ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนน่าจะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ ‘หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร’ ว่าที่แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ จากสื่อต่างๆ อย่างเต็มอิ่ม ทั้งความเป็นมา ลักษณะโครงการ ไปจนถึงวัตถุประสงค์ในการก่อสร้าง แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือการที่นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เจ้าของที่ดินราชพัสดุ พื้นที่ 4 ไร่ครึ่ง ที่ให้เอกชนเช่าสร้างหอคอยสูง 459 เมตร วงเงิน 4,621 ล้านบาท อ้างว่าโครงการนี้เป็นไปตามแนวนโยบาย ‘ประชารัฐ’ ของรัฐบาล!

 

คำพูดดังกล่าว ชวนให้เกิดคำถามว่า แล้ว ‘ประชาชน’ จะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการประชารัฐที่จะได้เห็นเป็นรูปธรรม ‘สูงที่สุด’ ยาวนานไปอย่างน้อย 30 ปี ตลอดอายุสัญญาเช่าโครงการนี้

เพราะถ้าจำกันได้ แนวคิดของประชารัฐที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผลักดันให้มาแทน ‘ประชานิยม’ ของรัฐบาลชุดก่อนๆ ก็คือการจับมือกันระหว่าง ‘รัฐ-เอกชน-ประชาชน’ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ แต่หอชมเมืองกรุงเทพฯ ถูกวิจารณ์ว่าเสมือนเป็นโครงการที่ ‘เอกชนคิด – เอกชนเสนอ (ให้รัฐอนุมัติ) – เอกชนทำ และเอกชนได้ประโยชน์ที่สุด’ มากกว่า

ประชาชนอยู่ที่ไหน และจะได้อะไรจากโครงการอันสูงชะลูดนี้

 

ความเป็นมาหอชมเมืองกรุงเทพฯ

อันที่จริง แนวคิดในการสร้างอาคารสูงสำหรับชมวิวของเมืองหรือหอชมเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ หากนับเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็มีแนวคิดในการจัดสร้างหอชมเมืองมาตั้งแต่สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ (ระหว่างปี 2543-2547) โดยประกาศในวันชนะเลือกตั้งเหนือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เมื่อปี 2543 ว่าจะสร้างหอชมวิวกรุงเทพฯ ไว้ดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ตลอดสมัยก็ไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

โครงการนี้ถูกนำมาสานต่อในยุคนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ (ระหว่างปี 2547-2551) โดยสภากรุงเทพฯ ในยุคนั้นได้จัดตั้งคณะวิสามัญศึกษาการสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว มีนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.จอมทอง เป็นประธาน โดยเล็งที่ดินในการก่อสร้างไว้ 3 แห่ง คือสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) สวนเบญจกิติ และข้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งท้ายที่สุด ผู้เกี่ยวข้องก็เลือกสวนรถไฟเป็นที่ตั้งของหอชมเมืองกรุงเทพฯ ก่อนที่โครงการนี้จะค่อยๆ เงียบหายไป ด้วยข้อจำกัดบางประการ

เมื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ (ระหว่างปี 2551-2559) ก็มีการหยิบแนวคิดหอชมเมืองไปดัดแปลงอย่างหวือหวาเป็นชิงช้าสวรรค์ เลียนแบบ London Eye โดยจะให้มีความสูงที่สุดในโลกที่ 176 เมตร ว่ากันว่าช่วงที่ผลักดันในช่วงปลายปี 2553 กทม. ออกตัวค่อนข้างแรง มีการส่งเอกสารความคืบหน้าให้กับนักข่าวอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับเล็งพื้นที่ก่อสร้างไว้ 3 จุด คือศูนย์สิริกิติ์ ที่ดินของเจริญ สิริวัฒนภักดี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (เอเชียทีคในปัจจุบัน) และท่าช้าง

แต่โครงการมหัศจรรย์นี้ก็แท้งในเวลาเพียง 3 เดือน หลังจากมีการเปิดเผยว่าจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 20,000 ล้านบาท เหลือทิ้งไว้เพียงแค่อนุสรณ์แห่งความพยายาม คือชิงช้าสวรรค์สูง 60 เมตรของเอเชียทีค

หอชมเมืองกรุงเทพฯ ที่กำลังเป็นข่าวจึงถือเป็นรุ่นสี่ หรือความพยายามยุค 4.0 โดยข้อแตกต่างสำคัญจากรุ่นก่อนหน้า คือการมี ‘ภาคเอกชน’ เป็นโต้โผใหญ่ในการผลักดัน ไม่ใช่ภาครัฐเช่นในอดีต

 

ใครทำ ใครใช้ ใครเจริญ?

หากจะกล่าวถึงกำเนิดหอชมเมืองกรุงเทพฯ ในภาพรวม ควรจะต้องกล่าวถึงโครงการไอคอนสยามและรถไฟฟ้าสายสีทองควบคู่กันไปด้วย เพราะมีพัฒนาการที่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น จนคล้ายจะเป็นโครงการ 3 in 1 โดยเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันทั้งสามโครงการคือเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด (Siam Piwat) ซึ่งน่าสนใจว่าทั้งสามโครงการมีความ ‘คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ’ ในยุครัฐบาล คสช. (ระหว่างปี 2557 ถึงปัจจุบัน)

 

2554 – ซีพีซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาบนถนนเจริญนคร ย่านคลองสาน 40 ไร่ ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นโครงการไอคอนสยาม

2555 – ซีพีและสยามพิวรรธน์จับมือกันพัฒนาโครงการไอคอนสยาม ซึ่งนางชฎาทิพย์ จูตระกูล ซีอีโอสยามพิวรรธน์ ระบุว่าจะเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

2557 – เปิดตัวไอคอนสยามเป็นโครงการมิกซ์ยูส คือมีทั้งศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ วงเงินก่อสร้าง 5 หมื่นล้านบาท กำหนดการแล้วเสร็จปี 2560 นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งผู้บริหารซีพีและสยามพิวรรธน์เป็นกรรมการ

2558 – เริ่มมีกระแสข่าวเรื่องโครงการรถไฟฟ้า ‘สายสีทอง’ ที่จะเชื่อมระหว่างสายสีแดงกับสายสีเขียวที่มีอยู่แล้ว โดยแหล่งข่าวจากใน กทม. ให้ข้อมูลว่าโครงการเฟสแรกความยาว 1.72 กิโลเมตร (ผ่านหน้าไอคอนสยาม) ใช้งบประมาณ 2,500 ล้านบาท มีเอกชนช่วยออกเงินสร้าง 2,000 ล้านบาท

2559 – ครม. อนุมัติให้ กทม. เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองได้ นอกจากนี้ยังอนุมัติให้โครงการหอชมเมืองกรุงเทพฯ ใช้ที่ดินราชพัสดุ ย่านคลองสาน ติดกับโครงการไอคอนสยาม

2560 – ครม. อนุมัติให้มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพฯ สร้างอาคารหอชมเมืองได้โดย ‘ไม่ต้องประมูล’ โดยทีมโฆษกรัฐบาลชี้แจงว่าเพราะเป็นโครงการเชิงสังคม ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ และ “​หากประมูลไปอาจทำให้เกิดความล่าช้า”

 

ในเอกสารที่เอกชนเสนอส่วนราชการได้ระบุประโยชน์ที่หอชมเมืองกรุงเทพฯ จะให้กับสังคมไว้ 6 ข้อ แต่ข้อที่โดดเด่นที่สุดคือการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการเดินทางที่ครบวงจร รถ-ราง-เรือ แต่การเช่าที่ดินตาบอดสร้างหอคอยนี้ หลายฝ่ายมองว่าคนที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือเอกชน เพราะอย่าลืมว่าทางเข้า-ออกหลักของหอชมเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งน่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2563 จะต้องผ่านโครงการไอคอนสยาม โดยกรมธนารักษ์ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่แลนด์มาร์กใหม่แห่งนี้ถึง 1.1-1.4 ล้านคนต่อปี ขณะที่กรมการท่องเที่ยวเคยเปิดเผยข้อมูลว่าเงินที่นักท่องเที่ยวต่างชาติควักเฉลี่ยนั้นอยู่ที่ 5,142 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งกว่าครึ่งจะเป็นเงินที่ใช้จับจ่าย รับประทานอาหาร และซื้อความบันเทิง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไอคอนสยามตอบโจทย์ได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีหลัง ถนนเจริญนครเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ผุดขึ้นมากที่สุด อันรวมถึงโครงการไอคอนสยามด้วย จนทำให้ราคาซื้อขายที่ดินเพิ่มขึ้นมหาศาล โดยบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด บริษัทผู้วิจัยข้อมูลด้านอสังหาฯ ชื่อดัง ระบุว่าระหว่างปี 2554-2557 ราคาที่ดินย่านนี้พุ่งสูงขึ้นถึง 70% และน่าจะเพิ่มขึ้นอีก หากรถไฟฟ้าสายสีทองเริ่มก่อสร้าง

 

เราจะได้อะไรจากหอคอยนี้

กลับมาสู่คำถามข้างต้นว่า แล้วประชาชนอย่างเราๆ จะได้อะไรจากโครงการนี้

เหตุผลที่มีการอ้างอยู่บ่อยครั้ง คือได้รับ ‘ความภูมิใจ’ เพราะหากสร้างเสร็จก็จะเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดของประเทศ และสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ตามมาด้วย ‘รายได้จากการท่องเที่ยว’ เพราะแลนด์มาร์กใหม่แห่งนี้จะเป็น New Global Destination ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่รัศมี 20 กิโลเมตรจากโครงการนี้เติบโต สร้างงาน สร้างอาชีพ

แต่ท่ามกลางคำอ้างสวยหรูบนหน้ากระดาษ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่ก่อสร้างหอชมเมืองฯ ก็มีทั้งที่ลิงโลดและหวาดหวั่น โดยเฉพาะคนในมัสยิดสุวรรณภูมิที่อยู่ติดกับพื้นที่ก่อสร้างในรัศมี 50 เมตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่มีโฉนดที่ดิน แต่ใช้วิธีจ่ายค่าเช่าให้เจ้าของที่ พวกเขาต่างกลัวว่าจะถูกไล่ออกจากที่อยู่อาศัยเดิม

ไม่รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนในเส้นทางที่พาดผ่านระหว่างก่อสร้างแน่ๆ แม้จะระบุในรายงานผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ว่าจะไม่มีการเวนคืนที่ดินก็ตาม

ในยุคที่ ‘นายทุน-ขุนศึก’ ใกล้ชิดกันแทบจะมากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ เราจึงได้เห็นเมกะโปรเจ็กต์นี้ผ่านฉลุยทุกขั้นตอนในระยะเวลาเพียง 3 ปี แม้ภาคเอกชนจะพยายามปิดช่องการวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยการจัดทำ EIA โครงการไว้แล้ว รวมไปถึงการเสนอให้ใช้เงินตัวเองในการก่อสร้าง ไม่ได้ใช้งบของภาครัฐ แต่ในเมื่ออ้างว่าเป็นนโยบายประชารัฐที่ควรถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง สิ่งที่ชวนตั้งคำถามก็คือ ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้จริงหรือ

 

ภาครัฐขอตอบ 5 ปมคาใจ

นับตั้งแต่หอชมเมืองกรุงเทพฯ ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่ง สารพัดคำถามก็ประดังเข้ามา แต่แทนที่ภาคเอกชนในฐานะผู้ปลุกปั้นโครงการจะเป็นผู้ให้คำตอบ กลับกลายเป็นภาครัฐ ตั้งแต่ทีมโฆษกรัฐบาล อธิบดีกรมธนารักษ์ ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี! ที่เป็นฝ่ายออกมาคลี่คลายข้อสงสัย

และนี่คือคำชี้แจงของภาครัฐ ต่อสารพัดปมคาใจเรื่องหอสูงแห่งนี้

 

เหตุใดจึงไม่เปิดประมูล

เพราะอาจทำให้โครงการล่าช้าจนกระทบต่อเป้าหมาย ที่สำคัญ โครงการนี้เป็นโครงการเชิงสังคม ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ อาจมีผู้สนใจน้อยราย

 

ทำไมต้องนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม.

เนื่องจากเป็นโครงการที่ก่อสร้างในที่ดินราชพัสดุซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท จึงต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ)

 

โครงการนี้เข้าข่ายนโยบายประชารัฐตรงไหน

ในเอกสารที่เสนอต่อ ครม. อ้างว่าเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมกว่า 50 องค์กร

 

เหตุใดในเอกสารโครงการจึงมีการอ้างคำว่า ‘ศาสตร์ของพระราชา’ ถึงกว่า 20 ครั้ง

เนื่องจากชั้นยอดของหอชมเมืองกรุงเทพฯ จะมีพื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตร สำหรับจัดแสดงพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อเผยแพร่ ‘ศาสตร์ของพระราชา’ นอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเขียนปณิธานความดีด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชาลงในแผ่นโลหะ แล้วรวบรวมมาบรรจุลงในฐานของหอ

 

เหตุใดจึงใช้ ‘มูลนิธิ’ เป็นตัวกลางในการดำเนินการ ไม่ใช่เอกชนเจ้าของไอคอนสยาม

เพราะแหล่งเงินทุนมาจากหลายส่วน เงินของมูลนิธิเอง 5 แสนบาท เงินกู้จากธนาคารอีก 2,500 ล้านบาท และอีกกว่า 2,100 ล้านบาทจะมาจากการบริจาค ซึ่งการบริจาคเงินให้มูลนิธิสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีบางฝ่ายมองว่าโครงการนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย โดยเฉพาะนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ทำการตรวจสอบ เพราะมองว่าการนำโครงการนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม. ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกปลายปี 2559 เพื่อรับเป็นโครงการ ‘ภายใต้นโยบายรัฐบาลว่าด้วยศาสตร์พระราชา’ ทั้งที่รัฐบาลไม่เคยมีนโยบายนี้มาก่อน ก็เพื่อให้เข้าข้อยกเว้น ‘ไม่ต้องประมูล’ ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ในการพิจารณาครั้งที่สองช่วงกลางปี 2560

 

Tags: , , , , , , ,