วันนี้ (8 กันยายน 2564) ‘สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย’ (ส.อ.ท.) ออกมาเปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจากฝั่งผู้ประกอบการ ในเดือนสิงหาคม 2564 โดยตัวเลขที่ปรากฏออกมาอยู่ที่ 76.8% ปรับตัวลดลงจากในเดือนกรกฎาคมที่ร้อยละ 78.9% ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2563
โดยผลสำรวจดังกล่าวที่ ส.อ.ท. ออกมาเปิดเผยนั้นมาจากการสำรวจผู้ประกอบการราว 1,395 ราย ครอบคลุม 45 อุตสาหกรรมทั่วประเทศ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ฝากฝั่งผู้ประกอบการเกิดความกังวลแบ่งออกเป็น
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 75.8%
- ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ 74.0%
- สถานการณ์การเมือง 54.0%
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ 42.2%
สำหรับตัวเลขผลสำรวจในอันดับหนึ่งอย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ในประเทศไทย ที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ระลอก 3ในช่วงเดือนเมษายน และนับตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ได้มีคำสั่งยกระดับมาตราการจากฝากฝั่งของรัฐบาลและ ศบค. ให้มีการล็อกดาวน์ในพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้มทั้งหมด 29 จังหวัด ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตรวมถึงส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศของผู้ประกอบการหลายๆ เจ้าทำได้ล่าช้าลงอย่างกระทันหัน ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาด ก็ทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ในหลายโรงงาน ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าวัคซีนที่ล่าช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้แต่เดิมในช่วงเฟส 4 ปลายปี
อีกทั้งอุปสงค์ในด้านการส่งออกสินค้าออกยังต่างประเทศโดยเฉพาะในแถบทวีปเอเชียยังมีท่าทีชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะสาเหตุหลักมาจากการผลิตที่ทำได้ล่าช้า นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเรื่องของอัตราค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูงสวนทางกับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น จนขณะนี้เกิดปัญหาในฐานธุรกิจการผลิตรถยนตร์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้าที่ขาดแคลนอะไหล่สำคัญอย่าง ชิปเซมิคอนดักเตอร์
ทั้งนี้ สุพันธุ์ ได้ประเมินดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่าจะปรับตัวเพิ่มกลับมาอยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ราว 90.9 % สาเหตุมาจากการการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด -19 ในหลายๆข้อ ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนที่เริ่มครอบคลุมประชาชนหลายกลุ่มมากขึ้น และจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจมีท่าทีค่อยๆฟื้นตัวขึ้น ก่อนจะเริ่มการเร่งฐานการผลิตส่งออกสินค้าอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ทิ้งท้าย เสนอข้อแนะนำต่อภาครัฐในการช่วยเหลือภาคธุรกิจให้สามารถฟื้นตัวกลับมาได้โดยเร็ว ทั้งหมด 4 ข้อ คือ
- ให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง Factory Quarantine และ Factory Accommodation Isolation ภายในโรงงาน พร้อมจัดหาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เพื่อสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการ ทุกๆ 14 วัน ตามมาตรการ Bubble and Seal
- ให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานในข่าย ม.33 โดยจัดให้มี Mobile Units เพื่อฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานในสถานประกอบการโดยตรง เพื่อรักษาศักยภาพในการผลิตและภาคส่งออก
- ขยายมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้กับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก (SME)
- ขอให้ภาครัฐเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นถึงความปลอดภัยในการส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการไทย
ภาพ: AFP, ส.อ.ท.
Tags: BizNews, สอท