ถ้ามองคุณค่าอาหารกับรสชาติเป็นสมการในหัว หลายคนอาจรู้สึกว่า อาหารอร่อยไม่เท่ากับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หรือถ้าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ก็มักจะเท่ากับทางเลือกที่จำกัดและรสชาติไม่หลากหลาย

แต่ด้วยปัญหาสุขภาพที่เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ทำให้ทุกวันนี้ผู้คนหันมาใส่ใจกับเรื่องอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น อาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคนี้ จึงเป็นอาหารที่ทั้งถูกปากและช่วยทำหน้าที่ป้องกันสุขภาพเชิงรุกได้ในเวลาเดียวกัน

เมื่อโจทย์ข้างต้นถูกกำหนดไว้ชัดเจน จึงไม่แปลกใจ ที่หนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จะเป็น ‘โอเมก้า 3’ เพราะทุกวันนี้ แหล่งของโอเมก้า 3 ไม่ได้มีเพียงเนื้อปลาทะเลที่มีน้ำมันและพืชตระกูลถั่วเท่านั้น แต่วิทยาศาสตร์พาเราไปไกลกว่านั้น เพราะเรามีเนื้อหมูที่มีโอเมก้า 3 เสริมคุณค่าทางโภชนาการให้กับร่างกายในทุกวัน 

แต่ก่อนจะรู้จักถึงที่มาของเนื้อหมูที่ได้รับการพัฒนาขึ้น เราอยากชวนคุณมาทำความเข้าใจก่อนว่า โอเมก้า 3 มีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างไร

โอเมก้า 3: กรดไขมันที่พร้อมทำหน้าที่ดูแลสุขภาพเชิงรุกผ่านอาหาร

โอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ที่มีประโยชน์และมีบทบาทเด่นในการดูแลสุขภาพเชิงรุก โดยเฉพาะในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) อย่างเช่นโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งต่างๆ ซึ่งมีคนไทยมากกว่า 10 ล้านคนที่ป่วยด้วยโรคในกลุ่มนี้ และมีผู้เสียชีวิตปีละมากกว่า 3 แสนคน ตัวเลขนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี

แนวโน้มนี้ไม่ใช่แค่ที่ไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย เห็นได้จากการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องโอเมก้า 3 ที่พบว่า ผู้บริโภคไม่เพียงแต่สนใจกรดไขมันชนิดนี้เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงเรื่องที่มาของโอเมก้า 3 ในอาหารประเภทต่างๆ อีกด้วย

​การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพผ่านอาหาร ส่งผลให้ตลาดของโอเมก้า 3 มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2022 อาหารและอาหารเสริมที่มีโอเมก้า 3 มีมูลค่าสูงถึง 2,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าจะเพิ่มสูงถึง 3,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2030

จากแนวโน้มข้างต้น ส่งผลให้นักวิจัยทั้งในภาครัฐและเอกชนต่างพยายามไขกุญแจสู่การดูแลสุขภาพผ่านการกิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในกิจวัตรประจำวัน โดย รศ.ดร.พัชราณี ภวัตกุล หัวหน้าภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงบทบาทของโอเมก้า 3 ในการทำหน้าที่ดูแลสุขภาพเชิงรุกว่า โอเมก้า 3 เป็นสารอาหารที่เกี่ยวพันกับการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ ไปจนถึงการดูแลสุขภาพในเด็กทารกและการพัฒนาของระบบประสาท ซึ่งยังคงต้องอาศัยงานวิจัยเพิ่มเติมสำหรับประโยชน์ด้านสมอง

ถ้าร่างกายได้รับโอเมก้า 3 ในปริมาณที่เพียงพอ สารอาหารจะทำหน้าที่ต้านการอักเสบ ป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ ซึ่งเท่ากับลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดลง 

ทุกวันนี้มีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ และผลในการดูแลสุขภาพของโอเมก้า 3 รวมถึงยอมรับว่า สารอาหารชนิดนี้มีบทบาทอย่างยิ่งในการดูแลสุขภาพเชิงรุก ตั้งแต่การป้องกันและลดความเสี่ยงก่อนจะเกิดปัญหาสุขภาพที่ไม่มีใครต้องการให้เกิด จนถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรักษาพยาบาลในอนาคตด้วย

‘โอเมก้า 3’ กรดไขมันดีที่มาเป็นส่วนหนึ่งของ Everyday Life 

ข่าวดีสำหรับคนที่สนใจเรื่องสุขภาพและอยากดูแลตัวเองผ่านมื้ออาหาร เพราะในปัจจุบัน มีเนื้อหมูที่มีโอเมก้า 3 มาเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้น ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงสารอาหารที่ต้องการได้ง่าย ทั้งไม่เป็นปัญหาสำหรับคนที่แพ้อาหารจำพวกซีฟูด ถั่ว หรือนม เพราะเมื่อเป็นเนื้อหมูหรือเนื้อไก่ก็สามารถกินได้ง่ายและกินได้ทุกวัน ทำให้ไลฟ์สไตล์ในการรักษาสุขภาพเชิงรุกผ่านการบริโภคโอเมก้า 3 เป็นไปได้และไร้ข้อจำกัดเฉกเช่นที่ผ่านมา

จากการบรรยายในหัวข้อ ‘Integrated Sciences for Preventive Care Food’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘The International Conference for Public Health, Environment, and Education for Sustainable Development Goals and Lifelong Learning’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2023 ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ในปัจจุบันมีการพัฒนาเนื้อหมูที่มีโอเมก้า 3 จากการบรรยายของ ดร.อนันตวัฒน์ กุลธนเตชานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักวิชาการอาหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด โดยเริ่มจากการใช้เทคโนโลยีตัวบ่งชี้ทางวิทยาศาสตร์ในการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ความเหมาะสมนี้จะพิจารณาจากสายพันธุ์ที่สามารถสะสมโอเมก้า 3 ได้ ผ่านการเลี้ยงในระบบ Clean Farm ที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง

ขั้นตอนของกระบวนการเลี้ยง ใช้แนวคิดที่สอดคล้องกับคำพูดที่เราได้ยินกันบ่อยๆ อย่าง ‘You are what you eat.’ นั่นคือ ‘กินอะไรก็ได้อย่างนั้น’ ดังนั้น หมูที่อยู่ในฟาร์มจึงได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่เป็นแหล่งโอเมก้า 3 ตามธรรมชาติ เช่น สาหร่ายทะเล น้ำมันปลา และเมล็ดแฟลกซ์ซีด ทั้งหมดนี้เป็นการใช้นวัตกรรมวิทยาศาสตร์เชิงบูรณาการ นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนงมารวมเข้าด้วยกัน ทั้งสัตวศาสตร์ สัตวแพทย์ และโภชนาการอาหารสัตว์ โดยคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย

ฉะนั้น จากหลักการทางวิทยาศาสตร์ แนวคิดเรื่องการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการเล็งเห็นถึงความสำคัญของโอเมก้า 3 จึงรวมกันเป็นที่มาของ ‘หมูชีวา’ (Cheeva Pork) ที่มีโอเมก้า 3 โดยจากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อหมูชีวา พบว่า มีโอเมก้า 3 สูงกว่าเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยวิธีนี้ ยกตัวอย่างเนื้อส่วนท้องของหมูที่มีโอเมก้า 3 เพิ่มขึ้นกว่า 130% เมื่อเทียบกับเนื้อหมูที่มาจากการเลี้ยงแบบทั่วไป

ก่อนที่จะเป็นหมูชีวา ทางคณะผู้วิจัยทำการทดลองเพื่อทดสอบว่า โอเมก้า 3 ในหมูส่งผลดีต่อสุขภาพผู้บริโภคจริงหรือไม่ โดยศึกษาวิธีวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ผลการทดลองปรากฏชัดเจนว่า หนูที่กินหมูชีวาเป็นอาหาร จะค่ามีไตรกลีเซอร์ไรด์และคอเลสเตอรอลลดลงมากกว่าหนูที่ไม่ได้กินหมูชีวา

ทั้งนี้ หมูชีวามีโอเมก้า 3 ยังเกิดขึ้นจากความเข้าใจวิถีชีวิตของคนไทย ที่มองว่า อาหารไทยตามปกติมีกากใยจากผักมากอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ยังขาดก็คือโอเมก้า 3 ซึ่งปกติจะพบในอาหารที่อาจไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย ดังนั้น การใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มโอเมก้า 3 เข้าไปในเนื้อสัตว์ที่เป็นของคู่ครัวอย่างเนื้อหมู ก็จะทำให้คนไทยบริโภคอาหารที่มีโอเมก้า 3 ง่ายขึ้น เพราะเป็นวัตถุดิบคู่ครัวของคนไทย สามารถหาซื้อได้ง่าย และนำไปประกอบอาหารอร่อยได้หลายเมนู

เมื่อมีวัตถุดิบที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันแบบนี้ ดูเหมือนว่าการเริ่มต้นดูแลสุขภาพด้วยการใส่ใจเรื่องวัตถุดิบที่เลือกใช้ในแต่ละมื้อ คงจะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปัญหาใหญ่เรื่องสุขภาพของคนไทย เพราะอาหารทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของรสชาติอีกต่อไป แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการนำไปสู่สุขภาพที่แข็งแรงได้อีกด้วย 

ยิ่งสำหรับคนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ แต่ยังอยากสนุกกับการกิน เนื้อหมูที่มีโอเมก้า 3 เข้ามาเป็นทางเลือก ก็ยิ่งช่วยรักษาสมดุลและเพิ่มความหลากหลายของรสชาติ ทั้งเปลี่ยนภาพจำของสมการที่เคยมองว่า อาหารที่ดีต่อสุขภาพมักจะไม่อร่อยได้

Tags: , , , , , ,