ความตายจากความเยือกหนาวมักเกิดขึ้นกับคนไร้บ้านในช่วงฤดูหนาว ความหนาวเย็นไม่เคยปรานีใคร โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งอุณหภูมิติดลบ บ่อยครั้งมนุษย์เราก็เอาตัวไม่รอด
อุณหภูมิร่างกายที่ 36.5 ถึง 37 องศาเซลเซียสถือเป็นปกติสำหรับมนุษย์ ระบบเผาผลาญอาหารและอวัยวะทั้งหมดของเราขึ้นอยู่กับอุณหภูมิแกนกลางนี้ และร่างกายของจะทำทุกอย่างเพื่อให้ทรงสภาพ แกนหลักของร่ายกายมีอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ ปอด และสมอง ส่วนที่เรียกว่าเปลือกของร่างกาย ได้แก่ แขน ขา และผิวหนังชั้นต้น
ไม่ว่าร่างกายของเราจะมีอุณหภูมิที่เหมาะสมหรือไม่ มันจะถูกวัดผ่านตัวรับ ถ้าหากอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว ระบบการเผาผลาญอาหารจะเริ่มทำงานเพื่อรักษาสมดุล
ระบบเผาผลาญจะให้สารอาหารที่จำเป็นแก่ร่างกายเรา มันช่วยย่อยอาหารและแปรรูปเพื่อให้เซลล์ในร่างกายสามารถนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์ นอกจากนั้นระบบเผาผลาญอาหารจะช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น ต่อเมื่อรู้สึกเย็นร่างกายถึงต้องการพลังงานมากขึ้น ความหนาวเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัวแคบลง เพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อนมากเกินไป
แต่เมื่อใดก็ตามที่เซลล์ขาดเลือดมันก็จะเปราะ ร่างกายของเราจะเริ่มปวด เริ่มจากอาการปวดที่นิ้วมือ นิ้วเท้า จมูก และหู หากอุณหภูมิร่างกายยังคงลดลงเรื่อยๆ มันก็จะกระทบถึงอวัยวะสำคัญอื่นๆ ตั้งแต่หัวใจ ปอด จนถึงสมอง เหล่านี้จะทำงานได้อย่างมีข้อจำกัด มันจะส่งผลกระทบทันทีแม้อุณหภูมิของร่างกายจะเบี่ยงเบนไปจากระดับปกติเพียงสององศาเท่านั้น และเพื่อการปกป้องตนเอง ระบบของร่างกายจะทำงานหนักขึ้น กล้ามเนื้อจะแอ็กทีฟ ทำให้สั่นสะท้านไปทั้งร่าง
เมื่ออุณหภูมิร่างกายลดลงเหลือ 32 องศาเซลเซียส เราจะหยุดอาการหนาวสั่น แต่นั่นไม่ใช่สัญญาณที่ดี เพราะร่างกายเริ่มหมดพลังงานนั่นเอง ทำให้ไม่มีเรี่ยวแรงแม้กระทั่งสั่น สมองและปลายประสาทของเราจะไม่ทำการส่งสัญญาณอีกต่อไป และเราจะมีอาการชาที่แขนและขา ในชั่วขณะนี้เองความปวดจะเริ่มคลาย แต่เราก็แทบไม่สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องการขยับปากพูดเลย เพราะแค่ความคิดเราก็ไม่สามารถจัดระบบได้ สมองจะมึนงง และเริ่มสูญเสียการรับรู้ ถึงตอนนั้นร่างกายจะเริ่มปรับเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน และเปิดใช้โปรแกรมฉุกเฉิน แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็จะหยุดการทำงาน
หนาวแล้วดับด้วยแอลกอฮอล์
ใครคิดว่าแอลกอฮอล์จะช่วยแก้หนาวให้ร่างกายได้ คนนั้นคิดผิด แอลกอฮอล์อาจช่วยกระตุ้นในชั่วขณะแรกให้เรารู้สึกถึงความอุ่นสบาย นั่นเพราะหลอดเลือดขยายตัว ร่างกายของเราจะสูบฉีดเลือดอุ่นๆ เข้าไป แต่ยิ่งแรงเท่าไรมันก็จะยิ่งเย็นลงเร็วเท่านั้น เราอาจรู้สึกว่าผิวเนื้อยังร้อนเผ่า แต่ความจริงร่างกายเรากำลังสั่นหนาว อวัยวะของเรามีเลือดน้อยลง และอุณหภูมิของร่างกายก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิที่เย็นจัดขั้นติดลบทำให้เราเป็นอัมพาต และเมื่อระดับองศาต่ำลงก็จะยิ่งเสี่ยงอันตรายมากขึ้น
เมื่ออุณหภูมิร่างกายต่ำลงกว่า 29.5 องศาเซลเซียส สมองจะหยุดทำงาน เราจะหมดสติและตกอยู่ในสภาพคาบเกี่ยวระหว่างความเป็นกับความตาย หัวใจของเราจะเริ่มเต้นช้าลง แทนที่จะเต้น 60 ครั้งต่อนาทีกลับเหลือเพียงหนึ่งถึงสองครั้งต่อนาที เลือดก็ไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้เร็วพอ ถึงตอนนี้อาการ ‘หนาวตาย’ เริ่มชัดเจน แต่จะเรียกว่าเป็นการตาย ‘อย่างสงบ’ หรือไม่นั้น บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังเห็นพ้องไม่ตรงกัน
กับความร้อนเล่า ร่างกายจะทนได้นานเแค่ไหน
คนเราจะรอดชีวิตจากความร้อนได้นานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับระดับของความชื้นของอากาศ ยิ่งความชื้นต่ำ ร่างกายจะยิ่งทนได้นานขึ้น ในห้องซาวนาที่มีอุณหภูมิ 110 องศาเซลเซียส ผู้ใหญ่จะทนนั่งอบตัวอยู่ได้นานสุดไม่เกิน 3-4 นาที ในอาคารที่ไฟกำลังลุกไหม้จะอยู่ได้นานถึง 10 นาที หากว่าไม่หมดสติไปเพราะคาร์บอนโมนอกไซด์เสียก่อน ส่วนเด็กจะทนอยู่กับความร้อนได้ไม่นาน อย่างเช่นภายในรถยนต์ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส พวกเขาจะหมดสติได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที
อาการไข้ที่เกิดจากการถูกความร้อนนานเกินไป หรือ Heatstroke อุณหภูมิร่างกายจะสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ความร้อนสูงแบบเฉียบพลันทำให้สมองบวม ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเช่นตะคริว หมดสติ ปวดศีรษะ และคลื่นไส้ ในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจถึงขั้นสมองถูกทำลาย หรือเสียชีวิตได้
การอยู่รอดของสมาร์ทโฟนในอุณหภูมิหนาวจัด
อุณหภูมิเย็นจัดเป็นภัยต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน เพราะเมื่ออากาศหนาวจัดอุณหภูมิติดลบ แบตเตอรีจะเดี้ยงอย่างรวดเร็ว และเป็นไปได้ว่าจู่ๆ เครื่องมันจะดับไปเองเมื่อไรก็ได้
มีคำแนะนำในการดูแลสมาร์ทโฟนระหว่างอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น ให้เก็บสมาร์ทโฟนไว้ใกล้ตัวที่สุด อย่าวางสมาร์ทโฟนทิ้งไว้ในรถยนต์ หรือเก็บสมาร์ทโฟนไว้ในถุงเท้าหนาๆ เป็นต้น
ท่ามกลางความหนาวเย็น สมาร์ทโฟนควรถูกเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อคลุมหรือแจ็กเก็ต มากกว่าในกระเป๋าถือหรือเป้ หลังจากอยู่ในความหนาวเย็นนานๆ เมื่อกลับเข้าไปในห้องหรือพื้นที่อุ่น เมื่อสภาพอากาศแปรเปลี่ยนอย่างฉับพลัน อาจทำให้เครื่องเกิดฝ้า และหยดน้ำจากฝ้าจะทำลายวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า เมื่อนำสมาร์ทโฟนจากพื้นที่หนาวเย็นกลับเข้าไปในที่อุ่น ควรปิดเครื่องทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง ก่อนเปิดใช้งานอีกครั้ง
ในความหนาวนั้น ยังมีความเสี่ยงเรื่องน้ำด้วย หากว่าสมาร์ทโฟนหล่นลงบนหิมะหรือแอ่งน้ำ ให้รีบจัดการถอดแบตเตอรีออกจากเครื่อง และนำเครื่องไปวางตากไว้ในห้องที่อุณหภูมิอุ่นปกติ ทิ้งไว้ประมาณหนึ่งวันก่อนใส่แบตเตอรี อย่าพยายามใช้ไดร์เป่าหรือนำไปวางตากไว้บนเครื่องทำความร้อนเด็ดขาด
ปัจจุบันนอกจากจะมีเคสเป็นอุปกรณ์ช่วยแล้ว ยังมีถุงมือทัชสกรีน (Touchscreen Winter Gloves) ที่สามารถสัมผัสหน้าจอได้เพื่อการใช้สมาร์ทโฟนในฤดูหนาวโดยที่นิ้วมือไม่หงิก
อ้างอิง:
https://www.scinexx.de/dossierartikel/toedliche-kaelte/
https://sofortschutz.net/ratgeber/smartphones-35/smartphone-im-winter-1017
Tags: ความหนาว, ความตาย, อุณหภูมิร่างกาย, ความร้อน