หากใครบอกว่าจะไปท่องเที่ยวเพื่อค้นหาความหลากหลายทางชีวภาพในสิงคโปร์คงถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ
เพราะประเทศแห่งนี้ แม้ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการผสานความเขียวเข้ากับพื้นที่เมือง และมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่อวดโอ่นวัตกรรมที่นำพาป่าธรรมชาติและป่าคอนกรีตมาผสมผสานกันอย่างลงตัว แต่อย่างไรก็ดี สิงคโปร์ก็มิได้โด่งดังด้านความหลากหลายทางชีวภาพสักเท่าไรนัก
เราตั้งใจให้เวลา 1 วันเพื่อตามหาความหลากหลายทางชีวภาพในสิงคโปร์ โดยออกสตาร์ตที่จีเวลชางงี ไปยังจุดแรกซาฟารีแม่น้ำ ต่อด้วยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติหลี กง เจียน (Lee Kong Chian Natural History Museum) และปิดท้ายแบบชิลๆ ที่ตลาดทุเรียนที่เปิดทำการ 24 ชั่วโมง
ตู้แสดงพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขง ที่เราจะได้พบปลาบึกและกระเบนน้ำจืดได้แบบเต็มๆ ตา
มานาตี และซาฟารีแม่น้ำ
ผู้เขียนชอบไปเที่ยวสวนสัตว์เป็นทุนเดิม แต่ยังไม่เคยมีครั้งไหนที่ได้ยินการนำเสนอสวนสัตว์ว่าเป็นซาฟารีระบบนิเวศแม่น้ำ ยกเว้นที่นี่ สวนสัตว์สิงคโปร์ ที่ยกเอาแม่น้ำและสรรพสัตว์จากทั่วโลกมาไว้ที่นี่ ตั้งแต่ใกล้บ้านเราอย่างแม่น้ำโขง เหนือขึ้นไปหน่อยที่แม่น้ำแยงซี ข้ามมหาสมุทรไปที่แม่น้ำมิสซิสซิปปี และที่พลาดไม่ได้คือแม่น้ำแอมะซอน
หลังจากอิ่มหนำกับอาหารเช้าผสมกลางวันที่ห้างจีเวลชางงี (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Jewel Changi เพชรเม็ดงามที่เป็นมากกว่าห้างติดสนามบิน) เราก็โบกมือลาน้ำตกเพื่อเตรียมตัวไปตะลุซาฟารีแม่น้ำอีกฟากหนึ่งของเมือง โชคดีที่การจราจรเป็นใจ เรามาถึงปลายทางในตอนบ่ายอ่อนๆ หลังจากซื้อตั๋วเสร็จสรรพ ก็ได้เวลาจูงมือสำรวจระบบนิเวศแม่น้ำจากทั่วโลก
ซาฟารีแม่น้ำ เป็นสวนสัตว์แบบเปิดแต่ลมโกรกสบายโดยมีเส้นทางที่เชื่อมต่อกับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ด้านหลัง ก้าวแรก เราเยี่ยมเยือนแม่น้ำมิสซิสซิปปีที่มีพระเอกคือเจ้าปลาจระเข้ ปลากินเนื้อน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งเป็นปลาโบราณเพราะชนิดพันธุ์นี้มีอายุกว่า 100 ล้านปีก่อน แวะชมจระเข้แคระที่ลุ่มน้ำคองโก น่าเสียดายที่ช่วงที่ผมไปเยี่ยมชม โซนแม่น้ำคงคาปิดซ่อมบำรุงเสียเยอะ มีแต่ปลาตีนให้ดู แต่ไฮไลท์ต่อไปคือลุ่มน้ำโขงบ้านเรานี่แหละครับ
ไกไก (Kai Kai) แพนด้าหนึ่งในสองตัวประจำซาฟารีแม่น้ำ กำลังนอนกินไผ่อย่างสบายอารมณ์
แม้ว่าแม่น้ำโขงจะไหลผ่านประเทศไทย แต่ผู้เขียนรู้จักแม่น้ำสายนี้น้อยมาก ที่ซาฟารีแม่น้ำมีตู้จัดแสดงขนาดยักษ์ความสูงร่วม 3 เมตรที่โชว์ปลาบึกและกระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์ เรียกได้ว่าชมกันแบบเต็มอิ่มเต็มตาและได้เห็นว่าทรัพยากรในลำน้ำโขงนั้นอุดมสมบูรณ์และทรงคุณค่าขนาดไหน
ต่อด้วยลุ่มน้ำแยงซี แม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศจีน ซึ่งมีสัตว์น้ำน่าสนใจหลายชนิดทั้งซาลาแมนเดอร์ยักษ์ที่นอนคุดคู้ในห้องมืด และปลาสเตอร์เจียน ปลากระดูกแข็งขนาดใหญ่ที่เรามักคุ้นชื่อเมนูอาหารราคาแพงระยับกว่าไข่ปลาคาเวียร์เสียมากกว่า แต่ทั้งหมดก็ถูกแย่งซีนโดยเจ้าแพนด้ายักษ์สองตัวคือไกไกและเจียเจีย ที่เปิดให้ชมอิริยาบถแบบ 360 องศา ซึ่งเจ้าสองตัวก็ทำงานเต็มที่ คือนั่งๆ นอนๆ กิน แจกความน่ารักสดใสจนอดไม่ได้ที่จะอมยิ้ม
ข้ามมาอีกฝั่งก็จะเจอกับระบบนิเวศป่าแอมะซอน ที่สามารถจ่ายเงินเพิ่มเล็กน้อยเพื่อนั่งเรือทัวร์ชมสารพัดสัตว์สองข้างทาง ทั้งตัวกินมด สมเสร็จบราซิล ลิงคาปูชิน หมูป่า หนูยักษ์คาปีบารา และที่สำคัญคือเจ้าเสือจากัวร์ที่ได้ชมแบบใกล้ชิดติดจอกันเลยทีเดียว พ้นจากทัวร์เรือก็ต้องเตรียมเก็บสร้อยแหวนและกอดกระเป๋าไว้ให้มั่น เพราะเราต้องเข้าป่าลิงแมงมุม (Spider Monkey) ซึ่งเราจะได้พบเจ้าลิงนี้แบบจังๆ แบบไม่มีกรงกั้น ให้เราได้ชมเจ้าตัวน้อยแสนซนแบบใกล้ชิด
มานาตีแม่ลูกในตู้จัดแสดงขนาดยักษ์ของระบบนิเวศแม่น้ำแอมะซอน
ไฮไลท์สุดท้ายคือมานาตี (Manatee) จำนวนนับไม่ถ้วน ทั้งตัวเล็ก ตัวใหญ่ อาศัยกันแบบครอบครัว เจ้าวัวน้ำเป็นญาติห่างๆ ของพะยูนในไทย แต่มีถิ่นอาศัยที่แตกต่างกัน โดยจะพบได้ในทะเลแคริบเบียน และลุ่มน้ำแอมะซอน มานาตีอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ และมักจะอพยพจากทะเลเข้าสู่น้ำจืดได้ในฤดูหนาว จุดแตกต่างที่สังเกตได้ง่ายคือหาง ซึ่งมานาตีจะมีหางกลมแบน ในขณะที่พะยูนจะเป็นหางแฉกเหมือนปลา
มานาตีสะกดเราอยู่เกือบค่อนชั่วโมง แถมพื้นที่ยังมีขนาดกว้างขวางให้เราเดินชมได้หลายมุมมอง ที่ซาฟารีแม่น้ำแห่งนี้ มีมานาตีเกิดใหม่จำนวนมาก จนต้องนำบางตัวไปปล่อยในธรรมชาติ โดยมีนิทรรศการแสดงกระบวนการอย่างละเอียดตั้งแต่การเตรียมความพร้อม การขนส่ง ไปจนถึงการติดตามเพื่อปรับตัวกับระบบนิเวศตามธรรมชาติอีกซีกโลกหนึ่ง
เราโบกมือลามานาตี เพื่อขึ้นรถไปยังจุดหมายต่อไปที่จะพาเราย้อนเวลาไปศึกษา “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ”
ตัวอย่างชนิดพันธุ์ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติหลี่ กง เจียน
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติหลี กง เจียน
ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีนักท่องเที่ยวจำนวนนับหัวได้ และตั้งอยู่ค่อนข้างไกลคือในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) แม้ว่าจะไม่คึกคักนัก แต่เราก็ได้รับบริการและข้อมูลดีเยี่ยมจากพนักงานที่เดาว่าน่าจะเป็นนักศึกษาที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเฝ้าพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ส่วนที่เปิดให้เยี่ยมชมจะแบ่งออกเป็น 2 ชั้นโดยนำเสนอตัวอย่างชนิดพันธุ์กว่า 2,000 ชนิด ตั้งแต่พืช หอย ไดโนเสาร์ และสารพัดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนชั้นบนจะเป็นพื้นที่สำหรับนักวิจัยซึ่งมีตัวอย่างชนิดพันธุ์กว่าล้านชนิด นับว่าเป็นสถานที่เก็บตัวอย่างชนิดพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กราฟิกทางเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่ถ่ายทอดการเก็บตัวอย่างชนิดพันธุ์ของนักอนุกรมวิธานได้อย่างงดงาม
ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อาจไม่ได้โอ่อ่าเหมือนพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา แต่ก็ร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ ว่าด้วยการกำเนิดชีวิต การวิวัฒนาการ โดยไล่เรียงจากพืชขนาดจิ๋ว สัตว์น้ำ ปลาโบราณ ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยมีโครงกระดูกไดโนเสาร์คอยาวซอโรพอด (Diplocid Sauropods) ขนาดยักษ์ถึงสามตัวด้วยกัน โดยโครงกระดูกที่จัดแสดงนี้มีความสมบูรณ์ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จึงนับว่าทรงคุณค่าอย่างยิ่งในทางวิทยาศาสตร์
ที่อีกมุมหนึ่งมีโครงกระดูกวาฬสเปิร์มขนาดราว 10 เมตร โดยมีป้ายชื่อติดว่าวาฬสเปิร์มสิงคโปร์ ซึ่งเป็นซากวาฬที่ซัดมาติดชายฝั่งที่เกาะจูร่ง ประเทศสิงคโปร์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ได้เข้าไปเก็บซากและทำความสะอาดโครงกระดูกเพื่อนำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ใกล้ๆ กันจะมีวิดีโอแต่ละขั้นตอนของการเก็บรักษาซากสัตว์ ซึ่งนับว่าน่าสนใจไม่น้อย
เมื่อขึ้นไปถึงชั้นสอง การจัดแสดงก็จะเปลี่ยนรูปแบบไป โดยให้ความรู้สึกถึงยุคก่อนสมัยใหม่ เต็มไปด้วยตู้ไม้ที่เก็บตัวอย่างชนิดพันธุ์ ส่วนนี้คือการนำเสนอประวัติศาสตร์ธรรมชาติของสิงคโปร์ เพราะตัวอย่างชนิดพันธุ์เหล่านั้นสามารถพบได้ในอดีตก่อนที่สิงคโปร์จะถูกหักร้างถางพง เปลี่ยนสภาพธรรมชาติเป็นเมืองใหญ่เฉกเช่นปัจจุบัน
แน่นอนว่าชนิดพันธุ์อาจไม่ได้หลากหลายและหวือหวาสักเท่าไรนัก แต่ในส่วนนี้ ความน่าสนใจคือเส้นเวลาพัฒนาการของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งนี้ เป็นประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ บอกเล่ารากฐานความคิดด้านการศึกษาด้านสัตววิทยาในสิงคโปร์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการเข้ามาของสหราชอาณาจักร โดยหนึ่งในนั้นคือนักสำรวจผู้ได้รับขนานนามว่าเป็นผู้ก่อตั้งสิงคโปร์ เซอร์ โทมัส สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stamford Raffles) ซึ่งมาพร้อมกับความคิดในการจัดตั้งสถาบันสิงคโปร์ (Singapore Institute) ซึ่งเป็นรากฐานในการตั้งพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดราฟเฟิลส์ ที่ต่อมาได้พัฒนาสู่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
โครงกระดูกไดโนเสาร์คอยาวซอโรพอด (Diplocid Sauropods) สามตัวที่มีความสมบูรณ์ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสมัยใหม่ของสิงคโปร์ ถือกำเนิดขึ้นราว พ.ศ. 2363 โดยชนิดพันธุ์ที่ได้รับการบันทึกและศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ชนิดพันธุ์แรกคือสมเสร็จมลายู ในวาระครบรอบ 200 ปีประวัติศาสตร์ธรรมชาติสิงคโปร์ ก็ได้มีการจัดนิทรรศการย่อมๆ ว่าด้วยจุดกำเนิด และสถานการณ์ปัจจุบันของการสำรวจธรรมชาติ เป็นการยืนยันว่าสิงคโปร์ไม่ได้หยุดที่จะศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม โดยได้ขยายการศึกษาไปยังเกาะใกล้เคียงและใต้ทะเลลึก
ผู้เขียนเข้าใจว่าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอาจอยู่ไกลจากความสนใจของใครหลายคน และคงยากที่จะถ่อมานอกเมืองเพื่อดื่มด่ำกับกระดูกไดโนเสาร์ กระดูกวาฬ หรือซากปลาซีลาแคนท์ โชคดีที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเว็บไซต์จำลองให้เข้าไปเยี่ยมชมได้ พร้อมกับประวัติของตัวอย่างชนิดพันธุ์ที่จัดแสดงทุกชิ้น แม้อาจจะไม่ได้อรรถรสเท่ามาชมให้เห็นกับตาตัวเองก็ตาม
เมื่อสมองอิ่มกับเรื่องราวธรรมชาติ ท้องก็เริ่มหิวอาหารเย็น แต่มื้อนี้อาจแปลกสักหน่อย เพราะเพื่อนชาวถิ่นของเราชวนไปชิมที่ตลาดทุเรียนสิงคโปร์
ตลาดทุเรียน Kings Fruit ที่มีทุเรียนหลากชนิดพันธุ์ให้เลือกเฟ้น โดยแต่ละชนิดมีรูปร่าง สีสัน และรสชาติที่แตกต่างกันออกไป
ความหลากหลายในตลาดทุเรียน
ทุเรียนในสิงคโปร์นั้นนำเข้ามาจากมาเลเซีย เราโดนเจ้าถิ่นลากมากินแถวเกลัง (Geylang) ร้านประจำที่เพื่อนเรามาบ่อยครั้งในฤดูทุเรียน เพียงแรกเห็น เราก็ค่อนข้างแปลกใจเพราะการกินทุเรียนสิงคโปร์ในความเป็นจริงกับสิ่งที่เราคิดไว้นั้นต่างกันอย่างลิบลับ
ที่ร้าน King Fruits ทุเรียนจำนวนมหาศาลถูกกองไว้ริมทาง ด้านบนมีติดป้ายบรรยายทั้งภาษาจีน ภาษาอังกฤษ รวมถึงราคาที่ไล่เรียงตั้งแต่ลูกละ 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ ไปจนถึง 20 ดอลลาร์สิงคโปร์ ที่สำคัญทุเรียนที่วางขายนั้นไม่ได้เป็นพันธุ์ที่ผมคุ้นชินอย่างหมอนทอง ชะนี หรือก้านยาว แต่เป็นทุเรียนอะไรก็ไม่รู้ที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน บางพันธุ์เป็นชื่อภาษาจีนล้วน บางพันธุ์มีคำภาษาอังกฤษที่พอจะแปลออก
ส่วนที่ผมให้ความสนใจมากที่สุด ก็คือคำบรรยายนี่แหละครับ เพราะมีตั้งแต่ลักษณะของพู คือยาวเรียว เป็นก้อนกลม เนื้อเละ เนื้อแข็ง สีเทา สีเหลือง สีแดงอ่อน เม็ดใหญ่ เม็ดเล็ก ที่สำคัญ แต่ละพันธุ์จะมีโปรไฟล์รสชาติที่แตกต่างกันออกไป เช่น ออกขมนิดๆ ในคำแรกแต่จะปิดท้ายด้วยความหอมหวาน คำบรรยายเหล่านี้คือสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนในตลาดทุเรียนไทย
ผมปล่อยให้เจ้าถิ่นเป็นคนเลือกทุเรียน นั่งชิลรอในห้องที่คล้ายกับร้านก๋วยเตี๋ยว พนักงานเดินมาแจกอุปกรณ์คือถุงมือพลาสติกคนละอัน กระดาษทิชชู และน้ำแบบเติมไม่อั้น ก่อนจะยกทุเรียนมาให้เรา 3 ลูก ผมขมวดคิ้วเล็กน้อยเพราะทั้ง 3 ลูกมีเพียงรอยบากบางๆ แถมไม่ได้มีอุปกรณ์อะไรเพิ่มเติมให้เราจัดการกับเจ้าทุเรียนที่อยู่ตรงหน้า
สิ่งที่ผมประหลาดใจอีกครั้ง คือการที่เพื่อนชาวสิงคโปร์ตรงหน้า สวมวิญญาณหมีแล้วใช้มือ (ที่ไม่สวมถึงมือใดๆ) ไล่เหลี่ยมมุมทุเรียน แล้วค่อยๆ แหกมันออกมาเพื่อกินเนื้อข้างใน ด้วยความสงสัย ผมจึงลองทำบ้างแล้วพบว่าต้องใช้ทักษะไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะหนามทุเรียนในสิงคโปร์ดูจะไม่ได้คมน้อยกว่าหนามทุเรียนไทยสักเท่าไร
ตลาดทุเรียนเป็นความประทับใจเล็กๆ ก่อนนอน เพราะบอกตามตรงว่าเราไม่เคยได้กินทุเรียนที่หลากหลายแบบนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนที่ออกขมหน่อยๆ หรือทุเรียนเนื้อสีแดงอ่อน ซึ่งแต่ละพันธุ์มีเอกลักษณ์ที่เราไม่ค่อยได้พบเจอมากนักในทุเรียนไทย แถมยังราคาสบายกระเป๋าหากเทียบกับค่าครองชีพในสิงคโปร์ ก่อนแยกย้ายกันกลับ เพื่อนเราก็บอกว่าจะแวะมาอีกก็ได้นะ เพราะตลาดแห่งนี้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง
ถือว่าเป็นหนึ่งวันที่เราได้อิ่มตา อิ่มสมอง และอิ่มท้องจากความหลากหลายทางชีวภาพในสิงคโปร์
ขอบคุณ ธิษณา กูลโฆษะ ผู้จัดการทริป
ข้อมูลเพิ่มเติม
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลีคงเชียน
Tags: สิงคโปร์, ความหลากหลายทางชีวภาพ