ในเทศกาลเดินทางแบบนี้ หลายคนคงเตรียมตัวและเลือกเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีขั้นตอนละเอียดยิบย่อยมากมาย
เราจะมาไขข้อสงสัยว่า ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนเดินทาง เผื่อเวลากี่นาทีกันแน่ บนเครื่องบินทำอะไรได้/ไม่ได้บ้าง แล้วทำไมต้องเป็นเช่นนั้น เราจะมาช่วยทุกคนตอบทุกคำถามกันค่ะ
เช็คอินคืออะไร แล้วจะไม่เช็คอินได้มั้ย?
การเช็คอินคือการไปยืนยันว่า คนที่ซื้อตั๋วมีตัวตนจริง เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้สแกนความปลอดภัยเบื้องต้นว่าอย่างน้อยคนที่นั่งในไฟลท์เดียวกับคุณมีที่มาที่ไป ไม่ได้เป็นใครก็ไม่รู้
ปัจจุบัน สายการบินต่างก็สรรหาวิธีการต่างๆ ที่ทำให้การเช็คอินรวดเร็วขึ้น เช่น การเช็คอินแบบออนไลน์ซึ่งสะดวกมาก เพราะหากไม่มีกระเป๋าต้องฝากใต้ท้องเครื่อง ก็สามารถเดินเข้าสนามบินไปรอบนเครื่องบินได้เลย แต่หากต้องฝากกระเป๋าใต้ท้องเครื่องบิน ก็อาจจะต้องเผื่อเวลาจากเดิมมากขึ้นอีก
การทำการบ้านไปก่อนว่า เคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบินที่จะไปใช้บริการอยู่อาคารไหน ประตูไหน มีสัญลักษณ์อะไรบ้าง ก็จะช่วยประหยัดเวลาและลดโอกาสการตกเครื่องไปได้อีกมาก
“เคาน์เตอร์เช็คอินปิด 45 นาทีก่อนเวลาเครื่องออก”… แล้วต้องไปกี่โมง
45 นาทีคือเวลาที่คุณจะต้องใช้เพื่อเดินผ่านจุดตรวจบัตรโดยสาร บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง (สำหรับเที่ยวบินต่างประเทศ) และตรวจสัมภาระก่อนถือขึ้นเครื่องบิน เดินไปที่เครื่องบินแสดงบัตรโดยสารให้เจ้าหน้าที่ทางเข้า และที่ประตูเครื่องบินอีกครั้ง เดินไปยังที่นั่ง เก็บสัมภาระ นั่ง รัดเข็มขัด รับชมการสาธิตหรือวิดีโอสาธิตอุปกรณ์ความปลอดภัยบนเครื่อง เครื่องบินถอยหลังออกจากสนามบินและตั้งลำเตรียมตัวบินขึ้น
ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 45 นาที
นั่นหมายความว่าคุณต้องเผื่อเวลาก่อนเคาน์เตอร์ปิดอีกนานเลย เพื่อไปรอต่อคิวที่ไม่รู้ว่าวันนี้จะมีคนเยอะแค่ไหน การเผื่อเวลาไปถึงเคาน์เตอร์เช็คอินสัก 1.5-2 ชั่วโมงก่อนเวลาเครื่องออก ก็ถือว่าปลอดภัยจากการตกเครื่องได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์
การเผื่อเวลาไปถึงเคาน์เตอร์เช็คอินสัก 1.5-2 ชั่วโมงก่อนเวลาเครื่องออก ก็ถือว่าปลอดภัยจากการตกเครื่องได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์
ปกติ ก่อนเคาน์เตอร์จะปิดรับผู้โดยสารเช็คอิน จะมีพนักงานเริ่มตะโกนเรียกให้ผู้โดยสารในเที่ยวบินที่เคาน์เตอร์กำลังจะปิด ลัดคิวไปเช็คอินก่อน เพื่อให้เข้าไปทันก่อนเครื่องบินปิดประตู แต่ก็อย่าไปหวังกับขั้นตอนตรงนี้มาก เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า แม้เขาจะให้เราเช็คอิน แต่เราอาจจะวิ่งเข้าไปไม่ทันเครื่องบินปิดประตูก็ได้
จองที่นั่งก่อนได้มั้ย?
การเลือกที่นั่งจะเป็นไปตามลำดับการมาเช็คอินก่อนหลัง หรือคนที่เช็คอินแบบออนไลน์ก็จะเลือกที่นั่งได้ก่อน การไปขอพนักงานหน้าเคาน์เตอร์เช็คอินหรือขอให้แอร์ฯ หาที่นั่งให้เป็นเรื่องยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ช่วงหลังมานี้ มีสายการบินหลายแห่งงดให้บริการเลือกที่นั่ง (ส่วนมากเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ) ถ้าคุณอยากเลือกก็อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายต่างหาก หากไม่ใช้บริการนี้ ระบบจะจัดที่นั่งให้อัตโนมัติ ข้อแนะนำสำหรับคนที่เดินทางเป็นกลุ่มคือ หากคุณจองตั๋วเป็นหมายเลขจองเดียวกัน ตอนเช็คอินระบบอาจจะไม่ได้จัดที่นั่งให้ติดกันหมด แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดที่แต่ละคนนั่งแยกกันหัวเครื่องท้ายเครื่อง นอกเสียจากว่า คุณจะมาเช็คอินเป็นคนท้ายๆ จนไม่มีที่นั่งติดกันสำหรับคุณแล้ว นั่นก็คือเงื่อนไขที่คุณต้องยอมรับ
ทำไมเปลี่ยนเกต (Gate) ไม่แจ้งล่วงหน้านานๆ?
ประตูที่เครื่องบินจอดอาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอจากหลายปัจจัย เช่น เครื่องบินเข้าล่าช้าเกินกว่าเวลา หรือต้องเปลี่ยนเครื่องบินกะทันหัน การจัดคิวการจอดของสนามบิน ฯลฯ ซึ่งเราต้องเตรียมฟังประกาศจากสายการบินให้ดี การไปถึงเกตก่อนก็จะทำให้เรารู้ข่าวสารการเปลี่ยนเกตได้เร็ว การเผื่อเวลาไปที่เกตจึงเป็นอีกเรื่องที่จำเป็น
ทำไมต้องตรวจบัตรโดยสารและบัตรประชาชนซ้ำซ้อน?
ก่อนขึ้นเครื่องบิน ผู้โดยสารจะต้องแสดงบัตรโดยสารและบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางอีกครั้งที่หน้าประตูทางเข้าเครื่อง และจะต้องโชว์อีกครั้งหน้าประตูเครื่องบินเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อการันตีว่า คุณขึ้นเครื่องบินถูกลำ ถูกไฟลท์ ขั้นตอนนี้คนมักเข้าใจว่าแอร์ฯ ถามหาบัตรโดยสารเพื่อดูหมายเลขที่นั่ง…ซึ่งไม่ใช่ เพราะโอกาสที่ผู้โดยสารจะเดินขึ้นผิดเครื่องบินมันเกิดขึ้นได้ในช่วงที่เที่ยวบินจำนวนมากรับผู้โดยสารขึ้นเครื่องในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
กฎอะไรเยอะแยะไปหมด?
รู้หรือไม่ว่าช่วงเวลาใดที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดขณะโดยสารด้วยเครื่องบิน คุณอาจคิดว่าตอนบินบนฟ้า จริงๆ แล้วมันคือช่วงเครื่องบินวิ่งขึ้นลงแตะพื้น เราจึงต้องปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยต่างๆ
- รัดเข็มขัดเพราะคุณอาจจะลอยหรือกระเด็นออกจากที่นั่งได้ถ้าเครื่องบินเกิดเบรกกระทันหันหรือกระทบพื้นอย่างแรง
- กระเป๋าใบใหญ่มีล้อให้เก็บในที่เก็บกระเป๋าด้านบน กระเป๋าใบเล็กถ้าไม่เก็บข้างบนก็ให้ไว้ใต้ที่นั่งด้านหน้า (สอดเข้าไปข้างหน้าลึกๆ) เพราะถ้าต้องอพยพออกจากเครื่องบินในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน สัมภาระต่างๆ จะได้ไม่ขวางตัวคุณเองและคนอื่น
- ปรับเก้าอี้ให้อยู่ระดับตรงเหมือนเดิม มันจะได้ไม่ไปบล็อกคนที่อยู่ข้างหลังคุณจนเขาออกไม่ได้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
- ปรับที่พับแขนลง เนื่องจากเวลาเครื่องกระทบพื้นแรงๆ ที่พับแขนอาจตกกระทบร่างกายของคุณหรือลูกน้อยที่คุณอุ้มอยู่ได้รับบาดเจ็บ
- เปิดม่านหน้าต่างขึ้นสุดเพื่อที่คุณจะได้เห็นสภาพด้านนอกในระหว่างเครื่องขึ้นและลงเพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น การที่คุณรู้หรือเห็นเร็วเท่าไร โอกาสรอดชีวิตก็มีมากเท่านั้น
- ปิดอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด เนื่องจากสัญญาณของคุณอาจมีผลต่อระบบนำทางหรือรบกวนการสื่อสารระหว่างนักบินกับหอบังคับการบินได้ ปัจจุบัน กฎหมายของไทยอนุญาตให้ผู้โดยสารเปิดใช้โทรศัพท์ได้หลังจากที่เครื่องลงแตะพื้นแล้ว แต่ยังให้งดการโทรเข้าและรับสายอยู่ ส่วนไฟลท์โหมดจะอนุญาตให้ใช้ในระหว่างที่เครื่องบินบินขึ้นไปแล้วเท่านั้น
บทจะตรงเวลาก็ตรงเวลาไม่รอใคร บทจะดีเลย์ก็ดีเลย์…
ไม่มีสายการบินไหนอยากจะบินออกล่าช้า เพราะมันตามมาด้วยค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมาก ยิ่งเครื่องบินจอดที่สนามบินนานเท่าไรก็ยิ่งเสียค่าเช่าที่จอดมากเท่านั้น
การที่เครื่องบินจะออกล่าช้า มีเหตุมาจากหลายปัจจัยมาก ซึ่งถ้าไม่ใช่เรื่องของเครื่องบินเสีย ก็ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น ระบบการจัดการของสนามบิน การจัดลำดับเครื่องบินขึ้น-ลง กรณีมีเครื่องขึ้น-ลง ฉุกเฉินที่ต้องให้คิวเครื่องบินลำนั้นๆไปก่อน ฯลฯ
หลายครั้งเราอาจถูกเรียกให้รีบวิ่งไปที่เครื่องบิน แต่สุดท้ายเครื่องบินก็ประกาศว่าจำเป็นต้องออกล่าช้า ก็ขอให้เข้าใจว่าเงื่อนไขมันมีมากกว่าการตัดสินใจของกัปตันหรือสายการบินเอง
รู้ว่าจะดีเลย์ทำไมไม่รอ
ถ้าความล่าช้าเกิดจากการจัดการของสายการบินเอง เช่น เครื่องเสีย เครื่องบินมาถึงล่าช้า สายการบินก็จะรอ แต่อย่างไรเสีย เครื่องบินก็ต้องรีบรับผู้โดยสารและปิดประตูให้ไวที่สุด และรีบถอยออกเพื่อที่จะเสียค่าจอดล่วงเวลาน้อยที่สุดและไม่ให้กระทบต่อเที่ยวบินถัดไปที่ต้องใช้เครื่องบินลำเดียวกันนี้บิน
สิ่งที่คนทั่วไปต้องรู้อีกคือ เมื่อประตูเครื่องบินปิดและเครื่องถอยออกจากสนามบิน มันเป็นเรื่องยากที่จะถอยเข้ามาจอดที่ท่าใหม่ เพราะไม่ใช่แค่นักบินที่เป็นคนตัดสินใจ แต่เป็นเรื่องของรถลากเครื่องบิน หอบังคับการบิน พนักงานภาคพื้น พนักงานสนามบิน ฯลฯ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกมากตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สายการบินเองต้องรับผิดชอบ
ยกกระเป๋าให้หน่อยได้ไหม เก็บตรงนี้ไม่ได้เหรอ
นี่อาจเป็นครั้งที่ล้านและเป็นมารยาทสากลที่คนทั่วไปก็รู้อยู่แล้วว่า สัมภาระที่ถือขึ้นเครื่องคือความรับผิดชอบของผู้โดยสารเอง แต่หากยกไม่ไหวจริงๆ หรือเอื้อมไม่ถึงที่เก็บ คุณสามารถขอความช่วยเหลือจากแอร์ฯ ได้ แต่ช่วยในที่นี่คือ คุณก็ต้องยกขึ้นไปด้วย ถ้าคิดว่าจะลำบากแน่ๆ ก็ควรฝากไว้ใต้ท้องเครื่องไปเลย
เป็นมารยาทสากลที่คนทั่วไปก็รู้อยู่แล้วว่า สัมภาระที่ถือขึ้นเครื่องคือความรับผิดชอบของผู้โดยสารเอง
พื้นที่ในการเก็บกระเป๋าก็ควรเป็นไปตามที่นั่ง ไม่ใช่ว่าตัวเองนั่งแถว 15 แล้วเอากระเป๋ามาเก็บไว้แถวแรก ลองคิดถึงหัวอกของผู้โดยสารแถวแรกว่าแล้วเขาจะเอากระเป๋าไปเก็บไว้ตรงไหน
หรือในกรณีที่เก็บกระเป๋ามันเต็มจริงๆ คุณสามารถแจ้งให้แอร์ฯ ช่วยหาที่ให้ได้ มันอาจจะไม่ใช่ที่บนศีรษะของคุณเป๊ะ แต่มันก็จะเป็นที่ที่ใกล้ที่สุดแล้วที่เขาจะจัดสรรให้ได้ขณะนั้น
เดี๋ยวของมันแตก ขออุ้มไว้ไม่ได้เหรอ
สำหรับของที่เปราะบางซึ่งคุณกลัวว่ามันอาจจะแตกหักระหว่างขนส่ง คุณจึงอยากจะถือมันไว้กับมือ แต่ขนาดของดันใหญ่เกินกว่าที่จะถือขึ้นเครื่องได้ สายการบินหลายแห่งมีบริการเก็บของไว้ในคาร์โก้อย่างระมัดระวัง คุณสามารถถือสิ่งของนั้นไว้จนถึงประตูเครื่องบินแล้วมอบให้พนักงาน เขาจะนำไปเก็บอย่างระมัดระวัง และคุณก็สามารถรับสิ่งของนั้นได้ตอนลงจากเครื่องบินโดยไม่ต้องไปรับที่สายพานรับกระเป๋า
เข็มขัดเด็ก เข็มขัดเสริม ใช้อย่างไร?
สำหรับเข็มขัดเสริมสำหรับเด็ก เราจะใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่าสองขวบที่พ่อแม่ต้องอุ้มบนตักระหว่างเครื่องบินขึ้น-ลงและบินผ่านสภาพอากาศแปรปรวน (Turbulence) เท่านั้น
เด็กที่อายุมากกว่าสองขวบ ต้องนั่งประจำที่นั่งตัวเอง ไม่สามารถขอบริการเข็มขัดเสริมสำหรับเด็กได้ มันไม่ใช่เรื่องของการบริการความสะดวกสบายบนเครื่อง แต่เป็นเรื่องกฎความปลอดภัยที่ทางสายการบินคิดมาแล้วว่า วิธีนี้ ในเงื่อนไขแบบนี้ ปลอดภัยที่สุด
และถ้าคุณเป็นคนตัวใหญ่จนรู้สึกว่าใช้เข็มขัดนิรภัยบนเครื่องบินไม่ได้ หรือรัดได้แต่อึดอัดมาก คุณสามารถขอเข็มขัดเสริมจากแอร์ฯ ได้ ซึ่งจะถือว่าเป็นการดีมากถ้าคุณจะขอก่อนที่จะรอให้แอร์ฯ มาถามเอง เพราะบางทีมันก็เป็นเรื่องลำบากใจสำหรับแอร์ที่จะมาพูดเรื่องขนาดตัวกับผู้โดยสาร
ทางออกฉุกเฉินคืออะไร ใครนั่งได้บ้าง นั่งแล้วต้องทำอะไร
ทางออกฉุกเฉินคือประตูที่เราจะเปิดในกรณีที่จำเป็นต้องอพยพผู้โดยสารลงจากเครื่องบิน ในเครื่องบินบางลำ วิธีการเปิดประตูฉุกเฉินไม่เหมือนกับประตูปกติ และจำเป็นต้องให้ผู้โดยสารที่นั่งติดประตูเป็นผู้เปิด สิ่งล่อตาล่อใจคือ พื้นที่บริเวณทางออกฉุกเฉินจะกว้างกว่าพื้นที่ที่นั่งปกติ เนื่องจากจะต้องใช้อพยพคนออกจากเครื่องให้เร็วที่สุด แต่ที่นั่งตรงนี้ ไม่ใช่ว่าใครก็นั่งแต่ แต่ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- ไม่เจ็บป่วย
- ไม่มีขนาดตัวใหญ่เกินกว่าจะรับเข็มขัดปกติได้
- ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ
- แข็งแรงและสามารถยกประตูฉุกเฉิน
- อายุมากกว่า 15 ปี
- ไม่ได้กำลังตั้งครรภ์
- สามารถสื่อสารกับแอร์ฯ เพื่อรับฟังวิธีการและเงื่อนไขในการเปิดประตู
- ต้องเป็นผู้ที่ยอมรับในทุกเงื่อนไขที่จะช่วยเหลือ และยอมการเก็บสัมภาระทุกอย่าง (กระเป๋า หูฟัง หมอนรองคอ โน้ตบุ๊ก เสื้อคลุมที่ไม่ใส่ หมวก หูฟังขนาดใหญ่ ฯลฯ) ในที่เก็บกระเป๋าด้านบน เพราะหากเก็บอุปกรณ์ไว้ใต้ที่นั่ง สิ่งของเหล่านั้นอาจจะเป็นเลื่อนออกมา กีดขวางการอพยพในกรณีฉุกเฉิน ฯลฯ
โดยปกติแอร์ฯ จะสอบถามคุณว่าคุณพร้อมที่จะช่วยเหลือไหม หากคุณตอบว่าไม่พร้อมหรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเขา คุณอาจถูกย้ายที่นั่งไปแถวอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้เครื่องบินออกล่าช้าได้ เพราะการย้ายที่นั่งแต่ละครั้ง ทำให้พนักงานต้องไปคำนวณน้ำหนักของเครื่องบินใหม่เพื่อรักษาน้ำหนักและสมดุลของการทำการบิน
หากคุณไม่ทราบเงื่อนไขมาก่อน และไม่พร้อมจะเปิดประตูจริงๆ ในกรณีฉุกเฉิน คุณก็ควรแจ้งให้แอร์ฯ ทราบ เพราะนั่นไม่ใช่แค่ความปลอดภัยของคุณ แต่รวมถึงผู้โดยสารคนอื่นๆ ด้วย
ก็ตรงนี้มันว่าง ทำไมจะย้ายมาไม่ได้
โดยปกติแล้วเครื่องบินจะถูกแบ่งออกเป็นโซนน้ำหนัก บางครั้งคุณอาจจะเห็นว่าที่นั่งด้านหน้าว่างเยอะ แต่ทำไมพนักงานจัดให้ผู้โดยสารมานั่งเบียดกันข้างหลังแออัดไปหมด
เครื่องบินไม่ได้บรรจุแค่คน แต่ยังมีสิ่งที่ของที่อยู่คาร์โก้ด้านล่าง การที่คุณไม่สามารถย้ายที่ตามอำเภอใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสายการบินคำนวณมาแล้วว่า ถ้าคุณนั่งตามที่นั่งเดิมของคุณ เครื่องบินก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการรักษาน้ำหนักและสมดุลของเครื่องบิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะย้ายไม่ได้เลย คำแนะนำคือลองถามแอร์ฯ ดู
เครื่องบินจะถูกแบ่งออกเป็นโซนน้ำหนัก เพราะเครื่องบินไม่ได้บรรจุแค่คน แต่ยังมีสิ่งที่ของที่อยู่คาร์โก้ด้านล่าง
ถ้าคุณถามก่อนเครื่องขึ้น และคุณสามารถย้ายได้ ก็จะได้รับคำตอบว่า “ย้ายได้ แต่รบกวนเป็นหลังเครื่องขึ้น และรอให้สัญญาณรัดเข็มขัดนิรภัยดับก่อน” เพราะหากคุณลุกได้ คนอื่นก็อาจจะเข้าใจว่าเขาก็ลุกได้ ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมความเรียบร้อยและความปลอดภัยของผู้โดยสาร
ผู้โดยสารคือพระเจ้า?
หากคุณคิดว่าคุณจะทำอะไรก็ได้ในฐานะลูกค้า คุณกำลังคิดผิด เพราะหากคุณกระทำรุนแรง พูดจาหยาบคาย มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และมีแนวโน้มจะก่อกวนความสงบ ทำลายข้าวของและอุปกรณ์บนเครื่องบิน รวมถึงพยายามจะเข้าห้องนักบินด้วยความประสงค์ร้าย แอร์ฯ มีสิทธิปฏิเสธไม่ให้คุณเดินทางไปในเที่ยวบินนั้น และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้
หรือหากคุณประพฤติตนไม่เหมาะสมตอนเครื่องขึ้นไปแล้ว และคิดว่าไม่มีใครจัดการกับคุณได้ คุณอาจจะถูกแอร์ฯ จับกุมและดำเนินคดีต่อไป ไม่ใช่ว่าเมื่อเครื่องบินลงจอดแล้วคุณจะได้รับการปล่อยตัว เพราะกัปตันจะแจ้งข้อมูลทุกอย่างกับสนามบินปลายทางให้ทราบแล้วตั้งแต่อยู่บนเที่ยวบิน
เคยขึ้นสาย (การบิน) นั้นยังทำได้เลย ทำไมที่นี่จะทำไม่ได้?
อันที่จริงนโยบายเรื่องความปลอดภัยของแต่ละสายการบินย่อมเป็นไปตามมาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) แต่ในหลักปฏิบัติ ความจริงจังในบางเรื่องก็จะแตกต่างกันไป รวมถึงนโยบายของแต่ละสายการบินเองก็จะแตกต่างกันไป นั่นหมายความว่า การกระทำที่ได้รับการยกเว้นจากสายการบินหนึ่ง อาจจะเป็นข้อห้ามของอีกสายการบินหนึ่งก็ได้
เจ็บป่วยระหว่างเที่ยวบินทำอย่างไร
ในเครื่องบินจะมีระบบปรับความดันอากาศ เครื่องบินอาจจะบินอยู่ที่ 30,000 แอลติจูด แต่เจ้าเครื่องนี้จะปรับสภาพอากาศภายในเครื่องบินให้อยู่ที่ความสูงประมาณ 8,000 แอลติจูด ด้วยความกดอากาศแบบนี้อาจจะทำให้เราปวดหูหรือหูอื้อได้ การดื่มน้ำ กลืนน้ำลาย เคี้ยวหมากฝรั่ง รับประทานอาหาร ก็จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้บ้าง
หนึ่งในวิธีที่มักจะทำกันเวลาที่หูอื้อบนเครื่องคือ Valsalva Manoeuvre คือการสูดหายใจเข้าลึกๆ เอามือปิดจมูก และหายใจออกให้เร็ว เพื่อเคลียร์อากาศที่อยู่ในเยื่อหูออกไป แต่ไม่แนะนำให้ทำบ่อย และไม่แนะนำให้ทำเลยสำหรับคนเป็นหวัด เพราะอาจจะทำให้เยื้อหูอักเสบหรือร้ายแรงกว่านั้น จนต้องเข้าโรงพยาบาล
การกระทำที่ได้รับการยกเว้นจากสายการบินหนึ่ง อาจจะเป็นข้อห้ามของอีกสายการบินหนึ่งก็ได้
อาการปวดหูหรือหูอื้อ เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กน้อยหรือทารกร้องไห้เสียงดัง คำแนะนำคือ อาจจะให้เด็กน้อยกัดจุกนมหรือดื่มน้ำ
หากมีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ระหว่างเที่ยวบิน คุณสามารถกดเรียกแอร์ฯ ให้มาช่วยดูได้ เพราะอย่างน้อย พวกเขาก็ได้รับการอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลมา แต่ก็ขอให้เป็นกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ เท่านั้น
ก็เครื่องลงแตะพื้นแล้ว ทำไมลุกก่อนไม่ได้?
แม้ว่าเครื่องจะแตะพื้นแล้ว แต่คุณก็ยังคงต้องนั่งรอเครื่องบินจอดสนิทและสัญญาณรัดเข็มขัดนิรภัยดับลงก่อน เนื่องจากระหว่างที่เครื่องบินกำลังวิ่งที่พื้น อาจจะมีลูกระนาด เลี้ยวโค้ง หรือการเบรกกะทันหัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวคุณเองได้ หากคุณลุกขึ้น แอร์ฯ อาจจะตะโกนหรือประกาศผ่านไมโครโฟนเพื่อขอให้คุณนั่งลงก่อน คุณก็จะกลายเป็นที่จับจ้องของผู้โดยสารที่เหลือทั้งลำ
ซื้อตั๋วกลับมากรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) แล้วทำไมมาลงสนามบินอู่ตะเภา?
สิ่งหนึ่งที่คุณต้องเตรียมใจไว้ก่อนคือ บางครั้งมันมีความจำเป็นที่เครื่องบินไม่อาจลงจอดที่สถานีปลายทางที่ตั้งใจไว้ได้ เนื่องจากสาเหตุต่างๆ มากมาย เช่น สภาพอากาศ เครื่องบินเกิดเสียระหว่างทางและต้องรีบบินลง หรือไปยังสนามบินที่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการซ่อมพร้อม สนามบินปลายทางเกิดเหตุขัดข้อง ฯลฯ
อย่างไรก็ตามสายการบินจะต้องรับผิดชอบให้คุณไปถึงที่หมายแน่ๆ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ซึ่งก็เป็นเงื่อนไขที่คุณต้องยอมรับสำหรับการเดินทางด้วยเครื่องบิน
ก่อนลงจากเครื่องควรตรวจสอบอะไรบ้าง
หากคุณคิดว่าการลืมของบนเครื่องบินก็แค่วิ่งกลับไปเอา… คุณคิดผิด! เพราะหากคุณผ่านประตูออกมาแล้ว การได้สัมภาระคืนอาจเป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก คุณต้องติดต่อหลายฝ่ายและรอนาน หากไม่อยากยุ่งยากแบบไม่จำเป็น อย่าลืมสัมภาระทั้งหมดก่อนออกจากเครื่อง
จะว่าไปการเดินทางโดยเครื่องบินก็ถือว่าเป็นเรื่องซับซ้อนและมีข้อควรรู้มากมายที่อาจจะไม่ได้ถูกระบุเป็นกฎ แต่ในความซับซ้อนนั้น มันคือผลผลิตของการคำนึงถึงความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของผู้เดินทาง เพราะฉะนั้น หากพนักงานในส่วนต่างๆ ขอความร่วมมือจากคุณในการทำอะไร ก็ขออย่าได้ขัดขืนหรือแสดงอาการไม่พอใจ เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกขั้นตอนคือความปลอดภัย
หวังว่าคำอธิบายในเชิงข้อปฏิบัติทั้งหมดนี้จะทำให้คุณเข้าใจเงื่อนไขของการเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้น และสนุกสนานกับการนั่งมองก้อนเมฆในฐานะของงานศิลปะของธรรมชาติตลอดทาง ก่อนถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
Tags: เครื่องบิน, ความปลอดภัย, airplane, สายการบิน, การเดินทาง