​เริ่มจากคำถามที่ว่า “What makes a city great?” ไปจนสู่บทสรุปที่เราได้จากหนังสือเล่มนี้ว่า ไม่มีคนใดคนหนึ่งหรืออย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ที่ทำหน้าที่นั้น แต่การเกิดขึ้นและเติบโตของเมืองใหญ่ระดับโลกสักเมืองหนึ่งนั้น มีวิวัฒนาการและกระบวนการที่ประกอบกันขึ้นจากปัจจัยน้อยใหญ่มหาศาล ยืดเยื้อยาวนานหลายศตวรรษ

โฌน เดอฌอง (Joan DeJean) ผู้เขียน The Age of Comfort: When Paris Discovered Casual—and the Modern Home Began (2009) ได้เขียนถึงปารีสอีกครั้ง โดยเธอได้ย้อนกลับไปถึงต้นศตวรรษที่ 17 และเล่าเรียงเรื่อยมาถึงตอนปลายของศตรรษที่ 19 เพื่อค้นหาความเป็นมาที่นำพาให้ปารีสกลายมาเป็นเมืองหลวงแถวหน้าของโลกตะวันตกในแง่ของความสะดวกสบาย ความทันสมัย สภาพเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู และได้นำเสนอเรื่องราวที่เธอค้นพบออกมาใน How Paris Became Paris: The Invention of the Modern City (2014) เล่มนี้

ถึงหนังสือเล่มนี้จะไม่ได้ตีพิมพ์ใหม่หมาด แต่มันก็ไม่ได้ล้าสมัย แถมเมื่ออ่านประกอบกันกับหนังสือเกี่ยวกับปารีสในยุคสมัยแห่งการพัฒนาเล่มอื่นๆ ยิ่งเห็นภาพมากยิ่งขึ้นไปอีกว่ามันเป็นยังไงมายังไง ปารีส—รวมถึงเมืองใหญ่เมืองอื่นในโลก ถึงสามารถพาตัวเองมาสู่จุดที่เมืองหลวงในประเทศโลกที่สามอย่างประเทศไทยได้แต่เฝ้ามองอยู่ห่างๆ

​เดอฌองเริ่มต้นเรื่องเล่าของเธอด้วยการพูดถึงการสร้างสะพานปงเนิฟ (Pont Neuf) ซึ่งเธอบอกว่าเป็นสัญลักษณ์ของปารีสในศตวรรษที่ 17 (ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรื่องเล่าในหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นขึ้น) เหมือนกับที่หอไอเฟลเป็นสัญลักษณ์ของปารีสในหลายศตวรรษให้หลังจนถึงปัจจุบัน ต่อด้วยการสร้างเมืองขึ้นบนเกาะอีล แซงต์-หลุยส์ (Île Saint-Louis) ในแม่น้ำแซนน์

การย้อนไปศึกษาสิ่งก่อสร้างทั้งสอง ทำให้เราได้เห็นภาพรวมของปารีส และลืมเลือนหอไอเฟลกับถนนชองป์ เซลิเซ่ไปชั่วขณะ เพราะสิ่งที่ทำให้เราเห็นสภาพสังคมของคนจนคนรวย และสะท้อนวิถีชีวิตในอดีตของชาวปารีเซียงนั้นไม่ได้มีแค่สองแลนด์มาร์คยอดนิยมนี้ (และก็ไม่ได้มีแค่สะพานปงเนิฟและอีล แซงต์-หลุยส์ด้วย)

เดอฌองนำเราย้อนเวลาไปหา ‘สิ่งอื่น’ หรือหากจะพูดให้ถูกคือ ‘กระบวนการอื่น’ ที่ผนึกกำลังและส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน จนทำให้ปารีสกลายเป็นอีกหนึ่งเมืองต้นแบบของกระแสที่เรียกว่า Urbanism ในยุคก่อนสมัยใหม่ (Early modern period หรือช่วงปี 1550-1800 โดยประมาณ แล้วแต่ตรรกะการจัดแบ่งในแต่ละตำรา) นั่นคือการทำปารีสให้เป็นเมืองเปิด การเกิดขึ้นของบริการและการขนส่งสาธารณะ การมาถึงของแฟชั่นเครื่องแต่งกาย การกลายร่างเป็นเมืองค้าขาย และบทบาทของผู้หญิงปารีเซียงที่มีส่วนในการทำให้ปารีสกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความโรแมนติกในปัจจุบัน

ในแง่ของการทำให้ปารีสเป็น ‘เมืองเปิด’ หลายคนไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์หรือนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์บางคน (ย้ำว่าไม่ใช่ทุกคน) มักจะอ้างถึง Haussmannization หรือการพลิกโฉมปารีสในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ของฌอร์จ ยูแฌน โอสมานน์ (Georges-Eugène Haussmann) ผู้ใกล้ชิดกษัตริย์หลุยส์-นโปเลียนที่ 3 ว่าเป็นปรากฏการณ์หลักที่ส่งผลให้ปารีสสามารถรองรับบริการต่างๆ รวมทั้งการขนส่งสาธารณะได้ในทศวรรษถัดๆ มา แต่คำบอกเล่าของเดอฌองทำให้เรารู้ว่าการทำปารีสให้เป็นเมืองเปิดนั้นเป็นกระบวนการที่เริ่มกันมาตั้งแต่ตอนต้นของศตวรรษที่ 17 นั่นคือช่วงปี 1620s ที่เริ่มมีการพัฒนาและเริ่มต้นติดตั้งสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ปัมพ์น้ำปกติ ปัมพ์น้ำที่ทำงานด้วยไอน้ำ และคลองสูบน้ำ

นอกจากนั้นยังรวมถึงปี 1670 ที่มีการทุบกำแพงเมืองที่เคยมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ตามด้วยการตัดถนนใหม่ และขยายถนนเก่าให้กว้างขึ้นจากยุคกลางซึ่งไม่มีถนนใหญ่ มีแต่เพียงตรอกซอกซอยเล็กๆ ให้ชาวเมืองได้เดินเท้าเยี่ยมเยือนกันได้สะดวกสบาย (ข้อเสียของถนนเล็กๆ หรือ medieval streets เหล่านี้คือเมื่อตึกรามบ้านช่องบดบังทางเดินไม่ให้ได้รับแสงแดด ทางเดินเหล่านั้นซึ่งกินพื้นที่จำนวนมากของเมืองจึงเปียกชื้น มีน้ำขัง และมืดทึบ ทำให้เกิดความสกปรกและมีอาชญากรรมเกิดขึ้นมากมาย)

การพัฒนาในส่วนต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง ก่อนกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 จะออกกฎหมายปี 1660 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเหล่านี้ หรือกระทั่งกฎหมายผังเมืองปี 1852 ของกษัตริย์หลุยส์-นโปเลียนที่ 3 ที่เป็นใบเบิกทางให้ออสมานน์ได้ทำงานของเขาอย่างเต็มที่

การขยายตรอกซอกซอยและสร้างทางเดินที่เรียกว่า cours ในปารีสและอีกหลายเมือง ได้พัฒนาไปเป็นถนนสาธารณะแบบ boulevards (ถนนขนาดยาวและมีต้นไม้สูงเรียงแถวซ้ายขวา นำไปสู่แลนด์มาร์คที่สุดปลายทาง) และนำพามาซึ่งบริการไปรษณีย์ การขนส่งสาธารณะอย่างรถม้า รถราง และการติดตั้งไฟทาง รวมทั้งยังสนับสนุนการเกิดขึ้นของแฟชั่นเครื่องแต่งกายและสินค้าที่ทำจากผ้าราคาแพง และการพุ่งทะยานของธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่ในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า grand magasins ซึ่งเริ่มพัฒนากันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 จนจบครบสมบูรณ์ในช่วง 1860s และสุดท้ายก็เป็นหนึ่งใน (หลาย) ตัวกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจของปารีสในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ดี การอ่านหนังสือเล่มนี้เดี่ยวๆ แบบไม่ละเอียดเพียงพออาจให้ภาพที่ไม่ครบถ้วนนัก หนังสือเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในปารีสอีกเล่มที่เราชื่นชอบและคิดว่าควรหยิบมาอ่านคู่กันคือ The Other Paris (2015) ของ ลุค ซองต์ (Luc Sante) นักเขียนและนักวิชาการชาวเบลเยี่ยม เพราะในขณะที่เล่มแรกให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในใจกลางและส่วนกลางของปารีส เล่มหลังกลับให้รายละเอียดเกี่ยวกับรอบนอกและบางพื้นที่ในใจกลาง ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเหมือนกับที่ถูกบอกเล่าในเล่มแรก หรืออาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยในตลอดหลายศตวรรษ

นั่นได้สะท้อนหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของเหล่าปารีเซียงที่ไม่มีฐานะ ที่ไม่ว่าส่วนกลางจะพัฒนาไปมากเพียงใด เข้าใกล้อุดมคติของความเป็นสมัยใหม่มากเพียงไหน พวกเขาก็ยังต้องหอบหิ้วตัวเองและลูกหลานไปต่อคิวพบหมอที่โรงพยาบาลเก่าแก่ที่มีแต่คนป่วยจากน้ำเสียและโรคระบาด ยังต้องทำมาหาเลี้ยงชีพในละแวกบ้านที่ไม่ได้น่าอยู่และมีแต่คนในพื้นที่มาใช้บริการกันเอง และยังต้องอยู่กับอาชญากรรมที่ไม่ลดลงตามความเจริญของเมือง ฯลฯ ซึ่งเดอฌองก็แตะประเด็นนี้บ้าง เพียงแต่การเล่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นหลักไม่ใช่จุดประสงค์ของหนังสือเท่านั้นเอง

ฉะนั้นแล้ว 224 หน้าของ How Paris Became Paris (ไม่นับเชิงอรรถต่างๆ) จึงไม่ได้เพียงแค่ทำให้เรารู้จักปารีส ‘ชั้นใน’ มากขึ้น แต่มันยังทำให้เรารู้จักคอนเซปต์ที่เรียกว่า Urbanism หรือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งก่อสร้างและสาธารณูปโภคในเมืองกับผู้อยู่อาศัย ซึ่งเป็นแนวคิดแพร่หลายในช่วงศตวรรษที่ 18-19 และทำให้เราเห็นว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะช่วยผลักดันให้ ‘เมืองเมืองหนึ่ง’ กลายเป็น ‘เมืองสมัยใหม่’ ขึ้นมาได้ เพราะใช่หรือไม่ว่า ในหลายด้าน ปารีสเองก็ได้รับแรงบันดาลใจและแรงกดดันมาจากเมืองใหญ่ของประเทศอื่นเช่นกัน อย่างลอนดอนที่เป็นต้นแบบของการขยายถนนของปารีสในช่วงแรก หรืออิตาลีที่เข้ามาท้าชิงตำแหน่งผู้นำทางด้านแฟชั่นและการค้าผ้าราคาแพง ทำให้ฝรั่งเศสต้องก้าวเข้าสู่ตลาดการแข่งขันอย่างเต็มตัวเพื่อให้ตนกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเมืองโดยมีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาพ และความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยเป็นจุดตั้งต้น ระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยและเข้าถึงได้ง่ายไม่ว่าจะมีเงินกี่มากน้อย รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแรงและเปิดโอกาสให้คนเมืองทุกคนเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม หรือใกล้เคียงคำว่าเท่าเทียมมากที่สุด ไม่ว่าเราจะนับว่าปารีสทำสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ได้ลอยลงมาจากเวหาให้ชาวปารีเซียงได้เชยชม และไม่ได้เริ่มต้นมาจากดำริของกษัตริย์แต่ละองค์ในยุคนั้น แต่เกิดจากการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของทุกภาคส่วนในสังคมที่ต่างมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะในฐานะกษัตริย์ ขุนนาง ข้าราชการ นักธุรกิจ สถาปนิก หรือนักคิดและนักทฤษฎีด้านสถาปัตยกรรม เช่น วอลแตร์, มาร์ค-อองตวน เลอฌีร์ และปิแอร์ ปัตต์ ในศตววรษที่ 18 และอีกหลายคนในช่วงถัดมา ที่คอยเสนอแนะและตีพิมพ์ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอยู่เสมอในตลอดหลายศตวรรษ จนผู้มีอำนาจหลายคนนำไปคิดทบทวนและหยิบยกมาใช้ในกระบวนการพัฒนา

​แน่นอนว่าไม่มีอะไรที่ได้มาอย่างง่ายดายและใช้เวลาเพียงแค่พริบตา แต่หากเพียงผู้มีส่วนในการพัฒนาจะมีใจที่เปิดกว้างและมีความพยายามที่เที่ยงแท้และต่อเนื่องเพียงพอ (หากจะพอมีอยู่บ้าง) เมืองหลวงแถวนี้ก็อาจจะมีหวังได้เข้าใกล้ความเป็น ‘เมืองสมัยใหม่’ อย่างที่ปารีสชั้นในเป็นมาตั้งแต่หลายศตวรรษก่อนบ้างก็เป็นได้

Tags: , , ,