การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะผู้ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ระดมเจ้าหน้าที่เร่งลงพื้นที่ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยการตรวจสอบกระแสไฟฟ้าของเสาไฟฟ้าที่สัมผัสผิวน้ำหรือพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง รวมถึงตรวจสอบสะพานลอยใกล้แนวสายไฟฟ้าในเขตรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวงทั้ง 18 แห่ง

ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวงมีขั้นตอนการตรวจสอบกระแสไฟฟ้ารั่วไหล ทั้งในรูปแบบการตรวจใต้น้ำและการตรวจในพื้นที่แห้ง ประกอบกับการใช้อุปกรณ์ ‘Thermoscan’ หรือกล้องถ่ายภาพความร้อน เพื่อตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่รั่วไหลผ่านการสังเกตความร้อนที่สูงผิดปกติของเครื่องใช้ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้านครหลวงได้ติดตั้งอุปกรณ์และระบบจำหน่ายไฟฟ้าตามมาตรฐานสากลตั้งแต่ต้น กล่าวคือสายไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะนั้น นอกจากจะหุ้มด้วยฉนวนเพื่อป้องกันการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังมี ‘ลูกถ้วย’ ที่เป็นฉนวนช่วยป้องกันกระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้เช่นกัน

นอกจากนี้ เสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงยังติดตั้งสายดินซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชนจากกระแสไฟฟ้าที่รั่วไหลด้วย ทั้งหมดส่งผลให้แม้จะมีเหตุสุดวิสัยเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วจากอุปกรณ์ไฟฟ้า ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ใกล้เคียงเสาไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นสภาพพื้นที่แห้งหรือน้ำท่วมถึงก็ตาม

ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวงแนะนำว่า หากพบเห็นผู้ประสบภัยกำลังถูกไฟดูด ประชาชนสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนได้ ดังนี้

1. ไม่เข้าไปสัมผัสโดยตรงกับตัวผู้ประสบภัยที่กำลังมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน เนื่องจากผู้ช่วยเหลืออาจได้รับอันตรายไปด้วย

2. หากทำได้ ให้ตัดกระแสไฟฟ้าอย่างฉับไว เช่น การปิดสวิตช์ ถอดปลั๊ก ปลดเซอร์กิตเบรกเกอร์ หรือคัตเอาต์

3. หากไม่สามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้ ให้ยืนบนพื้นยางหรือวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า แล้วใช้ผ้าหรือเชือกฉุดตัวผู้ประสบภัยให้หลุดออกจากบริเวณที่โดนกระแสไฟฟ้าดู

4. ทำการปฐมพยาบาลหรือช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ 1 ประเมินความปลอดภัยของสภาพแวดล้อม และประเมินการตอบสนองและการหายใจ เช่น ปลุก เขย่าตัว

ขั้นตอนที่ 2 ขอความช่วยเหลือ เช่น โทรสายด่วนบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669

ขั้นตอนที่ 3 ช่วยการไหลเวียนโลหิต โดยการกดหน้าอก 30 ครั้ง

ขั้นตอนที่ 4 เปิดทางเดินหายใจ โดยการกดหน้าผากและยกคางผู้ประสบภัยให้แหงนขึ้น เพื่อดึงลิ้นไม่ให้ปิดกั้นทางเดินหายใจ

ขั้นตอนที่ 5 ช่วยหายใจด้วยวิธีเป่าปาก 2 ครั้ง ต่อการกดหน้าอก 30 ครั้ง

“อย่างไรก็ตาม สำหรับการป้องกันเหตุไฟฟ้าดูดภายในบ้านเรือน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในพื้นที่ที่มีแนวโน้มน้ำท่วมสูงจนใกล้ถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า ให้รีบย้ายปลั๊กไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าขึ้นที่สูงให้พ้นจากระดับน้ำท่วม เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ารั่วและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุด

“ประกอบกับสำรวจต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณบ้านของตนเอง ให้กิ่งไม้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่ระสายไฟฟ้า เพราะอาจทำให้ไฟฟ้าดับได้ และหากกิ่งไม้สัมผัสกับสายไฟ อาจทำให้มีกระแสไฟฟ้ารั่วมาตามกิ่งไม้ที่เปียกน้ำได้ ในส่วนของห้างร้านที่ติดตั้งป้ายโฆษณา ขอให้ตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพที่มั่นคง ปลอดภัย”

หากประชาชนในพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้านครหลวง

– พบเห็นสายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด

– อยู่ในสภาพไม่ปลอดภัย

– ต้องการความช่วยเหลือด้านระบบไฟฟ้า

– ขอเลื่อนเครื่องวัดฯ

สามารถแจ้งการไฟฟ้านครหลวงเขตใกล้บ้านทุกเขต หรือแจ้งเหตุผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่แอปพลิเคชัน ‘MEA Smart Life Application’ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ผ่านแอปเปิลสโตร์ (Apple Store) และเพลย์สโตร์ (Play Store) หรือทางเฟซบุ๊กการไฟฟ้านครหลวง MEA

LINE Official Account: MEA Connect, https://page.line.me/zxk8396a

ทวิตเตอร์: @mea_news

รวมถึงติดต่อคอลเซ็นเตอร์ 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Tags: , , , ,