เมื่อเอ่ยถึงชื่อของนักเขียนอเมริกันคนสำคัญอย่าง เจ.ดี. ซาลินเจอร์ (J.D. Salinger) นักอ่านหลายท่านคงนึกถึงนวนิยายคลาสสิกเรื่อง The Catcher in the Rye (จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น) ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของโฮลเดน คอลฟิลด์ เด็กหนุ่มวัยมัธยมคนหนึ่งในโรงเรียนประจำที่ถูกสั่งพักการเรียน แต่แทนที่จะกลับบ้าน เขากลับออกนอกเส้นทาง เลือกเดินทางพเนจรไปตามที่ต่างๆ เพื่อเผชิญโลกตามลำพัง โลกที่เขาเห็นว่าน่ารังเกียจ โสมม และเต็มไปด้วยความจอมปลอม มันคือนวนิยายแห่งการก้าวผ่านช่วงวัย (Coming of age) และการแสวงหาตัวตนที่ตราตรึงอยู่ในใจของนักอ่านหลายๆ คน 

พล็อตเรื่องและตัวละครแบบ ‘วัยรุ่นหัวขบถผู้เกลียดโลก’ ดูจะเป็นโลกที่ซาลินเจอร์ให้ความสนใจอย่างเห็นได้ชัด นวนิยายเรื่อง แฟรนนี่กับโซอี้ (Franny and Zooey) ที่ผมจะกล่าวถึงในบทความนี้ เรียกว่าเป็นพี่น้องร่วมครรภ์เดียวกันกับโฮลเดน คอลฟิลด์ ใน The Catcher in the Rye ก็คงไม่ผิดนัก หาก The Catcher in the Rye คือความสับสนและภาวะใกล้บ้าของเด็กหนุ่มวัยมัธยม Franny and Zooey  ก็คือความสับสนและภาวะใกล้บ้าของเด็กสาววัยมหา’ลัย ผู้เผชิญกับวิกฤติเรื่องตัวตนและการดำรงอยู่

แฟรนนี่กับโซอี้ (Franny and Zooey) ประกอบด้วยเรื่องราวสองส่วนที่ต่อเนื่องกันคือ ส่วนแรก แฟรนนี่ ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กสาววัยมหา’ลัยชื่อ แฟรนนี่ กับ เลน แฟนหนุ่มของเธอ ที่เดินทางมาเจอกันในช่วงสุดสัปดาห์และหวังว่าจะได้ใช้ช่วงเวลาดีๆ ร่วมกัน แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นดังคาด เมื่อบทสนทนาของทั้งคู่ในร้านอาหารที่เริ่มจากการเย้าแหย่อย่างรักใคร่เอ็นดูในตอนแรก ค่อย ๆ ไต่ระดับไปเป็นการโต้เถียงรุนแรงจนทำลายบรรยากาศในการออกเดท พร้อมๆ กันนั้นผู้เขียนก็ฉายภาพให้เห็นว่าความสับสน อาการสติแตก และภาวะใกล้บ้าของแฟรนนี่ถูกเร่งอุณหภูมิขึ้นอย่างไรในระหว่างที่โต้เถียงกันกับแฟนหนุ่มของเธอ

ความสนุกของเรื่องราวในส่วนนี้อยู่ตรงที่ความเย้าแหย่ยียวนในบทสนทนาที่แฟรนนี่ใช้รับมือวิญญาณความเป็นหนุ่มเนิร์ดวรรณกรรมของเลน เขาพล่ามพูดและวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ ราวกับเขื่อนแตกโดยไม่สนใจว่าเธอจะอยากฟังหรือไม่ บางครั้งแฟรนนี่ก็โต้เถียงกับเขาอย่างตรงไปตรงมา บางครั้งก็ทำเฉไฉก่อกวนเพื่อหาทางเบนทิศทางการสนทนา 

ความพออกพอใจเล็กๆ น้อยๆ เมื่อได้เห็นว่าเขากำลังหัวเสีย การฟังเขาพูดแต่ไม่ฟังสิ่งที่เขาพูด การพูดคนละเรื่องเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ช่วยย้ำให้เห็นว่าเธอต่อต้านความคิดและจุดยืนในเรื่องต่างๆ ของเขาอย่างชัดเจน และยิ่งไปกว่านั้นคือการที่เธอค้นพบว่าทัศนคติ พฤติกรรม และผู้คนแบบที่เธอเกลียด กำลังสะท้อนออกมาให้เห็นในใบหน้าและคำพูดต่างๆ ของแฟนหนุ่มของเธอนั่นเอง เขากลายเป็นภาพแทนของทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอเกลียด ทั้งวิธีที่เขายกยกย่องชื่นชมบางสิ่ง และท่าทีที่เขาตำหนิเย้ยหยันบางอย่าง

 “ฉันรู้แค่ว่าฉันกำลังจะเสียสติแล้ว ฉันแค่เอือมกับอัตตา อัตตา อัตตา ทั้งของฉันเองและของทุกๆ คน เบื่อหน่ายที่ทุกคนต่างก็อยากจะไปสู่เป้าหมายบางอย่าง ทำอะไรสำคัญๆ เป็นคนที่น่าสนใจ มันน่าขยะแขยงน่าขยะแขยงจริงๆ นะ ใครจะว่ายังไงก็ช่าง” (หน้า 34)

หากเราถอดโครงสร้างในบทสนทนาโต้เถียงกันของทั้งคู่ออกมา จะพบว่ามีกระแสความคิดที่สวนทางกันอยู่สองส่วนหลักๆ คือ 

1) ในขณะที่เลนหมกมุ่นอยู่กับแวดวงนักเขียน ปัญญาชน และโลกวรรณกรรม แฟรนนี่กลับให้ความสำคัญกับคำถามที่ใหญ่กว่านั้น นั่นก็คือคำถามเรื่องตัวตนและการดำรงอยู่  

2) ในขณะที่โลกทัศน์ของเลนวางอยู่บนวิธีคิดแบบนักทฤษฎี แฟรนนี่กลับตั้งคำถามและแสวงหาความหมายของชีวิตผ่านการเป็นนักปฏิบัติและหันเหตัวเองออกไปสู่ชีวิตทางศาสนา

ภาพลักษณ์ความเป็นปัญญาชนบนหอคอยงาช้างของเลนจึงตัดกันอย่างรุนแรงกับวิถีทางที่แฟรนนี่กำลังแสวงหา ทุกสิ่งที่เลนคิดและเชื่อเป็นสิ่งกลวงเปล่าไร้ความหมายสำหรับแฟรนนี่ เธอทั้งไม่เชื่อเขาและไม่เชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อ และปฏิเสธในทุกสิ่งที่เขาเป็น

“…ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทุก ๆ คนทำมันช่าง—ไม่รู้สิ—ไม่ได้ผิด ไม่ได้เลวร้ายอะไรด้วยซ้ำ ไม่จำเป็นว่าจะงี่เง่า แต่ก็แค่จิ๊บจ้อยไร้ความหมาย และ—น่าเศร้า ที่แย่ที่สุดก็คือถ้าเราทำตัวติสต์แตกหรืออะไรบ้าบออย่างนั้น เราก็ยังมีส่วนร่วมเหมือนทุกๆ คนอยู่ดี เพียงแต่ด้วยวิธีที่ต่างออกไป” (หน้า 31)

แต่สิ่งที่กลายเป็นจุดแตกหักจริงๆ อยู่ตรงที่ตอนที่เลนเริ่มถามแฟรนนี่ว่าหนังสือที่เธอพกมาในกระเป๋าคือหนังสืออะไร ตอนแรกเธอพยายามบ่ายเบี่ยงและตอบอย่างขอไปที “ก็แค่หนังสือที่ฉันเอามาอ่านเล่นระหว่างนั่งรถไฟน่ะ” แต่ในที่สุดเมื่อพ่ายแพ้ต่อการคาดคั้นของเลน เธอจึงยอมเปิดปากบอกว่ามันคือหนังสือชื่อ วิถีของนักแสวงบุญ ซึ่งเป็นเรื่องราวของชาวนารัสเซียคนหนึ่งที่ “ต้องการค้นหาว่าไบเบิลหมายถึงอะไรตอนที่ระบุว่าเราควรสวดภาวนาอย่างต่อเนื่อง”

บทสนทนาเกี่ยวกับหนังสือ วิถีของนักแสวงบุญ ที่ควรจะเป็นสะพานเชื่อมให้ทั้งคู่กลับมาลงรอยกันอีกครั้ง กลับสร้างระยะห่างทางความคิดและความเชื่อให้ถ่างกว้างยิ่งไปกว่าเดิม เมื่อเรื่องราวที่แฟรนนี่หลงใหลมันอย่างลึกซึ้งกลับถูกเลนวิพากษ์วิจารณ์อย่างผิวเผินและดูแคลน จุดนี้เองที่ทำให้ความรู้สึกขยะแขยงชิงชังต่อ ‘อัตตา’ ของแฟรนนี่มาถึงจุดเดือด จนถูกแปรออกมาเป็นอาการหน้ามืดวิงเวียน  

เลนสังเกตเห็นว่าแฟรนนี่เริ่มมีอาการผิดปกติ (ก่อนจะหน้ามืดและเป็นลมล้มพับลงไปในท้ายที่สุด) แต่ดูเหมือนว่าเลนจะไม่เข้าใจ ‘ความนัย’ ของอาการที่แฟรนนี่กำลังเผชิญอยู่ เขาจึงเฝ้าแต่ถามว่าเธอเป็นอะไร ทั้ง ‘เป็นอะไร’ ในความหมายของความเป็นห่วงเป็นใย และ ‘เป็น (บ้า) อะไร?’ เมื่อรู้สึกว่าเธอพูดจาก่อกวนจนทำให้เขาหัวเสีย  คำว่า ‘เป็นอะไร’ ของเขาที่ขอบเขตของมันหยุดอยู่แค่ความผิดปกติของร่างกายและสภาพจิตใจ ไม่สามารถแตะลึกเข้าไปถึงคำว่า ‘เป็นอะไร’ ในความหมายของวิกฤติเรื่องตัวตนและการดำรงอยู่ที่แฟรนนี่กำลังเผชิญอยู่

ก่อนจะถึงเรื่องราวในส่วนของ โซอี้ ผมควรให้ข้อมูลแนะนำตัวละครไว้สักเล็กน้อย ทั้งแฟรนนี่และโซอี้เป็นพี่น้องในตระกูลกลาสที่มีพี่น้องรวมทั้งหมดเจ็ดคน ได้แก่ ซีมัวร์ (พี่ชายคนโต เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายไปเมื่อเจ็ดปีก่อนจะเกิดเหตุการณ์ในเรื่อง), บัดดี้ (พี่ชายคนรอง), บูบู, วอลท์กับเวเกอร์ (คู่แฝด), โซอี้ (น้องชายคนเล็กของตระกูล) และแฟรนนี่ (น้องสาวคนสุดท้องของตระกูล)

เราอาจเรียกพี่น้องทั้งเจ็ดคนในตระกูลกลาสได้ว่าเป็นเด็กอัจฉริยะ ทุกคนต่างฉายแววเฉลียวฉลาดตั้งแต่เด็กจากการผลัดกันไปออกรายการที่ชื่อว่า ‘หนูน้อยหัวใส’ รายการตอบปัญหาทางโทรทัศน์สำหรับเด็ก โดยในระยะเวลาหลายสิบปีที่ออกอากาศ พี่น้องตระกูลกลาสก็ผลัดกันไปออกรายการจนครบทั้งเจ็ดคน การไปออกรายการดังกล่าวกลายเป็น ‘ความทรงจำร่วม’ ที่ต่างบ่มเพาะความคิดและตัวตนของแต่ละคนในระดับที่แตกต่างกันออกไป

เรื่องราวของ โซอี้ คือเหตุการณ์ในส่วนถัดมาหลังจากที่แฟรนนี่เป็นลมล้มพับในร้านอาหาร ตอนนี้เธอกลับมาพักฟื้นที่บ้านแล้ว แต่ทว่าผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นก็ทำให้เธอนอนร้องไห้อยู่บนโซฟาทั้งวันโดยไม่ยอมกินอะไรหรือขยับลุกไปไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ คุณนายกลาส ผู้เป็นแม่ของพี่น้องทั้งเจ็ดคนทุกข์อกทุกข์ใจจนไม่เป็นอันทำอะไรที่เห็นลูกสาวต้องตกอยู่ในสภาพอย่างนั้น คนเดียวที่คุณนายกลาสหวังพึ่งเพื่อช่วยกันหาทางออกในตอนนี้ก็คือโซอี้

ในการเปิดตัวโซอี้ ผู้เขียนแนะนำให้เราทราบก่อนว่าตอนนี้โซอี้อายุ 25 ปี เป็นหนุ่มหล่อรูปงามที่กำลังเอาดีด้านการเป็นนักแสดง จากนั้นผู้เขียนจึงใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ด้วยสายตาของกล้องที่ค่อยๆ แพนไปตามการเคลื่อนไหวของตัวละครและรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ภายในฉาก ผู้อ่านจะค่อยๆ มองเห็นว่าตอนนี้โซอี้กำลังนอนอยู่ในอ่างอาบน้ำไปพร้อมๆ กับสูบบุหรี่และอ่านจดหมายจากบัดดี้ (พี่ชายคนรอง) จดหมายขนาดยาวอายุสี่ปีที่เขาหยิบมันมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื้อความส่วนใหญ่ในจดหมายคือทัศนะและความในใจของบัดดี้ที่มีต่อพี่น้องแต่ละคน โดยเฉพาะซีมัวร์ โซอี้ และแฟรนนี่ เราจะเห็นภาพชีวิตของครอบครัวนี้ชัดขึ้นผ่านจดหมายดังกล่าว รวมไปถึงความบ้าและความเพี้ยนพิลึกต่างๆ ที่แผ่เงาของมันปกคลุมทุกคนในครอบครัวนี้

เช่นเดียวกับในส่วนของ แฟรนนี่ ความสนุกของเรื่องราวในส่วนของ โซอี้ ก็ถูกขับเคลื่อนด้วยบทพูดและบทสนทนาระหว่างตัวละครที่เฉียบคมไม่แพ้กัน เราจะได้เห็นว่าหนุ่มน้อยรูปงามนามว่าโซอี้นั้นมีวาจาเชือดเฉือนและปากคอเราะรายเพียงใดเมื่อปะทะคารมกับคุณนายกลาสผู้ ‘บังอาจ’ เข้ามารบกวนความเป็นส่วนตัวของเขาขณะที่กำลังนอนแช่ในอ่างอาบน้ำและสูบบุหรี่อยู่ และในฉากต่อมาที่เขาพยายามจะพูดเตือนสติแฟรนนี่

อาจกล่าวได้ว่าบุคลิกและวิธีพูดจาแบบยียวนกวนประสาทของโซอี้ที่แสดงออกมาอย่างล้นเกินและ ‘เล่นใหญ่’ อยู่ตลอดเวลานั้น เป็นเสมือนเกราะป้องกันตัวที่เขาใช้รับมือคนสมาชิกทุกคนในครอบครัวก็ว่าได้ พูดง่ายๆ ว่าต้องมีดีกรีความบ้าในระดับนี้เท่านั้นจึงจะไม่กลายเป็นบ้าในครอบครัวที่แต่ละคนต่างมีความบ้าและความเพี้ยนพิลึกต่าง ๆ กันไปไม่มากก็น้อย 

ในส่วนของคุณนายกลาสเองนั้นแม้จะต้องยืนต่อปากต่อคำกับลูกชายสุดที่รักอย่างน่าระอา แต่ลึกๆ แล้วผู้อ่านจะรู้สึกว่ามันคือความภูมิอกภูมิใจอันแปลกประหลาดในแบบของเธอ ราวกับว่าการต่อปากต่อคำดังกล่าวกลายเป็น ‘เกมภาษา’ ประจำครอบครัวที่ทุกคนต้องร่วมเล่นเพื่อแสดงความรักใคร่ผูกพันที่มีต่อกัน แต่ทว่าเมื่อมองออกไปนอกครอบครัว สิ่งเหล่านี้กลับทำให้พวกเขากลายเป็นตัวประหลาด ดังที่โซอี้กล่าวกับแฟรนนี่ว่า

“ปัญหาคือตัวเราเอง… พวกเรามันเป็นตัวประหลาด ก็แค่นั้นเอง ไอ้พี่บ้าสองคนนั่นควบคุมเราไว้ตั้งแต่เล็กและทำให้เรากลายเป็นตัวประหลาดที่มีมาตรฐานประหลาดๆ… และเราก็จะไม่มีวันพบความสงบสุขไปตลอดชีวิต จนกว่าคนอื่นที่เหลือจะกลายเป็นตัวประหลาดไปด้วย… เรามีปมของโรค ‘หนูน้อยหัวใส’ ไม่เคยเลิกจัดรายการบ้านั่น เราทุกคนนั่นแหละ เราพูดจาปกติไม่ได้ เราต้องแสดงจุดยืน เราไม่คุย เราอรรถาธิบาย…” (หน้า 134)

นอกจากแฟรนนี่กับโซอี้แล้ว ตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่งในเรื่องที่แม้จะตายไปแล้วแต่ก็ยังเป็นเงาหรือผีที่คอยหลอกหลอนครอบครัวนี้อยู่ตลอดก็คือ ‘ซีมัวร์’ พี่ชายคนโต ผู้กลายเป็นเหมือนศาสดาประจำครอบครัว ที่ไม่ว่าใครต่างก็ต้องอ้างความคิดหรือคำพูดของเขา ซีมัวร์ฆ่าตัวตายระหว่างวันหยุดพักร้อนกับภรรยา ความตายที่เป็นเหมือนโศกนาฏกรรมโรแมนติกในแบบฉบับของบุรุษผู้จะกลายเป็นที่จดจำ แม้ตัวเขาจะตายไปแล้ว แต่ความตายของเขากลับมีชีวิตขึ้นมาในแบบของมัน โซอี้พยายามจะสลัดตัวเองให้พ้นจากร่มเงาของซีมัวร์ เขาเลือกอาชีพนักแสดง เป็นเส้นทางชีวิตที่อาจเรียกได้ว่าสวนทางกับความคาดหวังตามแบบฉบับของพวกต่อต้านหรือปฏิเสธสังคม ที่มักจะต้องมาพร้อมกับภาพของการถือสันโดษ เก็บตัวเงียบแสวงหาความหมายของชีวิตด้วยวิถีทางของนักบวช กวี หรือศิลปิน หาใช่การต้องยืนอยู่ท่ามกลางไฟสปอตไลท์แห่งชื่อเสียงในโลกมายาและการสวมหน้ากากเข้าหากัน 

แต่การที่โซอี้เลือกใช้ชีวิตแบบนี้ก็เป็นการยืนยันในอีกทางหนึ่งว่าการแสวงหาที่ทางของตัวเองไม่จำเป็นต้องทำตามแบบฉบับใด เขายังคงเป็นปัญญาชนโดยไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในแวดวงปัญญาชน เป็นผู้เกลียดปัญญาชนโดยไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในแวดวงผู้เกลียดปัญญาชน ไม่จำเป็นต้องยอมรับหรือปฏิเสธสิ่งใดไม่ว่าจะตามกระแสหรือสวนกระแส  เขาทั้งอยู่ในโลกและเหยียบโลกเอาไว้ เมื่อเขาค้นพบตัวเองแล้ว เขาก็ปล่อยมันให้เป็นอิสระ เขาค้นพบตัวเอง เขาจึงเป็นอิสระจากตัวเอง

“สิ่งเดียวที่ศิลปินควรใส่ใจคือการพุ่งเป้าไปที่ความสมบูรณ์แบบบางอย่าง และบนเงื่อนไขของเขาเอง ไม่ใช่เงื่อนไขของคนอื่น…” (หน้า 188)

Fact Box

แฟรนนี่กับโซอี้ (Franny and Zooey)

เจ.ดี. ซาลินเจอร์ (J.D. Salinger) เขียน

ปราบดา หยุ่น แปล

สำนักพิมพ์ไลต์เฮาส์ พับลิชชิ่ง

*หมายเหตุ: เรื่องราวของตัวละครที่ชื่อ ซีมัวร์ ปรากฏครั้งแรกในเรื่องสั้นชื่อ วันล่าปลากล้วยหอม (A Perfect Day for Bananafish) ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด เก้าเรื่องสั้น (Nine Stories) และปรากฏอีกครั้งอย่างเต็มตัวในเล่ม ซีมัวร์ (Raise High the Roof Beam, Carpenters and Seymour: An Introduction) ทั้งสองเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยปราบดา หยุ่น และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไลต์เฮาส์ พับลิชชิ่ง เช่นกัน