัญหามลพิษมากมาย ที่ทำให้ควันพิษรวมก้อนเป็นหมอกหนา ปกคลุมท้องฟ้าในหลายเมืองทั่วโลก
ทุกอย่างแสดงให้เห็นว่าโลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย การเกิดภาวะเรือนกระจก และปัญหาที่ว่าพลังงานฟอสซิลอาจหมดลงสักวันหนึ่ง ทำให้เราได้เห็นภาพประชาชนจำนวนมากในหลายพื้นที่ทั่วโลกต่างออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ภาคส่วนต่างๆ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนทำให้รัฐบาลหลายประเทศประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมว่าจะทำให้เมืองของพวกเขาอยู่ในสถานะ ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ ให้ได้
‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ หมายถึงการไม่เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และหากประเทศนั้นๆ ยังคงปล่อยก๊าซจนเกินเส้นที่กำหนดต่อไป ก็ต้องถูกชดเชยด้วยการดูดซับก๊าซจากชั้นบรรยากาศ หรือซื้อคาร์บอนเครดิตปริมาณเท่ากับที่ปล่อยก๊าซ นอกจากนี้หลายประเทศยังเริ่มมองหาการสร้างแหล่งพลังงานสะอาดมาทดแทนพลังงานที่มีอยู่ เช่น การสร้างดวงอาทิตย์เทียม การใช้พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานโซลาร์ หรือการสร้างสนามแม่เหล็กพลังงานสูง ทั้งหมดก็เพื่อลดการใช้งานถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่กำลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ
ประเทศที่พยายามจะอยู่ในสถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน ประเทศที่อยากผลักดันการใช้พลังงานทดแทน หรือประเทศที่อยากผลักดันให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ จำเป็นต้องออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและร่วมมือกันในทุกภาคส่วน หาวิธีทำให้ประชาชนในประเทศตระหนักถึงปัญหาสภาพแวดล้อม และหลายประเทศได้สนับสนุนการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) จนกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงมากในยุคนี้
คนไทยจำนวนมากกำลังวางแผนซื้อรถพลังงานไฟฟ้า
จริงหรือไม่ที่คนไทยกำลังให้ความสนใจเรื่องรถพลังงานไฟฟ้า?
ประเด็นนี้ไม่ใช่สิ่งที่พูดขึ้นลอยๆ แต่สามารถเห็นได้จากตัวเลขผู้จดทะเบียน EV ใหม่ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นถึง 72 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงงาน The 43rd Bangkok International Motor Show 2022 ที่ทำให้เห็นว่ากระแสรถไฟฟ้ามาแรง จนบูธที่มีรถไฟฟ้าถูกพูดถึงและมีผู้คนแวะเวียนไปดูเป็นจำนวนมาก
ช่วงปลายปี 2564 อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและการใช้รถไฟฟ้าในประเทศทั้งภาษีศุลกากรแลtสรรพสามิต เพื่อจูงใจให้คนไทยหันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น กระตุ้นให้ประชาชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่สภาพัฒน์ตั้งเป้าที่จะทำให้ได้ภายในปี 2570
ไม่ใช่แค่รัฐกับประชาชนทั่วไปที่สนใจรถพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น กลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารเอกชนข้ามจังหวัดหลายเจ้าก็เริ่มหันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นสถานีชาร์จไฟในปั๊มน้ำมันหลายแห่งทั่วประเทศ เห็นศูนย์บริการรถไฟฟ้าที่เริ่มมีมากขึ้น ทำให้เห็นว่าสังคมไทยในตอนนี้เริ่มหันมามอง EV มากขึ้นจริงๆ
อย่างไรก็ตาม การจะซื้อรถพลังงานไฟฟ้าสักคันในตอนนี้อาจยังไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ทันที เนื่องจากราคา EV หลายรุ่นหลายแบรนด์ยังคงมีราคาสูง แม้จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้น คนไทยก็ยังสามารถมีโอกาสลองขับรถพลังงานไฟฟ้าได้ผ่านบริการเช่ารถของแอปพลิเคชัน อีวี มี (EVme) ที่ทำให้ EV กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น
แอปพลิเคชัน EVme อยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท อีวีมี พลัส จำกัด (EVME PLUS) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ก่อตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาระบบนิเวศการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม กระตุ้นให้ผู้คนสามารถลองขับรถไฟฟ้า โดยจะเริ่มจากการให้บริการเช่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน
EVme จะทำให้ผู้คนที่สนใจรถไฟฟ้าได้ลองใช้รถจริงๆ เพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนที่สุดว่า EV ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ส่วนตัวมากน้อยแค่ไหน เพราะรถแต่ละคันของแต่ละแบรนด์ก็มีจุดเด่นต่างกันไป ซึ่ง EVme ก็มีรถพลังงานไฟฟ้าหลายรุ่นไว้ตอบรับทุกความต้องการที่หลากหลาย เช่น TESLA Model 3 Long Range, BMW iX3, Jaguar I-PACE, HYUNDAI Kona, MG EP, Nissan Leaf, Lexus UX 300e, XC40 Recharge Pure Electric และ GWM ORA Good Cat 500 ที่มีระยะเวลาเช่าตั้งแต่ 3 วัน ไปจนถึงการเช่ารายปี โดยมีทีมงานมืออาชีพคอยดูแลการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง
หลายความคิดเห็นในสื่อออนไลน์ของคนที่สนใจ EV แบรนด์เดียวกัน ที่มีทั้งคนที่มีรถไฟฟ้าเป็นของตัวเองแล้ว รวมถึงคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อแต่สนใจและวางแผนซื้อ EV ต่างพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และมีหลายความคิดเห็นกล่าวถึงแอปฯ EVme ว่าทำให้มีโอกาสได้ลองใช้ EV แบรนด์ที่ชอบ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้าสู่แวดวงรถไฟฟ้าหรือไม่ เพราะแค่การทดลองขับเพียงครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ไม่มีทางเพียงพอและทำให้ได้คำตอบในทันทีอย่างแน่นอน
เรียกได้ว่า EVme ถูกออกแบบมาเสมือนเป็นเพื่อนคู่คิดของคนที่สนใจรถไฟฟ้า มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการใช้ EV อย่างแพร่หลาย พร้อมผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริงได้โดยเร็ว
การผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าของภาคเอกชน
ทาล เเซนเบิร์ก (Taale Sandberg) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทเลนอร์ (Telenor Research) กล่าวถึงความพยายามของผู้คนทั่วโลกที่จะพยุงสภาพอากาศว่า ภาวะโลกร้อนทำให้มนุษย์เผชิญหน้ากับความท้าทายใหญ่อีกครั้ง แต่ตอนนี้มนุษย์เรามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น อีกทั้งประชาคมโลกต่างตื่นตัวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้ภาคเอกชนหลายแห่งก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อร่วมสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับสังคม และเพิ่มทางเลือกที่ดีกว่าให้กับระบบคมนาคม
ปตท. ถือเป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่มีบทบาทอย่างมากในการผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย เห็นได้จากบริการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ผู้คนที่สนใจการใช้รถยนต์พลังงานทางเลือก ผ่านการดำเนินธุรกิจด้าน EV Value Chain รองรับการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การจัดตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) ผู้ผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรรูปแบบใหม่ในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยี MIH platform หรือ Open EV Platform หรือจะเป็น Swap and Go สถานีให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ รวมไปถึงการขยายเครือข่ายสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (On-Ion) ในศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ตลอดจนจำหน่ายสินค้าและให้บริการที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ตามความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต (Powering Life with Future Energy and Beyond)
ดูเหมือนว่าการผลักดันเรื่องการขยายสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ จะไม่เพียงพอสำหรับ ปตท. จึงทำให้เกิดความพยายามสร้างรถโดยสารพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ เป็นรถที่สร้างโดยคนไทย ผลิตและประกอบในประเทศไทย ที่มีชื่อว่า E-Bus โดยหวังว่าจะเสริมศักยภาพการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า หรือ E-Bus ที่ผลิตในไทย จะมีตัวถังเป็นอะลูมิเนียมขึ้นรูปพิเศษ ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุดเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกตอบโจทย์ความต้องการของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ซึ่ง ปตท. ให้เหตุผลที่ลงทุนลงแรงกับรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าว่า การลงทุนพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ เช่น รถบัส รถจักรยานยนต์ หรือเรือโดยสาร เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างระบบขนส่งของไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตในประเทศได้พัฒนาการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น
ตอนนี้ E-Bus ได้ถูกนำมาใช้จริงในการรับ-ส่ง อำนวยความสะดวกแก่พนักงานในกลุ่ม ปตท. บุคลากรกระทรวงพลังงาน และประชาชนทั่วไปที่มาติดต่องาน เพื่อทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าเราจะสามารถใช้งานรถดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน
ปตท. ให้เหตุผลที่ตัดสินใจทำธุรกิจพลังงานไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบว่า เพราะต้องการปรับตัวเพื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลก 2 ด้าน คือ ‘Go Green’ เปลี่ยนจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นการใช้พลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ ‘Go Electric’ การใช้ไฟฟ้าผ่านการใช้ EV และการพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่ การตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ทั้ง 4 ล้อ 2 ล้อ และประเภทอื่นๆ
การให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาด จะช่วยลดปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งยังเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยชะลอวิกฤตของโลกไม่มากก็น้อย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้นแบบด้านพลังงานแห่งอนาคต เพื่อทำให้ไทยพร้อมก้าวสู่เมืองที่มียานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้เร็วที่สุด
Tags: ธุรกิจ, EBus, สิ่งแวดล้อม, ยานยนต์ไฟฟ้า, Branded Content, EV, พลังงานสะอาด, ปตท., Electric Vehicle, EVme, EVME PLUS, On-Ion