ใครคือ อาร์เธอร์ เลส ?

ดูเขาสิ นั่งไขว่ห้างเอนหลังพิงเบาะผู้โดยสารบนเครื่องบิน สวมสูทสีน้ำเงินตัดกับเสื้อเชิ้ตขาวสะอาดตา สูดลมหายใจข่มความรู้สึกตื่นเต้นเป็นกังวลขณะที่เครื่องบินกำลังจะลงจอด ณ จุดหมายปลายทาง ภารกิจของเขากำลังจะเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง เขารู้แผนการเดินทางและรายละเอียดภารกิจในการเดินทางแต่ละครั้งเป็นอย่างดี แต่แผนการของชะตากรรมล่ะ? ใครเล่าจะล่วงรู้ 

แววตาเลื่อนลอยระคนหม่นเศร้าของเขาทอดมองทัศนียภาพจากที่นั่งริมหน้าต่าง น่านฟ้าของแต่ละเมืองเปรียบประหนึ่งม่านละครเวทีที่กำลังจะถูกเปิดออก ละครแห่งชีวิตที่กำลังรอเขาอยู่ ดูเขาสิ ราวกับเทพบุตรผู้ถูกสาปให้ต้องเผชิญชะตากรรมในเมืองแปลกหน้า เราได้แต่หวังว่าชีวิตจะไม่โหดร้ายกับเขาจนเกินไปนัก

เบาะที่นั่งข้างๆ อาร์เธอร์ เลส คือเด็กหนุ่มผมฟูผู้กำลังจมหายไปในนิยายเล่มหนาของนักเขียนยอดนิยม แน่ล่ะ เขาไม่รู้แม้แต่น้อยว่าชายสวมสูทสีน้ำเงินข้างๆ เขาคือนักเขียนเกย์ชาวอเมริกันวัย 49 ที่เขียนนิยายมาแล้วหลายเล่ม ประสบความสำเร็จกลางๆ ค่อนไปทางถูกหลงลืม ต้นฉบับนิยายเรื่องล่าสุดของเขาถูกสำนักพิมพ์เมินเฉยอย่างไม่รู้สาเหตุ 

และที่แย่ที่สุดในตอนนี้  เฟรดดี้ ชายหนุ่มที่คบหากับเลสมานาน 9 ปี กำลังจะแต่งงานกับชายหนุ่มอีกคนหนึ่ง คนที่เขาคิดว่าใช่ เลสอดถามตัวเองไม่ได้ว่ายังมีคนที่ ใช่ กว่าตัวเขาอีกหรือ? หรือว่าความรักของพวกเขามาถึงวันหมดอายุแล้ว? แต่เลสไม่ใช่คนประเภทตีโพยตีพาย เขาจูบลาเฟรดดี้ในวันหนึ่ง จูบลึกซึ้งเนิ่นนานแบบ เลสๆ แล้วปล่อยให้เฟรดดี้จากไป เขาแก่เกินกว่าจะร้องไห้ฟูมฟายแล้วหรือเปล่า? ไม่รู้สิ แต่คนเราก็มีวิธีร้องไห้หลายวิธี 

สำหรับเลสแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่เขาจะต้องไปร่วมงานแต่งงานของเฟรดดี้ เขาจะไปในฐานะอะไรล่ะ ไปยืนเก้ๆ กังๆ แสร้งยิ้มชื่นมื่นยินดี แล้วตบท้ายด้วยการอ่านบทกวีอวยพรคู่รักอย่างนั้นหรือ? นั่นไม่ใช่ตัวเขาอย่างแน่นอน

ดังนั้นแผนการเดินทางทั้งหลายจึงเริ่มขึ้น เริ่มต้นจากเดินทางจากแซนแฟรนซิสโกไปสัมภาษณ์นักเขียนที่นิวยอร์ก จากนั้นไปงานเสวนานักเขียนที่เม็กซิโก แล้วข้ามทวีปไปงานประกาศรางวัลทางวรรณกรรมที่อิตาลี ต่อด้วยการเป็นผู้บรรยายรับเชิญที่มหาวิทยาลัยในเยอรมนี จับพลัดจับผลูร่วมงานปาร์ตี้สังสรรค์ที่ฝรั่งเศส ขี่อูฐข้ามทะเลทรายสะฮาราไปฉลองวันเกิดครบ 50 ปีที่โมร็อกโก ข้ามทวีปไปนั่งปรับแก้ต้นฉบับนิยายเรื่องล่าสุดที่อินเดีย และจบลงที่ตระเวนชิมตำรับอาหารไคเซกิที่ญี่ปุ่น ทั้งหมดนี้คือแผนการเดินทางคร่าวๆ ของอาร์เธอร์ เลส 

นี่คือนิยายที่ว่าด้วยเรื่องราวอกหักรักคุดของนักเขียนเกย์วัย 49 จากประเทศโลกที่หนึ่งหรือ? ก็อาจใช่ แต่เรื่องราวอกหักรักคุดระหว่างเลสกับเฟรดดี้ก็เปรียบได้เพียงประตูบานหนึ่งในหลายๆ บานที่เปิดออกไปสู่ห้องหับหลากหลายที่รวมกันเป็นชีวิตของเขาเท่านั้น เช่นเดียวกับการเดินทางผ่านหลากหลายผู้คนที่พบเจอ หลายสถานการณ์ หลายเมือง และหลายประเทศ ก็เปรียบได้กับประตูแต่ละบานที่ถูกแง้มออกให้เห็นภาพชีวิตที่ซ่อนอยู่ด้านใน ชิ้นส่วนเล็กใหญ่ลดหลั่นกันไปของตุ๊กตาแม่ลูกดกที่ถูกกาลเวลาเหวี่ยงไปคนละทิศละทาง การเดินทางในแต่ละครั้งในแต่ละที่ที่เขาไปจึงเป็นการเดินทางเข้าไปในตัวเอง กลับไปหาตัวตนในอดีต ลิ้มรสชาติหวานขมของความทรงจำ การก้าวผ่านช่วงวัยและการเติบโตที่มอบบางสิ่งและพรากบางสิ่งไปจากชีวิต 

ราวกับผู้เขียนนิยายเรื่องนี้รู้ข้อจำกัดในนิยายของเขาเป็นอย่างดี เขาจึงเลือกวิธี ‘เดินเรื่อง’ ด้วยการ ‘เดินทาง’ ของตัวละคร เพื่อพาเรื่องราวถอยห่างออกมาจากความน่าเบื่อหน่ายของการหมกมุ่นครุ่นคิดของตัวละครในลักษณะที่หมุนวนในตัวเองและหยุดนิ่งกับที่ ทำให้เรารู้สึกว่าตัวละครมีการ ‘เคลื่อนที่’ จริงๆ แม้ในแง่หนึ่งเราจะรู้สึกว่าอาร์เธอร์ เลส ไม่ได้เดินทางไปไหนเลย เพราะหากลบฉากและสถานที่ในต่างบ้านต่างเมืองออกไป เราจะพบว่าตัวละครเพียงเดินวนเปิดประตูเข้าห้องนั้นออกห้องนี้ในห้องหับแห่งชีวิตตัวเองเท่านั้น

ความทึมเทาเศร้าหม่นของชีวิตถูกระบายสีสันสดใสลงไปด้วยการสร้างคาแร็กเตอร์ของอาร์เธอร์ เลส ให้ดูรื่นรมย์ เปล่งประกาย และเป็นมิตร เลสจึงดูเป็นตัวการ์ตูนตลกสมองใสที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร หากในขณะเดียวกันเขาก็ดูเปราะบางจนแทบปกป้องตัวเองไม่ได้ เขาพร้อมจะตกกระไดพลอยโจนและถูกพัดพาไปในสถานการณ์ไม่คาดฝันได้เสมอ แต่กระนั้น เลสก็มีความเข้มแข็งในแบบของเขา ผู้เขียนบอกกับเราว่าภูมิต้านทานชีวิตที่เลสมีคือการที่เขารู้สึกหวาดกลัวในทุกสิ่งทุกอย่างอย่างเท่าๆ กัน ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่น่ากลัวไปกว่ากัน เขาจึงพร้อมเผชิญกับทุกเรื่องราวด้วยจิตวิญญาณของความเป็นเด็ก ด้วยความห่ามห้าวแบบวัยหนุ่ม และด้วยความนิ่งสุขุมแบบวัยกลางคน

แม้ผู้เขียนจะเลือกเล่าเรื่องด้วยสไตล์โรแมนติกคอมเมดี้ เปลี่ยนการเดินทางของเลสให้เป็นเรื่องราวชุลมุนชวนหัวแบบละครซิทคอม พาตัวละครไปอยู่ในสถานการณ์อันยากลำบากให้ผู้อ่านลุ้นเอาใจช่วย แต่หากมองลึกลงไปในจิตใจของตัวละครแล้ว เราจะพบว่าใต้พื้นผิวของความชุลมุนชวนหัวนั้นคือความรู้สึกไม่มั่นคงและสับสนของตัวละคร เลสรู้สึกเสมอว่าเขาเหมือนเด็กที่อยู่ในร่างของชายวัยจวนจะห้าสิบ ไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปี ผ่านความล้มเหลว ผิดหวัง สมหวังในรัก ผ่านคมเขี้ยวของชีวิตมานับไม่ถ้วน เขาก็ไม่รู้สึกว่าตัวเอง ‘โต’ ขึ้นเลย ผิดกับสภาพร่างกายที่เหี่ยวย่นโรยราลงทุกวันซึ่งคอยเตือนเขาเสมอว่าเขาไม่ใช่เด็กอีกแล้ว ไม่ใช่เด็กหนุ่มวัยยี่สิบบนชายหาดวันนั้นผู้กลายมาเป็นคู่รักของรอเบิร์ต บราวน์เบิร์น กวีหนุ่มใหญ่เรืองนาม ไม่ใช่เด็กหนุ่มไร้เดียงสาคนนั้นที่นั่งอยู่ท่ามกลางวงสนทนาของนักเขียนและศิลปินกลุ่มรัสเซียริเวอร์ในตำนาน แน่ล่ะ ตัวเขาไม่ใช่ตำนาน เป็นแต่เพียงฉากหลังและเชิงอรรถของตำนานเท่านั้น

การเดินทางของเลสจึงเป็นการเดินทางกลับไปเยี่ยม ‘ผี’ ของความทรงจำ ผีของตัวตนและอดีตที่ตายไปแล้ว ในห้วงคำนึงครั้งหนึ่งเขาจึงกล่าวกับตัวเองว่าเขาคือผู้รอดชีวิตมาเล่าเรื่อง ทั้งเรื่องราวของเขาเองและของคนอื่น และอีกครั้งหนึ่งในบทสนทนาท่ามกลางทะเลทรายสะฮาราหลังผ่านการเดินทางอันแสนทรหดมาแล้ว เขาคือผู้รอดชีวิต ไม่ใช่รอดจากการเดินทางอันแสนทรหดและพายุทราย 

“…แต่เป็นเพราะพวกเขารอดจากทุกอย่างในชีวิต การหมิ่นหยาม ความผิดหวัง ความเจ็บช้ำน้ำใจ และโอกาสที่พลาดไป พ่อห่วยๆ งานห่วยๆ เซ็กซ์ห่วยๆ ยาห่วยๆ การเดินทาง ความผิดพลาด และการหกล้มหน้าคว่ำทั้งหมดในชีวิต เพื่อจะอยู่มาจนถึงห้าสิบ…” (หน้า 158)

มนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งนิยายเรื่องนี้คือเทคนิคการเล่าเรื่องที่แพรวพราวอย่างยิ่ง วิธีเล่าแบบเล่าทีละหลาย ๆ เรื่องพร้อมกัน เรื่อยเจื้อยเอ้อระเหยไปตรงโน้นทีตรงนี้ที เหมือนแขกผู้โดดเด่นในงานเลี้ยงเดินด้วยท่วงท่าผ่อนคลายสบายอารมณ์ไปทักทายคนโน้นคนนี้ในงาน ช่วงเวลาในปัจจุบันพาเราแฟลชแบ็กย้อนกลับไปยังช่วงเวลาในอดีตได้ทุกเมื่อ อดีตจึงค่อยๆ ผุดพรายขึ้นเมื่อความทรงจำหนึ่งกระโดดไปสู่ความทรงจำหนึ่ง 

ดังเช่นในบทแรกที่ผู้เขียนเริ่มต้นจากช่วงเวลาในปัจจุบันที่เลสนั่งรอสัมภาษณ์นักเขียนอยู่ในล็อบบี้โรงแรมแห่งหนึ่ง จากนั้นก็กระโดดข้ามไปเล่าถึงช่วงเวลาที่เลสได้รู้จักกับคาร์ลอส เพื่อนรักและคู่อริตลอดกาลของเขาเป็นครั้งแรก จากนั้นข้ามไปเล่าถึงตอนที่เขาได้รู้จักกับเฟรดดี้ในวัยหนุ่ม ย้อนกลับไปช่วงที่รู้จักกับเฟรดดี้ในวัยเด็ก และวกกลับยังช่วงเวลาปัจจุบันที่เขาจูบลาเฟรดดี้ไม่กี่วันก่อนที่เขาจะออกเดินทางและมานั่งรออยู่ในล็อบบี้โรงแรมแห่งนั้น ฯลฯ 

อดีตในที่เรียงร้อยกันเข้ามานี้จึงไม่ใช่อดีตแค่ห้วงเวลาเดียว แต่มีทั้งอดีตระยะใกล้และระยะไกลปะปนคละเคล้ากันไป เป็นอดีตของอดีตของอดีตที่ค่อยๆ ถูกรื้อค้นขึ้นมา การย้อนกลับไปสำรวจความทรงจำจึงไม่ใช่เพียงการมองอดีตผ่านกรอบของปัจจุบัน แต่คือการใช้อดีต ณ ห้วงเวลาหนึ่งมองย้อนกลับไปยังอดีต ณ อีกห้วงเวลาหนึ่ง ราวกับว่าเมื่อหยิบความทรงจำเสี้ยวหนึ่งขึ้นมาเพ่งมองด้วยแว่นขยายของปัจจุบัน ก็จะเห็นเสี้ยวเล็กๆ ที่แตกแขนงแยกย่อยออกไปไม่รู้จบ สภาวะความเปลี่ยนแปลงอันไม่รู้จบที่ทั้งประกอบสร้างและรื้อทำลายความเป็นตัวเราอยู่ตลอดเวลา

ผู้เขียนใช้ชั้นเชิงการเล่าแบบตัดสลับไปมานี้อย่างเฉียบขาดและอยู่มือ เส้นเรื่องที่แตกแขนงออกไปซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้เปรียบเสมือนเส้นเลือดหลายเส้นที่คอยหล่อเลี้ยงเรื่องเล่าให้มีชีวิตชีวา การเล่าเรื่องที่พาเราออกนอกเส้นทางบ่อย ๆ ดังกล่าวนี้ ยั่วล้อไปกับการเดินทางของตัวละครที่มักมีเหตุให้ต้องผิดแผนจนเผลอไผลออกนอกเส้นทางอยู่บ่อย ๆ ราวกับเป็นบอกเป็นนัยว่า สารัตถะที่แท้จริงของ ‘การเดินทาง’ คือการออกนอกเส้นทาง การออกนอกเส้นทางที่ทำให้รู้ว่าชีวิตจะค่อย ๆ หาหนทางของมันเอง เป็นหนทางที่อาจเราไม่รู้มาก่อนว่ามันมี

ความงดงามอีกอย่างหนึ่งของนิยายเรื่องนี้คือ ผู้เขียนซ่อนนัยของการวิพากษ์และล้อเลียนนิยายตัวเองไว้อย่างชาญฉลาด สวิฟต์ คือชื่อนิยายเรื่องล่าสุดของเลสที่ถูกสำนักพิมพ์เมินเฉย ซึ่งทำให้เลสต้องกลับมาคิดทบทวนว่าควรจะปรับแก้ต้นฉบับนิยายไปในทิศทางไหน ผู้เขียนโยนคำถามใส่เราผ่านบทสนทนาที่เลสคุยกับโซราห์ เพื่อนร่วมทริปทะเลทรายของเขาถึงนิยายเรื่องนี้ว่า

“มันเป็นเรื่องของเกย์วัยกลางคนที่เดินไปรอบๆ แซนแฟรนซิสโก และนั่นละครับ ความ…ความเศร้าสร้อยของเขา…”
โซราห์ถามว่า “เขาเป็นชายวัยกลางคนผิวขาวหรือคะ”
“ครับ”
“ชายวัยกลางคนผิวขาวชาวอเมริกันที่เดินไปเรื่อยๆ พร้อมแบกความเศร้าสร้อยแบบคนอเมริกันวัยกลางคนของเขางั้นหรือ”
“พระเจ้า น่าจะใช่ครับ”
“อาร์เธอร์ ขอโทษนะที่ต้องบอกว่า มันยากอยู่สักหน่อยที่จะรู้สึกเห็นใจคนแบบนั้น”
“แม้จะเป็นเกย์หรือครับ”
“แม้จะเป็นเกย์”
(หน้า 152-153)

มันยากอยู่สักหน่อยไหมที่จะรู้สึกเห็นใจคนแบบเลส ? นักเขียนเกย์ผิวขาววัยกลางคนจากประเทศโลกที่หนึ่ง แม้ชื่อเสียงจะไม่โด่งดังมากนัก แต่ก็นับได้ว่าทรงเกียรติอยู่ในวิหารอันโอ่อ่าทางวรรณกรรมที่เลี้ยงดูปูเสื่อนักเขียนเป็นอย่างดี เกย์ผิวขาววัยกลางคนในแวดวงสังคมอันหรูหรา แม้จะไม่ร่ำรวย แต่ก็ไม่เคยตกระกำลำบากเพราะเพศสภาพของตัวเอง อยู่ในแวดวงชาวเกย์ฐานะดี อยู่ในประเทศที่เสรีภาพทางเพศได้รับการยอมรับ การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันถูกรับรองเป็นอย่างดี ไม่เคยมีสักครั้งที่ความเป็นเกย์ของเลสจะกลายเป็นอุปสรรคในชีวิต ยกเว้นก็แต่ครั้งหนึ่งที่ผลงานของเขาถูกวิจารณ์ ไม่ใช่เพราะเป็นนักเขียนที่แย่ แต่เพราะเขาเป็น ‘เกย์ที่แย่’ ต่างหาก คำกล่าวหานี้มาจากการที่เขาสร้างตัวละครในนิยายให้เป็นเกย์ที่ถูกโบยตีด้วยความทุกข์เศร้ามากจนเกินไป จนถึงขั้นว่าเขาอับอายในสิ่งที่ตัวเองเป็น

ปัญหาของเลสจึงไม่ใช่การ เป็นเกย์ ในแง่เพศสภาพ (gender) เพราะเขาไม่ได้เป็นเกย์ในสังคมที่กีดกันและไม่ยอมรับการเป็นเกย์ แต่คือการ ไม่เป็นเกย์ ในแบบที่สังคมซึ่งยอมรับและสนับสนุนความเป็นเกย์คาดหวังให้เป็น หรือพูดอีกแบบก็คือ เขาไม่ได้ถูกวิจารณ์ความเป็นเกย์ในแง่ของ gender แต่ถูกวิจารณ์ในแง่ของ political of identity ที่ความเป็นเกย์กลายเป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง เมื่อความเป็นเกย์กลายเป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง เลสจึงถูกคาดหวังจากสังคมชาวเกย์ในแวดวงวรรณกรรมว่าเขาควรจะมีจุดยืนและแสดงออกแบบใด หรือไม่ควรแสดงออกแบบใดที่สร้างภาพลักษณ์แง่ลบให้กับความเป็นเกย์ ดังนั้นเขาจึงกลายเป็น ‘เกย์ที่แย่’ เพราะไม่เป็นในสิ่งที่ถูกคาดหวังให้เป็น 

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ เราจะพบว่าตลอดนิยายเล่มนี้ไม่มีการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็น ‘ความเป็นเกย์’ เรื่องเพศสภาพ หรือความหลากหลายทางเพศเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าตัวเอกของเรื่องจะเป็นเกย์ก็ตาม น่าสนใจอย่างยิ่งว่านี่อาจเป็นได้ทั้งนิยายที่ปฎิเสธความเป็นการเมืองของความเป็นเกย์ และหาทางพูดถึงความเป็นเกย์ในแบบที่ปลอดพ้นไปจาก ‘การเมือง’ แต่ก็แน่ล่ะ การปฏิเสธความเป็นการเมืองก็คือการเมืองแบบหนึ่ง

Fact Box

เลส (Less)

Andrew Sean Greer เขียน

ศรรวริศา แปล

สำนักพิมพ์กำมะหยี่

นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัล Pulitzer Prize for Fiction ประจำปี 2018

Tags: ,