‘ขยะ’ คือปัญหาระดับโลก ที่แก้ไขไม่ได้เพียงการกำจัดที่ปลายทาง แต่มันสัมพันธ์กันหมดนับแต่ขั้นตอนการผลิต วัฒนธรรมการบริโภค การจัดการ ก่อนที่จะแปรเป็น ‘ขยะ’ ที่รอการกำจัดหรือการแปรรูปให้เกิดประโยชน์

แหม่มมยุรี อรุณวานนท์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร GEPP ผู้เรียนจบมาด้าน Change Management เคยทำงานด้านการปิโตรเลียมขั้นต้น (ขุดเจาะน้ำมันที่อ่าว) ก่อนจะเปลี่ยนอาชีพ และเปิดบริษัท GEPP (เก็บ) ที่มาจากความรู้สึกกับปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างตามชุมชน ซึ่งแม้จะผ่านไปกี่ทศวรรษ ปัญหาเหล่านั้นก็ยังคงอยู่

ส่วนโดมโดม บุญญานุรักษ์ ซีเอ็มโอและผู้ร่วมก่อตั้ง GEPP เรียนจบด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และ Real Estate Business เขารู้จักกับแหม่มผ่านเพื่อนคนหนึ่ง จึงลองทำงานร่วมกันที่ GEPP สักระยะ ก่อนจะมาร่วมทีมเต็มตัว

GEPP (เก็บ) กล่าวโดยย่อก็คือดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ที่มีวัสดุรีไซเคิลกับผู้รับซื้อ

อะไรคือวัตถุประสงค์ของ GEPP

แหม่ม : เราอยากเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนแยกขยะ เราคิดว่ามันเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ถูกต้องค่ะ จริงๆ แล้วมันต้องเริ่มจากลดก่อน คือ reduce—reuse—recycle พวกเราก็ลองทำกันมาแล้ว แต่พบว่าไลฟ์สไตล์ของคนกรุงเทพฯ การ reduce—reuse ทำได้ยาก เลยคิดว่า recycle น่าจะเป็นสิ่งที่สร้าง social impact ได้มากขึ้นสำหรับคนในเมือง ทีนี้เมื่อ recycle แล้วเราจะทำอะไรต่อกับมัน เราก็มาดูสถานการณ์การรีไซเคิลบ้านเราว่าเป็นอย่างไรนะ ก็เลยทำการศึกษาแล้วก็พบว่า บ้านเรายังรีไซเคิลไม่มากพอเท่าที่มันควรจะเป็น ทั้งที่จริงๆ ทำได้

แต่บ้านเราก็มีซาเล้งหรือคนรับซื้อขยะรีไซเคิลอยู่ไม่น้อย ทำไมถึงยังไม่ค่อยได้ผล

แหม่ม : ใช่ แล้วทำไมมันถึงยังไม่เกิด หรือว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องพฤติกรรม เราก็ลองลงพื้นที่ศึกษากัน เริ่มจากการสัมภาษณ์คนแปลกหน้าว่า แยกขยะไหมคะ ทำไมถึงไม่แยก เดินถามทีละบ้าน ถามร้านอาหาร แล้วค้นพบว่าจริงๆ แล้วคนอยากทำ แต่ว่าไม่รู้ว่า หนึ่ง อะไรรีไซเคิลได้ สอง เราต้องทำอย่างไร เห็นถังขยะ 3 ใบ บางทีก็ไม่รู้ว่าต้องใส่อะไรลงถังอะไร 

ในเบื้องต้น เรายังไม่ได้คิดถึง business model เลยนะคะ เรารู้แต่ว่านี่คือ pain point ที่จะต้องแก้ก่อน เพราะถ้าเราอยากเปลี่ยนพฤติกรรม เราต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องกับคนก่อน เพื่อที่จะสร้างพฤติกรรมที่ถูกต้องได้ เราก็เลยเปิดเฟซบุ๊กแอคเคาท์ ให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ พอทำไปปุ๊บ pain point ที่ 2 ก็เริ่มขึ้น ซึ่งก็คือความไม่สะดวก แยกขยะแล้วไม่มีที่ทิ้ง เพราะเมื่อก่อนเราทิ้งขยะรวมกันถังเดียวเลยใช่ไหมคะ มันก็สะดวก แต่พอเราสอนให้แยกหลายถัง บ้านก็เริ่มรกแล้ว pain point ต่อมาที่เราเจอก็คือเรื่องของความสม่ำเสมอในการจัดเก็บหรือคนมารับไป ส่วนนี้จึงกลายมาเป็นแพลตฟอร์มในการทำงานของเรา เพราะไหนๆ เขาอุตส่าห์เปลี่ยนพฤติกรรมให้เราแล้ว แต่ถ้าเกิดเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่ได้รับการตอบรับ พฤติกรรมที่ถูกต้องมันก็จะไม่มีประสิทธิภาพ

โดม : ถ้าในมุมของ Circular Economy เราสร้าง เราใช้ เราทิ้ง แต่เผอิญพอทิ้งนี่บางอย่างมันดันเก็บกลับได้ แต่มันไม่ถูกเก็บกลับมาเต็มที่ คือเรามองเรื่องนี้เหมือนการขนส่งนี่แหละครับ เพราะว่าขยะมันเดินไม่ได้ การที่มันจะเคลื่อนย้ายจากมือเราไปสู่ถัง จากถังไปคนแยก จากคนแยกไปโรงรีไซเคิล มันไม่ใช่ข้อต่อเดียว แต่มันเกี่ยวเนื่องกันไปทั้งหมด เราก็เลยลองทดลองเรื่องการขนส่งขยะว่ามันเป็นเรื่องจริงไหม 

แหม่ม : เราก็เลยลองเอารถของเราไปวิ่งเก็บขยะเองเลย

โดม : ซึ่งบังเอิญว่ามีคุณป้าท่านหนึ่งข้างๆ ออฟฟิศเรา เป็นร้านโรงอาหาร คล้ายฟู้ดคอร์ท ตลาดสดตรงสาทร เขาก็ไม่ได้แยกขยะ เพราะคนที่จะมารับขยะรีไซเคิลมาไม่สม่ำเสมอ เลยบอกคุณป้าไปว่าแยกสิ เดี๋ยวผมมารับ พอเราทำเป็นประจำ ทีนี้เขาแยกตลอด และเขาก็แยกมากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ขายได้เขาก็เก็บ เราก็เลยคิดว่าการแยกเก็บนี่แหละที่เป็นส่วนที่มันมีปัญหาที่สุดของบ้านเรา หรือโดยรวมของเรื่องนี้ ถือเป็น core management 

แหม่ม : เพราะจากสิ่งที่เราเรียนรู้มาจนวันนี้ซึ่งก็เกือบปีแล้ว ก่อนหน้านี้เราลองผิดลองถูกมาโดยตลอด วันนี้เราคิดว่าเรามั่นใจที่จะบอกทุกคนว่า หนึ่ง ต้องมีความรู้ในการรู้จักวัสดุขยะของตัวเองที่บ้าน สอง แยกให้ถูก สาม ต้องมีระบบมารองรับให้คนที่พร้อมที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งในส่วนสุดท้ายจะต้องสม่ำเสมอ เพราะว่าเรากำลังพยายามเปลี่ยนนิสัยคน

‘แหม่ม’ มยุรี อรุณวานนท์

เราคิดว่า GEPP สามารถสร้าง 3 สิ่งนี้ให้เกิดขึ้น ให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองได้ ซึ่งพอทำสม่ำเสมอ ทำเป็นนิสัยแล้ว จุดนี้มันน่าจะช่วยผลักดันเรื่องการกำจัดขยะในเมืองไทยได้ เพราะว่าก่อนหน้านี้เราคิดว่ามันไม่มีกลไกไหนเลยในประเทศที่มาช่วยทั้ง 3 ขั้นตอนในเวลาเดียวกัน มันจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ให้ทฤษฎี มีอีกคนกลุ่มหนึ่งเก็บขยะ แล้วก็มาบ้างไม่มาบ้าง และก็ไม่รู้จะไปทิ้งที่ไหน ระบบมันก็เลยแตกสลายออกมา GEPP เลยคิดว่า ถ้าเราอยากจะทำเรื่องนี้ให้มันมีการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืน ก็ต้องให้ทั้ง 3 อย่างกับเขาในเวลาเดียวกันพร้อมกันให้ได้ และนั่นคือสิ่งที่เราอยากทำ

แสดงว่ารถขยะที่เป็นบริการจากภาครัฐ หรือรถซาเล้งที่รับซื้อของเก่ายังไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องรีไซเคิลได้จริงแบบที่ GEPP อยากให้เป็น

แหม่ม : ในเชิงของ Social Economic มันขัดแย้งกันค่ะ คือภาครัฐเขามีอะเจนด้าว่าทำให้บ้านเมืองสะอาด ฉะนั้นแล้วเก็บให้เร็วที่สุด เก็บให้หมด แต่คนรับซื้อขายของเก่า พี่ๆ ซาเล้ง อะเจนด้าของเขาคือทำเงิน แค่สองอันนี้ มันก็ไม่ได้ไปด้วยกันแล้วค่ะ เพราะว่าอีกคนตั้งหน้าตั้งตากวาดให้หมด ฉะนั้นแล้วเขาไม่ได้สนใจว่ามันจะแยกหรือไม่แยก เพราะว่าเป้าหมายของเขาคือทำแค่นั้น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือซาเล้งจะเอาแค่ 3 อย่าง คนส่วนใหญ่มักจะแยกแค่ขวดพลาสติก กระดาษลัง และกระดาษขาวดำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้เบื้องต้น แต่พอเราเข้าไปบอก เขาถึงรู้ว่า เฮ้ย มันมีอย่างอื่นอีกนะที่รีไซเคิลได้อีก เช่น ขวดนม ฝาเบียร์ ซึ่งก็ไม่ได้อยู่ในส่วนที่คนรับซื้อขยะรับซื้อไป

โดม : หรืออย่างขวดน้ำพลาสติกที่มาเป็นแพ็ก หัวพลาสติกที่ wrap ขวดทั้งแพ็กไว้ ก็ขายได้ แพงกว่าด้วย

แหม่ม : ใช่ เราก็เลยให้ข้อมูลตรงนี้ไปว่า ขยะทั้งหมดนี่ จริงๆ แล้วมันมีขยะจริงๆ น้อยมาก เพราะทุกอย่างมันเป็นแพ็กเกจจิ้ง ทุกอย่างมันเป็นวัสดุที่นำไปรีไซเคิลได้ เพียงแต่เราต้องเอามันออกมาจากบ่อถมขยะค่ะ

คิดว่าภาครัฐสามารถสร้างหน่วยงานเพื่อแยกขยะโดยเฉพาะ ให้ทั้งการเก็บขยะและแยกขยะอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ไหม

แหม่ม : ทำได้นะคะ จริงๆ แล้วบริษัทเราก็ทำกรณีศึกษาของประเทศอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน อย่างประเทศญี่ปุ่นที่เรามักจะพูดถึงมาตลอด พวกเราเคยคิดว่าประเทศญี่ปุ่นนี่แพ็กเกจจิ้งเยอะมากนะ ขนมหนึ่งห่อมี 10 ชิ้น แต่ละชิ้นมีห่ออีก จากนั้นเอามารวมกันก็ห่ออีกชั้นหนึ่ง มีถาดรองอีก แล้วห่ออีกรอบหนึ่ง เราก็เลยคิดว่า ทำไมเมืองที่มีแพ็กเกจจิ้งเยอะขนาดนี้เขายังจัดการขยะรีไซเคิลได้ 

หรือประเทศทางยุโรปอย่างแคนาดาก็เหมือนกัน มีการบริโภคสูง ทุกคนยังมีไลฟ์สไตล์การสร้าง การใช้ การทิ้ง ทำให้เราคิดได้ว่าสิ่งเดียวที่บ้านเรายังไม่มีคือ scheduling ถ้าเราสังเกตต่างประเทศเหล่านี้ สิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จคือ วันนี้จะเก็บแค่นี้ วันนี้จะเก็บแค่ขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ พรุ่งนี้จะเก็บแค่ขยะออร์แกนิก มะรืนจะเก็บขยะที่ต้องนำไปกลบในบ่อขยะ แล้วมันจะเป็นนิสัย ทุกคนก็จะเรียนรู้ว่าพรุ่งนี้จะเอาถังขยะอะไรไปวางหน้าบ้าน ภาครัฐอาจจะทำตรงนี้ได้ แต่ว่าวันนี้ภาครัฐยังทำงานด้วยเป้าที่ทำให้บ้านเมืองสะอาดเป็นหลักอยู่ มันก็เลยอาจจะยังไม่มีแนวนโยบายในการแยกขยะ

 

สิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จคือ วันนี้จะเก็บแค่นี้ วันนี้จะเก็บแค่ขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ พรุ่งนี้จะเก็บแค่ขยะออร์แกนิก มะรืนจะเก็บขยะที่ต้องนำไปกลบในบ่อขยะ แล้วมันจะเป็นนิสัย

 

ทั้งที่ขยะรีไซเคิลก็มีมูลค่าไม่น้อยนะครับ แต่ภาครัฐกลับไม่สนใจ

โดม : ผมเคยไปถ่ายรูปรถขยะหน้าบ้านตัวเองมาด้วยนะครับ ทำเพราะว่าอยากรู้เหมือนกันว่าเขาแยกขยะหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ เขาแยกครับ แม้จะบอกว่าเขาเก็บด้วยความสะอาดเป็นหลัก แต่ว่าพนักงานของเขาก็มีรายได้เสริมจากการแยก แต่ทีนี้การแยกของเขามันใช้ประสิทธิภาพของมนุษย์เป็นหลัก ถ้าเกิดเขาเห็นด้วยตาเขาก็แยก แต่ด้วยเวลาที่จำกัดใช่ไหมครับ เขาก็จะแยกอันที่แพงสุดและอาจจะมีมูลค่ามากที่สุดแค่นั้น แล้วพอแต่ละบ้านก็ไม่ได้แยกขยะให้ดีนัก เขาก็จะหาเท่าที่หาได้ 

‘โดม’ โดม บุญญานุรักษ์

ผมเคยพาหลายๆ ท่านไปดูบ่อฝังกลบขยะอย่างที่อ่อนนุช เราก็จะเห็นว่าจริงๆ แล้วภาครัฐมีการจัดการ คือมี facility สำหรับขยะทุกๆ ประเภท ทั้งขยะอันตราย ขยะติดเชื้อ ขยะที่ไปทำเป็นปุ๋ย และมีธุรกิจรีไซเคิลที่อยู่รอบบริเวณนั้น ที่คอยรับซื้อขยะรีไซเคิลในระบบอยู่ตลอด ถามว่าจริงๆ แล้วภาครัฐมีระบบจัดการที่ดีไหม ก็ต้องเรียกว่าใช้ได้ ไม่ใช่น่าเกลียด 

แต่มันก็จะกลับมาเรื่องเดิมก็คือประสิทธิภาพเราอยู่ข้างนอก ในตึกในอาคารที่มันมี facility เป็นอย่างไร เหมาะสมไหม มันช่วยเราไหม รัฐเองก็ควรจะส่งต่อแรงจูงใจกลับมา ไม่ใช่แค่โฟกัสในการเก็บถังเขียวอย่างเดียว แต่เขาต้องกระตุ้นให้คนเหล่านี้จัดการขยะให้ดีขึ้นด้วย เช่น จัดการขยะดี ลดภาษีได้ ทำรายงานมายื่นเลย ลดให้เดือนละ 5 บาท หรืออะไรที่เอื้อหรือสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ

แหม่ม : เรื่องขยะมันใหญ่มากเลยค่ะ ไม่มีใครทำคนเดียวได้ ถึงแม้กระทั่งภาครัฐเองที่อยากจะทำเองคนเดียว ก็ทำไม่ได้ มันถึงมีบริษัทที่เกิดขึ้นมาทุกวันนี้ที่มาทำเรื่องขยะ แหม่มก็เคยนั่งรถไปเก็บขยะกับภาครัฐมาทั้งวันครั้งหนึ่ง เพราะอยากรู้ว่าทำอย่างไร เขาแยกนะคะ และเราก็ได้ยินคำถามนี้บ่อยๆ ว่า ตกลงว่าคนเก็บขยะในเขตนี้แยกขยะหรือเปล่า เพราะว่าคนแขาก็แยกมาจากบ้านไว้ให้ พอเราไปถึงสิ่งที่เราเห็นก็คือเขาจะเทถุงขยะออกมา แล้วก็จะมือเป็นระวิง เขาแยกแบบนี้ล่ะค่ะ 

ทีนี้หน้าที่ของพวกเราในฐานะประชาชนคนไทย เราต้องแยกจากที่บ้านก่อน มันจะช่วยให้พี่ๆ ภาครัฐทำงานได้แบบมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะว่าขยะออร์แกนิกอย่างพวกเศษอาหาร นี่เขาเอาไปทำน้ำ EM ซึ่งก็เอามาล้างถนน ล้างท่อของบ้านเรา ขยะรีไซเคิลเขาก็เอาไปขาย ซึ่งเป็นรายได้ของพวกเขา ทีนี้ถ้าเกิดว่าจะต้องทำจริงๆ อยากจะให้ภาครัฐเพิ่มเป้าตัวเองขึ้นมาอีกนิดหนึ่งว่า เอ๊ะ จะทำอย่างไรให้คนอยากแยกขยะมากขึ้น ถ้าคนทุกคนที่บ้านแยกขยะกันหมดจริงๆ งานเขาก็จะง่ายขึ้น สิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น 

กลับมาคำถามก่อนหน้านี้ที่ว่า ในเมื่อทุกวันนี้ก็เก็บขยะอยู่แล้ว ทำไมภาครัฐไม่เปิดโรงรีไซเคิลเองทำไมถึงเอาไปขายให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว นั่นก็อาจจะเป็นเพราะว่าเป้าหมายของรัฐไม่ใช่เรื่องธุรกิจมั้งคะ เป้าของเขาคือให้บริการประชาชน หากมีเรื่องธุรกิจเข้ามา มันก็อาจจะขัดแย้งได้ แต่ถ้ารัฐได้ร่วมมือกับภาคเอกชน แล้วเปิดโรงรีไซเคิลร่วมกัน แหม่มว่ามันน่าจะยั่งยืนมากกว่าที่เอกชนเปิดเอง เพราะถ้าเอกชนเปิดเอง เขาก็จะถามเรื่อง economic return อย่างเดียว ทีนี้เราก็จะแยกขยะกันหน้ามืด แล้วก็จะอยู่ในสถานการณ์ที่จะมีคนแย่งขยะกัน แต่ถ้าภาครัฐบอกว่า เราป้อนขยะให้ได้นะ แต่เราต้องการคนจัดการขยะแบบยั่งยืน เอกชนคนไหนอยากมาทำกับเราบ้างไหม เดี๋ยวเราจะออกแรงกระตุ้นให้คนแยกจากต้นน้ำเลยนะ เอกชนช่วยเอาไปรีไซเคิลได้ไหม แบบนี้มันจะเป็นวงจรที่ยั่งยืน เพราะมีระบบสเกลขนาดประเทศมารองรับ มันน่าจะทำได้ และน่าจะคุ้มทุน 

ทุกวันนี้ประเทศไทยผลิตขยะ 27 ล้านตันต่อปี ถ้าเราแตก 27 ล้านตัน ออกมาแค่ 30% ที่เป็นขยะรีไซเคิล นี่คือตัวเลขที่ทำการสำรวจจากกรมควบคุมมลพิษนะคะ ซึ่งจริงๆ อาจจะมากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้น แต่ปริมาณขยะในบ้านเราที่ถูกนำไปรีไซเคิลในตอนนี้แค่ 20% เอง ถ้าเกิดว่าภาครัฐสร้างระบบแบบนี้จับมือกับภาคเอกชนได้ โดยบอกว่าไม่ต้องการกำไร แต่อยากทำเพราะมันเป็นหน้าที่เพื่อให้ประเทศสะอาดและมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่รัฐต้องมีการลงทุนจากเอกชนเข้ามาช่วย แหม่มว่ามันน่าจะช่วยผลักดันทั้งประเทศได้ค่ะ

มีตัวอย่างหรือโมเดลของประเทศไหนบ้างไหมครับ ที่มีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน

แหม่ม : มีค่ะ อย่างกรณีของเมืองคามิคัทสึที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมือง zero waste ทุกคนน่าจะรู้จักเมืองนี้ดี เมืองนี้เป็นโมเดลทั่วโลกเพราะว่าเกิดจากประชาชนลุกขึ้นมาทำกันเอง จนวันนี้มันกลายเป็นธุรกิจไปแล้ว มันไม่ใช่แค่ไลฟ์สไตล์ที่คนแยกขยะถูกต้อง แต่มันกลายเป็นธุรกิจที่ว่าคนอยากเรียนรู้เรื่องโมเดลนี้ ต้องไปเรียนที่นี่ 

แล้วประเทศไทยทำอย่างนั้นได้หรือเปล่าล่ะคะ สมมติว่าต่อไปนี้ประเทศไทยเรามีโรงรีไซเคิล 30% รัฐเป็นเจ้าของ อีก 70% เอกชนเป็นเจ้าของ ขยะรีไซเคิลนำเข้าโรงนี้ทั้งหมด แล้วให้เงิน 30% เข้ารัฐ เพราะรัฐก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดการ นี่ก็เท่ากับ

รัฐก็มีรายได้ เอกชนก็อยู่ได้ เพราะเขาก็ต้องมีการนำเข้าขยะรีไซเคิลที่มั่นคง เอาไปรีไซเคิลต่อยอดได้ ประชาชนเองก็ได้ผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นทางการเงิน หรือสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แหม่มว่าโมเดลนี้เราน่าจะทำได้ค่ะ

เมื่อสักครู่คุณพูดถึงตัวเลขขยะ 27 ล้านตันต่อปีในบ้านเรา ถือว่าเป็นสถานการณ์ขยะที่น่าเป็นห่วงมากไหม

แหม่ม : เวลาเราพูดว่าขยะตันหนึ่งนี่เรานึกไม่ออกเลยใช่ไหมคะ เราไปดูงานที่บ่อฝังขยะพื้นที่ 21 ไร่ ความสามารถของการฝังกลบอยู่ที่ 150,000 ตัน ตีกลมๆ 20 ไร่ ฝังได้ 150,000 ตัน คำถามคือ 27 ล้านตัน หาร 365 วัน วันหนึ่งประมาณ 70,000 กว่าตัน นั่นหมายความว่าถ้าเราเอาขยะทั้งประเทศมาทิ้งรวมกัน ประมาณ 2 วันนิดๆ ก็เต็มพื้นที่ 20 ไร่แล้ว

เรามีวิธีการจัดการขยะแบบไหนอีก หากไม่นับการรีไซเคิลหรือฝังกลบ

แหม่ม : วิธีการจัดการขยะมี 2 อย่าง หนึ่ง คือการเผา นอกจากขยะที่รีไซเคิลได้หรือขยะออร์แกนิกที่เอาไปทำน้ำ EM ได้ มันก็จะมีขยะพวก biohazard อย่างขยะจากโรงพยาบาลซึ่งต้องเผาอย่างเดียว เพราะว่าเป็นเรื่องของเชื้อโรค สอง ก็คือขยะแบบที่ต้องฝังกลบ เช่น กระดาษทิชชูเช็ดมือ เป็นต้น และเมืองไทยก็ใช้วิธีการฝังกลบเยอะมาก เพราะว่ามันง่าย ขุดหน้าดิน เอาผ้าใบปู อันนี้คือวิธีการมาตรฐาน ต้องเอาผ้าใบปู ไม่ให้มันมีการซึมลงสู่แหล่งน้ำ แล้วเอาขยะเทลงไปฝังดินทับเป็นชั้นๆ 

ถ้าเกิดจะไม่ทำแบบนี้ ก็ต้องสร้างโรงเผาขยะขึ้นมา แต่โรงเผาขยะนี่ไม่ใช่ใครจะสร้างได้ เพราะมันต้องมีมาตรฐานในการปล่อยก๊าซเวลาที่เราเผา ซึ่งแพงมาก แต่จริงๆ แล้วการกำจัดขยะมีแค่ 2 วิธีนี้ละค่ะ ไม่ฝังก็เผา ขยะไม่มีทางหายไปจากบ่อฝังกลบหรอกค่ะ เพราะว่ามันจะต้องมีขยะกลุ่มหนึ่งที่ต้องถูกกำจัดด้วยวิธีนี้ แต่คำถามคือ หนึ่ง เราจะทำอย่างไรให้ส่วนนี้น้อยที่สุด สอง ถ้ามันไปถึงตรงนั้นแล้ว เราจะจัดการมันอย่างไรให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

อ้อ ความจริงก็มีวิธีกำจัดอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือ RDF (Refuse-derived fuel) เป็นการนำเอาขยะไปทำเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน ตอนนี้ก็มีหลายๆ โรงงานที่ทำ RDF ในประเทศเรา

กลับมาที่เรื่องการทำงานของ GEPP กันบ้างว่ามีขั้นตอนการรับขยะอย่างไร

โดม : เดินไปเคาะประตูบ้านแต่ละบ้าน ร้านอาหารแต่ละร้านเลยครับ โดยเริ่มจากย่านทองหล่อ สามย่าน ช่องนนทรี และสาทรก่อน ก็เคาะประตูคุยกับเขา สวัสดีครับ เรามีระบบรับซื้อขยะรีไซเคิลนะครับ ไม่ทราบว่าพี่แยกขยะไหมครับ ปกติพี่แยกหรือเปล่า ก็บอกเขาไปว่าเรามีระบบ เดี๋ยวส่งคนมาเก็บ บางคนก็ถามว่าน้องรับราคาเท่าไร รับอะไรบ้าง รับหมดเลยหรือเปล่า มารับวันไหน มารับอย่างนี้ได้ไหม ฯลฯ เดินอย่างนี้ประมาณสัก 2 อาทิตย์ แล้วก็เริ่มมีคนโทรเข้ามา เรียกให้เราไปรับขยะ

ขยะรีไซเคิลจะมี 4 ประเภทใหญ่ๆ ก็คือกระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะ ถ้าไม่เลอะเทอะอะไรมา ขายได้หมด แต่ว่าราคาจะต่างกัน ทีนี้ใน 4 แกนใหญ่ มันก็จะมีแยกย่อยลงไปอีก ราคาก็จะต่างกัน กระดาษขาวดำ กระดาษลัง หนังสือพิมพ์ แมกกาซีน ราคาต่างกันหมดเลย ขวด PET ใส ขวดขุ่น ราคาต่างกันอีก พลาสติกรวม พลาสติกกรอบ พลาสติกนิ่ม ราคาก็ต่างกัน

ซึ่งช่องทางเรียก GEPP สามารถทำได้ 3 ทาง ก็คือ โทรศัพท์ LINE Ads และ web application พอเรียกเข้ามาระบบก็เข้าคิว เราก็จะมีคนโทรไปประสานงานก่อน อย่างใน web application ก็จะมีข้อมูลที่เราต้องการให้กรอก เช่น ที่อยู่ วัน/เวลาที่เหมาะสม ชนิดของขยะที่มี ถ่ายรูปแสดงปริมาณ เราต้องรู้ว่าโปรไฟล์ขยะมันเป็นอย่างไรบ้าง วัสดุรีไซเคิลเป็นอย่างไรบ้าง ทีนี้ก็รับการคอนเฟิร์ม นี่เป็นขั้นตอนง่ายๆ แต่ไม่ใช่ว่า เรียกจันทร์เช้าไปรับจันทร์เย็นเลย ไม่ได้เป็นแบบนั้น เราจะเข้าคิวตามตาราง วางแผนคน พื้นที่ เวลา และปริมาณขยะครับ 

พอคอนเฟิร์มกัน เราก็จะนัดเจ้าหน้าที่ของเราไปรับขยะรีไซเคิลตามตาราง ที่หน้างานเราก็ดูวัสดุรีไซเคิลที่เขาให้เรา ชั่งน้ำหนัก ทำบิล จ่ายเงิน เสร็จเรียบร้อย พี่ที่เป็นคนมารับขยะที่ทำงานกับเรา เขาก็จะรับขยะไปขาย หรือบางคนถ้ามีโรงเก็บเขาก็เอาไปเก็บไว้ของตัวเอง แล้วค่อยขายต่อให้โรงรีไซเคิล ทีนี้พอมีคนเข้ามาเรียกซ้ำอย่างร้านอาหารที่ใช้บริการกันประจำ เขาแค่บอกว่า ร้านเดิมนะ ที่เดิม พฤหัสฯ เหมือนเดิมได้ไหม ก็ไม่ต้องกรอกข้อมูลแล้ว 

แหม่ม : ส่วนใหญ่เขาจะนึกว่าเราเป็นตัวแทนซาเล้ง เป็นซาเล้งเด็กรุ่นใหม่ เพราะส่วนมากเขาก็จะถามว่าแล้วน้องได้อะไรเหรอ น้องรับขยะแล้วเอาไปทำอะไร 

โดม : เราทำการทดลองสมมติฐานเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเรา พอเราไหว้สวยๆ นะ เขาก็ให้เข้าร้าน มันคือความสุภาพในการเก็บ พี่ๆ คนเก็บขยะหรือของเก่าส่วนใหญ่มันเหมือนเป็น stigma อย่างหนึ่งในอาชีพเขา เพราะคนส่วนใหญ่จะมองคนที่ทำเรื่องขยะสกปรก เพราะว่าตัวเนื้องานมันก็สกปรก อันนี้คือข้อเท็จจริง 

เราก็เลยคิดว่า ถ้าเราพยายามจะสร้างความหมายมันขึ้นมาใหม่ จะทำได้ไหม ถ้าเราจะให้นิยามใหม่กับการเก็บวัสดุรีไซเคิล เราแทบจะไม่เรียกว่าขยะเลย เราเลยลอง ให้คำนิยามกับมันใหม่ทั้งกระบวนการ เข้าไปสวัสดี ใส่เสื้อเป็นทีม ทำให้สะอาด ไปตรงเวลา แค่นี้เอง เราเรียกมันว่า Standard Operating Procedure พวกเราทดลองแค่ 2-3 อย่าง เพื่อดูว่าถ้าเราทำแบบนี้ คนจะตอบรับเราอย่างไร เขาจะมองเรื่องเก็บขยะหรือวัสดุรีไซเคิลต่างจากเดิมมากไหม หรือว่าต่อให้ทำแบบนี้ เขาก็ยังถามแต่ว่าให้จะโลละ 3 บาท หรือ 5 บาท เหมือนเดิม 

สำหรับ GEPP แล้วคนที่มาเก็บของต้องผ่านการอบรมเรื่องนี้ว่า จะต้องมีสวัสดีนะ ไปตรงต่อเวลานะ ไปไม่ตรงเวลาต้องโทรไปบอกนะ กลายเป็นว่าเรื่องราคานี่มันจะหายไปเอง เพราะจริงๆ แล้ว pain point ของทุกคนกับเรื่องขยะคือเอามันออกไปที ได้เงินก็ดีเหมือนกัน เราพยายามสร้างนิยามของอาชีพนี้ใหม่ โดยการสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติงาน

อะไรคือจุดแตกต่างระหว่าง GEPP กับซาเล้งรับซื้อของเก่า นอกเหนือจากวิธีการข้างต้นที่ว่ามา

แหม่ม : เราไม่ใช่เป็นคนรับซื้อของเก่า แต่เราเป็นแพลตฟอร์มที่ให้พี่ๆ รับซื้อของเก่า ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หนึ่ง เขาไม่จำเป็นต้องวิ่งรถโดยไร้จุดหมาย บางทีออกไปนี่เก็บแค่ 2 ร้าน เปลืองน้ำมันนะ นี่ยังไม่รวมคาร์บอนที่พี่ปล่อยตอนพี่ออกไปเก็บเลยนะ ก็เลยบอกว่าสิ่งที่เราจะช่วยพี่คือ หนึ่ง พี่จะได้มีรายได้มากขึ้น แล้วค่าใช้จ่ายพี่จะลดลง นี่คือหน้าที่ของเรา นี่คือความรับผิดชอบของเรากับพี่ๆ ซาเล้ง ส่วนคนที่ขายขยะรีไซเคิลให้เรา เขาก็จะต้องได้รับการบริการที่ดีจากคนเก็บของเรา พี่จะได้เคลียร์บ้าน พี่จะได้เงินจากการขายด้วย นี่คือสิ่งที่ GEPP ทำ

คุณติดต่อกับคนรับซื้อขยะที่ปกติเขาก็ทำเองอยู่แล้วให้มาร่วมงานกันได้อย่างไร

โดม : อันนี้น่ากลัวมาก ผมไปกับน้องสองคน เดินไปทีละร้านที่บ่อขยะอ่อนนุช คือมันก็ยากที่จะสื่อสารนะ เพราะว่ารูปแบบที่เราทำค่อนข้างเป็นรูปแบบใหม่ อย่างแรกนี่เขาจะเข้าใจผิดว่า เราจะมาซื้อแข่งกับเขา เราบอกไม่ใช่พี่ คือผมต้องการให้คนทิ้ง แล้วเดี๋ยวผมจะเอาคนทิ้งมาเรียงกันเป็นแถวให้พี่เลย พี่เอารถมาคันหนึ่งไปเก็บ วิ่งตามเส้นนี้ ฯลฯ ผมกับน้องเดินตั้งแต่เช้าจนเย็นเลยเพื่อคุยกับคนรับซื้อของเก่า พอตอนเย็นถึงเจอร้านที่เขาสนใจ เขาบอกวิ่งได้ๆ เดี๋ยวพี่ไปบอกต่อให้เขาก็เอาใบปลิวเราไป อยู่ดีๆ วันหนึ่งก็มีพี่คนหนึ่งสมัครเข้ามา

ผมจำได้เลยว่างานแรกเราไปแถวทองหล่อ โอ้โฮ ของที่เขาทิ้งเยอะมาก แล้วอยู่ชั้น 4 ผมก็โทรเรียกพี่คนที่สมัครเข้ามาเลย พี่มีงานแรกแล้ว พี่มาลองเลย มาปุ๊บมีคนขนเสร็จ คุยกัน เขาจะให้ทิปผมด้วยร้อยหนึ่ง น้องเอาไปร้อยหนึ่งไป เฮ้ย! พี่ ไม่เป็นไร นี่เป็นงาน ผมหางานให้พี่ไง ตามที่คุยกัน เราก็เริ่มจากพี่คนนี้คนแรก 

แหม่ม : คำถามที่เราเจอตอนที่ต้องดีลกับพี่ๆ คนรับซื้อของเก่าก็คือ แหม่มเก็บค่าน้ำหรือเปล่า บริษัทแหม่มชี้เป้าให้พี่เก็บนี่ แหม่มคิดค่าหัวคิวเท่าไรล่ะ นี่คือคำถามที่เราโดนถามเป็นประจำ จากนั้นแฟนของพี่คนที่เขาโทรมาสมัครกับเราเป็นคนแรก เขาก็โทรมาบอกว่าขยะเยอะมาก ถ้ามีงานอีกโทรมาหาพี่นะ ก็บอกว่าได้เลยพี่ แล้วเขาก็ถามว่า เฮ้ย! ขอเจอตัวหน่อย เราก็ อ๋อ ได้สิ แล้วแหม่มก็ไปโรงขยะกับเขา เขาก็ถามว่า เฮ้ย แล้วเราทำไปทำไมวะแหม่ม แหม่มก็ถามเขาว่า พี่อ้อมีลูกกี่คนคะ เขาก็บอกว่าสองคน และมีหลานด้วย แหม่มก็บอกว่าพี่อ้อคิดว่าเด็กควรจะต้องเจอโรงขยะที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้หรือเปล่า สภาพแบบนั้น เออ ก็คงไม่อยาก ทุกวันนี้ก็เหม็นจะแย่ สิ่งที่พวกเราทำคือให้สิ่งนี้หายไป พี่อยากทำงานกับเราหรือเปล่า แค่นี้ก็เข้าใจกัน 

เพราะวัตถุประสงค์ของ GEPP คืออยากให้เกิดผลในทางสังคม อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพราะว่ามีคนที่ทำแบบนี้อยู่แล้ว แต่พฤติกรรมคนก็ไม่เห็นจะเปลี่ยนสักทีเลย 

ในกระบวนการทำงานแบบนี้ GEPP จะได้เงินจากตรงไหน ในเมื่อการเปิดบริษัทย่อมต้องมีค่าใช้จ่าย

แหม่ม : อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่พอเราทำไป 3-4 เดือน เราก็ต้องมานั่งคิดกันว่าตอนนี้เรามีแผนการทำงานแล้วนะ เรามีคนเก็บนะ คนเรียกใช้บริการเราเยอะ แล้วเราจะทำธุรกิจอย่างไรต่อ เราเลยคิดว่าถ้าเก็บค่าหัวคิวจากพวกพี่ๆ เขา สมมติตันละ 10 บาท เออ ก็ดีนะ เอาเป็นเงินสดหมุนเวียนใช้จ่าย แต่ถ้าเกิดเขาต้องจ่ายเรา X บาท เขาก็ต้องไปรับซื้อในราคา X บวก something จากคน แล้วคนพวกนี้ก็แยกบ้าง ไม่แยกบ้าง เฮ้ย เงินน้อยว่ะ ไม่แยกก็ได้ ทิ้งรวม จากสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาว่าคุณต้องแยกขยะให้หมดนะ สุดท้ายมันจะกลับมาอีหรอบเดิม

หรือลองคิดว่าเราทำ landscape assessment ซึ่งมันก็มีคนทำโมเดลแบบนี้เยอะมาก เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ตรงไปตรงมา คุยกับใครก็รู้เรื่อง แหม่มเก็บค่าหัวคิวพี่นะ X บาท ต่อตัน แต่มันไม่ตอบโจทย์ของบริษัทเราอยู่ดี

ในที่สุด สิ่งที่เราค้นพบก็คือ เราจะต้องทำให้ทุกคนเห็นผลจากการกระทำของตัวเอง การที่เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรบางอย่าง ถ้าเราไม่เห็นผลว่าที่เราเปลี่ยนไปมันเกิดอะไรขึ้น แล้วมันจะไปต่ออย่างไร มันเหมือนเราปิดตาเดินทางค่ะ เราก็แค่เดินไปเรื่อยๆ แต่เราไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน รอบกายเราเป็นอย่างไร เราก็เลยมุ่งเน้นว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะต้องให้ความชัดเจนกับคนที่ทำเรื่องนี้ และนั่นหมายความว่ามันเกี่ยวกับ big data เพราะถ้าเรามีข้อมูล คนก็จะสามารถติดตามผลของการกระทำของตัวเองได้ 

วันนี้เราทำงานกับพี่ๆ คนเก็บ เรารู้เลยว่าพี่เก็บให้เราไปแล้วกี่ตัน เขาก็รู้ เขาก็คำนวณได้ว่า เออ เขามีรายได้เท่าไร คนที่ขายเขาก็รู้ว่า เขาขายไปแล้วเท่าไร เขาช่วยลดโลกร้อนไปแล้วเท่าไร คนที่เป็นลูกค้าเราก็เหมือนกัน เขาจะผลักดันองค์กรให้ตัวเองเป็น zero waste ได้อย่างไร เขาก็ต้องมีเหมือนการติดตามผล ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำขึ้นมาเพื่อให้องค์กรรู้ว่า ตอนเริ่มต้นคุณอยู่เท่านี้นะ คุณทำไปได้ดีเท่าไรแล้ว ต่อไปจะต้องทำอะไร อันนี้คือสิ่งที่เราทำแล้วเราพัฒนา 

สิ่งที่ GEPP ทำขึ้นมาก็คือทำให้เขาเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เขาได้ทำไปแค่นั้นเอง แล้วเราเชื่อว่าถ้าคุณสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองทำขึ้นมาได้ เห็นผลกระทบที่คุณสร้างมันขึ้นมา มันจะให้คุณทำต่อไป เราเป็นเหมือน waste management system แล้วก็เป็น data house ให้กับเรื่องการจัดการขยะทั้งหมดค่ะ นี่คือธุรกิจของเรา

ถ้าอย่างนั้นรายได้ของ GEPP มาจากไหน พอจะบอกให้เป็นรูปธรรมได้ไหมครับ

แหม่ม : ก็เป็น product service ทางด้าน data analytics ค่ะ คือเราไม่ได้เอาเงินหรือหักเงินจากการไปเก็บขยะตามบ้านจากพวกพี่ๆ รับซื้อขยะที่มาทำงานกับเรา แต่เราเอาวิธีการที่เราสร้างขึ้นไปทำต่อในระดับองค์กร เช่น องค์กร A บอกว่าอยากทำโครงการลดขยะ ไม่เห็นผลเลย ทำมาแล้ว ทำเท่าไรก็ไม่สำเร็จ คือความสำเร็จวัดอย่างไร นี่ก็ทำถังขยะแยก แล้วเขาไม่เห็นแยกเลย พอมองไปในถังพลาสติกมันมีกระป๋องด้วย เออ อ้าว ก็ถังกระป๋องมันเต็ม มันก็ไปปนในถัง อันนี้ก็ไม่ใช่จุดวัด เพราะจุดวัดคือทั้งมวลขยะมันต้องลดลง เพราะฉะนั้นองค์กร A สามารถมาวัดจากการทิ้งกับเราได้ ใช้เราเป็นแพลตฟอร์มในการจัดการและจัดเก็บวัดผลข้อมูล งานบริการแบบนี้คือที่มาของรายได้ของเราค่ะ 

คุณคิดว่า data หรือข้อมูล จะสามารถช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องของขยะได้อย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน

แหม่ม : ง่ายๆ เลยค่ะ ถ้าวันนี้ตัวเลขปริมาณขยะเปลี่ยนไปไม่ใช่ 27 ล้านตัน สมมติเป็น 50 ล้านตัน จะทำอย่างไร รถขยะต้องเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เราต้องเผาแล้วหรือเปล่าตอนนี้ พอตัวเลขขยับหรือแม้กระทั่งคาดการณ์ตัวเลขที่ทำให้เห็นว่ากำลังจะเปลี่ยนไป มาตรการในการจัดเก็บจัดการก็ต้องเปลี่ยนแล้วค่ะ data จะช่วยบอกให้เราเห็นว่าการทำงานก้าวต่อไปของเราควรจะเป็นอย่างไร 

ทุกวันนี้ สถานการณ์เรื่องโรงรีไซเคิลขยะของไทยเป็นอย่างไรบ้าง พอเพียงไหม และมีเทคโนโลยีที่ดีพอไหม

โดม : มีเยอะครับ แล้วก็มีเทคโนโลยีที่ดีนะ 

แหม่ม : ความสามารถในการจัดการของโรงพวกนี้เยอะนะคะ แต่ขยะรีไซเคิลมันยังฟีดเข้าไปไม่ถึง คนที่เกี่ยวข้องในเรื่องขยะนี่พัวพันกันไปหมด เพราะว่ารัฐก็มาจับเรื่องนี้ เอกชนก็มาจับเรื่องนี้ ผลประโยชน์ของแต่ละผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บางทีอาจจะขัดแย้งกัน เพราะว่าต่างต้องการสิ่งเดียวกัน แต่ตอบโจทย์คนละอย่างกัน นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้มาจากการทำเรื่องขยะ จริงๆ แล้วขยะตัวมันเองไม่ยากเลยค่ะ 

โดม : นอกจากเรื่องผลประโยชน์แล้วมันก็เป็นเรื่องของนโยบายด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องของแรงจูงใจเหมือนเดิม อย่างเช่น การใช้พลาสติกรีไซเคิล (rPET) ในเชิงกฎหมายบ้านเรา rPET ยังไม่สามารถใช้ได้ แล้วใครจะเปิดโรงรีไซเคิล rPET ล่ะ ทุกคนก็บด rPET แล้วก็ขายจีนหมด แปลว่าเราก็ไม่ได้จัดการมันอย่างถูกต้องใช่ไหมครับ ถ้าเรามองดีๆ พลาสติกทำจากน้ำมัน จากใต้ดินแล้วก็มาอยู่บนบก เอาจริงๆ เราเก็บง่ายกว่าไปขุดใต้ดินอีกนะ ถ้าเกิดเรามองว่ามันก็คือปิโตรเลียมเหมือนกัน มันอยู่ในมือตลอดเลย แต่ทำไมเราไม่เก็บ ก็เพราะว่าเราไม่มีนโยบายเกี่ยวกับ rPET นั่นเอง 

แหม่ม : มันยังไม่มีดีมานด์ของรีไซเคิล โปรดักส์ ทุกวันนี้รีไซเคิล โปรดักส์ส่วนใหญ่จะออกมาในรูปของสวยๆ งามๆ แล้วราคาสูงมาก มันไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน คำถามที่เราถามกันเองก็คือ ถ้าอยากให้เรื่องรีไซเคิลมันเกิดจริงๆ เราควรจะเปลี่ยนตรงนี้ไหม การที่เราซื้อแก้ว Virgin Plastic (พลาสติกผลิตใหม่) ตลอดเลย ซึ่งแพงกว่าการใช้รีไซเคิลพลาสติกอีกนะคะ เราต้องผลักดันให้มันเกิดดีมานด์ในการใช้พลาสติกรีไซเคิลจริงๆ เพื่อที่โรงงานจะสามารถรันกิจการได้ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เกิดจากพลาสติกรีไซเคิล 

สมมติว่าราคาไม่ต้องถูกกว่าก็ได้ เช่น แก้วใบหนึ่ง 25 อีกใบ 20 แหม่มเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่มีความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เขาก็จะยอมจ่ายในราคาที่เพิ่มขึ้นแค่ 5 บาท แต่ทุกวันนี้ความแตกต่างมันไม่ใช่แค่ 5 บาท ผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ ที่เป็นออร์แกนิกกลับเป็น luxury lifestyle ที่มีราคาแพงมาก ในเชิงเศรษฐกิจเชิงสังคมมันไม่ควรเป็นของลักชัวรี่ มันเลยไม่เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกรีไซเคิลในสังคมนี้เสียที เพราะว่ามันแพง 

โดม : เราต้องสนับสนุนเทคโนโลยีที่ดีให้กับโรงรีไซเคิลขนาดเล็ก ในการที่จะทำได้อย่างสะดวกและถูกต้องตามกฎหมาย

ปัจจุบันคนหันมาพูดเรื่องขยะพลาสติกกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว คุณคิดว่ามันจะช่วยให้สถานการณ์ขยะพลาสติกดีขึ้นบ้างไหม

โดม : ก็กระตุ้นการตระหนักรู้ได้มากขึ้นนะครับ แต่ว่าอย่างที่เราพูดกันบ่อยๆ ว่ามันไม่ใช่มีแค่พลาสติก มันมีอีกเพียบ พลาสติกมันเป็นแค่เรื่องเดียว แต่ในเรื่องพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ถ้าเทียบกับทั่วโลก บ้านเราก็ฟรีเต็มที่นะ ใช้ใส่ทุกอย่าง

แหม่ม : ในมุมผู้ผลิต พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ราคามันถูกมากจริงๆ ถ้าเราใช้ถุงพลาสติกแบบไบโอพลาสติก ราคาจะยังแพงกว่ามาก อย่างคนที่ขายอาหารริมทาง การเพิ่มต้นทุนที่สูงขึ้นมาก มันเป็นไปไม่ได้สำหรับพวกเขา หากจะปฏิเสธพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เราก็ต้องดูไลฟ์สไตล์ของคนด้วย และก็ต้องหาผลิตภัณฑ์มาทดแทน ที่เข้าถึงง่าย และในราคาที่เขาจ่ายได้ เราต้องช่วยเขาด้วยน่ะครับ

แหม่ม : บ้านเราเป็นเมืองท่องเที่ยว มันไม่ใช่แค่ขวดน้ำพลาสติก ยังมีเครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง มันเลี่ยงไม่ได้ หรือไลฟ์สไตล์ของคนไทยเอง การซื้ออาหารกินตามริมทาง ข้าวราดแกง ข้าวเหนียวหมูปิ้ง นี่ก็ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเยอะด้วย มันกระทบคนแทบทุกคนในเมืองไทย การลดการใช้เป็นสิ่งที่ดี อย่างที่มีการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้า หากทำจนเป็นไลฟ์สไตล์แล้วก็เป็นสิ่งที่ดี แต่คำถามคือเราจะทำอย่างไรกับสิ่งที่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่างหาก

โดยส่วนตัวแล้วแหม่มคิดว่าพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้ายอย่างสิ้นเชิง แต่ว่าวิธีที่เราจัดการกับมันต่างหากคือผู้ร้าย ถ้าเราไปเผามันก็คือเหมือนเราเผาไฮโดรคาร์บอนขึ้นไปอีกรอบหนึ่ง แต่ถ้าเราเอาเข้าโรงที่มันรีไซเคิลออกมาเป็นเสื้อให้ใส่ได้ ไม่เห็นมีใครว่ามันเป็นผู้ร้ายเลยใช่ไหม

แต่ตอนนี้ไม่ค่อยยากแล้วนะคะ อย่างพวกถุงน้ำจิ้มที่เป็นพลาสติกก็เอาเข้าโรง RDF ได้ เพราะมันเป็นพลาสติกที่เป็นเชื้อเพลิงพลังงานได้ มันก็มีทางออก แต่สิ่งที่สำคัญคือว่ามันต้องถูกแยกให้ถูกต้อง 

พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้ายอย่างสิ้นเชิง แต่ว่าวิธีที่เราจัดการกับมันต่างหากคือผู้ร้าย

อีกหนึ่งเรื่องเกี่ยวกับการจัดการขยะที่สังคมไทยกำลังพูดถึงกันอย่างมาก ก็คือการนำเข้าขยะ มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

โดม : ผมเพิ่งได้คุยกับคนที่เขาทำเรื่องนี้นะครับ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่การนำเข้ามาแล้วก็มาฝังในป่า เขาต้องเอามารีไซเคิล เขานำเข้ามาใช้ จริงๆ การนำเข้ามามีสองมุมให้พิจารณา หนึ่ง คนที่เขาใช้ต้องใช้เป็นซัพพลายในการรีไซเคิล เขาคงไม่มีความสามารถไปเก็บพลาสติกแค่ในประเทศเพื่อมาใช้ เพราะว่าเตาหลอมพอมันเปิดแล้วมันปิดไม่ได้นะ คือถ้าเปิดคือเขาก็ต้องมีซัพพลายที่เพียงพอ แล้วถ้าเกิดเราจะสนับสนุนธุรกิจนี้ เราก็ต้องมีซัพพลายนี้ป้อนให้เขาอย่างเพียงพอ 

แน่นอน คนย่อมเกิดคำถามว่าแล้วทำไมไม่เอาขยะในประเทศล่ะ ถ้าซัพพลายในประเทศพอเขาจะนำเข้าทำไม ถูกไหมครับ หรือถ้าเขามีเกณฑ์การนำเข้าจากต่างประเทศเมื่อจำเป็นจริงๆ แล้วถ้าเกิดต้องนำเข้าต้องอย่างนี้นะ A-B-C-D ถ้าทำอย่างนี้มันก็ยังพอเป็นไปได้ เพราะว่าธุรกิจรีไซเคิลก็จำเป็นกับบ้านเรานะ ผมว่าถ้าถึงขั้นจะไม่นำเข้าเลยก็คงจะยาก แต่หากนำเข้าแบบผิดกฎหมายก็ไม่ดีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องเรียกว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ต้องจัดการให้ถูก

แหม่ม : จริงๆ แล้วมันมีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจเหมือนกันนะคะ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับจีนก็คือ จีนจะรับขยะที่คัดแยกมาแล้วระดับหนึ่ง (pre-treated) คือเขาไม่รับ actual trash คุณต้องมาทำอะไรกับมันสักอย่างให้แปรรูปเป็นวัสดุเพื่อทำต่อ แหม่มมองว่าอันนี้มันเป็นธุรกิจที่ถ้าทำได้ดีจริงๆ แล้วประโยชน์ทางเศรษฐกิจเยอะมาก คำถามของแหม่มคือ โรงงานที่ทำพวกนี้ถูกกฎหมายหรือเปล่า มีระบบการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีจาก e-waste (electronics waste) หรือเปล่า เพราะว่ามันมีสารเป็นพิษอยู่ข้างในเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่แล้ว มันไม่ใช่ใครก็ทำได้ 

ถ้ารัฐให้การสนับสนุนว่า ต่อไปนี้ใครอยากทำเรื่องนี้ต้องมาผ่านการอบรมเพื่อสุขอนามัยที่ถูกต้องของชุมชน อยากเปิดอันนี้ มาอบรม มาสอบให้ผ่าน มีการตรวจสอบ ขอใบอนุญาต ทำให้เรื่องนี้มันเป็นเรื่องปกติ แล้วให้ทุกคนทำให้ถูกก็พอ แหม่มว่ามันทำให้มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อีกเยอะ จะได้มี pre-treatment business ขึ้นมา เราก็ส่งออก ทีนี้จะไม่ใช่แค่จีนแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านเราก็เหมือนกัน มันก็จะกลายเป็นการเพิ่มความสามารถในการรีไซเคิลอีกส่วนหนึ่งขึ้นมา โดยมีมาตรฐานการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีที่ดี

แต่เผอิญว่าตอนนี้ electronics waste เราแยกเองที่บ้านเลย อ่อน นุ่ม กลาง ก็คือแยกเท่าที่จะแยกได้ แล้วก็หลอมเผาเท่าที่ภูมิปัญญาชาวบ้านจะทำได้ แล้วเราจะป้องกันอย่างไรดี ยังไม่ต้องคิดไกลว่ามันจะรั่วซึมเลยนะ คิดถึงคนทำก่อน สูดดมเข้าไปเนี่ย ชีวิตของคนทำทั้งนั้นเลย

โดม : เราเห็นเทรนด์เรื่องนี้มาอยู่แล้ว เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทุกคนมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ยต่อคนอย่างน้อย 1 ชิ้น ปัจจุบันเรามีแทบจะ 4 หรือ 5 หรือ 6 ชิ้น อย่างไรมันก็มากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนำเข้าเป็นเรื่องปลายเหตุมาก เพราะแค่ในประเทศก็มีอยู่แล้ว ผมว่าเราต้องมีมาตรการเครื่องมือเครื่องไม้และระบบในการจัดการที่ปลอดภัยและโปร่งใสมากกว่า

แหม่ม : การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ e-waste เป็นปัญหาใหญ่มาก แหม่มกำลังติดต่อบริษัทที่ทำเรื่อง e-waste ทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ เรากำลังหาพาร์ทเนอร์เพื่อที่จะทำ e-waste อย่างเป็นระบบและมีใบอนุญาตให้ได้ หายากมากเลยนะคะ ยกตัวอย่าง โทรศัพท์เครื่องหนึ่งจะต้องผ่านกระบวนการ 4 ขั้นตอน เพื่อที่จะเอาทองออกมา บริษัท A ทำแค่ขั้นที่ 1 บริษัท B ทำแค่ขั้นที่ 2 บริษัท C ทำแค่ขั้นที่ 3 แล้วบริษัท C รอทองมาขายอย่างเดียว แหม่มโทรไปคุยกับบริษัท B ซึ่งทำแค่ขั้นที่ 2 แหม่มถามว่า พี่ แหม่มสามารถหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มาให้พี่ได้เป็นจำนวนมหาศาลเลยนะ พี่แยกส่วนประกอบออกมาไม่ได้เหรอ เขาตอบว่าไม่ได้ เพราะว่าผมต้องรอมาจาก A เพราะใบอนุญาตผมทำได้แค่ในส่วนของ B เป็นอย่างนี้แล้วใครจะรีไซเคิล electronic waste ล่ะคะ ง่ายสุดก็คือขายให้พี่ซาเล้ง แหม่มไม่สงสัยเลยว่า ทำไมคนถึงขายให้ซาเล้ง เพราะว่าง่ายสุดแล้ว พี่ซาเล้งบอก 50 บาท จบ

โดม : e-waste ประกอบไปด้วยแค่ 2 อย่าง ก็คือพลาสติกกับอะลูมิเนียม นาย A ที่พี่แหม่มบอกก็คือ เขาแยกพลาสติกออก เอาพลาสติกไปขาย เขาเอาเมนบอร์ดกับจอให้นาย B ทำต่อ ซึ่งนาย B เป็นเทคโนโลยีที่ยากกว่านาย A เพราะนาย B ต้องไปเอาทองออกมาจากชิป บ้านเราถ้าจะมีมากคือ ธุรกิจแบบนาย A เพราะว่าพลาสติกที่มาจาก e-waste มันสามารถ reuse ได้ แต่ปัญหาคือสิ่งที่มันเป็นสารเคมีที่อยู่ข้างหลัง ก็คือทองและเงิน พอของพวกนี้มันมีมูลค่าสูง ชาวบ้านเขาก็ทำกัน ซึ่งไม่แปลกใจเลย เพราะว่าจริงๆ แล้วทำได้ง่าย ปลอดภัยหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง 

แหม่ม : อันนี้เป็นปัญหาที่เราเห็นในงานที่เราทำ เพราะเรารู้ว่าองค์กรต่างๆ ต้องการทำแคมเปญเรื่อง e-waste รัฐเองก็อยากจะทำ แต่พอเราลงไปศึกษาก็พบว่ามันยากเหมือนกันนะ เราติดต่อบริษัทหนึ่งไป เขาตอบกลับมาว่า เราไม่รับค่ะคุณแหม่ม เราปรึกษาทางผู้ใหญ่แล้ว เราจะไม่ขยายสโคปทำเรื่องแบบนี้ นั่นหมายความว่าเขาจะนั่งอยู่เฉยๆ รอรับสิ่งที่แยกมาจาก A-B หรือ C แหม่มก็เลยถามว่าแยกส่วนให้คุณอาจจะทำโดยผิดกฎหมายก็ได้นะ จะรอรับเฉยๆ เหรอ มันก็ gray area อยู่อย่างนี้ล่ะค่ะ 

ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้มันถูกกฎหมายทั้งระบบ เพื่อทุกคนจะได้มีมาตรฐานการทำงานเหมือนกัน อันนี้เป็นปัญหาที่ยากมากสำหรับ e-waste อันอื่นมันตรงไปตรงมา กระดาษเราไปทำเยื่อ แก้วหลอมใหม่ พลาสติกก็อย่างที่เล่าไป แต่พอ e-waste นี่มีเรื่องสารเคมี แล้วเราเองไม่อยากให้คนที่ทำมีความเสี่ยงกับสุขภาพชีวิตตัวเอง

แผนการทำงานต่อไปของ GEPP คืออะไร

แหม่ม : ลำดับต่อไปของเราก็คือขยายพื้นที่ให้บริการมากขึ้นค่ะ เพราะว่าตอนนี้เราทำอยู่ในกรุงเทพฯ โซนด้านในอย่างเดียว เราก็จะขยายออกรอบกรุงเทพฯ ด้วย นอกจากนั้นเราก็มีอีก 10 จังหวัดที่กำลังจะตามไปทำ จังหวัดที่เราเลือกมามันต้องมีปัญหาอยู่ 

คุณคิดว่าการจัดการขยะของบ้านเราจะพัฒนาให้ดีกว่านี้ได้อย่างไรในอนาคต

โดม : ภาครัฐต้องประกาศเป็นนโยบายให้ชัดเลยว่าเราต้องจัดการ แล้วโยนบอลลงมาที่เอกชนเลยว่า เธอต้องรับเรื่องนี้ต่อ ฉันชงให้แล้ว ทุกคนจะสนับสนุน และทุกคนที่เป็นเอกชน รายย่อย และภาครัฐต้องช่วยกันทำ เรามีนโยบายจากข้างบน แล้วส่งลงมาข้างล่าง ข้างล่างเราก็จะรู้ว่าเราต้องทำอะไร ผมว่าทีละนิดมันก็จะขยับได้ 

แหม่ม : สำหรับแหม่มคือ การหาวิธีว่าแล้วเราจะทำอย่างไรให้ปัญหาเดียวกัน แต่อะเจนด้าต่างกัน ทำงานด้วยกันได้ ถ้าภาครัฐบอกว่า สิ่งแวดล้อมเป็นอะเจนด้าของเขา เขาต้องการให้คนไทยมีอากาศที่ดีขึ้น น้ำสะอาดขึ้น ถ้าอย่างนั้นเอกชนไปหาวิธีมาให้หน่อยว่า จะทำอย่างไรให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ในฐานะที่เอกชนเป็นฝ่ายผลิต ทั้งนี้เอกชนได้อะไรล่ะ ผลประโยชน์ทางการเงิน หรือธุรกิจอะไรที่ภาครัฐสามารถออกมาช่วย เพื่อให้เขาจัดสรรปันส่วนไปทำในเรื่องนี้ เพื่อตอบโจทย์อะเจนด้าของภาครัฐได้มากยิ่งขึ้น ดีลตรงนั้นจบไป

มาที่ผู้บริโภค แล้วผู้บริโภคได้ผลประโยชน์อะไรจากการที่บริษัทหรือเอกชนเข้ามารับผิดชอบในการทำเรื่องนี้ ผู้บริโภคมีส่วนเกี่ยวข้องทางไหนที่จะทำเรื่องนี้ได้ด้วยตัวเองบ้าง แล้วถ้าทำได้ประโยชน์อะไรอีก อย่างที่เราพูดไปในเรื่องแรงจูงใจในตอนต้น ทั้งของภาคเอกชนและประชาชน 

แหม่มว่าพอมันส่งต่อกันออกมาเป็นทอดๆ จริงๆ จนถึงคนเดินถนนอย่างพวกเรา มันก็น่าจะเกิดขึ้นได้ มันไม่ได้เรียกร้องอะไรเยอะแยะ แล้วอย่างที่เราคุยกันว่าเรื่องนี้พูดกันมาหลายสิบปีแล้ว ตอนแหม่มอายุ 6 ขวบ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว มันก็เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ทุกคนรู้อะเจนด้าของตัวเองว่าคืออะไร แต่ไม่มีใครไม่รู้ว่าเอกชนอยากได้อะไร ไม่มีใครไม่รู้ว่าภาครัฐอยากได้อะไร 

การทำ GEPP ขึ้นมา เราก็มองแบบสตาร์ตอัปเลยล่ะว่า เฮ้ย ทำไมไม่ทำกันเสียที และเมื่อเรามาทำเอง เราก็เจอปัญหา เจอปัญหาก็แก้ไป แล้วยิ่งเห็นว่านี่เรากำลังมองภาพในระดับมหภาคนะ คนที่ทำงานเพื่อคน 60 กว่าล้านคน มันก็ยากเหมือนกันนะ แต่มันก็ขับเคลื่อนไปนะคะ แม้มันจะช้าบ้าง แต่เราก็มีความหวังว่า ประเทศไทยไม่ได้เพิกเฉยกับเรื่องนี้เลยจริงๆ 

Fact Box

  • GEPP (เก็บ) ก่อตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2018 โดยแหม่มมยุรี อรุณวานนท์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร GEPP ซึ่งเรียนจบมาด้าน Change Management และโดมโดม บุญญานุรักษ์ ซีเอ็มโอและผู้ร่วมก่อตั้ง GEPP
  • นอกจากจะเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างบ้านเรือน ร้านอาหาร หรือสถานประกอบการอื่นๆ ที่มีขยะรีไซเคิลและผู้รับซื้อขยะรีไซเคิล GEPP ยังเป็น data analytics ที่ทำงานกับองค์กรต่างๆ ในเรื่องขยะอีกด้วย
  • ผู้ที่สนใจใช้บริการของ GEPP สามารถติดต่อได้ผ่าน 4 ช่องทางคือเฟซบุ๊ก GEPP Thailand, Line ID: @GEPP, Web Apps: https://call.gepp.me/login และโทรศัพท์ 064-043-7166
Tags: , , , , , , ,