ผมรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งเมื่อเห็นหนังสือถูกขังไว้ในตู้ที่ล็อคกุญแจแน่นหนา และทุกครั้งความขึ้งโกรธก็จะยื่นมือผมไปเขย่าประตูตู้แรงๆ จากนั้นความโกรธก็จะกลายเป็นความชิงชังรังเกียจที่ที่กักขังหนังสือเหล่านั้นและก่นด่าสาปแช่งผู้ที่สั่งการ
มันเหมือนอาการ ‘ติด’ เมื่อไม่ได้ ‘เสพ’ แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่เกิดหลงรักหนังสือและหลงใหลโลกแห่งการอ่านขึ้นมาแล้ว เขาหรือเธอก็ไม่อาจถอนตัว
แล้วเราจะพบว่าเวลาต้องนั่งรออะไรนานๆ หรือเวลาที่เราเล่นมือถือท่องโลกโซเชียลอย่างไรก็ตาม แต่จังหวะหนึ่งเราจะคิดถึงสัมผัสของหนังสือขึ้นมา และถ้าบังเอิญว่าเราไม่มีหนังสือติดตัวมาก็จะมองหามัน เมื่อเห็นเราก็จะตรงไปหยิบทันที
เย็นวันหนึ่ง ผมพาลูกไปหาหมอหลังเลิกเรียนที่โรงพยาบาลทหารในอำเภอวารินชำราบ นอกจากจะใกล้บ้านที่สุด ที่นี่ยังให้ยาดีกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ ของรัฐ แม้จะต้องเสียค่าบริการนอกเวลา 100 บาทต่อเคส แต่เราไม่ต้องเสียค่ายาหรือค่ารักษาเพราะใช้สิทธิเบิกจ่ายตรง
ที่ข้างห้องตรวจมีอุปกรณ์เด็กเล่น ถือว่าเป็นสนามเด็กเล่นในร่มย่อมๆ เลยก็ว่าได้ และมีตู้หนังสือเด็กอยู่สองตู้ มีป้ายเขียนบอกไว้ด้วยว่า ‘หนังสือน่าอ่าน’ เมื่อลูกคนเล็กอยากให้อ่านหนังสือให้ฟัง ผมก็พาเดินไปเลือก แต่ตู้ล็อคกุญแจ หนังสือถูกคุมขังอยู่ข้างใน!
รูปการณ์แบบนี้มันทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์ในวัยเรียนชั้นประถมฯ ของตัวเองเมื่อ 30 กว่าปีก่อน
ตลอดชีวิตของการเป็นนักเรียนประถมฯ (ชั้นเด็กเล็ก—ป.6 ช่วงปี 2526—2532) ที่โรงเรียนบ้านเกิดในจังหวัดกาฬสินธุ์ ผมไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสืออื่นเลยนอกจากหนังสือเรียน แต่ถ้าจะพูดให้จริงที่สุด แม้แต่หนังสือเรียนเราก็มีไม่ครบ ครูเลยต้องให้นั่งเป็นกลุ่มละ 6–7 คน มีหนังสือเรียนเล่ม–สองเล่มของเพื่อนที่พอมีเงินซื้อ เราก็อ่านให้กันฟัง ทำแบบฝึกหัดก็จากเล่ม–สองเล่มนั้นหรือไม่ก็อาศัยกระดานดำเป็นหลัก
เด็กอีสานที่เกิดและโตมาในยุคสงครามเย็นและหลังสงครามเย็นใหม่ๆ จะมีสภาพแบบนี้
ตลอดเวลาการเรียนชั้นประถมฯ ผมไม่เคยได้อ่านหนังสือในห้องสมุดเลย ถามว่าห้องสมุดมีไหม มี แต่พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นที่เก็บเอกสารเก่า ผมจำได้ว่าตอน ป. 3 เรียนอยู่ใต้อาคารที่พื้นเป็นดิน ชั้นบนเป็นห้อง ป.5–6 ห้องพักครู ห้องพยาบาลและห้องสมุด ในนั้นผมเห็นหนังสือสามก๊กฉบับวณิพก (ตอนนั้นไม่รู้ว่าวณิพกแปลว่าอะไร รู้จักแต่เพลงวณิพกของคาราบาว) ผมเคยฟังเรื่องสามก๊กจากพี่เขย—ที่เขาฟังจากคนเล่าเรื่องสามก๊กออกอากาศทางวิทยุ ผมตื่นเต้นอยากจะอ่านมาก แต่มันอยู่ในตู้เล็กๆ ติดกระจกและใส่กุญแจไว้
ครั้งเดียวที่ผมได้อ่านหนังสือจากห้องสมุดคือตอนอยู่ ป.6 ตอนนั้นมีโครงการสารานุกรมนักเรียนมาถึงโรงเรียนของเรา ครูห้องสมุดให้นักเรียนแต่ละห้องเอามาเปิดดูได้ ยังจำได้เลยว่าผมอ่านเรื่องกำเนิดเครื่องบิน เพราะสนใจวิทยาศาสตร์ เรื่องในเล่มเริ่มตั้งแต่มีคนที่ฝันอยากบินได้เหมือนนก ถึงขั้นเอาขนนกมาติดแขนด้วยขี้ผึ้ง แต่แล้วมันก็ละลายเพราะความร้อนของแดด เรื่อยมาจนถึงสองพี่น้องตระกูลไรต์ (ออร์วิลล์ และ วิลเบอร์ ไรต์—นี่ผมยังจำชื่อของพวกเขาได้อยู่เลย) แต่ยังอ่านไม่จบก็หมดชั่วโมงและต้องคืนหนังสือ
จากนั้นหนังสือก็ถูกเก็บไว้ในตู้อย่างดีราวสมบัติล้ำค่าที่มือมอมๆ ของนักเรียนบ้านนอกไม่คู่ควรพอได้สัมผัส แต่ในส่วนของนักเรียนเรารู้สึกว่าหนังสือเหล่านั้นโดนคุมขังไว้ในตู้คล้ายเด็กที่ถูกลงโทษและนักโทษ (เหมือนในหนังกลางแปลงและละครทีวีที่เราได้ดู) และมีวันเยี่ยมญาติได้ปีละครั้ง (เลวร้ายกว่านักโทษอีก) คือในวันที่มีคนมาตรวจคุณภาพของโรงเรียน
อาจจะมีคำถามตามมาว่า แล้วทำไมพ่อแม่หรือพี่ๆ ไม่ซื้อหนังสือให้อ่าน อย่างบ้านเกิดของผมก็อยู่ห่างตัวจังหวัดกาฬสินธุ์แค่ประมาณ 10 กิโลเมตร
ผมไม่อยากโทษทัศนคติหรือค่านิยมต่อหนังสือและการเรียนรู้ของประชาชน แต่อยากชี้ให้เห็นสภาพจริงที่ไม่สอดคล้องกัน
ผมจำได้ว่าตอนนั้นค่าแรงพี่ชายที่เป็นช่างไม้ ช่างปูนงานก่อสร้างในจังหวัดอยู่ที่ 50–85 บาท/วัน ส่วนพี่ชายและพี่สาวที่เป็นกรรมกรธรรมดาอยู่ที่ 20–35 บาท/วัน คนรับจ้างถอนกล้า ดำนาได้วันละ 25 บาท ลองเทียบค่าแรงขั้นต่ำในช่วงนั้นกับที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งด้วยความต่างแบบนี้แหละ ต่อมาจึงมีการอพยพแรงงาน ทำให้หมู่บ้านในอีสานร้างเหลือแต่เด็กและคนแก่ เด็กๆ ขาดความอบอุ่น แต่ด้วยค่าแรงแสนต่ำนั้น เราต้องซื้อผงชูรส น้ำปลา น้ำตาล ไข่ เหล้า เบียร์ สมุด ปากกา ดินสอ แบบเรียน ชุดนักเรียน น้ำมัน หนังสือ ฯลฯ ในราคาเดียวกันทั่วประเทศ
สภาพในปัจจุบันนี้เหมือนจะแตกต่าง แต่เอาเข้าจริงมันได้ไม่ต่างกันเลย ยกตัวอย่างนักศึกษาในภาคอีสานได้ทุนกู้ยืมจาก กยศ. น้อยกว่านักศึกษาที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลค่อนข้างมาก แต่ต้องซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคในราคาเดียวกัน บางกรณีแพงกว่าด้วย เช่น ค่าเดินทาง เพราะในภาคอีสานไม่มีระบบขนส่งมวลชนอย่างกรุงเทพฯ (นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่ามีแหล่งจ้างงานไหนบ้างที่ให้ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนดที่ 300 บาท/วัน)
สรุปก็คือเงินหรือรายได้ไม่สอดรับกับราคาหนังสือ จึงซื้อหนังสือไม่ได้ หรือหากซื้อ มันก็จะกระทบชีวิตส่วนอื่นที่สำคัญกว่าก็เลยไม่ซื้อ
พอหันไปพึ่งองค์กรรัฐอย่างห้องสมุด ก็เป็นอย่างที่ผมประสบ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่าในห้องสมุดมีหนังสือดีๆ มากน้อยแค่ไหน เพราะแทบจะทุกที่ใช้ระบบประมูลเสนอซื้อ/ขาย พูดง่ายๆ ก็คือหนังสือส่วนใหญ่ที่มีการสั่งซื้อเข้าห้องสมุดไม่ได้ผ่านการคัดสรรอย่างจริงจังและอิสระของบรรณารักษ์ (ยกเว้นหนังสือรางวัลซีไรท์ที่อย่างไรเสียก็ต้องสั่งเล่มที่ชนะการประกวดในปีนั้นเข้ามา) แต่ผ่าน ‘ส่วนต่าง’ ที่ตัวแทนหรือบริษัทหนังสือจะให้มากกว่า นั่นหมายความว่าทางห้องสมุดแทบจะไม่มีสิทธิ์เลือกหนังสือเองด้วยซ้ำ
ทั้งที่จริงแล้ว หนังสือในห้องสมุดส่วนหนึ่งควรผ่านการเลือกสรรอย่างดีของบรรณารักษ์ที่รักการอ่านและรู้จักหนังสือ และส่วนหนึ่งควรถูกเลือกจากประชาชนหรือสมาชิกห้องสมุด—เช่นในสถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษา เจ้าหน้าที่ คนทำงานทุกคน เพื่อตอบสนองชีวิตและความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขาให้มากที่สุด
ปัญหานี้ของผมถูกแก้ไขเมื่อตอนบวชเรียน ปีแรกเริ่มจากการที่พระอาจารย์ที่พาไปบวชอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิซื้อหนังสืออ่าน (ส่วนใหญ่เป็นนิตยสาร เช่น ต่วย’ตูน เพราะชัยภูมิเป็นจังหวัดเล็กๆ ไม่มีร้านหนังสือมาตรฐาน ส่วนใหญ่เป็นแผงหนังสือและร้านขายหนังสือเรียน) อ่านจบแล้วท่านก็ยื่นให้
ต่อเมื่อปีที่สองได้ย้ายมาอยู่จังหวัดสุรินทร์ และได้พบกับพระอาจารย์อีกท่านที่เป็นนักอ่านและมีหนังสือในห้องหลายร้อยเล่ม เมื่อรู้ว่าผมฝักใฝ่ในการอ่านหนังสือ เวลาท่านไปร้านหนังสือก็พาผมไปด้วยและให้ผมเลือกหนังสือที่อยากได้แล้วก็ซื้อให้ เพราะเณรในเมืองในภาคอีสานส่วนใหญ่สมัยนั้น (พ.ศ. 2533–2540) ไม่มีรายได้ เรียนอย่างเดียว ญาติโยมไม่นิยมใส่บาตรด้วยเงินและกิจนิมนต์ก็เป็นเรื่องของพระ ถ้าจะมีรายได้ก็ต้องจบนักธรรมเอก (ปีที่ 4 ของการบวช ถ้าสอบไม่ตก) แล้วสมัครเป็นอาจารย์สอนนักธรรมได้เงินเดือน 300 บาท หรือไม่ก็ต้องสอบบาลีให้ได้ประโยค 4 แล้ว (ปีที่ 4 ของการบวชถ้าสอบไม่ตก) สมัครเป็นอาจารย์สอนภาษาบาลี ได้เงินเดือน 500 บาท สอน 6 วันต่อสัปดาห์ วันละ 2 ชั่วโมง
กระทั่งผมอายุ 18 ปีและได้เป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาบาลีนั่นแหละ ผมจึงได้ซื้อหนังสือด้วยเงินของตัวเองแบบเบ็ดเสร็จ
เด็กผู้ชายอีสานที่เข้ามาบวชเรียนล้วนเป็นคนต้นทุนทางสังคมต่ำ การเรียนของพระเณร โดยเฉพาะสายสามัญก็ใช่ว่าจะดี (ไม่ดีเอามากๆ ก็ว่าได้ถ้าเปรียบเทียบกับโรงเรียนข้างนอก ยกเว้นบางวิชา) นั่นจึงเป็นแรงผลักดันให้พวกเราคร่ำเคร่งกับหนังสือและตำรา เพื่อนพระ—เณรบางคนถึงขั้นท่องหนังสือเรียนได้หมด ท่องทุกอย่างที่ขวางหน้า ส่วนใหญ่เพื่อนประเภทนี้มักไปเรียนกฎหมายเพื่อเป็นทนาย ส่วนผมและแนวๆ ผมที่หลุดเข้ามาในโลกของหนังสืออันหลากหลายก็จะตะลุยอ่าน อ่านให้มากที่สุดเท่าที่จะอ่านได้
ผมว่านี่เป็นการแสดงออกของอาการกระหายอยากที่จะทัดเทียม เท่าเทียมผู้คนอีกส่วนหนึ่งของสังคมที่ได้เปรียบพวกเรา
แต่บางทีผมก็นึกถึงเพื่อนที่ยากจนที่ไม่ได้มาบวชเรียนด้วยกัน โดยเฉพาะเพื่อนผู้หญิงที่ไม่แม้แต่จะมีสิทธิ์มาบวชเรียน ผมเข้าใจเลยว่าทำไมพระหรือเณรรุ่นพี่บางรูปถึงส่งเงินทุกบาทที่ได้ไปให้แม่ส่งน้องสาวเรียน หรือบางรูปหลบไปช่วยพ่อแม่นวดข้าวในตอนกลางคืนจนเสร็จลาน
และเมื่อมองย้อนกลับไป ผมมักจะเห็นฉากประสบการณ์เกี่ยวกับหนังสือเหล่านี้สลับกับชะตาชีวิตของเด็กร่วมสมัยของผมตอนนั้น แต่ละคนและคำถามต่างๆ จะวนเวียนซ้ำซากอยู่แต่ว่า
ทำไมพวกเราไม่ได้อ่านหนังสือ?
ถ้าวันนั้นพวกเราได้อ่านหนังสือ ชีวิตของพวกเราจะเป็นอย่างไร?
ทำไมหนังสือดีๆ ไม่ถึงมือพวกเรา?
ถ้าหนังสือดีๆ ถึงมือพวกเรา มันจะนำทางพวกเราไปสู่ชีวิตแบบไหน?
Tags: คนขายหนังสือ