หลายคนมักจะสับสนระหว่างคำว่า ‘ความเหงา’ และ ‘ความสันโดษ’
สำหรับหลายๆ คนแล้วนั้น ความเหงาอาจเป็นสิ่งที่น่าเจ็บปวด แต่ความสันโดษนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากความเหงาเกิดขึ้นเพราะการขาดสัมพันธภาพ ไม่ใช่การขาดผู้คน ในทางตรงกันข้ามแม้เราจะอยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง แต่หากรู้สึกถึงแรงสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อนหรือคนรอบกาย เราย่อมไม่รู้สึกเจ็บปวด
การที่เราเลือกที่จะใช้ชีวิตเพียง ‘คนเดียว’ อย่างสันโดษ ไม่ได้หมายความว่าเราผิดแปลกไปจากสังคม แต่กลับเป็นสังคมต่างหากที่น่าตั้งคำถามว่า แล้วการที่ใช้ชีวิตเพียงลำพังนั้นเป็นสิ่งที่แย่ตรงไหน?
จากสถิติของประชากรโลกได้บอกไว้ว่า ขนาดของครอบครัวมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จากครอบครัวใหญ่ที่มีจำนวน 5-6 คน กลายเป็นครอบครัวเล็กที่มีสมาชิกเพียงแค่ 2-3 คน และล่าสุด เทรนด์การใช้ชีวิตแบบ ‘ฮนจก’ กำลังจะบอกเราว่า การใช้ชีวิตเพียงตัวคนเดียวก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอีกต่อไป
‘ฮนจก’ แนวคิดที่ต้องการจะออกจากสังคมอำนาจนิยม ลำดับชั้นที่บิดเบี้ยว
แนวคิด ‘ฮนจก’ นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากความเหนื่อยหน่ายของเหล่าหนุ่มสาวที่ต้องทนทุกข์กับการแข่งขันเพื่อเอาตัวรอดที่สูงส่งของประเทศเกาหลีใต้ ขบวนการเคลื่อนไหวอย่าง ‘ฮนจก’ จึงเป็นสิ่งที่บอกได้อย่างชัดเจนว่า หนุ่มสาวเหล่านี้กำลังไม่พอใจกับบรรทัดฐานทางสังคมที่มากำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา
เฉกเช่นเดียวกับเหล่าชาวอเมริกันที่ใฝ่ฝันตามหาสิ่งที่เรียกว่า ‘อเมริกันดรีม’ ในสมัยของ โจเซฟ แม็กคาร์ธี (สมาชิกวุฒิสภาผู้ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์) ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ชาวเกาหลีได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้มามากเสียด้วยจนกำเนิดเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตใหม่ของสังคมเกาหลีใต้
ตั้งใจเรียนเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ มีงานทำ แต่งงาน ซื้อบ้าน และมีลูก เป็นสูตรสำเร็จที่สังคมวางไว้ให้พวกเรา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จทำตามแบบแผนที่วางไว้ได้ เนื่องจากชีวิตจริงนั้นไม่ได้งดงามอย่างที่เราคิด
‘ฮนจก’ จึงเป็นแนวคิดที่ชวนให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า หากตัดปัจจัยทั้งหลายทั้งมวลดังกล่าวและใช้ชีวิตอย่างสันโดษกับตัวเองแล้วนั้น ‘เราเป็นใคร’ เมื่อได้ปลดเปลื้องตัวเองให้เปลือยเปล่าจากชุดความคิดที่สังคมตีกรอบไว้
“ถ้าคุณไม่เคยอยู่คนเดียวเลย คุณจะไม่มีทางรู้จักตัวเอง” – เปาโล โคเอลโย
หากสังเกตให้ดีบรรทัดฐานทางสังคมนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดการเกื้อหนุนกัน ทุกบทบาทที่เราถูกมอบให้ล้วนมีประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคมไม่ทิศทางใดก็ทิศทางหนึ่ง แต่หากถอยออกมาสักก้าวหนึ่ง แล้วทิ้งหน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ ที่สังคมคาดหวังเอาไว้ เรารู้จักตัวเองมากน้อยแค่ไหน?
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจำเป็นที่จะต้องทอดทิ้งสังคมและปลีกวิเวกอยู่เพียงคนเดียว แต่หากเราใช้ชีวิตอยู่อย่างลำพังได้ บทบาทของคำว่า พ่อ แม่ ลูก หรือคู่รัก ย่อมไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
เราสามารถที่จะใช้เวลาในการเรียนรู้ความปรารถนาสูงสุดภายในชีวิต หรือตั้งคำถามและข้อสังเกตหลายๆ อย่างเกี่ยวกับตัวเองได้อย่างอ่อนโยนมากขึ้นโดยที่ไม่มีแรงกดดันจากสังคมขนาดย่อยมาคอยกดดัน
‘เผ่าหนึ่งคน’ หนึ่งเดียวที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม
สุดท้ายนี้ อยากจะอธิบายว่าการอยู่อย่างสันโดษไม่ได้หมายถึงการหลีกหนีจากสังคมไปเสียสิ้นเชิง แต่เป็นการตัดการพึ่งพาอาศัยระหว่างกันในสังคมขนาดย่อย เช่น การเลือกที่จะไม่มีครอบครัว เพราะด้วยสังคมที่เปลี่ยนไป บวกกับเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นนั้นได้มอบตัวเลือกในการใช้ชีวิตให้แก่เราอย่างมากมายไม่มีที่สิ้นสุด โดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับสังคมเก่าที่เราไม่สบายใจที่จะอาศัยอยู่อีกต่อไป
เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดหรือปรัชญาใดๆ ก็แล้วแต่ ล้วนถูกสร้างมาให้ ‘คน’ เข้าใจตนเอง และหลีกหนีจากความทุกข์ไปได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่เผ่าหนึ่งคนที่แสนจะสันโดษแพร่หลายและกระจายไปทั่วโลกได้มากขนาดนี้
เพราะพวกเขายินดีและมีความสุขมากกว่าที่จะอยู่อย่างลำพังในสังคมที่แสนจะบิดเบี้ยวและวุ่นวายนั่นเอง
Fact Box
Honjok ความสุขจากการอยู่กับตัวเอง เขียนโดย ฟรานซี ฮีลลีย์ และคริสตัล ทาอิ แปลไทยโดย เขมลักษณ์ ดีประวัติ