ที่ผ่านมา เรากล่าวถึงงานศิลปะที่ใช้วัตถุดิบอันธรรมดาสามัญ ไปจนถึงไร้ค่าไร้ราคามาทำเป็นงานศิลปะไปแล้ว ในตอนนี้เราเลยจะขอกล่าวถึงงานศิลปะที่ใช้วัตถุดิบที่เราได้รับมาตั้งแต่เกิด นั่นก็คือร่างกายของเรานั่นเอง โดยศิลปะประเภทนี้มีชื่อเรียกว่า บอดี้อาร์ต (Body Art)

ถ้าหากชีวิตคือรูปแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศิลปะ การใช้ร่างกายตัวเองในฐานะสื่อสร้างสรรค์งานศิลปะก็ดูจะเป็นธรรมชาติอันปกติสามัญของเหล่าศิลปิน แน่นอนว่าหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือศิลปินบอดี้อาร์ต ที่ใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางความคิดอย่างโดดเด่น และป่าวประกาศสุ้มเสียงของพวกเขาให้ได้ยินอย่างกว้างขวางในพื้นที่ที่เพิ่งจะมีเสรีภาพในการแสดงออกด้านสังคม การเมือง และสภาวะทางเพศ ในช่วงยุค 1960s

ช่วงเวลาที่อิสรภาพทางความคิดเบ่งบาน เหล่าศิลปินรู้สึกถึงอำนาจในการสร้างสรรค์ผลมากกว่าที่เคยมีมา โดยละทิ้งรูปแบบเดิมๆ ของการทำงานศิลปะ และเลือกที่จะใช้ร่างกายของตัวเองต่างผืนผ้าใบ (หรืองานประติมากรรม) เป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะ ซึ่งยังผลให้เกิดการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างศิลปินและผู้ชม และสร้างหนทางใหม่ๆ ของการมีประสบการณ์ร่วมกับงานศิลปะอย่างใกล้ชิดจนน่าตื่นตะลึง

ศิลปินบอดี้อาร์ตทลายกำแพงที่ขวางกั้นระหว่างศิลปินกับผลงานศิลปะ ด้วยการนำเอาร่างกายของตัวเองออกเผชิญหน้าผู้ชม และใช้มันเป็นสื่อทางศิลปะ เป็นตัวแสดง หรือแม้แต่ผืนผ้าใบในการทำงาน พวกเขาสลายเส้นแบ่งระหว่างสื่อและผู้ส่งสาร, ผู้สร้างและการสร้างสรรค์ กับทั้งมอบความหมายใหม่ ขยายขอบเขตความคิดและมุมมองอันจริงแท้ของผู้สร้างงานออกมา การทำงานของศิลปินเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงการเติมเต็มความปรารถนาในการแสดงออกทางความคิดผ่านร่างกายของตนเท่านั้น หากแต่เป็นการใช้เลือดเนื้อ องคาพยพทั้งหมดของศิลปินเป็นองค์ประกอบอันสำคัญของงานศิลปะได้ทั้งสิ้น

ในช่วงหลังปี 1960s บรรยากาศแห่งความเปลี่ยนแปลงในสังคมมีส่วนในการลดอคติต่อการเปลือยกายของผู้คน ร่างกายกลายเป็นเครื่องมืออันสมบูรณ์แบบในการแสดงออกในประเด็นต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการเมือง เพราะมันไม่มีอะไรที่จะสามารถแสดงให้เห็นถึงความปรารถนา ทัศนคติ และสุ้มเสียงของศิลปินไปมากกว่าการใช้ร่างกายของตัวเอง (หรือผู้อื่น) ในฐานะช่องทางในการสื่อสารและแสดงออกถึงทัศนคติของตนออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเด่นประเด็นร้อนของยุคสมัย การใช้ร่างกาย กลายเป็นหนทางที่ศิลปินเหล่านั้นเชื่อมโยงความเป็นปัจเจกของตนเข้ากับประสบการณ์อันเป็นสากลของมนุษย์ เป็นการแสดงออกของบุคคลคนหนึ่งที่สะท้อนภาพรวมของมนุษย์ทุกผู้คน

ด้วยการบังคับให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมกับความรุนแรง ความหวาดกลัว ความช็อก หรือประสบการณ์อันยากจะจินตนาการ ศิลปินบอดี้อาร์ตตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมครุ่นคิดถึงบทบาทของศิลปิน และบทบาทของผู้ชมที่ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างการเป็นผู้สังเกตการณ์ผู้ไร้เดียงสา หรือ นักถ้ำมองบ้าตัณหา

ด้วยการยกให้ร่างกายเป็นวิหารหรือภาชนะอันศักดิ์สิทธิ์ ใช้มันในฐานะวัตถุดิบเพื่อทำการทดลอง เป็นเครื่องมือแสดงออกทางศิลปะ หรือแม้แต่ทำลายมัน ร่างกายของศิลปินบอดี้อาร์ตถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานและกลายเป็นองค์ประกอบของกระบวนการสร้างงานศิลปะอย่างตรงไปตรงมา และกระตุ้นให้ผู้ชมมุ่งความสนใจไปยังร่างกายและการดำรงอยู่อันไม่จีรังยั่งยืนของมัน

บอดี้อาร์ต เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกาะกลุ่มกันหลวมๆ โดยส่วนใหญ่ถูกจำแนกให้เป็นกลุ่มก้อนโดยนักวิจารณ์และนักประวัติศาสตร์ศิลปะ มันพัฒนาขึ้นจากกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตหรือศิลปะแสดงสด ที่เกิดขึ้นในหมู่ศิลปินหัวก้าวหน้า (Avant-garde) ในช่วงปลายยุค 1950s อาทิ จอห์น เคจ, ศิลปินกลุ่มฟลักซัส (Fluxus) และศิลปินแฮปเพนนิ่งอาร์ต โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาความหมายของศิลปะขึ้นมาใหม่ ด้วยการรวมเอาสถานการณ์แวดล้อมอย่างเวลา พื้นที่ การมีอยู่ของศิลปิน และความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและผู้ชมเข้าไว้ด้วยกันกับงานศิลปะ แนวทางในการแสดงออกทางศิลปะนี้แพร่หลายไปทั่วสหรัฐอมริกา ยุโรป และเอเชีย รวมถึงกระแสเคลื่อนไหวนูโว เรียลิสม์ (Nouveau Réalisme) ในฝรั่งเศส ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต ที่มุ่งเน้นในการใช้ร่างกายของศิลปินและอาสาสมัครในการทำงานศิลปะ

ผลงานที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นงาน บอดี้อาร์ต ชิ้นแรกๆ ก็คือผลงานของศิลปินชาวฝรั่งเศส อีฟว์ คไลน์ (Yves Klein) ที่สำรวจแนวคิดของการใช้ร่างกายของมนุษย์เป็นเครื่องมือ สื่อ และหัวข้อในการทำงานศิลปะ ที่มีชื่อว่า Anthropométrie sans titre Anthropometry (การวัดร่างกายมนุษย์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่ปราศจากชื่อ) (1961) ศิลปะแสดงสดในพิพิธภัณฑ์ Cantini ในมาร์กเซย, ฝรั่งเศส

ระหว่างการแสดง คไลน์ ละเลงสีน้ำเงิน International Klein Blue (อันเป็นเครื่องหมายการค้าของเขา) ลงบนร่างเปลือยเปล่าของหญิงสาว และสั่งให้พวกเธอกด ไถล เถลือกเกลือกกลิ้งร่างกายของตัวเองพวกลงผืนผ้าใบ ประหนึ่งจะใช้เรือนร่างกายของพวกเธอระบายสีต่างพู่กัน หรือเป็นแม่พิมพ์ประทับร่องรอยร่างกายของพวกเธอลงไปบนผืนผ้าใบเหล่านั้น

ผลงานชิ้นนี้ของเขาได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายร่องรอยเงาของคนที่ประทับบนพื้น ซึ่งเกิดจากระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิ รวมถึงอ้างอิงไปถึงผลงานของศิลปินแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์อย่าง แจ็คสัน พอลล็อค ที่วาดภาพด้วยการเท หยด และสลัดสีลงบนผืนผ้าใบ หากแต่การใช้ร่างกายของมนุษย์ต่างพู่กันวาดภาพของคไลน์ ท้าทายความคาดหวังของผู้ชมเกี่ยวกับกระบวนการทำงานศิลปะและสร้างแนวทางใหม่ของศิลปะแสดงสดอันน่าทึ่งขึ้นมา ด้วยการใช้เรือนกายเปลือยเปล่าของมนุษย์เป็นสื่อกลางในการสร้างงานศิลปะ

อย่างไรก็ดี การใช้ร่างกายของผู้หญิงเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะของคไลน์เองก็ไม่เป็นที่สบอารมณ์ และถูกต่อต้านจากเหล่าบรรดาเฟมินิสต์ ซึ่งในภายหลังศิลปินเฟมินิสต์เองก็ใช้ร่างกายของผู้หญิงเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะของตัวเองโดยตรง มากกว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของศิลปินเพศชายแบบงานของคไลน์

ภาพจาก http://www.creja.nl/ik-wist/yves-klein---blauw/

อีฟว์ คไลน์: Anthropométrie sans titre Anthropometry (1961)

 

ในช่วงต้นยุค 1960s ที่กระแสเคลื่อนไหวแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ครอบครองวงการศิลปะในสหรัฐอเมริกา และถึงแม้ศิลปินในกลุ่มอย่างแจ็คสัน พอลล็อค จะมีกระบวนการสร้างผลงานด้วยการแสดงออกทางร่างกาย ซึ่งพ้องกับแนวทางของบอดี้อาร์ตอย่างมาก แต่แนวคิดแบบนามธรรมของกลุ่มก็ไม่เอื้อต่อการแสดงออกหรือการประกาศเจตจำนงทางการเมืองของศิลปิน อีกทั้งมันยังเป็นแนวทางศิลปะที่ถือครองโดยเพศชายเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ศิลปินหญิงหลายคนเสาะแสวงหาการทำงานศิลปะในแนวทางใหม่ๆ ที่สามารถขับเน้นสภาวะของความเป็นเพศหญิงด้วยวิธีการที่ตรงไปตรงมา ไปจนถึงก้าวร้าวรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมา

ด้วยความที่ บอดี้อาร์ต ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาของการปฏิวัติวัฒนธรรมในยุค 1960s ที่มีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ความรัก เซ็กส์ ไปจนถึงการใช้ยาเสพติด ผู้คนมีอิสรภาพในการคิด พูด แต่งกาย รวมถึงใช้ร่างกายในการแสดงออกถึงจุดยืนทางเพศอย่างเสรี อีกทั้งมันยังเป็นยุคเฟื่องฟูของกระแสเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง การต่อต้านสงครามเวียดนาม ต้านระเบิดปรมาณู ผู้คนต่างใช้ร่างกายเป็นอาวุธในการต่อต้านสงคราม ดังตัวอย่างอันโด่งดังของคู่ศิลปิน จอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ ที่ทำกิจกรรมประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนอนและร่วมรักกันอย่างยาวนานนับสัปดาห์บนเตียง เพื่อต่อต้านสงครามและเรียกร้องสันติภาพ หรือเหล่าบรรดานักศึกษาและประชาชนที่ใช้โซ่ล่ามตัวเองเข้ากับต้นไม้เพื่อรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอาทิ        

บอดี้อาร์ต ยังมีความเชื่อมโยงอย่างสูงกับกระแสเคลื่อนไหวเฟมินิสต์ ที่เบ่งบานในช่วงเดียวกัน มีศิลปินหญิงจำนวนมากที่เลือกใช้ร่างกายเป็นพาหนะขับเคลื่อนอันทรงพลังในการประท้วง ปฏิวัติ และเป็นกระบอกเสียงของพวกเธอ พวกเธอยังใช้สื่อศิลปะรูปแบบใหม่ในยุคนั้นอย่างศิลปะแสดงสด ภาพถ่าย และ วิดีโออาร์ต เพื่อแสดงการต่อต้านศิลปะแบบประเพณีนิยมอย่างงานจิตรกรรม (ซึ่งถือครองโดยศิลปินเพศชายเป็นส่วนใหญ่เช่นกัน) และสะท้อนกระแสความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินเพศหญิงแสดงบทบาทและสุนทรียะอันโดดเด่นผ่านร่างกายของตัวเอง ไม่ใช่ในฐานะวัตถุทางเพศของผู้ชาย แต่เป็นการแสดงออกซึ่งตัวตนของพวกเธอเอง

อาทิเช่น ผลงาน Sex Obsession Food Obsession Macaroni Infinity Nets & Kusama (1962) ของศิลปินชาวญี่ปุ่น ยาโยย คูซามะ (Yayoi Kusama) ที่ตัวเธอนอนเปลื้องเสื้อผ้าจนเปลือยเปล่าและวาดลายจุดวงกลมลงบนร่างกาย เธอนอนบนเก้าอี้ยาวที่ปกคลุมด้วยประติมากรรมนุ่มนิ่มรูปทรงเหมือนองคชาตสีขาว และติดภาพของงานจิตรกรรม Infinity Nets ของเธอบนผนัง และภาพเส้นมักกะโรนีที่ดูคล้ายกับอวัยวะเพศชายจำนวนนับไม่ถ้วนบนพื้น

ถึงแม้คูซามะจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศอย่างชัดเจนจะแจ้งบ่อยครั้ง แต่ตัวเธอกลับเป็นคนที่หวาดกลัวเซ็กส์ อันเป็นผลมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้รับจากพฤติกรรมทางเพศของพ่อของเธอ ซึ่งการทำวัตถุรูปทรงเหล่านี้ซ้ำๆ เป็นหนทางในการเอาชนะความกลัว การวาดลายจุดวงกลม (polka dots) ลงบนร่างกาย ก็เพื่อเป็นการหลอมรวมตัวเองเข้ากับฉากหลังอันหลอนหลอก ซึ่งเป็นตัวแทนของความหวาดกลัวของเธอ และเป็นการแสดงถึงเนื้อแท้ตัวตนภายในของเธอที่ไม่อาจแยกขาดออกจากงานศิลปะได้นั่นเอง

หรือในผลงานของ Body, Sign, Action (1970) ของศิลปินเฟมินิสต์ชาวออสเตรีย วาลี เอ็กซ์พอร์ต (Valie Export) ที่สักรูปสายรัดถุงน่องที่ดึงรั้งปลายถุงน่องบนต้นขา สายรัดถุงน่องนี้แสดงถึงความเป็นวัตถุทางเพศของชุดชั้นในผู้หญิง หรืออันที่จริงก็คือร่างกายผู้หญิงนั่นแหละ ด้วยการสักตัวเองจริงๆ (ซึ่งรอยสักจะติดตัวเธอไปอย่างถาวร) ด้วยรูปสัญลักษณ์ของวัตถุทางเพศ เธอแสดงการเสียดสีแนวคิดของผู้ชาย ที่มองร่างกายผู้หญิงเป็นเครื่องมือสำหรับความพึงพอใจทางสายตา แต่ในทางกลับกัน การทำการสักในที่สาธารณะ และถ่ายภาพเปลือยของตัวเองกับรอยสักของเธอ ก็เป็นการแสดงออกถึงการปลดแอกผู้หญิงจากค่านิยมทางเพศที่กดทับพวกเธออยู่เช่นเดียวกัน    

ภาพจาก http://www.thethird-eye.co.uk/the-infinity-rooms/

ยาโยย คูซามะ: Sex Obsession Food Obsession Macaroni Infinity Nets & Kusama (1962) ภาพถ่ายโดย Hal Reif Image courtesy: Ota Fine Arts, Tokyo / © Yayoi Kusama       

 

ภาพจาก http://www.valieexport.at/en/werke/werke/?tx_ttnews%5Bpointer%5D=1&tx_ttnews%5Btt_news%5D=1967&tx_ttnews%5BbackPid%5D=81&cHash=512ee8c6ab

วาลี เอ็กซ์พอร์ต: Body, Sign, Action (1970)

 

อย่างไรก็ดี กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะบอดี้อาร์ตก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ศิลปินหญิงหรือศิลปินเฟมินิสต์แต่เพียงฝ่ายเดียว ศิลปินชายและศิลปินในประเภทอื่นๆ ก็ใช้ร่างกายตัวเองในการทำงานศิลปะด้วยเหมือนกัน

ในการแสดงสดของศิลปินบอดี้อาร์ต ศิลปินมักสร้างความเจ็บปวดทางร่างกายต่อหน้าคนดู ไม่ว่าจะเป็นการกัด, เฉือน, เผา หรือสร้างร่องรอยแผลเป็นบนผิวหนัง พวกเขานำพาผู้ชมให้เข้าไปสำรวจสุดขอบเขตพรมแดนของร่างกายที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอเมริกัน เดนนิส ออปเปนไฮม์ (Dennis Oppenheim) ที่ทำงานทดลองกับชิ้นส่วนของร่างกายตัวเอง ด้วยการฝังเศษเล็บที่ตัดทิ้งของเขาไว้ในพื้นไม้ โดยแลกกับการเอาเศษไม้จากพื้นฝังไว้ในนิ้วของเขาแทน

หรือผลงานอันอื้อฉาวของศิลปินอเมริกัน คริส เบอร์เดน (Chris Burden) อย่าง Shoot (1971) ที่ขอให้เพื่อนยิงเขาด้วยปืนไรเฟิล .22 ในหอศิลป์ โดยมีผู้ชมยืนชมอยู่ด้วย ความจริงเขาตั้งใจให้กระสุนปืนฝังในแขนของตัวเอง แต่คนยิงยิงพลาด กระสุนเลยทะลุแขนของเขาออกไป เบอร์เดินทำผลงานนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นว่าคนที่ถูกยิงจริงๆ ต่อหน้าต่อตามันเป็นยังไง (อะไรมันจะขนาดนั้น!)

หรือผลงานของศิลปินชาวอเมริกัน วีโต แอ็กคอนซี (Vito Acconci) อย่าง Openings (1970) ซึ่งเป็นวิดีโอบันทึกภาพที่เขากำลังทำงานศิลปะแสดงสดด้วยการดึงทึ้งขนบนตัวออกมาจนเหี้ยน และ Trademarks (1970) ศิลปะแสดงสดที่เขานั่งกัดร่างกายตัวเองทั่วทั้งตัว เท่าที่ปากเขาจะเอื้อมไปถึง จนเป็นรอยฟัน แล้วปั้มรอยกัดด้วยหมึกออกมาเป็นภาพพิมพ์บนกระดาษเพื่อบันทึกเป็นหลักฐานเอาไว้

คริส เบอร์เดน: Shoot (1971) © Chris Burden. Courtesy of the artist and Gagosian Gallery.

ภาพจาก http://photography-now.com/artist/vito-acconci

วีโต แอ็กคอนซี:Trademarks (1970)

และยังมีผลงานของศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ชาวเซอร์เบียน มารินา อบราโมวิช (Marina Abramović) อย่าง Thomas Lips (1975) ที่เธอกรีดหน้าท้องตัวเองเป็นสัญลักษณ์รูปดาว และนอนลงบนไม้กางเขนที่ทำจากน้ำแข็งจนเกือบจะหมดสติ

โดยอีกหนึ่งผลงานที่โด่งดังและอื้อฉาวที่สุดของเธอย่าง Rhythm 0 (1974) ก็ได้ทำการทดลองอันท้าทายกับพฤติกรรมด้านลบของมนุษย์ ด้วยการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ จำนวน 72 ชิ้น อาทิ ดอกกุหลาบ, ขนนก, กรรไกร, มีดผ่าตัด, ปากกา, แส้ และปืนที่บรรจุกระสุนหนึ่งนัด และเชื้อเชิญผู้ชมให้ทำอะไรกับเธอก็ได้ตามแต่ใจ โดยที่เธอไม่ต่อต้านหรือป้องกันตัว ภายในเวลา 6 ชั่วโมง และเธอจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งในตอนแรกผู้ชมเหล่านั้นก็เริ่มต้นด้วยการแค่มอบดอกไม้ให้เธอ จูบเธอเบาๆ และเอาขนนกแหย่เธอเล่น ต่อมาก็เริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ บางคนเอาปากกาเขียนบนตัวเธอ บางคนตัดเสื้อผ้าเธอออกด้วยกรรไกร บางคนกรีดร่างเธอด้วยมีดแล้วดูดเลียเลือดของเธอ บางคนลวนลามเธอ หนักที่สุดคือเอาปืนจ่อหัวเธอ แต่ก็มีผู้ชมออกมาปกป้องเธอด้วยเช่นเดียวกัน

ผลงานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างของการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดทางร่างกาย ซึ่งเธอเชื่อว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนเราอยู่กับปัจจุบันและตระหนักถึงการมีอยู่ของตนเอง นอกจากนั้นมันยังสะท้อนความสนใจในการทำงานศิลปะที่เปลี่ยนแปลงทั้งผู้แสดงงานและผู้ชม อบาโมวิชต้องการให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในผลงานศิลปะมากกว่าจะเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่เฉยๆ

ภาพจาก http://letteraturaartistica.blogspot.com/2017/01/marina-abramovic.html

มารินา อบราโมวิช: Thomas Lips (1975)

ภาพจาก https://www.troab.com/abramovic-experienced-people-violent-side-social-experiment/

มารินา อบราโมวิช: Rhythm 0 (1974)

ศิลปินบอดี้อาร์ตหลายคนยังได้ใช้ร่างกายตัวเองเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับประเด็นทางเพศอย่างชัดเจนไปจนถึงโจ่งแจ้ง

ดังที่ปรากฏในผลงานของศิลปินหญิงชาวอเมริกัน แคโรลี ชนีแมนน์ (Carolee Schneemann) ที่ทำงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ด้วยการใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือท้าทายอำนาจนิยมและแนวคิดชายเป็นใหญ่ของศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ ในผลงานชื่อ Interior Scroll (1975) ที่แสดงในนิทรรศการศิลปะ Women Here and Now ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากลของสหประชาชาติ ในอีสต์แฮมพ์ตัน นิวยอร์ก เธอเข้ามาในห้องแสดงงานที่เต็มไปด้วยผู้ชม (ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง) สวมเสื้อผ้าเต็มยศ ก่อนที่จะค่อยๆ เปลื้องออกจนหมด ทาตัวด้วยสีดำและสวมผ้ากันเปื้อนสีขาวบิดกายเกลือกกลิ้งบนโต๊ะ โพสท่าเลียนแบบนางแบบวาดภาพนู้ด พร้อมกับอ่านถ้อยคำจากหนังสือให้ผู้ชมฟัง ในจุดพีคสุดของการแสดง เธอปลดผ้ากันเปื้อนออก ยืนเปลือยกายล่อนจ้อนบนโต๊ะ กางขา แล้วค่อยๆ ดึงม้วนกระดาษยาวเหยียดออกจากอวัยวะเพศแล้วอ่านเนื้อหาในนั้นดังๆ ให้คนดูฟัง!

ชนีแมนน์อธิบายถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานชิ้นนี้ว่า เธอต้องการเปิดเผยตัวตนของอวัยวะเพศหญิงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น ลดทอน และทำให้ไม่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ ทั้งๆ ที่มันไม่เพียงเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิต ความสุขความพึงพอใจ และเป็นแหล่งกำเนิดของประจำเดือนและความเป็นแม่แล้ว มันยังเป็นแหล่งกำเนิดของความรู้อีกด้วย เธอต้องการแสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่พื้นที่ไร้ชีวิตและตัวตน ชนีแมนน์ได้แรงบันดาลใจในการทำศิลปะแสดงสดนี้จากความฝันของเธอที่มีถ้อยคำบางอย่างผุดออกมาจากช่องคลอด ซึ่งเป็นถ้อยคำสั้นๆ เรียบง่ายที่เขียนว่า ‘ความรู้’ นั่นเอง

ภาพจาก https://fineartmultiple.com/blog/carolee-schneemann-interior-scroll-masterpiece/

แคโรลี ชนีแมนน์: Interior Scroll (1975)

หรือผลงานอีกชิ้นของ วาลี เอ็กซ์พอร์ต อย่าง Touch and Tap Cinema (1968-1971)  ที่เธอสวมกล่องโฟมปิดท่อนบนยืนบนถนนในเวียนนา และเชิญชวนให้คนที่ผ่านไปมาล้วงเข้าไปสัมผัสหน้าอกหน้าใจของเธอในกล่อง เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาตั้งคำถามกับฏิกิริยาของพวกตนกับร่างกายของผู้หญิงในจอโทรทัศน์และร่างกายของคนจริงๆ

หรือผลงานที่โด่งดังที่สุดของ วีโต แอ็กคอนซี อย่าง Seedbed (1972) ศิลปะแสดงสดและศิลปะจัดวางสุดอื้อฉาว ที่เขาสร้างทางลาดเอียงขึ้นในหอศิลป์ Sonnabend ในนิวยอร์ก และซ่อนตัวอยู่ข้างใต้ทางเป็นเวลาแปดชั่วโมงต่อวัน เพื่อเงี่ยหูฟังเสียงเดินของผู้ชมที่เดินผ่านไปผ่านมาอยู่ข้างบน และทำการสำเร็จความใคร่และส่งเสียงให้พวกเขาฟังผ่านลำโพงที่ติดตั้งอยู่มุมห้อง แอ็กคอนซีได้แรงบันดาลใจในการทำผลงานชุดนี้จากความพยายามในการดึงให้คนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยการสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างศิลปินและผู้ชมขึ้นมา

และในผลงาน Imponderabilia (1977) ของมารินา อบราโมวิช กับคู่รักศิลปินชาวสโลวีเนีย อูไลย์ (Ulay) ยืนเปลือยหันหน้าเข้าหากันตรงประตูทางเข้าแคบๆ ของหอศิลป์ โดยผู้ชมต้องเดินแทรกระหว่างร่างเปลือยทั้งสองเพื่อเข้าไปข้างใน พวกเขาต้องเลือกว่าจะหันหน้าไปหาใคร หรือสัมผัสกับร่างเปลือยของใครเวลาแทรกตัวผ่านเข้าไป และท้ายที่สุดแล้วประสบการณ์ที่ว่านี้จะทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไรบ้าง

ศิลปินเหล่านี้ไม่เพียงนำเสนอประเด็นทางการเมือง เรื่องราวทางเพศ หรือแนวคิดเฟมินิสต์ หากแต่พวกเขาและเธอยังขยายพรมแดนและทลายข้อจำกัดของโลกศิลปะไปอย่างมหาศาล

ภาพจาก https://www.nytimes.com/2016/06/05/arts/design/vito-acconci-an-artist-as-influential-as-he-is-eccentric.html?_r=0

วีโต แอ็กคอนซี: Seedbed (1972)

ภาพจาก https://www.artbasel.com/catalog/artwork/56067/Marina-Abramovic-Ulay-Imponderabilia

มารินา อบราโมวิช: Imponderabilia (1977)

นับตั้งแต่ปี 1990 ถึงปัจจุบัน ศิลปินบอดี้อาร์ตหลายคนโอบรับเทคโนโลยีอันก้าวล้ำนำสมัยอย่างสื่อออนไลน์ ดิจิทัล และอินเตอร์เน็ต ศิลปินหลายคนใช้ภาพยนตร์และภาพถ่ายบันทึกภาพของตัวเองเป็นงานศิลปะและโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย อย่างยูทูบและอินสตาแกรม บางคนไปไกลกว่านั้น อาทิศิลปินร่วมสมัยชาวสเปน มูน ริบาส์ (Moon Ribas) ที่เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินไซบอร์ก เธอปลูกถ่ายเซ็นเซอร์จับแรงสั่นสะเทือนออนไลน์บนข้อศอก ที่ช่วยให้เธอสามารถตรวจจับแผ่นดินไหวผ่านการสั่นสะเทือนได้ และใช้แรงสั่นสะเทือนเหล่านั้นเป็นข้อมูลสำหรับการเต้นในงานศิลปะแสดงสดของเธอ

หรือศิลปินฝรั่งเศสในช่วงปี 1990s อย่าง ออร์ลอง (Orlan) ที่ทำงานศิลปะด้วยการผ่าตัดทำศัลยกรรมพลาสติกเพื่อเปลี่ยนแปลงองคาพยพบนใบหน้าให้กลายเป็นตัวละครอันหลากหลาย เพื่อแสดงการเสียดเย้ยค่านิยมและมาตรฐานของความงามที่กดทับเพศหญิงอยู่

ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Orlan

ออร์ลอง (1947 – ปัจจุบัน)

และหากจะพูดถึงความดุเดือด ศิลปินบอดี้อาร์ตรุ่นใหม่ไม่ได้น้อยหน้าศิลปินรุ่นก่อนหน้าเลย อาทิเช่น ในปี 2013 ศิลปินชาวรัสเซีย พีเทอร์ ปาฟเลนสกี้ (Petr Pavlensky) เย็บปากของตัวเอง เปลือยกายพันตัวเองด้วยลวดหนาม หรือนั่งเปลือยหน้าสุสานเลนิน ในจัตุรัสแดง แล้วใช้ค้อนตอกตะปูตรึงถุงอัณฑะของตัวเองติดกับพื้นหิน เพื่อแสดงการประท้วงระบอบการเมืองของรัสเซีย

หรือศิลปินชาวสวิสอย่าง มิโล มัวเร่ (Milo Moire) ที่ใช้ร่างเปลือยของตนเองเป็นสื่อในการแสดงงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเธอคือ The PlopEgg  – A Birth of a Picture (2014) ที่เธอยืนเปลือยกายล่อนจ้อนบนยกพื้นสูงที่ทำจากบันไดเหล็กสองอัน กางขาเบ่งไข่ที่ยัดเอาไว้ในช่องคลอดของเธอให้ร่วงหล่นลงมาแตกบนผืนผ้าใบด้านล่างฟองแล้วฟองเล่า จนหมึกและสีอครีลิกหลากสีที่บรรจุอยู่ภายในไข่กระจายไหลเลอะพื้นสีขาวเป็นวงกว้าง ท้ายที่สุดเธอพับครึ่งผืนผ้าใบ รีดจนเรียบและคลี่กางออกมาเป็นภาพวาดนามธรรมแบบสะท้อนสมมาตรคล้ายกับภาพวาดพับครึ่งของเด็ก ในขณะเดียวกันก็ดูคล้ายกับแบบทดสอบเชิงจิตวิทยาด้วยรอยหมึก (Rorschach Test)

เธอพัฒนาแนวคิดในการสร้างผลงานชิ้นนี้มาอย่างยาวนาน ด้วยการใช้สัญลักษณ์อันเป็นสากลอย่างมดลูกในวัยเจริญพันธุ์และไข่ ซึ่งเป็นรากเหง้าในการถือกำเนิดของชีวิต ผนวกกับประสบการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าของสตรีเพศในการขึ้นขาหยั่งตรวจภายใน สีสันของประจำเดือนในการตกไข่ทุกเดือน และห้วงเวลาอันว่างเปล่าในจิตก่อนที่จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ เป็นแรงบันดาลใจให้เธอสร้างผลงานที่แสดงถึงพลังอำนาจของสตรีเพศชิ้นนี้ขึ้นมา

ภาพจาก http://deardirtyamerica.com/2014/04/nude-progressive-one-artist-drops-paint-eggs-from-her-birth-canal/

มิโล มัวเร่: The PlopEgg – A Birth of a Picture (2014)

และความบ้าคลั่งของสื่อที่แวดล้อมผลงานศิลปะเหล่านี้เอง กระตุ้นให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความรับผิดชอบและจริยธรรมส่วนบุคคลของศิลปิน รวมถึงคำถามถึงการล่วงละเมิดขอบเขตอันต้องห้ามที่ศิลปินจะกระทำกับร่างกายตัวเอง แม้จะอยู่ในโลกของศิลปะอันเปี่ยมด้วยอิสรเสรีภาพก็ตามที

 

ข้อมูลจาก

http://www.theartstory.org/movement-body-art.htm

https://en.wikipedia.org/wiki/Rhythm_0

https://en.wikipedia.org/wiki/Petr_Pavlensky

https://www.nytimes.com/2017/04/28/arts/design/vito-acconci-dead-performance-artist.html

http://yayoi-kusama.jp/

https://hyperallergic.com/232342/forty-years-of-carolee-schneemanns-interior-scroll/

หนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ สำนักพิมพ์: Salmon Books

Tags: , ,