ในหมู่กีฬาที่แข่งขันกันด้วยความเร็วอย่างมอเตอร์สปอร์ต ผู้เข้าแข่งขันอาจต้องเตรียมความพร้อมหลายประการ อุปกรณ์การแข่งขันอย่างรถต้องเร็วและแข็งแรงทนทาน นักแข่งต้องผ่านการฝึกซ้อมหลายครั้งเพื่อเพิ่มความคุ้นชินในการลงแข่ง นี่เป็นทักษะที่ไม่สามารถสร้างได้ภายใน 4-5 วัน และอาจใช้เวลาถึง 15 ปี หากต้องเข้าร่วมการแข่งขันประเภท ‘ดริฟต์’

ดริฟต์จัดเป็นกีฬามอเตอร์สปอร์ตที่ได้รับความนิยมทั่วโลก โดยผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องใช้ทักษะในการควบคุมรถให้ไถลไปตามเส้นทางที่กำหนด และมีการประเมินผลแพ้-ชนะ จากการเฉี่ยวเข้าตามจุดต่างๆ ทั้งขอบสนามและรถของคู่แข่ง ความบ้าระห่ำดูเสี่ยงอันตรายนี้เองที่ดึงดูดเหล่านักแข่งมากฝีมือ เข้าร่วมประลองทักษะในหลายสนามหลายรายการ 

แต่ในจำนวนการแข่งขันที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกนับพันรายการ มีอยู่ 1 รายการที่ได้ชื่อว่า ‘หินและโหด’ ที่สุดในการแข่งขันประเภทดริฟต์ ซึ่งเป็นที่หมายตาของนักแข่งทั่วโลกที่ต้องการเป็นเบอร์ 1 ของวงการนี้ รู้จักกันในชื่อ Drift Masters รายการดริฟต์ที่จัดขึ้นในทวีปยุโรป 6 ประเทศ และในปี 2567 การแข่งขันจัดขึ้นที่ประเทศฮังการีและโปแลนด์ แปรสภาพสนามกีฬาจุคนกว่าครึ่งแสนให้กลายเป็นสนามแข่งรถ

และจนถึงตอนนี้ มีชาวไทยเพียง 1 เดียวเท่านั้นที่สามารถพิชิตสนามนี้ได้

“ผมเป็นนักแข่งของรายการ Drift Masters และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันดริฟต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกครับ”

ก่อนการแข่งขัน Drift Masters จะเริ่มต้นขึ้นที่สนาม RabócsiRing Máriapócs ประเทศฮังการีในวันที่ 23-24 สิงหาคม 2567 ปอ-ตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ ผู้ก่อตั้งทีม Singha Drift Team ได้รับจดหมายพิเศษเชิญเข้าร่วมการแข่งขัน Drift Masters ในสนามแข่งของฮังการีและโปแลนด์ นับเป็นคนไทยที่ได้ร่วมประลองฝีมือการดริฟต์ในสนามระดับโลกคนแรก

“ในบรรดาธงชาติกว่า 50 ประเทศ ยังไม่เคยมีธงชาติไทยอยู่ในการแข่งขันดริฟต์รายการนี้มาก่อน การได้รับเชิญในครั้งนี้จึงหมายความว่า จะมีธงชาติประเทศของเราอยู่ในการแข่งขัน มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนจะร้องไห้อยู่เหมือนกัน” 

ก่อนหน้านี้ตนุภัทรสร้างชื่อเสียงให้กับวงการดริฟต์ไทย ด้วยการคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ในรายการ D1 GRAND PRIX THAILAND 2023 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 โดยทำคะแนนสูงถึง 92.33 คะแนน ผลงานที่โดดเด่นทำให้เขาได้รับเกียรติเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขัน Drift Masters ในฐานะนักแข่งผู้ได้รับบัตรเชิญพิเศษ (หรือ Wild Card) ซึ่งเป็นโอกาสพิเศษที่มอบให้กับนักแข่งดริฟต์ที่มีศักยภาพสูง

“การได้รับบัตรเชิญพิเศษ กรรมการจะสำรวจตั้งแต่โปรไฟล์ว่าเราคือใคร เคยแข่งขันในรายการไหน สำรวจไปถึงการนำเสนอการแข่งขันดริฟต์ของเราในแต่ละครั้ง รถของผม ตัวผมและทีมมีศักยภาพพร้อมกับการแข่งขันมากแค่ไหน การคัดเลือกจึงไม่ใช่แค่ว่า เราเคยแข่งชนะมาจึงจะถูกเชิญ”

เพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันครั้งนี้ ตนุภัทรและทีมได้ปรับแต่ง Nissan Silvia S15 รถคู่ใจที่เขาใช้ในการแข่งขันหลายครั้งก่อนหน้านี้ ให้มีสมรรถนะสูงสุด เพื่อการควบคุมที่ลื่นไหลซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขัน เมื่อเวลาล่วงเลย การเตรียมตัวของพวกเขาจะน้อยลงไปทุกที ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันจึงเตรียมไว้ในลักษณะของการ ‘เผื่อสถานการณ์’ เมื่อไปถึงสนามแข่ง

“โคตรกดดัน เรามีเวลาเตรียมตัวเพียง 6 เดือน ไปแข่งจริงๆ ใช้เวลาแค่ 1-2 นาที แค่นั้นเอง ผมกับทีมต้องเตรียมความพร้อมของรถที่จะใช้แข่ง หาอะไหล่มาสำรองไว้ เผื่อเครื่องยนต์ เกียร์ หรือมีอะไหล่บางตัวเสีย ต้องเปลี่ยนได้ทันที แล้วส่งของทั้งหมดจากไทยไปประเทศที่จะแข่ง ที่สำคัญคือทีมทั้งช่างเครื่อง ช่างจูนรถ จนถึงทีมทำสื่อทีมถ่ายทอดสด เราต้องดูแลเรื่องกิน-นอนให้เขาหมดเลย หมดเงินไปหลายล้านเลย แข่ง 2 ที่คือฮังการีกับโปแลนด์ รวมๆ กันน่าจะประมาณ 10 ล้านบาท” 

“คุณเสียเงินมากขนาดนั้นไปเพื่ออะไรกัน” เราถาม

“คงต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เราต้องการอะไรจากการแข่งขัน สำหรับคนที่หลงใหลการใช้รถแต่ง ชอบเสียงเครื่องยนต์ กับเสียงของท่อตั้งแต่ยังเด็กๆ แบบผม การได้เห็นใครสักคนสวมชุดนักแข่งนั่งอยู่ในรถ มันเป็นสิ่งที่ผมมองว่าเท่ และเมื่อเรามีโอกาสมาลงสนามแข่ง ได้สวมชุด ได้ใส่หมวกนิรภัยแบบที่เราเคยเห็น มันรู้สึกดีมากนะ”

แม้ผู้คนจะมองการแข่งดริฟต์ว่า เป็นเพียงการขับรถโชว์ความแพรวพราว ไม่ได้เป็นกีฬาเหมือนกับการแข่งขันฟุตบอลหรือว่ายน้ำ แต่สำหรับตนุภัทร การดริฟต์ถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ต้องใช้ทักษะ มีผู้เล่นคือคน และมีอุปกรณ์การกีฬาเป็นรถ มีกติกา มีการตัดสินแพ้และชนะ และตัวของนักแข่งก็ต้องดูแลสุขภาพเพื่อให้พร้อมต่อการแข่งขันเหมือนกับนักกีฬาทั่วไป

“เมื่อก่อนผมดื่มเหล้านะ แต่ตอนนี้ผมไม่ดื่มแล้ว เพราะกังวลว่า ระบบหายใจกับระบบเลือดของผมจะไม่พร้อมเมื่อลงแข่ง เดี๋ยวจะเหนื่อยง่าย หัวใจจะเต้นแรง พวกนี้อาจทำให้เราตัดสินใจในสนามแข่งพลาดก็ได้ ฉะนั้นร่างกายผมเลยต้องพร้อม ซ้อมการขับให้ชินสัปดาห์ละ 1 ครั้งหรืออาจถี่กว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่า เราเข้าใกล้วันแข่งขันมากแค่ไหน”

เมื่อนักกีฬาพร้อม สิ่งที่สำคัญคืออุปกรณ์การเล่นนั่นคือ ‘รถ’ ที่ทุกกระบวนการตั้งแต่การเลือกใช้รถรวมทั้งการปรับแต่งมีประสิทธิผลบนสนามแข่งทั้งสิ้น รถที่ตนุภัทรใช้ต้องมีน้ำหนักเบา มีเครื่องยนต์แรง และมีความมั่นคงสูง เพราะนอกเหนือจากการแข่งขันเพื่อชิงรางวัล คุณสมบัติสำคัญของรถอีกประการคือ การปกป้องนักขับเมื่อลงสู่สนามอันดุเดือด

“จากประสบการณ์ 10 ปี ที่ผ่านการแข่งดริฟต์มาแล้วหลายสนาม เหตุการณ์ประเภทแขน-ขาหักเกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันน้อยมาก รถที่นักแข่งใช้มีระบบรักษาความปลอดภัย ลำตัวของนักแข่งจะไม่หลุดออกจากเบาะ เนื่องจากมีสายเข็มขัดรัดตัวเอาไว้ มีปลอกสำหรับล็อกแขนไม่ให้ยื่นออกนอกตัวรถ ส่วนรถทั้งคันก็มีเหล็กหุ้มไว้ นักแข่งที่นั่งอยู่ด้านในจะรู้สึกเหมือนอยู่ในกรงขังเลย (หัวเราะ)”

คำถามต่อมาคือ “แล้วคุณมีทริกในการแข่งขันดริฟต์หรือเปล่า” 

“เอาเป็นว่า การแข่งขันดริฟต์ไม่เหมือนกับการแข่งขันรถประเภทอื่น คุณจะไม่ได้ขับรถเป็นเส้นตรงๆ บนถนนแบบที่คุณทำทั่วไป คุณต้องทำความเข้าใจเส้นทางในสนามแข่งเพื่อดูว่าจะขับแบบไหนจึงจะเร็วที่สุด มันไม่ใช่แค่การเหยียบคันเร่งสุดเท้ารถคุณถึงจะเร็ว เพราะหากรถแรงเกินไป ล้อของรถคุณก็จะหมุนอยู่ที่เดิมไม่วิ่งไปข้างหน้า ที่สำคัญนอกจากการวางแผน คือคุณต้องการอ่านเกมให้ออกว่า คันข้างหน้าเราที่กำลังขับอยู่ เขาจะแกล้งเบรกตอนไหน นี่แหละคือเสน่ห์ของการแข่งขันดริฟต์”

นอกจากการได้เป็นนักแข่งดริฟต์ชาวไทยคนแรก มีอีกสิ่งที่ตนุภัทรภูมิใจและไม่ลืมที่จะพูดถึงคือ การนำเอาความเป็นไทยไปวางชิดติดขอบสนามแข่งในฮังการีและโปแลนด์ให้คนทั่วโลกได้เห็น เห็นได้จากรถของเขาที่ถูกตกแต่งเป็นลายกระหนกสุดประณีต แสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยชัดเจน ส่วนด้านหลังรถติดข้อความ ‘We are Thai’ สร้างความประทับใจแก่เหล่ากองเชียร์ที่มาร่วมชมการแข่งขันในสนามรวมถึงตัวของตนุภัทร แม้จะไม่ได้เข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันก็ตาม

“การแข่งดริฟต์หนึ่งครั้ง มีหลายอย่างที่เราต้องปรับ มันเหมือนกับเราต้องเปลี่ยนเครื่องปรุงเพื่อให้อาหารอร่อย หรือเปลี่ยนเจลใส่ผมเพื่อให้ไดร์ออกมาสวยมากขึ้น การขับรถก็ต้องเปลี่ยนบางอย่างเพื่อขับให้ดีกว่าเดิม

“หลังการแข่งขัน เราต้องเรียนรู้เกณฑ์ ศึกษากติกา ในปีนี้เรากลับมาเพื่อฝึกฝนและปีหน้าเราจะกลับไปสู้ใหม่ นั่นคือสิ่งที่ผมใฝ่ฝัน มากกว่านั้นผมอยากให้นานาประเทศเดินทางมาแข่งขันที่ไทย ผมอยากให้ภาครัฐมองเห็นว่า สิ่งนี้มันสามารถพัฒนาประเทศของเราได้ มองมันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ท้ายที่สุดผมอยากให้ส่งคนไทยไปแข่งขันดริฟต์ในสนามใหญ่ในต่างประเทศ ทำให้เขาเห็นว่าประเทศของเราสู้ได้นะ 

“เพียงแค่ก่อนหน้านี้ เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราสู้เขาได้ก็เท่านั้นเอง”

Tags: , , , , , , , , , ,