เขาคือผู้กำกับฯ หนังอิสระที่ทำหนังมาอย่างไม่หยุดพัก และได้ชื่อว่าทำหนังชีวิตคนต่างจังหวัดได้ ‘เรียล’ ที่สุดคนหนึ่ง ดังเช่นในผลงานเรื่องล่าสุดของเขา ได้แก่ เณรกระโดดกำแพง (2561) หรือเรื่องก่อนหน้าคือ ฉากและชีวิต (2561) หรือก่อนหน้านั้นอีกที่ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นคือ ธุดงควัตร (2559) หนังที่ถูกส่งชื่อเข้าชิงรางวัลและได้รับผลตอบรับอย่างงดงาม ฯลฯ

นับตั้งแต่ปี 2553 ทุกๆ ปีของเขาเต็มไปด้วยการทำหนัง จนถึงตอนนี้ก็มีแผนสำหรับหนังใหม่อีก 3 เรื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนด้วยความฝันและความอึดอัดคับข้องใจเป็นที่ตั้ง

อย่างบางส่วนที่ปรากฏอยู่ใน เณรกระโดดกำแพง สืบ—บุญส่ง นาคภู่ บวชเรียนมาตั้งแต่เด็ก เขาเป็นลูกชาวนาจากจังหวัดสุโขทัย ที่พบว่าตัวเองอยากเป็นนักแสดง จึงตั้งใจเตรียมตัวเพื่อจะสอบเอนทรานซ์เข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เอกการละคร และทำสำเร็จ

หลังจากคลุกคลีกับละครเวทีมาหลายต่อหลายปี ทันทีที่ยุคของหนังฟิล์มอันแสนแพงจบลง การเข้ามาของกล้องดิจิตัลทำให้ใครก็สามารถทำหนังได้ด้วยงบประมาณที่ถูกกว่า บุญส่งจึงกระโดดเข้าสู่อีกความฝันที่ฝังใจมาตลอด เขาเดินหน้าทำหนังอิสระภายใต้บริษัท ‘ปลาเป็นว่ายทวนน้ำ’ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเอง

สายน้ำที่บุญส่งแหวกว่ายอยู่ อาจเป็นได้ทั้งกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด ความฝัน-ความจริง ความจน-การอยากพ้นไปจากมัน-การต้องทนอยู่กับมัน หรือใดๆ ก็ตาม และระหว่างที่ว่ายทวนน้ำมาตลอดหลายปี เขาเองได้ทำบางอย่างหล่นหายไปบ้างระหว่างทาง หนังของเขาจึงทำหน้าที่บรรจุสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ กลายเป็นประสบการณ์ร่วมที่เชื่อว่าคนต่างจังหวัด—ไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม น่าจะสะทกสะเทือนใจอยู่ไม่มากก็น้อย

การเรียนละครเวที ดูเป็นความใฝ่ฝันที่แปลกไหม สำหรับเด็กที่บวชเรียนและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

สำหรับผม ลิเกกับหนังกลางแปลง คือสิ่งที่ผมผูกพันมาตั้งแต่เด็ก นึกภาพอย่างอื่นไม่ออกเลย เพราะฉะนั้นพออายุ 15 ก็ค้นพบว่าตัวเองต้องเป็นดารา คิดแบบนี้ตั้งแต่อยู่ในวัด มันเริ่มจากสิ่งนั้นก่อน ทีนี้ผมเป็นเณรบ้านนอก จน แล้วก็ไม่ได้หล่อ มันไม่มีโอกาส ความฝันมันไกลสุดเอื้อม ตั้งแต่นั้นก็เลยเตรียมตัวเพื่อเข้าใกล้ความฝันของตัวเองให้ได้มากที่สุด ผมตั้งใจสอบเอนทรานซ์เข้าในคณะที่มีการสอนวิชาการละคร ตอนที่เอนทรานซ์ 4 อันดับแรกผมเลือกการละครทั้งหมด ส่วนอันดับ 5 เผื่อเอาไว้สำหรับความมั่นคง คือรัฐศาสตร์ จุฬาฯ คืออย่างน้อยก็ได้เป็นปลัดอำเภอ แต่สุดท้ายพอสอบติดอันดับแรกนั่นคืออักษรฯ จุฬาฯ ผมก็สึกจากเณรแล้วเข้าไปเรียนที่นั่นเลย ก็ได้แสดงสมใจ

เรียนจบผมก็พยายามทำตามความฝัน ไปเล่นเป็นนักแสดงประกอบหนังบ้าง ละครทีวีบ้าง ไม่หยุดเลย จนปี 2535 ครูช่าง (ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง) ชวนไปทำงานด้วยกัน ผมก็ไปทำละครเวทีกับแกเป็นสิบปี สลับกับทำรายการทีวี ละคร สารคดี ทำทุกอย่าง เขียนบท กำกับฯ ตัดต่อ ทำฉาก ทำหมด ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน แต่ที่สุดแล้ว ผมรักหนัง ก็เลยบอกครูช่างว่า ผมขอกราบลาจากเขาเหลียงซานแล้วครับ ผมจะไปทำหนัง (หัวเราะ)

จากสายละครเวที คุณเริ่มเข้าไปทำหนังได้อย่างไร

ครูช่างช่วยพาผมไปฝากกับผู้กำกับฯ บางท่านบ้าง แต่ก็ไม่ง่ายเลย เพราะตอนนั้นวงการหนังคืออุตสาหกรรมจริงๆ ทุกอย่างต้องอยู่ในสตูดิโอ เพราะยังไม่มีการถ่ายแบบดิจิตัล ทุกอย่างจึงแพง ต้องมีการลงทุน คนในไม่อยากออก คนนอกอยากเข้า กีดกันกันสารพัด ผมก็ค่อยๆ ไต่ตะเข็บเข้าไปเรื่อยๆ ได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับฯ แล้วก็เป็นแอ็คติ้งโค้ช ผลงานแรกตอนนั้นคือ สมองกลคนอัจฉริยะ เป็นผู้ช่วยผู้กำกับฯ

แต่ทำไปแล้วผมก็เบื่อ ผมไม่ได้อยากทำหนังแนวนี้ แต่ทำไงได้ไม่มีตังค์จะทำเอง ประจวบกับที่คิดถึงละครเวทีขึ้นมา เลยกลับไปทำละครเวทีต่อ จนถึงยุคที่ดิจิตัลเข้ามา ตอนนั้นเริ่มจากกล้อง Hi8 ทันที่ทีเราทำหนังด้วยระบบดิจิตัลได้แล้ว ผมซัดหนังอิสระเลย จากนั้นก็ทำมายาวๆ เรากระสันต์จะทำหนังมาก มีเรื่องเล่าเยอะมาก และมันถึงเวลาปลดแอกแล้ว

ตั้งแต่ คนจนผู้ยิ่งใหญ่ (2553) ทำไมคุณถึงเลือกทำหนังเกี่ยวกับบ้านเกิดเป็นหลัก

หนังแบบผมมันไม่มีเงิน ไม่มีเงินแล้วจะทำยังไงล่ะ เราก็ต้องประเมินตัวเองว่าจะเล่าแบบไหนที่มันไม่ต้องใช้เงินมากแล้วได้คุณภาพแบบที่เราต้องการ ก็มาไล่ดูว่า มีเรื่องอะไรที่อยากเล่าบ้างวะ โอ้โห นั่งลิสต์มาได้ 30 กว่าเรื่อง มันสั่งสมมาตลอดเวลา จนทุกวันนี้ก็ยังเล่าไม่หมด

วิธีการเลือกผมก็ดูจากเงินที่มีเป็นหลัก โอเคตอนนี้มีแสนห้า หยิบเรื่องนี้มาทำก่อน ตอนนี้มีสองแสน หยิบเรื่องนี้มาทำต่อ พอมีห้าแสน โอ้โห เล่าได้เยอะขึ้นหน่อยล่ะ เล่าเรื่องนี้แล้วกัน ดังนั้นในหนังของผม ความซับซ้อนของเรื่องราวก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่มี เรื่องเงิน เรื่องทีม จนถึงโลเคชั่น

และด้วยปัจจัยเหล่านั้น ผมจึงเลือกทำหนังเกี่ยวกับที่บ้าน ถือกล้องตัวหนึ่งกลับไปถ่ายที่บ้าน กินข้าวบ้าน นอนที่บ้าน ให้คนที่บ้านเล่น ชาวบ้านธรรมดานี่แหละ เพราะถ้าผมจะจ้างดาราสักคนหนึ่ง บางทีค่าตัวเท่ากับหนังผม 4-5 เรื่อง เขียนบทก็ไม่ต้องเขียน ด้นเอาเลย ปรับบทให้เข้ากับคนเล่น ปรับบทให้เข้ากับโลเคชั่น แสงไม่ได้ ช่างมัน อาศัยแค่พระอาทิตย์กับโฟมสองแผ่น ปรับบทให้เป็นกลางวันอย่างเดียว กลางคืนไม่เอา อันไหนต้องเป็นกลางคืนจริงๆ ก็ต้องถ่ายช่วงโพล้เพล้ ใกล้ค่ำ golden hour นี่ ซัดไปเลย มีเวลาประมาณ 30 นาที แสงหมดปั๊บ เลิก

ยากไหม กับการกำกับการแสดงคนที่ไม่เคยเรียนการแสดงมาก่อน

มันต้องมีวิธีการดีลกับเขา ผมอยู่กับแอ็คติ้งมาตลอดชีวิต ไม่กลัวอยู่แล้ว ถ้าเล่นไม่ได้ พูดแค่ 2 ประโยคพอ ในการจะทำหนังที่ลดคอสต์มากขนาดนี้ เราต้องมีทักษะพอสมควร ต้องรู้รอบพอที่จะแก้ปัญหาในฉับพลันได้ มันคือการดิ้นรนให้รอด เหมือนปลาที่จะปรับตัวให้อยู่ในน้ำที่ไม่เหมาะสมให้ได้ ซึ่งผมไม่ได้มองว่านี่ต้องกลายเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อะไร มันเป็นแค่การอยู่ให้รอดแค่นั้นเอง

ผมมองว่าแอ็คติ้งไม่ใช่การแสดง ถ้ามองแบบนั้น แปลว่าคนที่รู้เรื่องการแสดงเท่านั้นถึงจะเล่นได้ แต่สำหรับผมมองว่าแอ็คติ้งคือชีวิตธรรมดา แอ็คเตอร์ก็คือผู้กระทำ ต้องไม่แสดง มันคือการอยู่กับปัจจุบันขณะ เราก็ใช้หลักคิดนี้กับชาวบ้านเลย—หวัดดีครับพี่ ทำนามาเหรอ โอเคๆ เล่นหนังให้หน่อยสิ เล่นยังไงเหรอ โอ๊ย สบายมากพี่ เหมือนเวลาพี่แบกไถไปทำนา พี่ก็แบกไปตามปกตินั่นแหละ (หัวเราะ) พี่นั่งกินข้าวจริงๆ ไปเลยพี่ กินไปเลย ไม่มีอะไรมากกว่านั้น เพราะแนวหนังเราก็เป็นเรียลิสติกอยู่แล้ว หรืออันไหนที่ต้องการอารมณ์ลึกๆ เราก็ทำแอ็คชั่นซับซ้อนเอา

แอ็คชั่นซับซ้อนในที่นี้คืออะไร

ก็เช่น สมมติฉากนี้เราต้องการแสดงให้เห็นถึงความสับสนของเขา ความละล้าละลัง เราจะให้เขาแสดงมันออกมาผ่านการยืนนิ่งๆ ใช้สายตา คงไม่ได้ ก็ต้องครีเอทแอ็คชั่นให้เขาทำ เช่นการวางบล็อกกิ้งให้เขาตักน้ำใส่ถังแล้วหาบมาถึงตรงนี้ เตรียมเอามาวางที่โอ่ง แล้วทีนี้โทรศัพท์มา เขาจะรับหรือไม่รับดี อาจจะเป็นเจ้าหนี้ที่เขาไม่อยากรับ เขาจะหยุดคิดว่าทำยังไงดี หรือถ้าเป็นแฟนเขาที่อยู่ไกลโทรมา เขาจะวางหาบน้ำแล้วรีบมารับสายทันที อาจจะมีการสะดุดปี๊บที่เราจัดวางไว้ ทำของโน่นนี่ล้ม ถ้าสะดุดแบบตั้งใจเกินไป ก็เริ่มใหม่ งั้นไม่ต้องสะดุดปี๊บแล้วกัน ระหว่างพะวักพะวง สีหน้าเขามันจะออกมาเอง หรือไม่ก็วางหาบน้ำแล้วเดินกลับมา ดูหน้าจอโทรศัพท์แล้วยืนมองนานๆ มันเป็นไปได้หลายวิธี อยากให้เขาเครียดกว่านั้นก็ลองบรีฟให้ท่องสูตรคูณแม่ 28 เป็นใครก็เครียด

แล้วผมก็พบว่าปรัชญาในการกำกับฯ สำหรับผมคือแบบนี้ คนเล่นก็มีหน้าที่ทำแอ็คชั่นนั้นให้ครบถ้วนตามแบบที่เราต้องการ คนดูก็นั่งพิจารณาแอ็คชั่นนั้นแล้วได้ความหมายได้อารมณ์บางอย่าง มันเป็นเรื่อง simple มาก แล้วผมเป็นพุทธด้วย ก็เลยคิดแบบพุทธเวลาทำหนัง เขียนบทตามหลักอริยสัจสี่ แอ็คติ้งตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา

หลักศีล สมาธิ ปัญญา ในการแสดง คืออะไร

ศีล ก็คือกระบวนการสั่งสมข้อมูลเกี่ยวกับบทนั้นๆ เช่นเวลาผมสอนการแสดงให้นักศึกษาปริญญาโท ผมก็ลองให้พวกเขาอิมโพรไวส์ บอกบทคร่าวๆ ให้เขาลองหาแก่นของมัน พอเจอแก่นของบทปุ๊บ ทุกอย่างฝังชิปแล้ว ไม่ต้องพยายามจำไดอะล็อก เสร็จปั๊บ สมาธิ ก็คือการอยู่กับปัจจุบันขณะ concentrate on here and now โคตรๆ ปัจจุบัน มองไปที่ตาของอีกคนหนึ่ง เขาคิดอะไรอยู่ ตอนนี้หน้าเขาเป็นอย่างไร ต่างหูเขาขยับเหรอ จมูกกระดิกนิดหน่อย ต้องเปิดผัสสะ ต้องว่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่น พร้อมที่จะมีรีแอคชั่นกับสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องย้ายจิตใจให้อยู่ที่ปัจจุบันล้านเปอร์เซ็นต์ เมื่อเกิดสมาธิแล้ว ก็จะเกิด intuition นั่นก็คือปัญญา หรือก็คือการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง

เช่นคุณต้องการยืมเงินคนคนหนึ่ง แล้วเขาบอกว่า เมื่อวานเพิ่งเสียหวยไป คุณจะพูดอะไรต่อล่ะ เพื่อให้เขาให้เรายืมเงินให้ได้ มันจะมีกลเกมที่ต้องรีแอ็คต์กับเขาตลอดเวลา อีกฝ่ายก็ต้องพูดยังไงก็ได้ ว่าไม่ให้ยืม คำพูดมันจะออกมาเอง ดังนั้น บทที่ดีไม่สามารถเขียนขึ้นมาได้ ผมถามคนที่เรียนว่าบทแบบนี้เขียนได้มั้ย เขาบอก ไม่มีทางได้เลยครับ บทที่ตัวละครเพิ่งพูดไปเมื่อกี้

ที่พูดอย่างนี้ได้เพราะผมก็เคยอ่านตำราฝรั่ง ตำราต่างๆ มาก่อนแล้ว แล้วสุดท้ายถึงพบว่าวิธีนี้มันเหมาะกับการทำงานของผม ตอนเรียนผมไปอ่านถึงห้องสมุดนิเทศฯ จุฬาฯ อ่านมันจนหมดห้องสมุด อ่านไม่แตกก็อ่านมันจนให้แตกฉานภาษาอังกฤษไปเลย ผมอ่านเพื่อให้เป็นคนเก่ง เหมือนตอนนี้ที่ทำหนังก็เพื่อให้เป็นคนเก่ง ตอนนี้ยังไม่เก่ง ก็ต้องทำหนังต่อไป เงินมันไร้สาระสำหรับผม ถ้าผมต้องการเงิน หนังมันจะไม่ใช่แบบนี้แน่ๆ ถ้าต้องการชื่อเสียง ผมก็ต้องพยายามกว่านี้อีก อาจจะต้องไปกุมไข่ พี่ครับ ช่วยผมหน่อยครับ แต่ผมไม่เอา ไม่มีทางจะไปอ่อนข้อให้ใคร ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง

ใน เณรกระโดดกำแพง ดูเหมือนว่าคุณกำลังย้อนกลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำมาตลอดหรือเปล่า?

หนังแต่ละเรื่องของผมเริ่มต้นจากความอึดอัดคับข้องใจ นั่นคือ ทุกข์ ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็น สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างใน คนจนผู้ยิ่งใหญ่ ก็เจ็บปวดเรื่องหนี้สิน กลับบ้านทีไร พ่อแม่ทำไมเป็นแบบนี้วะ สถานีสี่ภาค ก็เจ็บปวดเรื่องทำไมคนตัวเล็กตัวน้อยถึงไม่ได้มีสิทธิมีเสียงในประเทศไทยเลยวะ เจ็บปวดมาก เพราะผมก็คนตัวเล็กตัวน้อย วังพิกุล กลับบ้านทีไรเห็นแต่ครอบครัวบ้านแตกสาแหรกขาด หนังก็เลยพูดเรื่องนี้ ส่วน ธุดงควัตร ก็คับข้องใจที่ยุคนั้นมีแต่คนแห่กันเรื่องเปลือก เราบวชมาก่อนสิบปี เรารอที่จะทำหนังธรรมะสักเรื่องหนึ่งอยู่แล้ว แต่ก็ต้องรอไปก่อนเพราะไม่มีตังค์ แต่ตอนนั้นคนก็บ่นกันว่าศาสนาเสื่อมแต่ดันไปคลั่งบางลัทธิกัน (หัวเราะ) ก็เลยต้องทำแล้ว ผมรอไม่ได้แล้ว มีงบอยู่แสนสองก็ต้องทำเลย

ต่อจากนั้นก็ทำเรื่อง มหาลัยวัวชน เรื่องนี้เป็นหนังที่ไม่ค่อยอึดอัดคับข้องใจเท่าเรื่องอื่น แต่ว่าเป็นหนังที่ค่อนข้างมีโจทย์และตั้งใจลงทุนเอง เพราะเห็นแนวโน้มของการได้เงิน แต่ก็ยังพูดเรื่องที่เรารู้สึกจริงๆ นั่นก็คือเรื่องของคนบ้านนอกกับความฝันของเขา เรารู้สึก เราก็เต็มที่เหมือนกัน สุดท้ายก็ปรับโจทย์จนอินสุดชีวิต เนื้อเต้นที่จะเล่ามัน เพียงแต่บริบทเป็นภาคใต้ มันเริ่มห่างตัวเองออกไปเท่านั้นเอง

มาถึง ฉากและชีวิต โอ้โห ที่ผ่านมามันเล่าไม่หมดไง เรื่องบ้านผมมันเยอะเหลือเกิน ผมเลยทำหนังสั้น 10 เรื่องมาไว้รวมกันซะเลย ทีนี้รู้สึกเติมเต็มมาก ได้เล่าเรื่องที่อยากเล่าในหมู่บ้านตัวเอง ตอนนี้ก็เริ่มมีเรื่องใหม่ขึ้นมาอีกแล้วที่หมู่บ้าน (หัวเราะ) มันเกิดขึ้นทุกวัน กลับบ้านทีไรเจอเรื่องใหม่ทุกที เรื่องเดิมก็ยังอยู่ แต่คลี่คลายไปแล้ว ผมเลยไม่รู้สึกเจ็บปวดกับมันเท่าแต่ก่อน

มาถึง เณรกระโดดกำแพง ในเรื่องนี้สิ่งที่ผมสะเทือนใจที่สุดก็คือผมทิ้งแม่ผม แม่ผมแก่แล้วก็รอผมกลับบ้านอยู่ทุกวัน ประโยคที่แม่ถามทุกครั้งที่เจอกันก็คือ มึงจะมาอีกเมื่อไหร่ล่ะ / ไม่รู้อะแม่ ผมก็ทำหนังอยู่เนี่ย / หนัง ทำไปทำไมล่ะ ได้อะไร? แม่ถามประโยคนั้นขึ้นมามันกระทบผมมากเลย ผมไม่ค่อยได้กลับบ้าน แล้วก็ไม่ค่อยได้อยู่กับลูกกับเมีย ผมเดินทางตลอด วิ่งไล่ล่าแต่ความฝันของตัวเอง เลยเกิดเป็นความรู้สึกผิดมากๆ ที่ดิ้นรนทำตามความฝันมาเป็น 30 ปี และผมก็ได้ทำร้ายคนไปมากมายตามรายทาง แผลเต็มตัว มันอดไม่ได้ที่จะเล่าเรื่องนี้ อดีตถมทับ ความจริงที่เราเกลียด มันปะทะกันเต็มไปหมด และด้วยเงินที่มีน้อย เราก็พยายามดิ้นรนเล่าออกมาให้ได้ มันเลยกลายเป็นรูปแบบของเณรกระโดดกำแพง

คุณอยากให้คนดูได้รับอะไรจากหนังแต่ละเรื่องที่คุณทำ

เราตั้งปณิธานว่าจะทำหนังง่ายๆ ที่ยิ่งคิดยิ่งลึก เช่น ธุดงควัตร อยากทำให้คนดูได้ทำสมาธิไปด้วยระหว่างดูหนัง ปฏิบัติธรรมไปพร้อมกับเรา หรือฉากและชีวิต ก็อยากให้คนนึกถึงตัวเอง บ้านตัวเอง เณรกระโดดกำแพงอยากให้คนดูสนุกไปเรื่อยๆ แล้วตอนจบอยากให้รู้สึกว่า ไอ้บ้า อะไรวะเนี่ย มันอบอวลในหัวไปหมด เรายั่วล้อ ใส่สัญญะ ซ่อนไว้เต็มไปหมด คนดูแล้วก็คงอดคิดไม่ได้ เพราะเราอยากให้เป็นอย่างนั้น

เมื่อหนังฉายแล้ว คุณอ่านคำวิจารณ์หรือบทวิเคราะห์ต่างๆ มากแค่ไหน

ผมตามอ่านนะ ฟีดแบ็กเป็นภาพกระจก ส่วนที่เขาชมหรือด่าก็ตาม ผมรับได้ทั้งหมด ผมจะไม่สะดุ้งสะเทือนกับอะไรทั้งสิ้น เมื่อหนังฉายปุ๊บ ผมแอ่นอก เอ้า ด่าเลย หนังไม่ใช่ของผมอีกแล้ว เพราะเราได้ทำดีที่สุดแล้ว ท้ายที่สุดจึงอย่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไร ทำเรื่องนี้จบ คิดเรื่องใหม่ทันที ทำให้มันดีกว่าเดิม

อีกอย่างหนึ่งผมตั้งใจดูว่าสัญญะที่ผมพยายามซ่อนไว้ คนเขาเห็นไหม เขารู้สึกอย่างที่เราอยากให้รู้สึกไหม ประมาณ 3-4 เรื่องสุดท้าย ไม่ค่อยพลาด เป็นไปตามที่วางแผนไว้หมด อาจเพราะเราแก่แล้ว มันก็แม่นขึ้น ผมเชื่อว่าหนังคือการให้ปัญญาคน ก็พยายามค้นหาวิธีเล่าให้คนดูเกิดปัญญา นั่นคือการเล่าด้วยภาพ ให้เขาได้คิดตามตลอดเวลา แอ็คชั่น รีแอ็คชั่น ไม่พูดถ้าไม่จำเป็น และต้องแช่เฟรมไว้ เพื่อให้คนดูคิด ไม่ใช่กระแดะเป็นอาร์ต ไม่ใช่ช้าให้เป็นฟอร์ม บางอันที่ต้องเร็วก็ต้องเร็ว อันไหนนิ่งก็ต้องนิ่ง ในธุดงควัตร ผมบอกว่า ต้อย (อุรุพงศ์ รักษาสัตย์—ตากล้อง) ไม่ต้องเคลื่อนกล้องนะ ผมไม่ต้องการให้มีเทคนิคภาพยนตร์มารบกวนคนดู ผมต้องการให้คนดูนิ่ง มิกซ์เสียงต้องเบาที่สุด เราพยายามทำทุกอย่างให้เกิดสิ่งที่เราคิดกับคนดู ก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ได้นะ

ชาวบ้านที่มาแสดงหนังให้คุณ มีความเห็นกับหนังอย่างไรบ้าง

วังพิกุลนี่ผมไปฉายที่บ้านเกิดผมด้วย ที่หมู่บ้านวังพิกุล อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย คนอึ้งกันหมด สองร้อยกว่าคนนั่งนิ่ง เงียบกริบ ผมก็ไปแอบมองฟีดแบ็กชาวบ้าน ทุกคนไม่ได้มานั่งบนเสื่อที่ปูไว้ แต่นั่งบนมอเตอร์ไซค์ที่ขี่มาดูกัน จอดกันอยู่รอบๆ แต่ก็ไม่มีใครเลยที่กลับไปก่อนหนังจบ เพราะมันคือเรื่องจริงของพวกเขา เป็นภาพสะท้อน แล้วหนังมันก็ simple มาก เพราะเราตั้งใจอย่างนั้น แต่ให้คนดูเสพเรื่องราวของมันแทน ไม่มีอะไรเร้าอารมณ์เลย เราขายความจริงล้วนๆ ผมพยายามชวนคุยเมื่อหนังจบ แต่หนังจบแล้วทุกคนก็กลับกันหมด ไม่มีใครคุย การคุยก็คือการเปิดปากแผล

ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร

กรุงเทพฯ เป็นโลกใบที่ 3 ของผม โลกใบที่หนึ่งคือชนบท ทุ่งนา โลกที่สองคือการเป็นเณร ระยะเวลา 10 ปี มันนานพอที่จะเป็นอีกโลกหนึ่ง เป็นห้วงชีวิตที่ยาวนานและฝังจำ โลกที่สามก็คือกรุงเทพฯ นับตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยจนถึงบัดนี้ ผมก็คงเป็นคนชนบทที่หลงแสงสีและไม่ยอมกลับบ้าน หนังเรื่องต่อไปของผมก็จะพูดเรื่องการกลับบ้าน ผมเจ็บปวดเรื่องนี้มาก

จริงๆ เรื่องนี้เป็นหนังมีโจทย์ นั่นคือมันจะต่อยอดจากเณรกระโดดกำแพง ซึ่งคราวนี้พร้อมกว่าเดิมมาก เงินพร้อม ทีมงานพร้อม กล้องก็มี ไฟก็เยอะ เสร็จกูล่ะ (หัวเราะ) ผมไม่เคยมีโอกาสแบบนี้ในชีวิต คราวนี้ผมซัดเต็มเหนี่ยว แอ็คติ้งต้องเริด ภาพต้องสวย ไม่มีพลาด เราอยากทำมานานแล้ว

อีกเรื่องหนึ่งผมทำงานกับโก๋แก่ อีกเรื่องเป็นหนังเพลง มิวสิคัลเต็มตัว ยังไม่รู้นะว่าจะเป็นเพลงอะไร แต่คงจะเป็นเพลงชีวิต เราพยายามจะไปให้ล้ำลึกกว่าหนังเพลงปกติ ทุกเรื่องล้วนแล้วแต่เป็นนายทุนที่ไม่ใช่กระแสหลัก ส่วนหนึ่งก็เพราะเราทำมาจนเขาเห็น สมัยหนุ่มผมไม่ได้แบบนี้นะ เสนอหนังอะไรก็ไม่เคยผ่าน ผมก็คงพูดไม่รู้เรื่องด้วย ความตกผลึกก็ยังไม่มี ทีนี้พอมีโอกาสแล้ว เป้าหมายก็คือทำหนังให้เพอร์เฟ็กต์ จะทำได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ขอหวังสูงไว้ก่อน

คราวนี้นักแสดงยังเป็นคนธรรมดาทั่วไปอยู่ไหม

คราวนี้มีดาราด้วย ผสมกับชาวบ้าน ที่ผ่านมาเราเอาชาวบ้านเล่นเพราะเราไม่มีตังค์ไง ทีนี้พอมีตังค์แล้วเราจะให้ชาวบ้านเล่นทำไมถ้าไม่จำเป็น เพราะพอชาวบ้านเล่น เราก็รู้ข้อจำกัดดี ว่าจะทำลึกไม่ได้ พวกเขาเล่นลึกไม่ได้ ทักษะของเขาไม่ใช่เรื่องนั้น

บุญส่ง นาคภู่ กับเครื่องฉายฟิล์ม 35 มม. ที่เขาซื้อเตรียมไว้ สำหรับฉายหนังเก่าๆ ให้แก่ผู้สนใจเข้าชมในภายภาคหน้า

มีหลายคนที่ทำหนังแล้วไม่ประสบความสำเร็จสักทีจนต้องล้มเลิกไป คุณมีความเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้

หนังมันทำยาก ข้าวของเยอะ ต้องดีลกับคนเยอะ แค่เสนอโปรเจ็กต์ให้ผ่านก็ยากแล้ว ก็เข้าใจว่าเขาเหนื่อย มันรากเลือด ก็ต้องมีคำถามอีกว่าคุณรักอะไรในหนัง รักเงินหรือ? รักชื่อเสียง? รักความเท่ในกองถ่าย? อยากได้ชื่อเป็นผู้กำกับฯ? ทั้งหมดคือเปลือกหมด ผมมองว่าคนจะทำหนังได้ต่อเนื่องท่ามกลางปัญหาล้านแปดกับความเหนื่อยยากทุกขั้นตอนต้องมีพลังภายใน

ภาษาละครคือ ‘need to express -ไม่เล่ากูตาย’ ไม่เล่าไม่ได้ มันมากกว่าแพสชั่น แพสชั่นคือกิเลส คือความปรารถนา ซึ่งมันดับลงได้เสมอ ดังนั้นมันต้องมี need to express แล้วสิ่งนี้มันเกิดจากอะไร ก็เกิดจากสิ่งที่เราเจ็บปวดกับมันจริงๆ มันเป็นความอัดอั้นของมนุษย์ที่ขาดแคลน ผมยืนยันว่ามันเป็นความขาดแคลน ถ้าคนที่ไม่ขาดแคลนก็อาจจะมีสิ่งนี้น้อยก็ได้

สำหรับผมมันเป็นความเจ็บปวดที่มีอย่างต่อเนื่องยาวนาน เคยหิวชนิดที่ไม่มีความหวังจะได้กิน รักผู้หญิงแล้วผู้หญิงเขาไม่รักตอบ หน้าตาขี้เหร่มากแต่อยากเป็นพระเอก มันล้วนแต่ถูกสั่งสมมา ดังนั้น need to express จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราใช้ชีวิต ต้องใช้ชีวิตจริงๆ ตอนที่เราขึ้นรถเมล์แล้วเหลือตังค์อยู่ 3 บาท แล้วเราก็หิวมาก ตอนนั้นเราจะมองเห็นความจริงหมดเลย เราทุกข์เพราะอะไร แล้วใครล่ะที่ทำให้เราทุกข์ เขาจะเป็นคนที่จะได้ดูหนังเรื่องนั้น

Need to express นี่เป็นสิ่งที่รอได้ไหม หากใครคนนั้นยังไม่พร้อม

ก็มีสิทธิที่จะรอ แต่ก็อาจจะเล่าเรื่องที่เรารู้สึกว่าเป็นอารมณ์วูบวาบได้นะ รถติดจังเลย อึดอัดมาก ก็เล่าได้ แต่มันอาจจะไม่มีพลังเยอะเท่ากับเรื่องที่เรารู้สึกมาหลายปี อันนี้พูดถึงหนังที่ไม่มีทุนนะ (หัวเราะ) มันต้องตรวจสอบตัวเอง ฟังหัวใจของตัวเองอย่างซื่อสัตย์ และกล้าเปลือย

ผมเองย้อนกลับไปมองว่าตั้งแต่เริ่มแรก ทำไมเราพยายามทำสิ่งนี้ เพราะเราต้องการการยอมรับ เมื่อก่อนนั้น เราอยากมีตัวตนจังเลย เมื่อไรคนจะฟังเรา จะมองเรา จริงๆ แล้วลึกๆ ที่ตอนเด็กผมอยากเป็นดาราก็เพราะเรื่องนี้แหละ อยากให้คนมาสนใจ แต่พอเวลานานไป เริ่มพบว่ามันไม่ใช่ ตอนนี้พอลองถามใจอย่างซื่อสัตย์ สิ่งที่ขับเคลื่อนเราคือความสงสัย ทำไมเราทำได้ไม่ดีสักทีวะ เอาจริงๆ พลังอยากเล่ามันลดลงไปบ้างแล้วล่ะ เราเล่าไปมากแล้ว เริ่มแก่แล้ว ขั้นต่อไปที่อยากทำหนังต่อ คืออยากทำหนังให้มันสมบูรณ์แบบสักที

แล้วบางที need to express ของเรา พอได้เล่าออกไป เล่าให้คนนั้นคนนี้ฟังมันก็พอจะบรรเทาเราได้บ้าง ยิ่งเดี๋ยวนี้มีเฟซบุ๊กน่ะนะ เขียนในสเตตัส ถ่ายทอดความรู้สึกลงไป โอ๊ย โล่ง ได้พ่นออกไปแล้ว เดี๋ยวนี้มันเลยไม่มีม็อบทางการเมืองไง เพราะคนระบายออกทางเฟซบุ๊กไปหมดแล้ว ต่อไปคงจะไม่มีการเมืองบนถนนแล้ว ยาก หลายครั้งเผด็จการมันล่มเพราะการเมืองบนถนนนะ ซึ่งสิ่งที่เกิดบนเฟซบุ๊กมันไม่เป็นรูปธรรมเท่าไง แล้วนี่ก็เล่นเอากฎหมายมาบังคับ เชือดไก่ให้ลิงดูตลอดเวลา นั่นวิธีการของเขา เอ้า ขอการเมืองนิดนึง (หัวเราะ)

ท้ายที่สุดแล้ว การทำหนังมันทำให้คุณทุกข์กับเรื่องในใจเหล่านั้นน้อยลงไหม

ความทุกข์มันไม่มีทางหายไปหรอก ปัญหามันไม่ได้ถูกแก้จากการทำหนัง มันแค่ทำให้เราได้เข้าไปคลุกคลีกับมันนานๆ แล้วก็ชินกับมันมากขึ้นเท่านั้น

Fact Box

  • บุญส่ง นาคภู่ หรือ สืบ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2511 ในครอบครัวชาวนา หมู่บ้านวังพิกุล ตำบลนาขุนไกร อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ผลงานหนังยาวของเขาได้แก่ 191 ครึ่ง มือปราบทราบแล้วป่วน (พ.ศ. 2546) หลอน ตอน ผีปอบ (พ.ศ. 2546) คนจนผู้ยิ่งใหญ่ (พ.ศ. 2553) สถานี 4 ภาค (พ.ศ. 2555) วังพิกุล (พ.ศ. 2556) ธุดงควัตร (พ.ศ. 2559) มหาลัยวัวชน (พ.ศ. 2560) ฉากและชีวิต (พ.ศ. 2561) เณรกระโดดกำแพง (พ.ศ. 2561)
  • ภาพยนตร์เรื่องธุดงควัตร ได้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำหลายสาขา ตั้งแต่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับฯ ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ฯลฯ และสามารถคว้ารางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยมมาครอง
  • นอกจากงานกำกับฯ แล้ว เขาเคยมีผลงานการแสดงใน 15 ค่ำเดือน 11, เฉือน และ พุ่มพวง เป็นแอ็คติ้งโค้ชให้กับภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เช่นทวิภพ, บางระจัน, คืนบาปพรหมพิราม ฯลฯ ฯ รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษสาขาการละครและภาพยนตร์ในหลากหลายมหาวิทยาลัย
Tags: , , , , , , , , ,