จากหนังสารคดีที่เล่าถึงเรื่องหนักๆ ตามตะเข็บชายแดนไทยและเพื่อนบ้านว่าด้วยประเด็นด้านการเมืองอย่าง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (2556) และด้านสิ่งแวดล้อม สายน้ำติดเชื้อ (2556) มาคราวนี้ เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล นำเรากลับมาที่กรุงเทพฯ กับหนังสารคดีเรื่อง #BKKY ที่ขอเล่าเรื่องราวใสๆ ของชีวิตวัยรุ่นกรุงเทพฯ สมัยนี้ ผ่านการสัมภาษณ์วัยรุ่น 100 คน โดยมีชีวิตจริงของ ‘โจโจ้-พลอยยุคล โรจนกตัญญู’ หนึ่งในนักแสดงนำ เป็นแกนหลักของเรื่อง
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนักทำหนังสารคดีทดลอง แต่กับ #BKKY นนทวัฒน์เลือกที่จะข้ามเส้นไปมาระหว่าง docu และ fiction เพื่อเปิดโอกาสให้กับไวยากรณ์ภาพที่พ้นไปจาก talking head ของการสัมภาษณ์ และเติมความเข้มให้กับ narrative แบบ fiction ที่มีต้นตอจากวัตถุดิบในชีวิตจริงของใครคนใดคนหนึ่ง
นี่คือสารคดีที่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นกรุงเทพฯ ได้พูดถึงสิ่งที่เขาอยากเป็น
นี่คือสารคดีที่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นกรุงเทพฯ ได้พูดถึงสิ่งที่เขาอยากมี
นี่คือสารคดีที่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นกรุงเทพฯ ได้พูดถึงสิ่งที่เขารู้สึก
และนี่คือสารคดีวัยรุ่นที่จะทำให้เราเข้าใจว่าการเป็น ‘วัยรุ่นสมัยนี้’ มันไม่ง่ายเลย
ก่อนหน้านี้ คุณทำหนังสารคดีที่ดูจริงจังซีเรียส อยู่ดีๆ ทำไมมาทำเรื่องใสๆ เกี่ยวกับวัยรุ่น
ผมอยากดึงเด็กวัยรุ่นที่ไม่เคยดูหนังของผมมาก่อน ให้มาลองดูหนังของผมบ้าง และทุกครั้งที่ทำหนัง ผมจะเลือกทำสิ่งที่ไม่เคยทำ และไม่ทำสิ่งที่ทำไปแล้ว จะได้รู้สึกท้าทายตัวเอง แล้วที่ผ่านมา เวลาทำสารคดี ผมหลีกเลี่ยงการสัมภาษณ์มาโดยตลอด รู้สึกว่ามันเชย เช่นเดียวกับการกำกับการแสดง ส่วนหนึ่งเพราะผมกำกับไม่ค่อยเป็น แต่เรื่องนี้เอาทั้งสองอย่างมารวมกัน สนุกดีครับ ได้คุยกับเด็กๆ เป็นการได้รีเฟรชตัวเองด้วย
แล้วทำไมต้องเจาะจงเป็นวัยรุ่นในกรุงเทพฯ
ผมไม่ได้คิดอะไรมาก ที่ผ่านมา ผมก็ถ่ายเรื่องราวของวัยรุ่นอยู่เหมือนกัน แต่เป็นวัยรุ่นต่างจังหวัด แค่รู้สึกว่าอยากกลับมาโฟกัสที่ส่วนกลางของประเทศไทยบ้าง นั่นก็คือกรุงเทพฯ เพราะเราก็โตที่นี่ เลยอยากรู้ว่าทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปอย่างไร เหมือนกับเรามัวแต่มองพื้นที่ที่เราไม่เคยไป จนลืมมองพื้นที่ของตัวเอง
#BKKY พูดถึงวัยรุ่นในแง่มุมไหน
พูดถึงเด็กวัยรุ่นที่ค้นหาตัวตน จริงๆ แล้วไม่รู้ว่าเรียกว่าเป็นสารคดีได้ไหม เพราะผสมหลายอย่างเข้าด้วยกัน คือหนังสองเรื่องก่อนหน้านี้ ด้วยโครงสร้างที่อาร์ตมากๆ เพราะถูกทำเพื่อฉายในเทศกาลหนัง พอเอามาฉายในกรุงเทพฯ คนดูเยอะก็จริง แต่ไม่มีเด็กวัยรุ่นในเมืองดูเลย แล้วอีกอย่าง ผมก็อยากอัปเดตชีวิตวัยรุ่นด้วยว่าเป็นอย่างไร เพราะผมก็ผ่านการเป็นวัยรุ่นมาสิบปีแล้ว เลยเริ่มจากการสัมภาษณ์เด็กวัยรุ่นในกรุงเทพฯ 100 คน พอสัมภาษณ์เสร็จก็คิดโครงสร้างว่าแล้วจะทำอย่างไรให้เด็กๆ มาดู ถ้านำเสนอด้วยการสัมภาษณ์อย่างเดียวคงน่าเบื่อ จึงเอาการสัมภาษณ์มาเรียงร้อยต่อกันเป็นเรื่องเดียว แล้วไปถ่ายเด็กๆ อีกที กลายเป็นหนังวัยรุ่นที่เป็นส่วนของสัมภาษณ์สลับกับ fiction
เห็นอะไรจากการสัมภาษณ์วัยรุ่นทั้ง 100 คน
ทำให้เข้าใจโลกปัจจุบันขึ้นเยอะ ที่ผ่านมา พอโตขึ้น เราก็ไม่ได้สนใจเด็กๆ มักจะคิดว่าเด็กพวกนี้สมาธิสั้น อะไรก็ไวไปหมด แต่พอได้คุย เราจะรู้ว่าโลกในเมือง เวลาหมุนไปไวมาก ด้วยอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ แต่เราเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐานแบบที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ เช่น ความรักเป็นอย่างไร ฝันอยากเป็นอะไร อยากเรียนอะไร ครอบครัวเป็นอย่างไร แล้วค่อยต่อยอดไปเรื่อยๆ ซึ่งในบริบทของความเป็นมนุษย์ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือความหลากหลาย เด็กๆ เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีตัวเลือกในชีวิตมากขึ้น แตกต่างจากยุคของเราที่ได้รับจากพ่อแม่ ครู และทีวี ซึ่งเป็นฝ่ายเลือกคอนเทนต์ให้เรา
ทุกวันนี้ เด็กเลือกคอนเทนต์เองได้จากกูเกิล ยูทูบ และสื่อออนดีมานด์ทั้งหลาย เมื่อตัวเลือกมีเยอะขึ้น ความฝันของพวกเขาก็เลยหลากหลาย แต่ละคนมี identity ที่แตกต่างกัน และไม่ใช่แค่เรื่องนี้อย่างเดียว ยังรวมถึงด้านความรัก เด็กๆ กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ที่เราคุย พบว่ามีความลื่นไหลทางเพศสูงมาก แบบที่เราเองไม่ได้ตั้งใจ ก็สนใจติดตามดูว่าเด็กมีตัวเลือก มีอิสระ และก้าวข้ามเขตแดนอะไรบางอย่างกันอย่างไร
การเลือกวัยรุ่น 100 คนมาสัมภาษณ์ คุณเลือกอย่างไร
เราใช้ทีม SOITIP Casting ให้เขาไปหาเด็กอายุ 17-20 ปีตามสถานที่ที่เด็กๆ ไปรวมตัวกัน เช่น สยาม ทองหล่อ ช่วงเสาร์-อาทิตย์ วันละ 10 คน ประมาณหนึ่งเดือนก็ครบ เสร็จแล้วก็ใช้เวลาอีกหลายเดือนในการถอดเทป เรียบเรียง ย่อยข้อมูล คนที่เคยทำสัมภาษณ์จะรู้ว่ากระบวนการตรงนี้ใช้เวลานานแค่ไหน เทปหนึ่งเฉลี่ยคนละ 1 ชั่วโมง ก็เกือบ 100 ชั่วโมงเข้าไปแล้ว จากนั้นเราก็แบ่งประเภทเรื่องที่เด็กพูด เรื่องความรัก ความฝัน ครอบครัว ดูว่าประเด็นไหนเด็กพูดซ้ำกันมากที่สุด แล้วหยิบคนที่น่าสนใจ น่าฟังที่สุดมาวางไว้ หาจุดที่มันเชื่อมโยงกันได้ แล้วจึงเขียนบทกับถ่ายทำส่วนที่เป็น fiction อีกสองสามเดือน เสร็จแล้วก็เอาฟุตเทจมาตัดต่อผสมกับสารคดีที่เราไปสัมภาษณ์ เบ็ดเสร็จ หนังเรื่องนี้ใช้เวลาประมาณหนึ่งปี
เด็กที่น่าสนใจคนนั้นคือ ‘โจโจ้’ เรื่องราวหลักๆ ของสารคดีมาจากเด็กคนนี้ใช่ไหม
เราเลือกเด็กที่ดูมีศักยภาพ พูดจาถูกคอ ง่ายต่อการถ่ายทำให้ออกมาดูดี น้องโจโจ้มีทุกอย่างครบ ทั้งคาแรกเตอร์ บุคลิก หน้าตา และน้องเปิดใจกับเรามาก เป็นคนที่คุยได้ มีความจริงใจ เปิดเผยในเรื่องที่ลึกมากๆ แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัว เราก็สนุก น้องเขาให้ไดอารีมาเล่มหนึ่ง เป็นบันทึกของน้องช่วง ม. 6 ขึ้นปี 1 เราก็เอามานั่งอ่าน แล้วก็รู้สึกว่ามีความ ‘เผือก’ ขั้นสูงสุด เพราะมันหลุดเข้าในโลกส่วนตัวของน้องเขา สนุกมาก แกนหลักของหนังจึงมาจากเรื่องของโจโจ้ บทสนทนาส่วนหนึ่งก็มาจากไดอารีที่น้องเขาเขียน
จุดเชื่อมระหว่างความเป็นสารคดีกับความเป็น fiction อยู่ตรงไหน
ต้องบอกก่อนว่าความแตกต่างของหนังสารคดีกับหนัง fiction ก็คือ สำหรับหนังสารคดี เราปล่อยให้สภาพแวดล้อมควบคุมเรา ส่วนหนัง fiction เราเข้าไปควบคุมสภาพแวดล้อม แต่หนังเรื่องนี้อยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่ง โดยส่วนของการสัมภาษณ์ เราแค่ถามและให้เขาตอบกลับมา เราใช้สิ่งนั้นร้อยทั้งเรื่องเอาไว้ และมีส่วนที่เรากำกับเขาแล้วเอามา insert อีกที จริงๆ แล้วเราไม่อยากพูดว่าเป็นสารคดี เพราะกลัวเด็กๆ ไม่กล้าดู ติดภาพว่าสารคดีมันน่าเบื่อ
คิดอย่างไรกับการเป็นผู้กำกับหนังสารคดี ซึ่งเป็นส่วนน้อยในวงการหนังไทย
ส่วนหนึ่งเราอยากเปิดพื้นที่หนังสารคดีให้กว้างมากขึ้น ก็หวังว่า #BKKY ได้ทำหน้าที่นี้แล้ว เพียงแต่ว่าคนดูจะอยากดูหรือเปล่า ที่ผ่านมามีคนตั้งข้อสังเกตว่าตอนนี้หนังอินดี้ หนังสารคดี เริ่มมีพื้นที่มากขึ้น จริงๆ เราจะทำเรื่องนี้แบบไม่ผ่านค่ายหนังก็สามารถทำได้ แต่การจัดการเรื่องการฉาย มันทำไม่ได้แน่นอน มันเป็นเรื่องใหญ่มาก โชคดีที่ค่าย Talent 1 ทำตรงนี้ได้ พาหนังไปฉายในทุกพื้นที่ได้ ก็เป็นโอกาสที่ดี ผมคิดว่าสำหรับการสร้างวัฒนธรรมการดูหนังสารคดี เรื่องแบบนี้ต้องเกิดขึ้นบ่อยๆ
ใน #BKKY เราใส่ความเป็นแมสบางอย่างเข้าไป เช่น หน้าตาของนักแสดง เพลงประกอบ มันเลยมีความฮิปสเตอร์บางอย่าง ถ้าเป็นเรื่องก่อนๆ ก็จะเป็นวัยรุ่นตามชายแดน คนกรุงเทพฯ ก็คงไม่อยากดู แต่เรื่องนี้นอกจากได้ความสนุก ยังได้ข้อมูลและข้อเท็จจริงของวัยรุ่นในยุคนี้ แล้วไม่ใช่แค่เราทำให้วัยรุ่นดูอย่างเดียว คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ดูได้ และจะทำให้เข้าใจวัยรุ่นสมัยนี้มากขึ้น
ทราบว่าคุณกำลังมีโปรเจกต์สารคดีเรื่องใหม่ ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อย
ผมทำ #BKKY เสร็จมาสองปีกว่า ระหว่างรอก็ปั้นเรื่องใหม่ พอดีคิดถึงวิธีการทำหนังแบบ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง กับ สายน้ำติดเชื้อ แล้วเราไปสำรวจชายแดนเขมรกับด้านตะวันตกมาแล้ว แต่ยังไม่เคยสำรวจชายแดนภาคเหนือที่ติดกับพม่า สิ่งที่เราเจอคือเรื่องของชาติพันธุ์ เพราะพม่ามีชนกลุ่มน้อย 300 กว่าชาติพันธุ์ แล้วชาติพันธุ์ที่เยอะที่สุดคือไทใหญ่หรือฉาน พอเราสำรวจลึกลงไปก็พบว่ามีชาวไทใหญ่มาอยู่ในเชียงใหม่เยอะมาก คนเสิร์ฟอาหาร คนรดน้ำต้นไม้ คนงานก่อสร้าง ล้วนเป็นชาวไทใหญ่ทั้งสิ้น
พอดีกับผมมีเพื่อนไทใหญ่คนหนึ่งที่เคยทำสารคดีด้วยกัน วันหนึ่ง เราเห็นรูปเขาในเฟซบุ๊ก ใส่ชุดทหารของ Shan States Army กองกำลังต่อสู้เพื่อเรียกร้องดินแดนคืนจากพม่า อยู่ที่บ้านเกิดจังหวัดเชียงราย ก็เห็นว่าน่าสนใจ จึงลองคุยกับเขาว่าอยากถ่ายสารคดีทหารที่อยู่บนดอย ก็ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะแทรกซึมเข้าไปถ่ายได้ ขึ้นไปคนเดียว เดือนละครั้งสองครั้ง ไปดูว่าเขาฝึกทหารกันอย่างไร สารคดีเรื่องนี้มีชื่อว่า Noboyland พูดถึงเด็กที่ยอมรับการเป็นทหาร แต่ยังไม่มีเวลาตัด ถ่ายเก็บเป็นฟุตเทจเสร็จเรียบร้อยแล้ว
นั่นคือเรื่องราวของเด็กผู้ชายที่อยู่บนดอย ซึ่งไม่มีความฝันหรือตัวเลือกใดๆ สิ่งเดียวที่เขาจะเป็นได้คือเป็นทหารเพื่อสู้รบกับพม่า แต่ในเวลาเดียวกันก็มีเด็กกลุ่มที่พยายามหนีจากดอยเข้ามาในเมืองไทย ใกล้ที่สุดคือเชียงใหม่ มาหางานทำ แล้วหนึ่งในอาชีพยอดนิยมที่เราค้นพบก็คือทำงานร้านนวดเกย์ที่เชียงใหม่ บางคนมีแฟน แต่งงานมีลูกแล้วด้วย แต่เขารู้สึกว่านั่นเป็นงานปกติงานหนึ่ง ดีกว่าไปเป็นทหาร หรือทำงานก่อสร้าง เขาสามารถเลือกชีวิตของเขาเองได้ และรายได้ก็ดีกว่าอาชีพอื่น เรื่องนี้ชื่อ Doi Boy เล่าเรื่องเด็กที่ไม่อยากเป็นทหาร เรื่องนี้ได้รับเลือกเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ SEAFIC (Southeast Asia Fiction Film Lab) ช่วยให้มีเงินทุนสำหรับทำโปรดักชัน และน่าจะทำให้สำเร็จได้
Tags: Documentary, #BKKY, นนทวัฒน์ นำเบญจพล