ย้อนกลับไปในโลกที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หากเราต้องการส่งเงินไปให้พ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด ทางเลือกที่จะทำให้เรามั่นใจแน่ๆ ว่าเงินถึงพ่อแม่ก็คือขี้นรถทัวร์ปุเลงๆ ไปส่งเงินเองกับมือ หรืออีกหนึ่งทางเลือกคือใช้พ่อค้าคนกลางในการโอนถ่ายเงินไปยังปลายทาง โดยตัวกลางที่เรารู้จักกันดีในกรณีนี้ก็คือ ‘ธนาคาร’

หลังจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้รับการพัฒนาให้รวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น สินทรัพย์อย่างเงินก็ถูกเปลี่ยนรูปกลายเป็นตัวเลขบนหน้าจอดิจิทัลที่สามารถโอนย้ายถ่ายเปลี่ยนแคล่วคล่องผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ การจัดการเงินในรูปออนไลน์นั้นไม่ง่าย เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลนั่นก็อปปี้ง่ายเพียงลากวาง และอาจก่อให้เกิดปัญหาจ่ายซ้ำจ่ายซ้อน (เช่น โอนเงินเกินยอดเงินที่มีในบัญชี เพราะระบบประมวลผลธุรกรรมไม่ทัน) ธนาคารจึงยังคงมีบทบาทในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งฝ่ายผู้โอนและฝ่ายผู้รับ

สินค้าหลักของธนาคารและองค์กรตัวกลางคือ ‘ความไว้วางใจ’ เมื่อผู้ใช้บริการไว้ใจ องค์กรตัวกลางจึงสามารถฟันค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนมือสินทรัพย์ได้จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการโอนถ่ายเงินตราระหว่างประเทศ กระทั่งปี 2552 มีผู้ใช้นามปากกา ซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) เผยแพร่งานวิจัยบนโลกออนไลน์ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวงการที่จำเป็นต้องมีตัวกลางเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยเขานำเสนอระบบเงินตราอิเล็กทรอนิกส์แบบเพียร์-ทู-เพียร์ (peer-to-peer หรือย่อว่า P2P) กล่าวคือไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางหรือผู้ดูแลระบบอีกต่อไป

เงินตรานั้นมีชื่อว่า Bitcoin

แซลลี เดวีส์ (Sally Davies) ผู้สื่อข่าวของ The Financial Times ให้คำนิยามความสัมพันธ์ระหว่าง Bitcoin กับ Blockchain ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“Blockchain กับ Bitcoin ก็คล้ายกับความสัมพันธ์ระหว่างอินเทอร์เน็ตกับอีเมล โดยอินเทอร์เน็ตและ Blockchain เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ บนระบบดังกล่าว เราสามารถสร้างแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ และสกุลเงินก็เป็นแค่หนึ่งในไม่กี่ตัวอย่าง”

ส่วน Blockchain ทำงานอย่างไรนั้น ผมขออธิบายผ่านตัวอย่างชุมชนสมมติชื่อ ‘อัลไตแลนด์’ ซึ่งมี ‘ตู่’ เป็นสกุลเงินหลัก (สามารถเปลี่ยนชื่อได้ตามรสนิยมทางการเมืองของท่านหรือคนที่คุณรัก) อัลไตแลนด์เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่หลังเทือกเขาเทพสุบรรณ แต่เดิม การแลกเปลี่ยนเงินสกุลตู่จะต้องผ่าน ‘องค์กรตัวกลาง’ ที่จะเก็บค่าธรรมเนียมทุกธุรกรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเงินของคุณจะส่งถึงปลายทาง โดยองค์กรดังกล่าวจะเป็นผู้เก็บสมุดบันทึกธุรกรรมทั้งหมดไว้กับตัวเอง (หมายเหตุ: องค์กรตัวกลางไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง)

แต่วันหนึ่ง ประชาชนอัลไตแลนด์ก็ลุกฮือปฏิวัติเพราะไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมอีกต่อไป เงินสกุลตู่ถูกทำให้กลายเป็นเงินดิจิทัล ประชาชนส่วนใหญ่นำแนวคิดของซาโตชิมาปรับใช้ โดยติดตั้งระบบประชาสัมพันธ์ที่สามารถสื่อสารได้ทุกครัวเรือน ปักบอร์ดประชาสัมพันธ์อัจฉริยะไว้กลางชุมชน รวมทั้งแจกสมุดสำหรับจดบันทึกรายการโอนเงินให้กับทุกคน

เที่ยงวันอังคาร คุณลุงอภิชนต้องการสั่งข้าวผัดปูว์ไม่ใส่แครอทจากคุณป้าจันทร์แรม ร้านโอชาอาหารตามสั่ง คุณลุงก็เดินไปที่โทรศัพท์ซึ่งติดตั้งไว้ในบ้าน ประกาศขอสั่งข้าวผัดปูว์ไม่ใส่แครอทมูลค่า 40 ตู่
ชาวอัลไตแลนด์รับรู้ว่าธุรกรรมนั้นเกิดขึ้นผ่านระบบเสียงตามสาย จึงจดไว้ในสมุดบันทึกของตัวเองด้วยดินสอ เพื่อเตรียมหักเงินจากบัญชีของลุงอภิชน ในขณะที่สมาคมนักคณิตศาสตร์แห่งอัลไตก็จะแข่งกันเข้ารหัสธุรกรรมดังกล่าวเพื่อเป็นลายเซ็นยืนยันบัญชีของลุงอภิชน ป้าจันทร์แรม รวมทั้งเช็คว่าเงินในบัญชีของลุงมีเพียงพอหรือไม่ เมื่อนักคณิตศาสตร์ที่คิดเลขเร็วที่สุดทำการเข้ารหัสเสร็จ ก็จะนำธุรกรรมดังกล่าวประกาศไปในระบบเสียงตามสาย ชาวอัลไตก็จะใช้ปากกาจดทับลงบนลายเส้นดินสอที่ร่างเอาไว้พร้อมใส่รหัสตามประกาศ เป็นอันว่าทุกบัญชีในอัลไตแลนด์ซึ่งอยู่ในมือของแต่ละคนถูกปรับให้เหมือนกัน

ส่วนชาวอัลไตที่แอบงีบหลับในช่วงเวลาดังกล่าวก็สามารถอัปเดตสมุดบันทึกธุรกรรมของตัวเองที่บอร์ดประชาสัมพันธ์อัจฉริยะ ซึ่งจะรวบรวมและแสดงรายการโอนย้ายเงินสกุลตู่ที่เกิดขึ้น โดยยึดโยงกับข้อมูลตามประกาศจากสมาคมนักคณิตศาสตร์แห่งอัลไต

สมมติว่าลุงอภิชนมีเงินในบัญชีไม่พอ แน่นอนว่าลุงทำรายการไม่ผ่านแน่นอน เพราะชาวอัลไตแลนด์แต่ละคนมีสมุดบันทึกธุรกรรมของตัวเองที่ยืนยันว่าลุงมีเงินในบัญชีไม่เพียงพอที่จะสั่งข้าวผัดปูว์ หรือถ้าลุงคิดจะโกงคุณป้าจันทร์แรม โดยเอาหลักฐานปลอมแปลงไปแสดงที่ร้านโอชาเพื่อรับข้าวผัดปูว์โดยไม่เสียสตางค์ คุณป้าคงเอาตะหลิวเคาะหัวสักทีสองที แล้วบอกว่า ลุงจ๋า ป้าไม่เห็นจะได้ยินประกาศจากเสียงตามสาย แถมในสมุดบันทึกหรือบอร์ดประชาสัมพันธ์ก็ไม่เห็นธุรกรรมที่ลุงอ้างเลย

จะเห็นได้ว่าระบบใหม่ของอัลไตแลนด์นั้นเป็นระบบที่ดำเนินการโดยประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องผ่านมือที่สามอย่างองค์กรตัวกลางแต่อย่างใด เพราะข้อมูลทั้งหมดถูกกระจายศูนย์ไปอยู่ในมือของทุกคน โดยนักคณิตศาสตร์รันวงการที่เปลืองแรงเปลืองสมองคิดรหัสให้ ก็จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินดิจิตู่ที่งอกเงยขึ้นมาในบัญชี

จากชุมชนอัลไตแลนด์ ผมจะเปรียบเทียบตัวละครในชุมชนสมมติกับกลไกการทำงานของ Blockchain ตามนี้ครับ

 

ตัวละคร: เปรียบเทียบกับโลกของ Blockchain

ลุงอภิชนและป้าจันทร์แรม: ทั้งสองตัวละครเป็นเสมือนโหนด (node) ที่มีบัญชีธุรกรรม (ledger) ของตัวเอง การกระจายบัญชีธุรกรรม (Distributed Ledger) ให้สมาชิกในเครือข่ายถือไว้เป็นหัวใจสำคัญของ Blockchain เพราะจะทำให้สมาชิกตรวจสอบสมาชิกกันเอง และยากที่จะไปแก้ไขสมุดบัญชีธุรกรรมของทุกคนในระบบเพื่อเปลี่ยนแปลงชุดความจริง

บอร์ดประชาสัมพันธ์: ระบบอัปเดตบัญชีอัตโนมัติ ทำให้โหนดมีบันทึกธุรกรรมที่เหมือนกันและเป็นปัจจุบัน โดยอ้างอิงข้อมูล Block ที่ถูกนำมาต่อเป็นห่วงโซ่ (chain)

นักคณิตศาสตร์: เป็นโหนดชนิดพิเศษซึ่งมีชื่อเล่นว่านักขุดเหมือง (miner) ซึ่งครอบครองคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการประมวลผลสูง ซึ่งออกแบบมาเพื่อสร้างลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยืนยันความถูกต้องของธุรกรรม (เรียกว่า Hash – แฮช) โหนดลักษณะนี้มักจะเป็นบริษัทที่ลงทุนค่อนข้างสูง และระบบจะให้ผลตอบแทนเป็นเงิน Bitcoin เพื่อสร้างแรงจูงใจ

จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่า Blockchain สามารถทดแทนองค์กรตัวกลางดั้งเดิมได้ด้วยสามคุณลักษณะคือ เป็นเครือข่ายควบคุมกันเองแบบไร้หัว โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยต้องใช้ต้นทุนสูงมากหากต้องการแก้ไขข้อมูลที่ประมวลผลแล้วในอดีต

นวัตกรรมดังกล่าวจึงมีแนวโน้มอย่างยิ่งที่จะ ‘พลิกอนาคต’ อุตสาหกรรมที่ให้บริการสร้างความเชื่อใจในฐานะตัวกลาง เช่น อุตสาหกรรมการเงิน หรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำสัญญา เช่น ทนายความ หรือนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ พร้อมทั้งสามารถตอบโจทย์เรื่องห่วงโซ่อุปทานของบริษัทขนาดใหญ่ได้อีกด้วย

ป.ล. 1 ผมลองเอาเรื่องเล่าด้านบนไปอธิบายให้พ่อแม่ฟัง ผลปรากฏว่าท่านทั้งสองพยักหน้าเออๆ ออๆ ซึ่งผมคิดเข้าข้างตัวเองว่าพ่อแม่ของผมเข้าใจ ถ้าใครเอาบทความนี้ไปแชร์ในกรุ๊ปญาติก็อย่าลืมมาแบ่งปันประสบการณ์นะครับว่าญาติผู้ใหญ่พอจะเก็ตเรื่อง Blockchain กันไหม
ป.ล. 2 ถ้าใครคิดว่าบทความนี้ใส่สีตีไข่เกินไป ผมแนะนำให้ลองอ่านบทความวิชาการเรียบๆ ‘รู้จักบล็อกเชน (Blockchain) เทคโนโลยีปฏิวัติสังคม’ โดยคุณสฤณี อาชวานันทกุล

 

FACT BOX:

สำหรับใครที่มุ่งมั่นทำความเข้าใจ Blockchain และอยากรู้จักจุดเริ่มต้นของ Bitcoin สามารถอ่านได้ในงานวิจัยของซาโตชิ นากาโมโตะ “Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System”

 

DID YOU KNOW?

  • สำหรับมือใหม่อยากเริ่มทำความรู้จักกับเงินตราเข้ารหัส (Cryptocurrency) ผู้เขียนแนะนำให้ลองเล่นกับสกุลเงินน้องหมา (dogecoin) ที่มีโลโก้เป็นน้องหมาชิบะน่ารักงุ้งงิ้ง ซึ่งเริ่มมาจากแนวคิดขำๆ ของหนุ่มชาวอเมริกันเมื่อปี 2556 แต่ไอเดียกลับดังเปรี้ยงปร้าง และยังมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนมาจนถึงปัจจุบัน โดยสกุลเงินเจ้าหมาชิบะจะมีกลุ่มสมาชิกที่พยายามทำให้มูลค่าของเงินสกุลนี้ไม่ขึ้นลงน่าหวาดเสียวเกินไป และยังใช้อัลกอริทึมเข้ารหัสที่ต้องใช้พลังงานในการคำนวณสูงกว่าอัลกอริธึมของ Bitcoin จึงถือว่ามีความปลอดภัยสูงมาก
  • นอกจากนี้ เงินตราสกุลน้องหมายังมีมูลค่าต่ำเตี้ยเรี่ยดิน (ฮา) จึงถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เหมาะสำหรับมือใหม่อย่างยิ่ง ส่วนใครที่ไม่อยากเทรด แต่อยากเห็นหน้าตาว่าเงินตราดิจิทัลและ Blockchain ทำงานอย่างไร แนะนำให้ไปสำรวจใน Dogechain เว็บไซต์แสดงกระบวนการทำงานและรายละเอียดแต่ละบล็อกของเงินสกุล dogecoin ครับ
Tags: , , , , , , , , , ,