ไม่น่าเชื่อว่าการที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนอนุญาตให้เด็กนักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปเรียนได้หนึ่งวันต่อสัปดาห์จะกลายเป็นเรื่องดราม่าใหญ่โตได้ถึงเพียงนี้ และที่สำคัญ ดราม่านี้ไม่ได้เกิดจากนักเรียน ครูอาจารย์ หรือผู้ปกครองของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนด้วยซ้ำไป

ผมเริ่มใส่ชุดนักเรียนเมื่อตอน พ.ศ. 2532 เมื่อกดเครื่องคิดเลขจะพบว่ามันคือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และใส่ต่อเนื่องเป็นเวลา 12 ปี จากชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งจนถึงมัธยมศึกษาปีที่หก (ไม่นับอนุบาลเพราะชุดไม่เหมือนกัน)

เครื่องแบบโรงเรียนในสังกัดรัฐบาลที่ผมสวมใส่คือเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาวมีกระเป๋าที่อกด้านซ้าย กางเกงสีกากี เข็มขัดสีน้ำตาล รองเท้าผ้าใบสีน้ำตาล และถุงเท้าสีน้ำตาล ตอนเด็กแม่จะซื้อชุดนักเรียนให้เพียง 2 ชุด สำหรับใส่ 3 วัน เพราะมีหนึ่งวันใส่ชุดพละและอีกหนึ่งวันใส่ชุดลูกเสือ (จะโชคร้ายหน่อยถ้าใครต้องเรียนพละและเรียนลูกเสือในวันเดียวกัน เท่ากับว่าต้องหอบชุดพละไปเปลี่ยนที่โรงเรียน) และแม่จะซื้อชุดนักเรียนให้ใหม่สองปีต่อครั้ง

สิ่งที่เกลียดที่สุดเกี่ยวกับชุดนักเรียนคือการซัก (โดยเฉพาะคอปกด้านในที่ดำเหลือเกิน และหากใช้แปรงซักผ้าขยี้มันจะขาดเป็นขุย) แต่นั่นก็ไม่เท่ากับการซักถุงเท้า ที่นอกจากจะแห้งยากกว่าชุดนักเรียนแล้ว มันยังขาดง่ายอีกด้วย และมักจะขาดที่นิ้วหัวแม่โป้งเป็นส่วนใหญ่

ตอนเด็กคุณใส่ชุดนักเรียนยี่ห้ออะไร ?

ในตอนที่เรียนชั้นประถมฯ ไม่ได้ใส่ใจยี่ห้อเสื้อผ้านักเรียนเท่าไร จนเมื่อขึ้นชั้นมัธยมฯ ผมกลับเรียกร้องให้แม่ซื้อชุดนักเรียน ‘ตราสมอ’ ให้ แน่นอนว่ามันเป็นยี่ห้อที่ราคาสูงที่สุดในตอนนั้น (และแม้ในตอนนี้ก็ยังอยู่ในกลุ่มเสื้อผ้านักเรียนราคาสูงที่สุดเช่นกัน) เช่นเดียวกันกับรองเท้านักเรียน ‘นันยาง’ เป็นสิ่งที่ผมและเด็กนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งปฏิเสธ เพราะนันยางเป็นรองเท้านักเรียนที่ราคาถูกที่สุด และมันมีภาพลักษณ์ของความเป็นนักเรียนเกเร นักเรียนห้องท้ายๆ พวกที่พักเที่ยงเฮละโลกันไปเตะฟุตบอลในสนามก่อนจะกลับมาเรียนภาคบ่ายด้วยเหงื่อท่วมตัวและเหม็นหึ่ง ในขณะที่นักเรียนที่ถูกจัดว่าเรียนอยู่ในห้อง ‘คิง’ (อันหมายถึงห้องที่เรียนดีที่สุด) มักจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น และไม่ใส่ ‘นันยาง’

ผมใส่รองเท้า ‘Pan’ แต่ชุดนักเรียนนั้น แม่ไม่ซื้อ ‘ตราสมอ’ ให้ เพราะมันต้องซื้อหลายชุดและราคาสูง ไม่เหมือนรองเท้าที่แม้จะแพงกว่า ‘นันยาง’แต่ซื้อเพียงคู่เดียว

เมื่อขึ้นชั้นมัธยมฯ ผมกลับเรียกร้องให้แม่ซื้อชุดนักเรียนยี่ห้อที่ราคาสูงที่สุดในตอนนั้น

แต่ผมอยากใส่ชุดนักเรียนตราสมอ

ชุดนักเรียนตราสมอภายใต้บริษัทสมอทองการ์เมนท์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยคุณกิตติและคุณลักษณ์สุนีย์ ศิริปทุมมาศ คู่สามีภรรยา เป็นที่จดจำด้วยโลโก้รูปสมอเรือสีน้ำเงินแดง และมากไปกว่านั้นก็คือสโลแกนที่ทุกคนจำได้ขึ้นใจก็คือ ‘ใส่สมอ เท่เสมอ’ ที่ยังคงมนตร์ขลังมาจนทุกวันนี้

สิ่งที่น่าสนใจของชุดนักเรียนตราสมอก็คือสโลแกนของแบรนด์นี่เอง ในขณะที่ชุดนักเรียนอันเป็นเครื่องแบบที่มีลักษณะตามกำหนดกฏเกณฑ์เหมือนกันหมด ก็คือเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงสีอะไรนั้นอยู่กับสังกัดโรงเรียน ซึ่งมีตั้งแต่สีน้ำตาล ดำ และน้ำเงิน (ของนักเรียนชาย) ซึ่งไม่ว่าจะยี่ห้อไหนก็เหมือนกันหมด แต่ตราสมอสามารถสร้างสร้างกลยุทธ์ทางจิตวิทยาที่ว่า แม้คุณจะใส่สิ่งที่ดูเหมือนกันอย่างเครื่องแบบนักเรียน แต่หากเป็นตราสมอคุณจะดู ‘เท่’ ทั้งๆ ที่คำว่าเท่นั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นนักเรียนแม้แต่ประการเดียว

มากไปกว่านั้นมันยังดูแหกขนบความเป็นนักเรียนที่ต้องยึดติดกับสิ่งที่เรียกว่าเครื่องแบบ กฏเกณฑ์ ความเรียบร้อย ฯลฯ ทั้งทรงผม ความสั้นยาวของกางเกง กระโปรง รูปแบบของรองเท้า ถุงเท้า กระเป๋านักเรียน ฯลฯ แต่ในความความที่ต้องอยู่ในระเบียบกฏเกณฑ์ของความเป็นนักเรียนและโรงเรียนนี่เอง ที่การให้ความหมายของคำว่า ‘เท่’ ของชุดนักเรียนตราสมอ มันทำให้ผู้ที่สวมใส่รู้สึกได้ถึง ‘ความอยู่นอกกฏเกณฑ์’ ของการเป็นนักเรียน

และยังไม่นับถึง ‘ราคา’ ที่แพงกว่ายี่ห้ออื่น ที่ทำให้เกิดชนชั้น ความแตกต่าง ความไฮโซ บ่งบอกฐานะของครอบครัวตามมา หากเมื่อเราพลิกป้ายที่คอเสื้อนักเรียนแล้วปรากฏว่ามันคือตราสมอ

แน่นอนล่ะว่าคงไม่มีใครเดินพลิกคอเสื้อนักเรียนดูหรอกว่าใครใส่ยี่ห้ออะไร แต่ความภูมิใจในความ ‘เท่’ และไฮโซนี้มันฝังอยู่ในความรู้สึกลึกๆ ของผู้สวมใส่ ว่าฉันอยู่บนยอดบนสุดของปิระมิดชุดนักเรียน ที่แม้ว่าทุกคนจะใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาวเหมือนกัน แต่การได้สวมใส่ยี่ห้อนี้ทำให้ (รู้สึก) ไม่เหมือนกันหรอกนะ

ในช่วงมัธยมฯ ต้น แม่ซื้อชุดนักเรียนยี่ห้อ ‘มะนาว’ ให้ผมใส่ โลโก้ยี่ห้อก็เป็นรูปผลมะนาวสีเขียว เพียงแค่ชื่อมันก็ดูไม่ไฮโซเหมือนตราสมอแล้ว และแน่นอนว่า…ราคามันถูกกว่า

ในวัยเด็ก ความน้อยเนื้อต่ำใจในยี่ห้อเสื้อเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะตอนที่แม่พาไปซื้อชุดนักเรียนใหม่แล้วต้องลองชุดนักเรียนที่ร้าน แม้จะพยายามรบเร้าอยากได้ชุดนักเรียนตราสมอด้วยใบหน้าหงิกงอเมื่อต้องลองใส่ชุดนักเรียนตรามะนาว แต่หลังจากนั้น เซนส์ของการใส่ชุดนักเรียนที่ยี่ห้อมัน ‘ไม่เท่เสมอ’ ก็ค่อยๆ ผ่อนคลายลง จนเมื่อเวียนมาถึงโอกาสที่ต้องซื้อชุดนักเรียนใหม่อีกครั้งในอีกสองปีถัดมา ตราสมอ ซึ่งเป็นแบรนด์ชุดนักเรียนแบรนด์แรกที่มีโฆษณาทางโทรทัศน์ก็ยังสามารถปลุกเร้าความรู้สึกที่ว่าใส่ชุดนักเรียนตราสมอ นอกจากจะเท่เสมอแล้วยังดูไฮโซได้ทุกครั้งไป

ความน้อยเนื้อต่ำใจในยี่ห้อเสื้อเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะตอนที่แม่พาไปซื้อชุดนักเรียนใหม่แล้วต้องลองชุดนักเรียนที่ร้าน แม้จะพยายามรบเร้าอยากได้ชุดนักเรียนตราสมอด้วยใบหน้าหงิกงอเมื่อต้องลองใส่ชุดนักเรียนตรามะนาว

ภายใต้ชุดที่ดูเหมือนกันหมดของเครื่องแบบนักเรียน คือเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาวและกางเกงสีน้ำตาล (สำหรับโรงเรียนของผม) ก็ยังมีการแข่งขันกันอยู่ แม้ว่ามันจะไม่ได้เห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่ความรู้สึกนี้อยู่ในใจของเด็กในยุคนั้นหลายๆ คน โดยเฉพาะเด็กที่พ่อแม่ที่ต้องคำนวณราคาชุดนักเรียนว่าซื้อยี่ห้อไหนถูกกว่ากัน

และหากเครื่องแบบนักเรียนและการแต่งชุดไปรเวทไปเรียนจะก่อให้เกิดประเด็นดราม่าในเรื่องการแข่งขันการแต่งตัว สำหรับผู้ปกครองของโรงเรียนในระดับฐานะหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนมากในประเทศนี้ คงรู้กันดีว่า ราคาเครื่องแบบของชุดนักเรียนนั้น ดีไม่ดีแพงกว่าชุดไปรเวทด้วยซ้ำไป

ส่วนในกรณีของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ก็คงเหมือนกับที่ ‘คำ ผกา’ กล่าวไว้ในรายการ In Her Eyes ว่า “คนรวยกับคนจนมันไม่ได้เรียนโรงเรียนเดียวกันหรอกในประเทศนี้ ไปคิดเรื่องทำคุณภาพการศึกษาให้พลเมืองระดับจนที่สุดได้เรียนในระดับการศึกษาที่ดีที่สุดจะดีกว่า”

Tags: , ,