‘ลำตะคอง’ เป็นชื่อของลำน้ำที่มีต้นน้ำจากเขาฟ้าผ่า จังหวัดนครราชสีมา มีความยาว 243 กิโลเมตร ลำตะคองนี้ไหลผ่านอำเภอปากช่อง, สีคิ้ว, สูงเนิน, ขามทะเลสอ และอำเภอเมืองนครราชสีมา ลงสู่แม่น้ำมูลในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
พื้นที่ลุ่มของลำตะคองที่สีคิ้ว ถูกสร้างเป็น ‘เขื่อนลำตะคอง’ เพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อการชลประทาน ทั้งอุปโภคและทำการเกษตร เป็นเขื่อนดินสูง 40 เมตร สันเขื่อนยาว 521 เมตร โดยเขื่อนเก็บน้ำจะเลียบถนนมิตรภาพ ซึ่งเป็นถนนมิตรภาพเส้นทางปัจจุบัน เพราะยังมีถนนมิตรภาพสายเก่าช่วงโคราช-สระบุรีที่จมลงอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำลำตะคอง หลังจากสร้างเขื่อนเสร็จสิ้นในปี 2512
ในทุกฤดูแล้ง หากใครได้เห็นภาพเขื่อนลำตะคองที่น้ำแห้งจนมองเห็นถนนมิตรภาพสายเก่าที่จมอยู่ในอ่างเก็บน้ำ คงจะตระหนักได้ถึงวิกฤตภัยแล้งและเริ่มวิตกกังวลว่า คนในพื้นที่จะขาดแคลนน้ำหรือไม่ ตลอดจนตั้งคำถามว่า กรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบในส่วนนี้ มีวิธีบริหารจัดการน้ำอย่างไรให้หล่อเลี้ยงประชาชนได้เพียงพอ
ทางกรมชลประทาน และโครงการชลประทานนครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ให้ข้อมูลว่า ปีนี้เป็นปีที่น้ำน้อยที่สุดตั้งแต่สร้างเขื่อนลำตะคองมา แต่อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำให้ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้ง
แผนบริหารจัดการน้ำภายใต้ภูมิอากาศที่แปรปรวน
สิ่งแรกที่ประชาชนต้องรู้คือ น้ำในเขื่อนลำตะคองและอ่างเก็บน้ำถูกเก็บสะสมจากปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละปี และต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปี กว่าที่น้ำจะเต็มเขื่อนลำตะคอง
ด้วยภาวะโลกรวน (Climate Change) ทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล หรือตกน้อย ประกอบกับลำตะคองอยู่ในพื้นที่ของเขตเงาฝน (Rain Shadow) เนื่องจากน้ำฝนเกิดจากทะเล มาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่หอบเมฆฝนขึ้นมา แต่ฝนไปตกอยู่ฝั่งเขาใหญ่ซึ่งมีความสูงมาก น้ำฝนจึงไหลลงนครนายกกับปราจีนบุรี ซึ่งก็มีเขื่อนขุนด่านปราการชลไว้รองรับอยู่แล้ว
ส่วนฝั่งลำตะคองนั้นอยู่หลังภูเขา ถ้าเมฆฝนจะข้ามมาได้ก็ต้องอาศัยพายุที่มีความรุนแรง
แต่ในปีที่ผ่านมาไม่ได้มีพายุผ่านมาทางนี้เลย ทำให้สะสมน้ำได้น้อย และต้องรอช่วงที่มีความกดอากาศต่ำอยู่ในบริเวณพื้นที่ 3-5 วันติดต่อกัน จึงได้รับน้ำในปริมาณมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่สามารถบังคับธรรมชาติได้ เพราะฉะนั้นการต่อสู้ในการเก็บสะสมน้ำในเขื่อนลำตะคอง จึงเป็นการต่อรองกับสภาพภูมิอากาศ ด้วยการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ ที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก
ซึ่งแผนบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ ยึดมติของคณะกรรมการจัดการชลประทานเขื่อนลำตะคอง (JMC เขื่อนลำตะคอง) ซึ่งได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 โดยมี นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน ที่ประชุมเห็นชอบแผนการบริการจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2567/68 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567-30 เมษายน 2568 จำนวน 73 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแยกเป็นการใช้น้ำ 4 กิจกรรมหลัก คือ
1. น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค 35 ล้านลูกบาศก์เมตร
2. น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร
3. พืชฤดูแล้ง 7 ล้านลูกบาศก์เมตร
4. อุตสาหกรรม 6 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยข้อมูลปริมาณน้ำล่าสุดในวันที่ 16 เมษายน 2568 ที่ใกล้สิ้นสุดช่วงฤดูแล้งแล้ว ระบุว่า ลำตะคอง ปริมาตรน้ำในอ่าง 52.53 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 16.70% ของความจุ หมายความว่าการบริหารจัดการน้ำสัมฤทธิผล และยังมีน้ำคงเหลือเพียงพอ หากฤดูแล้งยืดยาวออกไปอีกระยะหนึ่ง
และสำหรับกรณีหากเกิดเหตุการณ์วิกฤต ยังมีแหล่งน้ำสำรองจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ ในความดูแลของโครงการชลประทานนครราชสีมา และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะคือ อ่างเก็บน้ำห้วยซับประดู่ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง และเขื่อนลำแชะ ที่สามารถระบายน้ำมาช่วยเมืองนครราชสีมา แต่จะต้องใช้ระบบสูบน้ำควบคู่กันไป
อย่างไรก็ตาม น้ำอุปโภค-บริโภคเพียงพอ ไม่ขาดแคลน ประชาชนสามารถปล่อยวางความวิตกกังวลลงได้ หากแต่น้ำสำหรับการทำเกษตรยังอยู่ในสภาวการณ์ไม่สู้ดีนัก ด้วยปีนี้มีปริมาณน้ำน้อยมาก ทางกรมชลประทานจึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่งดทำนาปรัง เพื่อสะสมน้ำ ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ออกไปตั้งแต่ปลายปี 2567 เนื่องจากนาปรังเป็นการเกษตรที่ใช้น้ำมากและเป็นอีกความสำเร็จหนึ่ง เพราะเกษตรกรในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ทางกรมชลประทานระบุว่า ทางแถบภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นนครราชสีมา บุรีรัมย์ หรือศรีสะเกษ เกษตรกรให้ความร่วมมือดีมาก โดยปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย แต่ส่วนใหญ่จะงดปลูกเพราะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าน้ำอาจจะไม่พอ ถ้าฝืนปลูกไปก็ไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะได้ตรวจสอบปริมาณน้ำในเขื่อนด้วยตนเองแล้ว
ทั้งนี้ในปี 2568 เกษตรกรที่เตรียมตัวทำข้าวนาปีในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน กรมชลประทานมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเริ่มปลูกข้าวนาปี เมื่อฝนตกสม่ำเสมอและเพียงพอต่อการเตรียมแปลง
วิกฤตภัยแล้งจากภาวะโลกรวนไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ในเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งกรมชลประทานวางแผนทำให้น้ำอุปโภคบริโภคเพียงพออย่างแน่นอน ตลอดจนแผนระยะยาวที่กรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) วางแผนงานการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มายังเขื่อนลำตะคอง เป็นวิธีการสูบน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ผ่านแนวท่อและอุโมงค์ผันน้ำความยาวรวมประมาณ 43 กิโลเมตร จะสามารถสนับสนุนน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนลำตะคองถึงปีละ 50-60 ล้านลูกบาศก์เมตร
อย่างไรก็ตาม การวางแผนบริหารจัดการน้ำสำหรับภัยแล้งในปีนี้ใกล้สำเร็จลุล่วง แต่ในปีต่อไปยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น เพื่อลำเลียงน้ำไปยังให้ประชาชนให้ได้มีน้ำอุปโภคบริโภคที่เพียงพอ เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์