เป็นความตั้งใจดีของผศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้นำความรู้ด้านการขึ้นรูปโลหะมาพัฒนาต่อยอดเป็นกระดูกไทเทเนียมโดยใช้เทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ เพื่อเป็นกระดูกทดแทนเฉพาะบุคลและง่ายต่อแพทย์ในการผ่าตัด

          ผศ.ดร.บุญรัตน์ ร่วมกับอาจารย์ ดร. เชษฐา พันธ์เครือบุตร ก่อตั้ง Meticuly สตาร์ตอัปสาย Deep Tech เมื่อปี 2017 และได้เข้าร่วมโครงการ DVAb1 ( Digital Ventures Accelerator Batch 1) ผลคือคว้ารางวัล Gold Prize ควบคู่รางวัล Popular Vote

          Meticuly ผลิตกระดูกทดแทนที่ทำจากโลหะไทเทเนียมที่เป็นประโยชน์ต่อคน 3 กลุ่มได้แก่ 1.กลุ่มที่ต้องการการทดแทนกระดูกเดิม อันเกิดจากอุบัติเหตุหรือโรคร้ายแรง 2. กลุ่มที่มีปัญหากระดูกแตกหักและยากในการผ่าตัด และ 3. ช่วยแพทย์วางแผนการผ่าตัด ลดระยะเวลาการผ่าตัด

          เป้าหมายสูงสุดของผศ.ดร.บุญรัตน์คืออยากให้คนไทยได้เข้าถึงกระดูกเทียมที่มาจากความรู้และฝีมือของคนไทย ผ่านสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น ระบบประกันสังคม และบัตรทอง เป็นต้น

          แต่หนทางของ Meticuly ยังอีกยาวไกล บริษัทอยู่ในช่วงตั้งไข่ และกระดูกไทเทเนียมของเขาก็ยังไม่แพร่หลายในวงการแพทย์มากนัก

          เราได้แต่เอาใจช่วยให้ความฝันของเขาเป็นจริงในเร็ววัน

ทำไมอาจารย์ถึงสนใจในการพัฒนากระดูกทดแทนที่ทำจากไทเทเนียม

          อย่างแรกเลยคือผมเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ตอนอายุ 18 ผมจบสวนกุหลาบก็สอบชิงทุน ก็เลือกว่าจะเรียนวิศวะ จุฬาฯ หรือจะรับทุน ตอนนั้นส่วนใหญ่บอกว่า เรียนวิศวะ จะมีอิสระได้เลือกว่าจะทำงานอะไร แต่ผมก็คิดว่า รับทุนก็ได้กลับมาเป็นอาจารย์วิศวะอยู่ดี เราก็ชอบสอนด้วย ก็อยู่ในสิ่งที่สนใจ เลยตัดสินใจรับทุนไปเรียนด้านวิศวกรรมโลหการที่สหรัฐฯ แล้วก็เรียนเกี่ยวกับการขึ้นรูปโลหะ

          เราก็มุ่งทำงานวิจัย และมีโอกาสได้ทำงานในบริษัทสตาร์ตอัปของอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนเรา ซึ่งตอนปี 1996 มีสตาร์ตอัปเต็มสหรัฐฯ เราก็ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาลงมือทำจริงๆ ตอนนั้นผมทำเกียร์รถแข่งกับชิ้นส่วนเครื่องบิน แล้วเราก็ได้ไปเห็นโรงงานที่ผลิตจากความรู้ของเรา มันเลยเป็นความสุขว่าสิ่งที่เรียนมามันใช้ได้เลย  

          พอกลับมาเมืองไทย เราก็ทำงานวิจัยที่เป็นการขึ้นรูปมาตลอด กับบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จนตอนปี 2556 ผมได้รางวัล ‘นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่’ ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็เริ่มมีคนรู้จักเรา

          พอดีมีหมอติดต่อเข้ามาว่า อาจารย์ช่วยทำชิ้นส่วนแบบนี้ได้ไหม เราก็เข้าไปช่วยดู คือปกติ ถ้าไม่มีกระดูกเทียม หมอต้องเอาชิ้นส่วนกระดูกจากตรงอื่นมาใส่แทน หรือต้องใช้กระดูกจากอาจารย์ใหญ่ ก็ต้องถามคนไข้ว่าโอเคไหม ที่จะใช้กระดูกส่วนอื่นมาใส่แทน ซึ่งความเห็นผม มนุษย์เราถูกสร้างมาด้วยความสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ยกตัวอย่างข้อเข่า มันพิเศษมาก ลองนั่งยองๆ แล้วนึกภาพว่าจะมีข้อต่อที่ไหนในโลกจะงอได้ขนาดนี้ แถมตัวเราไม่ล้มไปข้างหน้าอีก ผมเลยคิดว่าความรู้ของเราน่าจะช่วยคนอื่นได้เยอะ

จำเคสแรกที่ทำได้ไหม เป็นอย่างไร

          เคสแรกผมทำกับ พ.อ.รศ.นพ.ทิพชาติ บุณยรัตพันธุ์ ที่รพ.พระมงกุฎเกล้า เป็นผู้หญิงอายุ 30 กว่าๆ คนไข้มีเนื้องอกในกระดูกตรงนิ้วหัวแม่มือ ทำให้กระดูกถูกทำลาย เขียนหนังสือไม่ได้ ก็ต้องเอาออก แล้วไม่มีอะไรจะใส่แทน เราก็ต้องสร้างกระดูกเทียมขึ้นมา

          แต่ความยากคือ ไม่ใช่แค่ใส่เข้าไปทดแทน แต่ต้องทำให้นิ้วขยับได้เหมือนเดิม ก็เป็นเคสที่ยากเหมือนกัน เราต้องคำนวนเยอะมากว่า ในเชิงของกลไก จะทำอย่างไรให้มันขยับได้ ซึ่งตอนนั้นเราก็ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติเข้ามาช่วย แล้วก็ติดตามผลข้างเคียงกับคนไข้ว่าเป็นอย่างไร จนมั่นใจว่าคนไข้ปลอดภัยจริงๆ ถึงประกาศข่าวออกไป

อาจารย์มั่นใจได้อย่างไรว่ากระดูกเทียมที่เราสร้างมันจะได้ผลกับคนไข้จริงๆ

          ตัวโครงสร้างค่อนข้างง่าย เพราะเราทำ CT Scan เพื่อก้อปปี้ตัวกระดูกได้เลย แต่ความยากคือ ต้องออกแบบเรื่องการเคลื่อนไหว การเย็บเอ็นเข้าด้วยกัน ขนาดที่ต้องพอดีกับร่างกายของคนไข้ และผิวสัมผัสที่ต้องเหมือนจริงมากที่สุด ซึ่งตัวไทเทเนียมเองมันเป็นโลหะที่แม้เราตายไป มันก็ยังอยู่ มีความแข็งแรงยั่งยืนมาก แล้วได้รับการยอมรับในวงการศัลยแพทย์ออร์โทพีดิกส์ ว่าเป็นโลหะที่ใช้ในร่างกายมนุษย์ได้ ปลอดภัย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง และไม่ขึ้นสนิม

          อีกอย่าง ผมเองก็ถนัดวัสดุพวกโลหะ แต่กระบวนการมันค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้ความแม่นยำในระดับนาโนเมตรเลยก็ว่าได้ บางชิ้นเราต้องทำให้สามารถปรับแก้สัดส่วนได้ เพราะถ้าหมอดูด้วยตา โอเคมันอาจจะได้ สัดส่วนเท่ากระดูกเดิมเป๊ะ แต่ถ้าวัดจริงๆ อาจมีสัดส่วนที่พลาดระดับ 3-4 มิลลิเมตร ก็ใช้ไม่ได้แล้ว

          และก่อนที่เราจะนำไปใช้ในร่างกายมนุษย์ ก็ต้องมีการทดสอบก่อน แต่ละโรงพยาบาลจะมีสิ่งที่เรียกว่า Clinical Research Organization เป็นการทดสอบว่าเข้ากับร่างกายได้ดีแค่ไหน ปลอดภัยหรือเปล่า แล้วเราก็ต้องส่ง Mechanic Design ให้กรรมการจริยธรรมดูว่าโอเคไหม เขาก็จะขอข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งเราไม่มีปัญหาตรงนี้ เพราะเป็นนักวิจัยก็ถนัดเรื่องการรวบรวมข้อมูลให้อยู่แล้ว เราก็ใส่ข้อมูลไปเต็มที่ว่าปลอดภัย ได้การรับรอง หมอเอง เวลานำไปใช้จะได้สบายใจ คือมันก็มีหลายๆ เรื่องที่เราต้องเอาให้ชัวร์ๆ ก่อน

          กระบวนการตรงนี้ใช้เวลานานมาก แต่พอผ่านแล้ว ก็รู้ว่าต้องทำอะไรต่อบ้าง

ปกติจะต้องเป็นความต้องการจากหมอใช่ไหมครับ เราถึงจะทำ

          ใช่ครับ ช่วงแรกจะเป็นแบบปากต่อปาก คุณหมอคนนี้ทำกับเรา เขาก็จะไปคุยกับคุณหมออีกท่าน แล้วก็มาคุยกับเราว่าอยากให้ทำชิ้นส่วนตรงไหนให้  นิ้วมือ ข้อศอก ส่วนอื่นๆ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการพัฒนา

          เราอยากให้คนไข้กลับมามีชีวิตเหมือนเดิมจริงๆ สิ่งนี้เติมเต็มอะไรบางอย่างในตัวเรา และผมอยากให้คนไข้มีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้นในการเลือก ปัจจุบันสังเกตว่า เวลาเราไปโรงพยาบาล หมอสั่งอะไรเราก็เชื่อ แต่ว่ามันมีทางเลือกอื่นหรือเปล่า แล้วส่วนใหญ่ทางเลือกก็มาจากต่างประเทศ เราไม่อยากให้มองว่า จะต้องเลือกสิ่งที่เราทำเพราะเป็นของคนไทย แต่มันคือ Solution ที่เป๊ะกว่าเดิม ร่างกายเราสร้างมาสมบูรณ์แบบมากแล้ว ขอแบบเดิมเลยได้ไหม ไม่ต้องไปตัดส่วนอื่นมาใส่ และต้องขยับเหมือนเดิมได้ด้วย

          ปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ ถ้าย้อนกลับไปสัก 20 ปีที่แล้ว ทุกคนจะงงว่า สร้างแบบนี้ได้ด้วยเหรอ พอมีการพิมพ์สามมิติเข้ามา มันทำได้ง่ายขึ้น เป็นโครงสร้างโลหะที่รับน้ำหลักได้ดี ระบายความร้อนได้ แม้จะเป็นชิ้นส่วนที่เล็กแต่ก็แข็งแรง หมุนได้ ขยับได้ และประยุกต์ใช้กับส่วนอื่นได้ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงนี้ แทนที่เราจะสร้างแต่ละชิ้นมาประกอบกัน เราก็สร้างเป็นชิ้นเดียวไปเลย ซึ่งเรื่องนี้มันเปิดโลกทางการแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีมาจับในการพัฒนากระดูกเทียมใหม่ๆ

อาจารย์อธิบายให้ฟังหน่อยว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันดีกว่าหรือแตกต่างจากของต่างประเทศอย่างไร

          กระดูกในร่างกายคนเรามีทั้งหมด 206 ชิ้น มีอยู่ไม่กี่ชิ้นที่เปลี่ยนได้ คือข้อเข่าเทียม สะโพกเทียม ข้อศอกเทียม กะโหลก แล้วก็จะมีกลุ่มซิลิโคนใส่ใบหน้า อย่างที่บอก ถ้ามีส่วนที่แตกหัก ก็ต้องเอาจากที่อื่นมาทดแทน ไม่ใช่ว่า Solution นี้ไม่ดี แต่มันน่าจะมีทางอื่นที่ดีกว่าได้ เพราะการตัดจากส่วนอื่น หรือจากอาจารย์ใหญ่มาใส่ มันมีแค่ไม่กี่ชิ้นที่ใส่แทนที่กันได้

          สิ่งที่เราคิดออกมาแตกต่างคือ เราใช้การก็อปปี้สรีระของคนไข้ เพราะกระดูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีส่วนโค้ง มีเหลี่ยม และพิมพ์ออกมาให้ใส่ทดแทนได้เลย ซึ่งเราทำทุกอย่างในคอมพิวเตอร์ก่อน สามารถวางแผนร่วมกับหมอในการผ่าตัดได้ มันจะช่วยลดระยะเวลาในการทำงานของหมอส่วนที่เป็นการ Customization หรือตัดกระดูกให้น้อยลง มีเวลาช่วยคนไข้ได้มากขึ้น ลองนึกดูว่า เตียงผ่าตัดในโรงพยาบาลมีจำกัด สมมติเราเป็นข้อเข่าเสื่อม แล้วไปใช้โรงพยาบาลของรัฐ ต้องจองคิวนานถึง 8 เดือน เพราะห้องผ่าตัดไม่พอ

          ที่สำคัญสำหรับคนไข้ แผลยิ่งเปิดนานเท่าไร ความเสี่ยงในการติดเชื้อมีมากขึ้นเท่านั้น อะไรที่ผ่าตัดเสร็จแล้วการฟื้นฟูก็ดีกว่า ผมเคยผ่าเข่านะ เลือดคั่งไปพักใหญ่กว่าจะหาย ถ้าเราปรับกระบวนการตรงนี้ให้เร็วขึ้น มันจะช่วยทั้งหมอ เตียงผ่าตัด และคนไข้ เพราะที่สุด มันสำคัญเรื่องการขยับที่ต้องใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด

          แน่นอนว่าเราทำได้ตรงตามสรีระของคนไข้ และไม่ต้องรอเครื่องไม้เครื่องมือหรือชิ้นส่วนจากต่างประเทศเป็นเวลานาน เราทำแบบ On Demand จะไม่สร้างจนกว่าจะมีคนไข้ แต่โจทย์ที่สำคัญห้ามรอนาน ที่ตั้งใจไว้คือไม่เกิน 7 วัน มีบางอวัยวะที่เราทำได้ภายใน 2 วัน

ตอนนี้มีอวัยวะเทียมที่ทำได้แล้วกี่ชิ้น

          ที่ทำได้แล้วมีเกิน 20 ชิ้นในร่างกาย เราช่วยคนไข้ไปแล้วประมาณ 25 ราย คือผมจะไม่มีวันนี้เลยถ้าไม่มีอาจารย์หมอทั่วประเทศช่วยบอกต่อๆ กัน ว่าอยากให้ช่วยสร้างชิ้นส่วนนี้ ของต่างประเทศราคาแพงมากเป็นแสน ของเราทำ แม้จะยังไม่ถูกมาก แต่ก็อยากให้มีคนใช้กันเยอะๆ เพื่อที่ต้นทุนมันจะได้ถูกลง นี่คือความยากของเราเลยว่า จะทำอย่างไรให้อยู่รอดได้ แม้การทำงานมันจะตอบโจทย์ แต่ถ้าปริมาณไม่ได้มากพอ ภายในสองสามปีสุดท้ายเราก็อาจไม่รอดเช่นกัน

อาจารย์ได้มีการติดตามผลกับคนไข้ไหมว่าเป็นอย่างไร

          ก็พยายามติดตามนะ แต่ไม่ได้ทั้งหมด ความยากคือ บางคนเดินทางลำบาก ต้องยอมรับว่าการผ่าตัดไม่ว่าจะเป็น Customize หรือไม่นั้น จะมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง อาจจะมีการติดเชื้อ แต่หมอก็จะจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว ของเรายังไม่เจอนะว่ามีการติดเชื้อ ส่วนหนึ่งคือไทเทเทียมที่เราใช้ มีโอกาสติดเชื้อที่ต่ำ

          มีเคสหนึ่งเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ ข้อมือหัก ก็เข้าเฝือกปกติ คิดว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ปรากฎว่าถอดเฝือกออกมากระดูกมันไม่ได้ต่อกันเหมือนเดิม มันไปทับเส้นประสาท ทำให้ขยับไม่ได้ เขียนหนังสือไม่ได้ คิดดูว่าคนเป็นครูจะรู้สึกอย่างไร แกบอกผมว่า “รู้ไหม อาจารย์ เราแก่แล้ว เดี๋ยวเราก็ตาย ช่างหัวมันเถอะ ฝึกเขียนมือซ้ายเอา” แล้วเขาก็น้ำตาคลอ

          ผมคิดเลยว่าถ้าเป็นตัวเองคงเศร้ามากเช่นกัน คือ หลังจากถอดเฝือก ข้อมือมันแอ่น เนื่องจากมันกดทับเส้นประสาทจนเขียนหนังสือไม่ได้ เราทำให้มันตรงโดยใส่ที่ครอบไทเทเนียมแล้วก็ล็อคเอาเลย จนตอนนี้กลับมาใช้งานได้แล้ว เหมือนเขาได้ชีวิตใหม่

ชีวิตเปลี่ยนไปยังไงบ้างหลังจากที่ทำกระดูกเทียม

          ผมโชคดีนะ ตื่นมาตอนเช้าทุกวัน มาทำงาน คิดนู่นนี่นั่น อย่างเรื่องเอ็น ก็ต้องคิดต่อ เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว มีเครือข่ายอาจารย์ที่เก่งเรื่องเอ็นเยอะเลย เราตื่นมาด้วยพลัง รู้สึกว่าความหมายของชีวิตกลับมาอีกครั้ง อาจจะฟังดูเวอร์ แต่เรารู้สึกแบบนั้นจริงๆ ผมยังคุยกับอาจารย์เชษฐา ซึ่งเป็น Co-Founder ช่วยกันทำ Meticuly เลยว่า ขนาดหมอช่วยคนมาเยอะมากๆ คงมีความสุข แล้วเราเป็นวิศวะ พอได้ทำงานนี้ได้ช่วยคนเหมือนกัน ผมว่ามันดีมากๆ

เป็นอาจารย์มาทั้งชีวิตแล้วต้องมาทำ Meticuly ซึ่งเป็นสตาร์ตอัป ไหนจะมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจารย์ปรับตัวอย่างไร  

          ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า ตำแหน่งใน Meticuly ผมเป็นที่ปรึกษา ผมไม่มีโต๊ะทำงาน เราก็ยังเป็นอาจารย์อยู่ ในทีมมี MD ที่ทำงานฟูลไทม์ มี Account Manager, Marketing คือทุกฟังก์ชั่นที่บริษัทหนึ่งควรจะมี ผมเองไม่ควรมาทำตรงนี้ เพราะจะเกิดความขัดแย้งบางอย่าง เป็นโมเดลที่ผมได้จากตอนไปเรียนที่อเมริกา อาจารย์ผมเป็น Advisor เป็น Co-Founder แต่ไม่ได้เป็นซีอีโอของบริษัท และควรจะเป็นหน้าที่ของคนอื่นด้วย

          ซึ่งผมคิดว่าโมเดลแบบนี้จะทำให้เกิดเป็น Wave ของสตาร์ตอัปแนว Deep Tech ที่ดึงเอา Core Technology ออกจากมหาวิทยาลัยได้จริงๆ แล้วก็ให้ลูกศิษย์เป็นคนรัน อย่างจะทำเรื่องการจดสิทธิบัตร ก็ต้องเป็นน้องๆ เราไปคุย ไม่ใช่ผมเป็นคนคุย คือคุณต้องเรียนรู้ และผมเองอยากสวกหมวกอาจารย์มากกว่า แล้วก็ Spin Off ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ Spin Out (หัวเราะ)

คือมองว่าไม่ควรสวมหมวกสองใบ เป็นทั้งอาจารย์และซีอีโอใช่ไหม

          ใช่ครับ เพราะในบริบทของอาจารย์จริงๆ ไม่ใช่แค่สอน แต่คือการสร้างคน ครอบครัวผมหลายคนเป็นศิษย์เก่าวิศวะ จุฬาฯ ทุกคนก็จะภูมิใจในความเป็นผู้สร้าง ถูกเรียนมาให้เข้าใจหลักกลศาสตร์ การออกแบบโครงสร้างอาคาร แต่ในปัจจุบัน ถ้าคุณสังเกต โรงงานข้ามชาติเข้ามา และเริ่มทรีตให้เราเป็นผู้สร้างน้อยลง แต่เป็นผู้ทำตามแบบ มักมีผู้ใหญ่พูดว่า “ใส่ตามรู ดูตามแบบ” กลายเป็น QC Engineer มีลิสต์มาให้ เช็ควัดขนาด ซึ่งผมว่าศักยภาพของคนไทยเกินกว่านั้น

          ตอนเย็นๆ คุณลองไปเดินดูแถวตึกธนิยะ เห็นคนญี่ปุ่นมาอยู่เมืองไทยเยอะมาก เพราะเขาไม่อยากให้คนไทยเป็นผู้บริหาร คนไทยจะโตได้แค่จุดหนึ่ง แล้วก็เป็นที่รู้กันว่า เราอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) คือเอาเงินเดือนไป ก็แฮปปี้ละ พออยู่ได้ วันดีคืนดี ที่เวียดนามถูกกว่า เขาก็ย้ายไปเวียดนาม ซึ่งสิ่งที่ผมพูดคงใช้เหมารวมไม่ได้ แต่เราก็เห็นว่ามีเทรนด์แบบนี้อยู่

อาจารย์มองสตาร์ตอัปในเมืองไทยอย่างไร แนว Deep Tech แบบ Meticuly ก็ยังมีอยู่น้อยมากๆ

          ผมว่าการทำแอปพลิเคชัน อินเทอร์เน็ตอะไรที่ไม่ได้ดูเป็น Deep Tech จริงๆ เป็น Wave แรกที่สำคัญมาก การที่บริษัทกลุ่มนั้นจะอยู่รอดได้ก็ต้องมี Deep Tech นะ จริงๆ แล้ว อย่าง Google ก็เป็นอินเทอร์เน็ต การที่คุณเสริชชื่อตัวเองลงไป แล้วใช้เวลาไม่กี่วินาทีได้ผลลัพธ์ออกมา มันแสดงให้เห็นว่าบริษัทมี Deep Tech ที่ทำให้ยั่งยืน อยู่รอดได้ และยูนีคกว่าคนอื่น  

          ผมมองว่าตรงนี้สำคัญมาก แต่ประเทศไทยไม่เหมือนเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน หรือญี่ปุ่น ในมุมการศึกษา คนไทยเชื่อว่าเรียนป.โท ป.เอก หางานทำยาก ขณะที่อยู่เกาหลีใต้นะ ถ้าเรียนถึงป.เอก คุณได้เงินเดือนสูงมาก คราวนี้ก็ต้องมองด้วยว่า มันมีเทรนด์ของคนที่ไม่อยากเรียนต่อ ยกตัวอย่างคนที่มาเรียนป.โทกับผม บางทีมาจากมหาวิทยาลัยอื่นที่เขาอยากเรียนจุฬาฯ แต่เด็กจุฬาฯ ที่จะเรียนต่อกลับไม่ค่อยมี เด็กวิศวะหลายคนไปเรียนการเงินบ้าง บริหารบ้าง ซึ่งมันไม่ได้อยู่ในสาย อย่าลืมว่าการเงินก็มี Deep Tech อยู่เหมือนกัน

          อย่างแรก เรายังต้องการบุคลากรที่เรียนป.โท และป.เอก มากกว่านี้ เพราะเป็นพื้นฐานหลักของการสร้างสตาร์ตอัปสาย Deep Tech ต้องเปลี่ยนความเชื่อใหม่ และสร้างสตอรีของสายนี้ที่ว่าประสบความสำเร็จได้เช่นกัน แล้วมันจะดึงให้คนกลับมาเรียนต่อได้ แล้วผมว่าประเทศเราจะไปได้ไกล และไปได้เร็ว

          อย่างที่สอง ระบบการศึกษา ที่อาจารย์โตมาด้วยการตีพิมพ์งานวิจัย พอจะเผยแพร่งานวิจัยก็ทำเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพอมันไม่เป็นความลับ ฝรั่ง จีนก็ทำตามได้ ลองไปดูลองญี่ปุ่น เขามีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นเยอะมาก คือคุณต้องอ่านภาษาญี่ปุ่นออกถึงจะลอกเลียนแบบได้

          ขณะอีกส่วนหนึ่ง อาจารย์ที่ทำสตาร์ตอัปมักถูกมองว่าอยากรวย ทำไมไม่มองว่าเป็นการเอางานวิจัยลงมาจากหิ้ง แล้วไม่ได้ทำให้หน้าที่การงานเขาโตขึ้นนะ ผมยังเป็น ผศ.ดร. อยู่จะเป็นสิบปีแล้ว เพื่อนผมมีงานตีพิมพ์เยอะๆ ได้เป็นศาสตราจารย์กันแล้ว ถ้าเราเปลี่ยนบริบทตรงนี้ได้ ตัดความรู้สึกแง่ลบออกจะดีมากๆ

เห็นอาจารย์เคยบอกว่าอยากให้สิ่งที่ทำอยู่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ผ่านประกันสังคมหรือบัตรทอง มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

          ความยากคือระบบของประเทศไทยเองไม่ง่าย ผมเคยผ่าตัดหัวเข่าโดยใช้สิทธิประกันสังคม คืออยากรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร ซึ่งพบว่ามันก็ไม่ง่ายที่เราจะเข้าไปในสิทธิเบิกได้ มีความซับซ้อนอยู่ เพราะมันจะมีงบประมาณอยู่ก้อนหนึ่ง ถ้าเอาของเราเข้าไป ก็ต้องเอายาอีกตัวออกมา

          เราก็ต้องหาวิธีที่จะช่วยคนไทย โมเดลหนึ่งก็น่าสนใจเหมือนรองเท้า TOMS คือใครที่มีเงิน หรือโรงพยาบาลเอกชน เราก็ทำดีๆ ให้เขาไปเลย แล้วก็แบ่งเงินตรงนั้นมาช่วยคนยากไร้ แต่ราคาที่เราคำนวนว่าเราเองก็อยู่รอดได้ เป็นความท้าทายที่ผมเองก็ไม่ถนัดทางด้านธุรกิจเลยจริงๆ

          ตัวราคาเป็นประเด็นที่คิดหนักมาก เราอาจจะเข้าในโรงพยาบาลเอกชนก่อน แล้วถ้ามีโอกาสเข้าไปในพวกประกันสังคม อาจจะลองปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อให้ต้นทุนมันถูกลง คนทั่วไปก็มีโอกาสได้ใช้มากขึ้น อาจจะเปลี่ยนดีไซน์จาก Fully Customize มาเป็น Partial Customize เหมือนเราไปตัดสูทตัด ที่เดี๋ยวนี้มีแบบกึ่งๆ สำเร็จรูป ให้เราปรับเปลี่ยนได้นิดหน่อย ซึ่งก็เป็นแผนในอนาคต

แล้วอย่างกระทรวงสาธาณสุขหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง อาจารย์ได้ลองเข้าไปนำเสนอหรือยัง

          สำนักงานหลักประกันสุขภาพ ก็อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ก็ยังยากอยู่ โรงพยาบาลในเครือสาธารณสุขมีหลายแห่งที่เราควรจะเข้าไปได้ แต่คือเขามีคณะกรรมการจริยธรรม ซึ่งใช้เวลานานมากกว่าจะขอได้ ซึ่งถ้าเราได้ ISO ก็จะช่วยให้ได้เร็วขึ้น คงเป็นปีที่ต้องพิสูจน์ตัวเองเยอะมาก นอกเหนือจาก Comfort Zone ที่มี (หัวเราะ)

ดูเหมือนว่าหนทางยังอีกยาวไกล

          ที่เล่ามาดูเหมือนเส้นทางข้างหน้ามืดมาก แต่เราก็ยังเห็นแสงสว่างอยู่บ้าง ผมเคยไปประชุมที่หนึ่ง หมอบางคนก็จะแบบไม่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม มีรีเทลยาเจ้าใหญ่มารอรับไปกินข้าวเย็น ไปตีกอล์ฟ แต่มีคนที่ยังอยู่ในที่ประชุม เป็นคนแบบผม คือนักวิชาการ สนใจในสิ่งที่เราทำ คนแบบนี้นี่แหละทำให้ผมอิ่มใจ อาจจะไม่มากนัก แต่ก็รู้ว่ายังมีอยู่ เขาจะเป็นหมอนักวิชาการ แล้วเป็นอาจารย์ที่อยู่ในโรงเรียนแพทย์ แค่นี้ผมว่าท้องฟ้ามันก็สวยมากแล้ว ตอนนี้ที่เราทำคือ ต้องบริหารจัดการกับ Resources ของเรา และการผลักดันให้เข้าสู่สิทธิที่เบิกได้

 

Fact Box

  • ผศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักเรียนทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมวัสดุ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจนถึงระดับปริญญาเอก เคยได้รางวัล  ‘นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่’ ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี 2556 และนักโลหวิทยารุ่นใหม่ดีเด่นประจำปี 2558
  • Meticuly สตาร์ตอัปที่ผลิตกระดูกเทียมจากโลหะไทเทเนียม ก่อตั้งในปี 2017 โดยเข้าร่วมโครงการ DVAb1  Digital Ventures Accelerator Batch 1) และคว้ารางวัล Gold Prize ควบคู่รางวัล Popular Vote
Tags: , , ,