นักวิจัยเรื่องแสงพากันค้นหาว่า สีส่งอิทธิพลต่อสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นข้อสรุปให้นำมาประยุกต์ใช้กับสรรพสิ่งรอบตัวและชีวิตประจำวันของผู้คน

สีแดง เป็นสีของความรัก หลงใหล ตื่นเต้น กระตือรือร้น มีชีวิตชีวา เพราะทำให้หัวใจเราเต้นแรง ทำให้ประสาทสัมผัสตื่นตัว และทำให้มีปฏิกิริยาตอบสนองเร็วขึ้น

สีเหลือง สะท้อนความสุข รื่นเริงใจ ความคิดสร้างสรรค์ ช่วยกระตุ้นสมองและความจำ และเป็นสัญลักษณ์สากลของการเตือนให้ระวัง

ส่วนสีน้ำเงินหรือฟ้า ให้ความรู้สึกสงบเย็น ผ่อนคลาย ช่วยกระตุ้นปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย เป็นสีโปรดของผู้คนทั่วโลกมากกว่าครึ่ง และยังถูกเลือกให้เห็น ‘สีที่ปลอดภัย’ ที่สุด

นั่นคือความหมายและพลังของแม่สี ที่มีผลกระทบและอิทธิพลต่อสภาพจิตใจของเรา

และอาจจะด้วยเหตุนี้เองที่สถานีรถไฟจำนวน 14 แห่งในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นจึงมีแสงสีฟ้าเป็นส่วนประกอบในการออกแบบตกแต่ง และโดยเฉพาะสถานีที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ผลลัพธ์หลังจากออกแบบตกแต่งสถานีรถไฟใหม่แล้ว ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายตามสถานที่เหล่านี้ลดลงถึง 74 เปอร์เซ็นต์

นักจิตวิทยาเองก็ลงมือสำรวจและวิจัยเรื่องดังกล่าว โดยจัดเก็บข้อมูลเปรียบเทียบสถานีรถไฟที่ออกแบบด้วยแสงสีฟ้ากับอีก 57 สถานีโดยรอบที่ใช้แสงไฟธรรมดาในช่วงระหว่างปี 2000-2013 และได้ผลลัพธ์ว่า สถานีที่มีแสงสีฟ้าเป็นส่วนประกอบในการออกแบบตกแต่งนั้น ช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้จริง รวมทั้งยังได้ข้อสรุปด้วยว่า แสงสีฟ้าช่วยปรับลดอารมณ์และชีพจร ทำให้ภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นถูกชะลอหรือคลี่คลายไปได้

ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายของผู้คนสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เมื่อได้ดำเนินการตามมาตรการเยียวยาสำหรับใครที่เกิดภาวะซึมเศร้า เหนื่อยล้าจากการทำงานมากเกินไป และจมจ่อมอยู่กับความโดดเดี่ยว นับแต่นั้นมาอัตราการฆ่าตัวตายก็ลดลง แม้จะไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า แสงสีฟ้าภายในสถานีรถไฟสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายได้จริง แต่ความสำเร็จของการทดลองใช้แสงเข้าช่วยนั้น นักจิตวิทยาเชื่อว่าอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงจิตใจของผู้คน

ตั้งแต่นั้นมา นักวิทยาศาสตร์พยายามหาสาเหตุว่าทำไมมันจึงได้ผล และหากนำวิธีการเดียวกันนี้ไปทดลองใช้กับประเทศอื่น และในสภาพแวดล้อมอื่นจะได้ผลตรงกันหรือไม่

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากใครนั่งรถไฟเพื่อไปยังสนามบินเกตวิคอาจเคยสังเกตเห็นหรือสงสัยเกี่ยวกับการประดับไฟแอลอีดีสีฟ้า นั่นเป็นการทดลองในลักษณะเดียวกันที่ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายลดจำนวนลง

ที่เมืองนาระ ประเทศญี่ปุ่น นักผังเมืองได้ทดลองใช้โมเดลของพนักงานรถไฟ โดยประดับไฟสีฟ้าตามแนวถนน แล้วพบว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมลดลง 9 เปอร์เซ็นต์ ในเมืองกลาสโกว์ของสก็อตแลนด์นำโปรเจ็กต์ดังกล่าวไปใช้เช่นกัน และผลลัพธ์คืออาชญากรรมบนท้องถนนลดลงอย่างชัดเจน

ว่าแต่ทำไมกลวิธีง่ายๆ แบบนี้จึงสามารถแก้ปัญหาร้ายแรงได้?

สตีฟ เวสต์แลนด์ (Steve Westland) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแสง ของมหาวิทยาลัยลีดส์ และนิโคลัส ซิคโคเน (Nicholas Ciccone) นักศึกษาปริญญาเอกของเขา ใช้เวลาสามปีในการร่วมกันทำงานวิจัยประเด็นนี้ และเรื่องอิทธิพลของแสงสีฟ้าที่มีต่อชีพจร มหาวิทยาลัยลีดส์ลงทุนสร้างห้องทดลองแสงขึ้นมาเพื่อประเมินผลกระทบของแสงต่อพฤติกรรมมนุษย์

ผลวิจัยของเวสต์แลนด์และนักศึกษาของเขาพิสูจน์ได้ว่า สีแดงมีผลให้หัวใจของเราเต้นแรง และสีฟ้าทำให้ชีพจรสงบลงได้

เวสต์แลนด์อธิบายว่า เรารู้กลไกเรื่องสีมีผลต่อสภาพจิตใจของคนมาราว 15 ปีแล้ว ยกตัวอย่างเรื่องดวงตา ไม่เพียงแต่มีเซลล์ที่ไวต่อแสงในจอตาของเราซึ่งจะส่งสัญญาณไฟฟ้าเคมีไปยังเยื่อหุ้มในสมองของเราเท่านั้น หากยังรวมถึงเซลล์ปมประสาทที่ส่งสัญญาณไปยังไฮโปทาลามัส ศูนย์ควบคุมหลักของประสาทอัตโนมัติของเราด้วย ไฮโปทาลามัสตอบสนองด้วยการสร้างฮอร์โมนที่ควบคุมการนอนหลับ ความหิว หรืออุณหภูมิในร่างกายของเรา

ดังนั้นจึงมีกลไกที่ชัดเจนว่า ทำไมสีและแสงจึงส่งผลต่ออารมณ์ ความดันโลหิต หรือชีพจรของเรา เวสต์แลนด์อธิบายถึงห้องคุมขังนักโทษในสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา ที่ทาผนังด้วยสีชมพูสว่าง นั่นคือทฤษฎี ‘Cool Down Pink’ ที่ช่วยลดทอนความรุนแรงของผู้ต้องขังลง นักจิตวิทยาเคยเฝ้าสังเกตการณ์ และพบว่า ผู้ต้องขังจะสงบนิ่งลงได้ภายในเวลา 15 นาที สาเหตุเพราะสีช่วยลดพลังทางกายภาพลง

เวสต์แลนด์รู้ว่ามันได้ผล แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่า ทำไมผลกระทบต่อการฆ่าตัวตายหรือการเกิดอาชญากรรมจึงยังสูงอยู่

แม้ว่าแสงสีฟ้าจะมีส่วนช่วยเพียงเล็กน้อยในการยับยั้งการฆ่าตัวตาย แต่หากว่ามันสามารถป้องกันใครสักคนให้พ้นจากภาวะคิดสั้นได้ ก็นับว่าคุ้มค่า และควบคู่กันไปนั้น ถ้าหากเราทาผนังซึ่งเดิมเป็นสีเทา ให้กลายเป็น ‘นครสีฟ้า’ เหมือนเชฟชาเอินในโมร็อกโก หรือให้เหมือนระเบียงทางเดินสีลูกกวาดในโปสิตาโน ชายฝั่งอะมัลฟี

นั่นก็ช่วยสร้างบรรยากาศและอารมณ์ที่ดีได้ โดยไม่ต้องรอถามนักจิตวิทยาเลย

 

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , ,