วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2564) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดเสวนา ‘’ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19’ (TDRI Annual Public Virtual Conference 2021)’ โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการทีดีอาร์ไอ และประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้พูดถึงหัวข้อ ‘การศึกษาพื้นฐาน รากฐานการอยู่รอดในโลกใหม่’ โดยให้ภาพว่า หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากรายงานของธนาคารโลกปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าอัตราการเติบโตของรายได้ในกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุด 40% มีแนวโน้มถดถอยลงในช่วงปี 2558 – 2561  แม้ว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศจะมีแนวโน้มสูงขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลขององค์กร ยูเนสโก (UNESCO) เมื่อปี 2558 จะพบว่า 20% ของเด็กในประเทศยากจน มีเพียง 8% เท่านั้น ที่สามารถดิ้นรนและฝ่าฝันอุปสรรคจนเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ ต่างจากเด็กที่มาจากครัวเรือนร่ำรวยถึงกว่า 6 เท่า 

ทั้งนี้ หากเทียบกับประเทศในกลุ่มที่มีรายได้สูง โอกาสการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของกลุ่มครอบครัวเด็กยากจนที่สุดกับครอบครัวเด็กที่ร่ำรวยที่สุดกับมีอัตราที่ใกล้เคียงกันที่ 44%  และ 62% ในระดับมหาวิทยาลัยตามลำดับ ต่างจากประเทศไทยที่อยู่ที่ โอกาสเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กในครอบครัวยากจนอยู่ที่ 8% แลโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กในครอบครัวร่ำรวยอยู่ที่ 48% ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

“หมุดหมายของการพัฒนาประเทศที่สำคัญในยุคหลังโควิด – 19 คือ การรักษาเด็กเยาวชนให้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างน้อย และมีโอกาสเสมอภาคในการพัฒนาทุนมนุษย์ตามศักยภาพ และความถนัด เป็นรายบุคคล เพื่อเป็นแรงงานสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ที่ภาครัฐ ภาคเอกชน จะลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้” 

ดร.ประสาร ยังยกตัวอย่างการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พบว่าการดึงเด็กกลุ่มที่หลุดระบบการศึกษากลับมาได้ จะสามารถยกระดับชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ได้ในระยะยาว และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเทียบเท่ากับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยการประเมินผลตอบแทนส่วนบุคคล (Estimated Private Benefits) ที่เพิ่มขึ้นจากการขจัดปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา หรือการรักษาเด็กเยาวชนให้สามารถคงอยู่ในระบบการศึกษาจนถึง ม.6 หรือเทียบเท่า จะคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจตลอดช่วงอายุการทำงาน 2 หมื่น – 1.1 แสนล้านบาทต่อปี ตลอดช่วงการทำงานของเด็กกลุ่มนี้ และหากคิดเป็นอัตราผลตอบแทนของการลงทุน (Internal Rate of Return) จะคิดเป็น 9.3% ของรายได้ประเทศ สูงกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐซึ่งอยู่ที่ 2.7% ทั้งยังสูงเทียบเคียงโครงการพื้นฐานของรัฐ เช่น รถไฟฟ้า เป็นต้น”

“นอกจากนั้น ผลตอบแทนดังกล่าว ยังไม่ได้นับผลตอบแทนสังคม หรือ Social Return on Investment ในเชิงมหภาคของการศึกษาที่เพิ่มขึ้น และอัตราการหลุดจากระบบการศึกษาที่ลดลง ยังส่งผลให้คุณภาพแรงงาน และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสุขภาพประชากร ก็จะแข็งแรงมากขึ้น ทำให้ความเสมอภาคสังคม และคุณภาพชีวิตนั้น ดีขึ้นตามลำดับ”

สำหรับการแก้ปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ถูกส่งต่อมารุ่นสู่รุ่น มีอยู่ 5  ข้อหลัก คือ

1.การสร้างเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนการสร้างหลักประกันทางการศึกษา

2.การยกระดับขีดความสามารถและทรัพยากรของโรงเรียน ที่มีนักเรียนจากครัวเรือนรายได้น้อยและด้อยโอกาส

3.ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์

4.การส่งเสริมทางเลือกในการศึกษาทางเลือก และการพัฒนาทักษะแรงงานที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยุคใหม่

5.ร่วมจินตนาการถึงโมเดลการพัฒนาการศึกษาที่เด็กเยาวชนและคนไทยทุกคนมีโอกาสที่เสมอภาคในการศึกษา และการพัฒนาพรสวรรค์ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ดร.ประสาร ยังทิ้งท้ายไว้ว่าการพัฒนาประเทศหลังโควิด – 19 หากประเทศไทยต้องการหลุดจากกับดักความยากจน และรายได้พื้นฐานปานกลางไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายใน 20 ปี เด็กและเยาวชนไทยจำเป็นจะต้องออกจากกับดักความยากจนทางครัวเรือน พร้อมได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาและได้รับการพัฒนาพรสวรรค์ตนเองอย่างเสมอภาค เพื่อทลายขีดจำกัดศักยภาพต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น 

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก Thailand Development Research Institute (TDRI) , เว็บไซต์ กสศ. www.eef.or.th

 

 

Tags: ,