“พวกเราเปรียบเสมือนขอนไม้บนหิมะ ดูเหมือนขอนไม้เหล่านี้วางเรียงกันธรรมดา ถ้าใช้แรงผลักเพียงนิดเดียวก็คงขยับเขยื้อนมันได้ แต่มิใช่เช่นนั้นดอก ไม่มีใครขยับเขยื้อนมันได้ เพราะขอนไม้เหล่านั้นติดแน่นอยู่กับพื้นดิน แต่ดูสิ นี่เป็นเพียงดูเหมือนว่าเท่านั้น” – Franz Kafka

    ถ้อยคำของฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka) ที่ผมยกมาข้างต้น ดูจะเข้ากันได้ดีกับความยอกย้อนในชีวิตและชะตากรรมของตัวละครในนวนิยายเรื่อง อีธาน โฟรม (Ethan Frome) ของ อีดิธ วอร์ตัน (Edith Wharton) ชีวิตเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ ท่ามกลางพายุหิมะ พายุหิมะที่ทำให้เมืองเล็กๆ นั้นถูกตัดขาดจากเมืองอื่น และตัดขาดชีวิตของผู้คนในเมืองนั้นออกจากกัน โดยเฉพาะชีวิตของอีธาน โฟรม ตัวเอกของนวนิยายเรื่องนี้ ที่ดูเหมือนว่าจะถูกแช่แข็งอยู่กับชะตากรรมของเขาเองอย่างไม่อาจขยับเขยื้อนไปไหนได้ แต่ดูสิ นี่เป็นเพียงดูเหมือนว่าเท่านั้น

    ภาพแรกสุดนวนิยายเรื่องนี้ คือภาพของชายพิการวัยกลางคนคนหนึ่งที่เดินยักแย่ยักยันเข้าไปในที่ทำการไปรษณีย์ แม้ร่างกายจะไม่สมประกอบ แต่เขาก็ดูสง่าผ่าเผยโดดเด่นกว่าคนทั่วไปในเมืองเล็กๆ นั้น ‘ผม’ ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องบอกกับเราว่าชายคนนั้นคืออีธาน โฟรม แล้วจากนั้น ‘ผม’ จึงค่อยๆ พาเราแง้มเปิดม่านเข้าไปดูชีวิตเบื้องหลังที่ทำให้อีธาน โฟรม ต้องประสบกับชะตากรรมเช่นนี้

    ผู้เล่าเรื่องพาเราย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนหน้า สมัยที่อีธานยังเป็นชายหนุ่มที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แรกเริ่มเดิมทีนั้นเขาใฝ่ฝันว่าอยากเป็นวิศวกร แต่เมื่อบิดาเสียชีวิตลง เขาจำต้องละทิ้งการเรียนและมารับช่วงกิจการโรงเลื่อยต่อ พร้อมทั้งดูแลมารดาที่เจ็บป่วย ในช่วงระหว่างนั้นเองที่เขาได้พบกับซีน่า หญิงสาวที่ผูกพันกันเพราะว่าเธอมาช่วยเขาดูแลแม่ เมื่อแม่เสียชีวิตลง ทั้งคู่จึงตัดสินใจแต่งงานและอยู่กินกันฉันสามีภรรยา ความเป็นอยู่ของทั้งคู่ไม่อาจเรียกได้ว่าสุขสบาย ซีน่าเองก็เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ตอนแรกทั้งคู่คิดว่าจะขายโรงเลื่อยและเอาเงินทั้งหมดนั้นไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในเมือง แต่ความคิดดังกล่าวก็ต้องพับไปเมื่อคิดสะระตะอย่างถ้วนถี่แล้วว่าทั้งคู่ต่างไม่ได้มีความพร้อมถึงขนาดนั้น

    ทั้งโรงเลื่อยเก่าโทรม และภรรยาที่ป่วยออดๆ แอดๆ กลายเป็นเหมือน ‘แอก’ ที่คอยเหนี่ยวรั้งอีธานไว้ ทั้งสองสิ่งต่างไม่ใช่สิ่งที่เขาเลือกเองอย่างเต็มใจ เป็นเพียงสิ่งที่ทำให้ชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ของเขา ‘พอไปได้’ เท่านั้น เราจะเห็นว่าอีธานไม่ใช่คนที่ดื้อรั้นหรือดิ้นรนจะเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของตัวเอง เขาเป็นเพียงชายหนุ่มเงียบๆ หงิมๆ ที่ชีวิตแต่ละวันหมดไปกับงานไม้ ตื่นเช้าออกไปทำงาน กลับบ้านมากินมื้อเที่ยงกับซีน่า ตอนบ่ายออกไปทำงานต่อ และกลับบ้านมากินข้าวกับภรรยาในตอนเย็น เป็นชีวิตราบเรียบไร้สีสันที่ดูเหมือนจะดำเนินไปเช่นนั้นชั่วนาตาปี จนกระทั่งแมตตี้ ซิลเวอร์ ก้าวเข้ามาในชีวิต

    แมตตี้ หญิงสาวผู้เป็นญาติห่างๆ ของซีน่า เธอเข้ามาอยู่ในบ้านของอีธานกับซีน่าในฐานะผู้ขออาศัยและเป็นกึ่งๆ คนรับใช้ เมื่อพ่อของแมตตี้เสียชีวิต เธอก็ไร้ญาติขาดมิตร ญาติๆ จึงตัดสินใจว่าอยากให้เธอมาอยู่กับซีน่า ประจวบเหมาะกับที่ซีน่าเองก็เจ็บป่วยเรื้อรังจนทำงานหนักไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลอันดีที่จะรับแมตตี้เข้ามาช่วยทำงานแบ่งเบาภาระภายในบ้าน

    การเข้ามาของแมตตี้กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างอีธานกับซีน่า นวนิยายไม่ได้นำเสนอให้แมตตี้กลายมาเป็นมือที่สามโดยตรง แต่ค่อยๆ ไล่เรียงให้เราเห็นว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้ทั้งอีธานและแมตตี้เริ่มผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง

เงื่อนไขที่ว่านั้นเริ่มตั้งแต่การที่ซีน่าเองลงความเห็นว่าอีธานควรจะพาแมตตี้ไปงานเต้นรำประจำเมือง ให้เธอมีชีวิตที่รื่นเริงบ้าง เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาว่าซีน่าขังแมตตี้ไว้ให้อยู่แต่กับงานบ้าน นั่นจึงเป็นเหตุให้ทั้งคู่มีเวลาอยู่ด้วยกันสองต่อสองบ่อยครั้ง

เงื่อนไขต่อมาคือการที่ทั้งอีธานและซีน่าต่างค้นพบว่าทั้งคู่ตกหลุมรักความโรแมนติกเหมือนกัน มีรสนิยมและทัศนคติหลายอย่างที่ตรงกัน มีความฟุ้งฝันเชิงกวีที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตเหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อีธานไม่สามารถแชร์กับซีน่าได้

เงื่อนไขอีกประการหนึ่งคือ อีธานเคยใฝ่ฝันว่าเขาอยากจะเป็นวิศวกรที่ทำงานในเมือง ส่วนแมตตี้เองก็เคยเป็นหญิงสาวที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมาก่อน ความใฝ่ฝันถึงชีวิตแบบคนเมืองจึงดึงดูดทั้งคู่เข้าหากันอย่างไม่ต้องสงสัย

จากเงื่อนไขทั้งหมดนี้จึงกล่าวได้ว่า ความรู้สึกที่อีธานมีต่อแมตตี้คือ ‘ความรัก’ ในแบบที่เป็นความรักจริงๆ ตามขนบของความรักแบบโรแมนติกที่เข้ามาปลุกเร้าบางสิ่งในชีวิตที่เคยหลับใหลและทำให้คู่รักรู้สึกว่าพวกเขามีอำนาจเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของตน การที่ทั้งคู่ได้ใช้เวลาร่วมกันจึงกลายเป็นเหมือนโลกแห่งความฝันแสนโรแมนติกที่ลอยตัวอยู่เหนือความทุกข์ยากแร้นแค้นในชีวิตจริง

แม้จะเป็นความสัมพันธ์ต้องห้าม แต่นวนิยายก็ไม่ได้นำเสนอความสัมพันธ์นั้นในแบบที่ขยี้กับความรู้สึกทาง ‘ศีลธรรม’ ของผู้อ่านหรือของตัวละคร พวกเขาไม่ได้กระโจนเข้าหากันด้วยอารมณ์ราคะอันเร่าร้อนรุนแรง แต่กลับเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ เอียงอาย และไร้เดียงสา จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบ Platonic Love (ความสัมพันธ์ที่ไม่มีเรื่องทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง) ด้วยซ้ำ สิ่งที่กัดกินความรู้สึกของทั้งคู่และกีดกันไม่ให้ความรักเป็นไปได้จึงไม่ใช่ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีทางศีลธรรม แต่คือเงื่อนไขชะตาชีวิตที่ไม่สามารถบรรจบกันได้ ไม่ใช่ความรู้สึกแบบเนื้อเพลง “เธอเป็นของเขา ก็รู้และเข้าใจดี” แต่เป็นความรู้สึกแบบ “ผิดที่เราเจอกันช้าไป” ต่างหาก

ความสง่างามของนวนิยายเรื่องนี้จึงอยู่ตรงที่การไม่ดึงเอาศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ (ไม่ว่าจะเพื่อใช้มันโบยตีตัวละคร หรือให้ตัวละครวิพากษ์มันกลับ) ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาไม่แคร์ศีลธรรม แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้คิดว่ากำลังทำผิดศีลธรรม หรือในความหมายที่สุดขั้วกว่านั้น ศีลธรรมอาจไม่ได้มีความหมายมากไปกว่าพายุหิมะ ความยากจน จานที่ทำแตก ฯลฯ ที่มีอิทธิพลต่อตัวละครมากกว่าเสียอีก

เราจะเห็นว่าสิ่งที่บีบคั้นให้ตัวละครจนมุมล้วนแล้วแต่เป็น ‘สถานการณ์เฉพาะหน้า’ ทั้งสิ้น ซีน่าไม่ได้ไล่แมตตี้ออกไปเพราะว่าหึงหวงที่เธอเล่นชู้กับอีธาน แต่เป็นเพราะอาการป่วยที่ทรุดหนักลงของเธอที่บีบให้เธอต้องหาคนอื่นที่เป็นงานเป็นการกว่าแมตตี้มาช่วยเธอ (เอาเข้าจริงซีน่ารักอีธานหรือไม่ หรือรักมากพอจะหึงหวงหรือไม่นั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ตอบได้แน่ชัด เพราะต้องไม่ลืมว่าแรกเริ่มทั้งคู่ก็ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรัก แต่อยู่ด้วยกันเพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น) ส่วนอีธานกับแมตตี้ที่ตัดสินใจว่าฆ่าตัวตายพร้อมกันด้วยการจงใจขับเลื่อนหิมะพุ่งชนต้นไม้นั้น ก็เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาอย่างปุบปับเพราะไม่มีทางเลือกอื่น กล่าวได้ว่าแรงจูงใจในการตัดสินใจของตัวละครคือความจำเป็นเฉพาะหน้าของแต่ละคน ไม่ได้นำพาเงื่อนไขของคนอื่นมากเท่ากับเงื่อนไขของตัวเอง

การตัดสินใจฆ่าตัวตายพร้อมกันของอีธานกับแมตตี้นั้นนับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง มันไม่ใช่การฆ่าตัวตายเพื่อหนีจากบางสิ่ง แต่คือการตัดสินใจ ‘ดับเครื่องชน’ ปะทะกับชะตากรรมที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของความรักแบบโรแมนติกที่คู่รักตัดสินใจจบชีวิตตามแบบฉบับของโศกนาฏกรรม แต่ชะตากรรมกลับเล่นตลกไม่ยอมหยุด พวกเขาเลือกให้ความตายเป็นผู้ยุติเรื่องทั้งหมด แต่ความตายกลับเลือกจะให้พวกเขารอดชีวิตแทน กลายเป็นชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่ทลายเงื่อนไขเดิมทั้งหมดที่ตัวละครเคยถูกจำกัดเอาไว้ ไม่มีใครต้องสูญเสียใครไป แต่ทุกคนก็ไม่ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสังเกตคือ แม้เรื่องราวทั้งหมดจะเป็นเรื่องของอีธาน โฟรม แต่ผู้ที่เล่าเรื่องทั้งหมดนี้ให้เราอ่านคือ ‘ผม’ ซึ่งเป็นคนจากต่างเมืองที่เข้ามาทำงานในเมืองนี้ชั่วคราวและบังเอิญได้รู้จักกับอีธาน และน่าสังเกตว่าคนที่เข้ามาเขย่าชีวิตของอีธาน ล้วนเป็นคนที่มาจาก ‘ที่อื่น’ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นซีน่า แมตตี้ และ ‘ผม’ ชีวิตของอีธานจึงอาจไม่ต่างจากขอนไม้ที่เขาตัดไปขาย ที่จะเคลื่อนไปได้ก็ด้วยแรงผลักของคนอื่นหรือสิ่งอื่นเท่านั้น

เรื่องราวทั้งหมดที่ถูกชาวเมืองรับรู้เพียงว่า ‘อุบัติเหตุครั้งนั้น’ จึงถูกเล่าขานออกมาถึงที่มาที่ไปแท้จริงของมัน หาใช่มีแต่เพียงเสียงทอดถอนใจในชะตากรรมอันน่าเศร้า หากเหมือนเสียงทอดถอนใจของคนที่มองออกไปนอกหน้าต่างแล้วเห็นว่าหิมะยังตกอยู่ไม่ยอมหยุด

Fact Box

อีธาน โฟรม (Ethan Frome)

อีดิธ วอร์ตัน (Edith Wharton) เขียน

โรเบอต้า เอนกาล๊อก แปล

สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์

*ถ้อยคำของ Franz Kafka ที่นำมากล่าวถึงข้างต้น มาจากเรื่องสั้นชุด แดนลงทัณฑ์และเรื่องสั้นอื่นๆ (ถนอมนวล โอเจริญ แปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน จัดพิมพ์โดยแพรวสำนักพิมพ์)

 

 

Tags: , , ,