ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมต้องชะงัก โดยเฉพาะภาคการค้าของประเทศไทย ที่ต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับสถานการณ์นี้ การแสวงหาตลาดใหม่ๆ ของผู้ประกอบการดูจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากข้อจำกัดของการเดินทางในปัจจุบันส่งผลต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและมิติทางความคิดสร้างสรรค์ที่ลดน้อยถอยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายภาคส่วนจึงต้องเร่งระดมความคิด หากลยุทธ์ช่วยผลักดันให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อให้ฟันเฟืองที่กำลังสะดุดเริ่มกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง ซึ่งในที่สุดก็ได้มีการปรับตัวและกลยุทธ์ของการค้า ทั้งการใช้ระบบออนไลน์ และการใช้กลยุทธ์หลายรูปแบบมาเชิญชวน

ในยุคที่ใครๆ ก็พบและสนทนากันผ่านหน้าจอ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศชั้นนํา และมีบทบาทในการขับเคลื่อนการส่งออกและพัฒนาการค้าระหว่างประเทศมาโดยตลอด จึงเกิดไอเดียในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่มาจัดเป็นกิจกรรมเจรจาการค้าในรูปแบบออนไลน์ หรือ OBM (Online Business Matching) เพื่อเป็นสะพานให้ผู้ประกอบการไทยได้พบคู่ธุรกิจการค้าทั่วโลก ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สะดวก สร้างสรรค์ สร้างโอกาสได้จริง และสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าให้กับประเทศไทยสูงถึง 10,000 ล้านบาท

เพราะในวิกฤตย่อมมีโอกาสเปิดกว้างสำหรับผู้ที่แสวงหาเสมอ หากคุณเป็นผู้ประกอบการที่กำลังต้องการสิ่งใหม่ๆ จากคู่ค้าทั่วโลก กิจกรรม OBM ย่อมเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะทำให้คุณได้ก้าวเดินต่อในวิกฤตครั้งนี้

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับการส่งเสริมผู้ประกอบการ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีบทบาทในการขับเคลื่อนการส่งออกและพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสวงหาตลาดและโอกาสใหม่ๆ ด้านเศรษฐกิจการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทย ท่ามกลางบริบทเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัต ในสถานการณ์ปกติได้มีการจัดคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาการค้า การลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและประเทศคู่ค้า รวมทั้งสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย

แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปเจรจาการค้าในต่างประเทศยังไม่สามารถดำเนินการได้ กรมฯ จึงมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์กับผู้นำเข้ารายสำคัญในแต่ละภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง แทนรูปแบบกิจกรรมออฟไลน์

ใช้นวัตกรรมช่วยส่งเสริมการค้าให้กับผู้ประกอบการ

ด้วยนวัตกรรมทางการสื่อสารในปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างหรือพัฒนากระบวนการต่างๆ ในธุรกิจ ทางกรมฯ จึงได้มีการปรับรูปแบบกิจกรรมเจรจาการค้าให้สอดรับกับสถานการณ์ โดยจัดให้มีการเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ OBM (Online Business Matching) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาจัดกิจกรรมการเจรจาทางการค้า การนำเสนอสินค้า และการหาคู่ค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสที่จะจับคู่ธุรกิจการค้าได้ทั่วโลก ด้วยการย่อโลกธุรกิจ การเจรจาทางการค้าให้ง่ายและใกล้กันมากขึ้นอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ

 

 

สร้างโอกาสผ่านออนไลน์ได้จริง แม้อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 ทางกรมฯ ได้จัดกิจกรรม OBM ไปแล้วรวม 51 ครั้ง และสามารถทำให้ผู้ประกอบการไทยขายสินค้าได้หลายครั้ง แม้อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมีทูตพาณิชย์ช่วยคัดกรองผู้ซื้อที่มีคุณภาพในต่างประเทศให้มาเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพของไทย โดยทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อศึกษากันและกันล่วงหน้าก่อนเริ่มการเจรจาการค้า การซื้อขายระหว่างกันจึงมีศักยภาพมากขึ้น สามารถช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกได้โดยที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าช่องทางออฟไลน์ เป็นการสร้างโอกาสในการขายออนไลน์สู่ต่างประเทศ และช่วยเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

กิจกรรม OBM จำนวน 51 ครั้งที่ผ่านมา ช่วยส่งเสริมการค้าในสินค้าต่างๆ อาทิ อาหาร ผลไม้ สินค้าฮาลาล เครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารสัตว์เลี้ยง สร้างยอดขายรวม 10,855.59 ล้านบาท จำนวนผู้นำเข้า 798 ราย และผู้ส่งออก 1,298 ราย สำหรับแผนระยะต่อไป (ส.ค. – ธ.ค. 2564) มีกำหนดจัดกิจกรรม OBM อีก 45 ครั้ง คาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้ประมาณ 6,275 ล้านบาท (สินค้า Plant-based Meat สินค้าประมง อาหารแปรรูป ยางพารา เครื่องมือแพทย์ ของใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารและเครื่องดื่ม และเครื่องจักรกลการเกษตร)

การเตรียมพร้อมคือปัจจัยที่ช่วยให้ OBM ประสบผลสำเร็จ

ในส่วนของผู้ส่งออก ควรมีความพร้อมในเรื่องของสินค้า คือสินค้าตรงความต้องการของตลาด ได้มาตรฐาน ราคาเหมาะสม รวมถึงความพร้อมของผู้ประกอบการในวันเจรจาการค้า และความพร้อมด้านโลจิสติกส์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การเจรจาการค้าประสบผลสำเร็จ โดยต้องสร้างภาพแนะนำสินค้าและบริการให้ดูดี เหมาะสม เตะตาต้องใจผู้ซื้อ

สำหรับผู้จัดงาน ต้องมีข้อมูลรายละเอียดของสินค้าของผู้ส่งออกให้มากที่สุด เพื่อให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) หาผู้นำเข้าให้ตรงกับสินค้าเป้าหมายของผู้ประกอบการไทยนั้นๆ และจัดรายการเชื่อมโยง การแสดงผลที่ดี น่าสนใจ

 

รายละเอียดเพิ่มเติม

ผู้ประกอบการไทยที่สนใจในตลาดการค้าภูมิภาคอเมริกาและลาตินอเมริกา, ภูมิภาคยุโรปและ CIS, ภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง สามารถสมัครสมาชิกเพื่อติดตามข่าวสารข้อมูลการค้าหรือกิจกรรมด้านการค้าผ่านช่องทางดังต่อไปนี้

Website: www.ditp-overseas.com (เป็นช่องทางที่สามารถสมัครสมาชิกเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการค้าต่างๆ จากสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 2 ครอบคลุมภูมิภาคอเมริกาและลาตินอเมริกา, ภูมิภาคยุโรปและ CIS, ภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง)

Facebook: DITP Overseas 

YouTube: DITP Overseas

Podcast: เจาะตลาดการค้ากับ DITP

Tags: , , ,