No Time To Die ภาพยนตร์สายลับ 007 ภาคที่ 25 และจะเป็นภาคสุดท้ายของแดเนียล เครก ที่จะรับบทเป็นเจมส์ บอนด์ ซึ่งจะมีกำหนดเข้าฉายในบ้านเราในวันที่ 9 เมษายนนี้ ภาพยนตร์สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อยหลังจากที่ได้นักแสดงเบอร์ต้นๆ ของฮอลลีวู้ดมาแสดงทั้ง รามี มาเลก ที่เพิ่งคว้ารางวัลออสการ์มาหมาดๆ จากภาพยนตร์เรื่อง Bohimian Rhapsody และ อนา เดอ อาร์มาส นักแสดงสาวที่เคยร่วมงานกับแดเนียล เครก มาแล้วจาก Knives Out นอกจากนี้ยังได้ฮานส์ ซิมเมอร์ มาทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ให้อีกด้วย แต่ยังคงขาดนักร้องที่จะมาร้องเพลงประกอบของภาพยนตร์เจมส์บอนด์ในภาคนี้

ล่าสุดถือว่าช็อกแฟนๆ สายลับ 007 ไม่น้อย เมื่อผู้ที่จะมาร้องเพลงสายลับ เจมส์ บอนด์ ภาคล่าสุดคือบิลลี่ อายลิช นักร้องวัย 18 ปี ที่มาแรงจากอัลบั้ม When We All Fall Asleep, Where Do We Go? ที่ขายดีเป็นอันดับ 1 ในหลายประเทศ และได้เข้าชิงรางวัลแกรมมี่อวอร์ดส์ในปีนี้ถึง 6 สาขาด้วยกัน การมาร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ของบิลลี่ อายลิช ในหนังแฟรนไชส์สายลับ 007 ทำให้เธอกลายเป็นนักร้องที่อายุน้อยที่สุดที่ได้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เจมส์บอนด์

แต่นั่นก็มาพร้อมดราม่าว่านักร้องวัย 18 ปีคนนี้จะสามารถทำได้ตามมาตรฐานของนักร้องรุ่นพี่ได้หรือไม่ เนื่องจากเพลง Skyfall ของอเดล และ Writing’s on The wall ของแซม สมิธ ได้สร้างมาตรฐานไว้ค่อนข้างสูงและสามารถคว้ารางวัลออสการ์ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาได้ทั้งสองเพลง ทำให้แฟนๆ ต่างคาดหวังว่าเพลงประกอบในภาค No Time To Die นี้จะต้องไม่น้อยหน้าภาคอื่นๆ 

แฟนๆ สายลับ 007 ต่างถกเถียงกันถึงการมาของบิลลี่ อายลิช ว่า เพราะเหตุใดเธอถึงได้รับเลือกให้มาร้องเพลงประกอบภาพยนตร์แฟรนไชส์ที่ยิ่งใหญ่เรื่องนี้ โดยในฝั่งของแฟนหนังหลายคนมองว่าเพลงที่ออกมา อาจจะแย่กว่าเพลง Die Another Day (2002) ของ มาดอนน่า เสียอีก ในขณะที่แฟนๆ หลายคนเชื่อว่าบิลลี่ อายลิชจะสามารถสร้างเพลงที่ทรงพลังให้กับภาพยนตร์ด้วยพรสวรรค์ของเธอ

เจมส์ บอนด์ เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ชุดที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่ง สร้างมาจากนวนิยายสายลับของเอียน เฟลมมิ่ง โดยสายลับ 007 เวอร์ชั่นภาพยนตร์นั้นปรากฏตัวครั้งแรกในภาค Dr. No (1962) ซึ่งมาพร้อมเพลงเปิดตัวสายลับที่กลายเป็นตำนานและเป็นเพลงประจำตัวเจมส์ บอนด์ มาจนถึงทุกวันนี้ ผลงานของจอห์น แบร์รี่ และวงออร์เคสตร้า และมอนตี้ นอร์แมน ที่สามารถทำให้ผู้คนที่ได้ยินดนตรีท่วงทำนองนี้รู้ได้ทันทีว่าเป็นเพลงของสายลับ 007’ และเพลง James Bond Theme ในภาคนี้ก็ได้รับการโหวตอย่างไม่มีข้อโต้แย้งว่าเป็นเพลงที่ดีที่สุดของภาพยนตร์แฟรนไชส์ เจมส์ บอนด์ 

เพลงประกอบภาพยนตร์ดูจะเป็นอีกหนึ่งจุดขายหลักของสายลับ 007 และเป็นเรื่องตื่นเต้นว่าใครจะมาร้อง พอๆ กับใครจะมาเป็นสาวบอนด์คนใหม่ เพลงประกอบภาพยนตร์ถือเป็นสิ่งที่ทางสตูดิโอจะละเลยไม่ได้ และมักจะใช้นักร้องชื่อดังในช่วงเวลานั้นๆ มาร้องเพลงประกอบภาพยนตร์สายลับเจ้าเสน่ห์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นตำนานเพลงแจ๊สอย่างหลุยส์ อาร์มสตรองในภาค On Her Majesty’s Secret Service (1969) พอล แมคคาร์ทนีย์ ตำนานแห่ง The Beatles ที่ทำเพลงให้ในภาค Live and Let Die (1973) วงดูแรนดูแรน ในภาค A View to a Kill (1985) วงอา-ฮา (A-Ha) ในภาค The Living Daylights (1987) อเดล ในภาค Skyfall (2012) และแซม สมิธ ในภาค Spectre (2016) 

ในบรรดาเพลงประกอบภาพยนตรเจมส์ บอนด์ ในแต่ละภาคนั้น ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จไปเสียหมด เพลงที่กลายเป็นตำนานหรือขึ้นหิ้งนอกจาก James Bond Theme ในภาคแรกมีทั้ง From Russia With Love ผลงานของจอห์น แบร์รี่ ที่แม้จะคล้ายกับ James Bond Theme แต่ก็ยังคงมีเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำ อีกหนึ่งเพลงก็คือ Goldfinger ของเชอร์รี่ แบสซีย์ และแน่นอนเพลงที่สองของเธอในการร้องเพลงบอนด์ Diamonds Are Forever ก็กลายเป็นเพลงคลาสสิกไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีเพลง Goldeneye ของทิน่า เทอร์เนอร์ License to Kill ของแกลดีส์ ไนท์ 

จะเห็นได้ว่าส่วนมากมักจะเป็นนักร้องหญิง มาในเพลงสไตล์แจ๊ซ บลู หรืออาร์แอนด์บี ที่มีบิ๊กแบนด์วงเครื่องสายเครื่องเป่าและเสียงร้องทรงพลัง จนกลายเป็น ‘ขนบ’ ของเพลงบอนด์ไปแล้ว ที่ถึงแม้จะเปลี่ยนเอานักร้องร็อกมาร้อง อย่างเชอรีล โครว์ หรือวงกาเบจ เราก็ยังเห็นโครงสร้างของดนตรีที่เป็นออร์เคสตร้า เครื่องสาย เหมือนอย่างที่ จอห์น แบร์รี่ ได้เซ็ตมู้ดแอนด์โทนไว้ในภาคแรก เพราะฉะนั้นการที่บอนด์ พยายามจะแหกขนบไปใช้เพลงอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปแดนซ์ (แม้จะปูพื้นแบ็กกราวนด์ดนตรีด้วยเครื่องสายก็ตาม) อย่าง Die Another Day ของมาดอนน่า ก็พังไม่เป็นท่า เพราะมันไม่ใช่เพลงตามขนบของเจมส์ บอนด์ และถูกนักวิจารณ์สับเละ (ถ้าเพลงอยู่ในอัลบั้มส่วนตัวของมาดอนน่าอาจจะไม่ถูกด่าขนาดนั้นก็ได้)

นอกจากนี้ในเชิงการไต่ชาร์ต ก็มีเพียงไม่กี่เพลงเท่านั้นที่ขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งในอังกฤษหรือในสหรัฐฯ อย่างเพลง A View to a Kill (1985) จากวง ดูแรนดูแรนก็ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ในสหรัฐฯ และเพียงอันดับ 2 ในอังกฤษ เพลง Writing’s on the Wall (2016) ของแซม สมิธ ติดชาร์ตอันดับ 1 ในอังกฤษและอันดับที่ 71 ในสหรัฐฯ แต่โชคดีที่ได้รางวัลออสการ์พ่วงมาด้วย แต่ถึงอย่างนั้นแฟนเจมส์ บอนด์ ก็ไม่ได้ปลื้มเพลงนี้มากนัก ด้วยเพราะเป็นแซม สมิธ (ที่เป็นเกย์ และหนังบอนด์เองก็มีความเป็นผู้ชายสูง) 

เพลงของเจมส์ บอนด์ ที่ดูจะประสบความสำเร็จที่สุดทั้งในแง่ของชาร์ตเพลงและรางวัลคงหนีไม่พ้นเพลง Skyfall (2012) ของอเดลที่แม้จะติดชาร์ตอันดับ 2 ในอังกฤษและอันดับ 8 ในสหรัฐฯ แต่ Skyfall สามารถชนะรางวัลในใหญ่ๆ ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นออสการ์ ลูกโลกทองคำ แกรมมี่ อวอร์ดส และรางวัลอื่นๆ อีก 6 รางวัล ที่สำคัญเพลง Skyfall เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่สามารถดึงความนิยมกลับมาได้ในช่วงหลังๆ ที่เพลงบอนด์นั้นไม่ฮิตเอาเสียเลย

เวลานี้เจมส์ บอนด์ ถือเป็นหนังแฟรนไชส์รายใหญ่ ที่มีสินค้าหลากหลายยี่ห้อที่อยากโชว์สินค้าในภาพยนตร์สายลับ 007 ที่ไม่ได้มีดีแค่ยอดขายตั๋วภาพยนตร์ แต่ยังมีผลต่อยอดขายสินค้าที่เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ให้กับภาพยนตร์อีกด้วย สินค้าคู่บุญก็มีทั้งรถยนค์และนาฬิกาที่โผล่มาทุกๆ ภาค ซึ่งสตูดิโออย่าง Metro-Goldwyn-Mayer (MGM) ให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์ทุกอย่าง รวมไปถึงเพลงประกอบในภาพยนตร์ตระกูลบอนด์ ที่จะส่งผลต่อแผนการตลาดของแฟรนไชส์และพาร์ทเนอร์ที่เข้าร่วมในหนังทั้งหมด 

เพราะส่วนใหญ่งบฯ การสร้างภาพยนตร์ตระกูลบอนด์นั้น มาจากพาร์ทเนอร์ที่คาดหวังกับยอดขายของสินค้าของพวกเขาที่ปรากฏในภาพยนตร์ ทำให้ภาพลักษณ์ที่ดี ที่สามารถสร้างกระแสในทางบวกของหนังเป็นเรื่องที่ทางผู้สร้างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการสร้างจุดขายและแผนการตลาดที่แยบยล เพื่อขยายตลาดของภาพยนตร์ให้เข้าถึงผู้คนให้ได้มากที่สุด 

การดึงนักร้องที่มีชื่อเสียงในเวลานั้นมาร่วมงานกับเจมส์ บอนด์ ในการร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ ก็เป็นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องสร้างแผนการตลาดเพื่อให้เป็นที่กล่าวถึง (ในทางที่ดี) เพื่อดึงดูดแฟนคลับของนักร้องและเปิดตลาดใหม่ของหนังให้กว้างขึ้นอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในงานสร้างภาค No Time To Die นี้ ค่อนข้างมีปัญหาระดับหนึ่ง จากการที่ผู้กำกับชื่อดัง แดนนี่ บอยล์ ที่เคยมีผลงานอย่าง Trainspotting และ Slumdog Milionaire ปฏิเสธที่จะกำกับภาคนี้ เนื่องจากความคิดไม่ตรงกันกับสตูดิโอ ก่อนที่จะต่อมายัง แครี่ โจจิ ฟุกุนากะ จาก Beasts of No Nation มารับหน้าที่กำกับแทน โดยสตูดิโอให้เหตุผลว่าพวกเขาต้องการให้เจมส์ บอนด์ ซึ่งเล่นโดยแดเนียล เครก ตายในภาคนี้ (เพื่อที่จะจบการแสดงของแดเนียล เครก ในฐานะสายลับ 007 ลงอย่างสวยงาม) ซึ่งทาง แดนนี่ บอยล์ ไม่เห็นด้วย และการที่แดนนี่ บอยล์ ปฏิเสธไม่รับทำงานต่อ ก่อนถ่ายทำเพียงสามเดือน ก็ทำให้โปรเจ็กต์บอนด์ภาคที่ 25 นี้ล่าช้ากว่ากำหนด ส่งผลต่อพาร์ทเนอร์และสปอนเซอร์รายใหญ่ที่ร่วมลงทุน

การได้นักร้องอย่างบิลลี่ อายลิช มาร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ในภาคนี้ นับว่าเรียกกระแสให้ภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี จะว่าไปแล้วในปีที่ผ่านมา เธอคือนักร้องดาวรุ่งที่ดังที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งก็เข้าเกณฑ์การคัดเลือกนักร้องมาร้องเพลงเจมส์ บอนด์ในแต่ละภาค ที่มักเอานักร้องดังในช่วงนั้นๆ มาเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กของหนัง อีกทั้งสตูดิโอคงวางแผนที่จะสร้างฐานแฟนคลับของเจมส์ บอนด์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เปิดตลาดของหนังให้ใหญ่ขึ้น (แน่นอนว่าแม้แดเนียล เครกก็ไม่เล่นต่อแล้ว แต่เจมส์ บอนด์ ก็คงยังจะมีต่อไป) 

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวเพลงที่โดดเด่นด้านอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงคาแรกเตอร์วัยรุ่นจ๋าของบิลลี่ อายลิช ก็ทำให้แฟนเดนตายของเจมส์บอนด์กังวลว่ามันจะพลาดเหมือนที่ Die Another Day เคยพลาดมาแล้วหรือไม่ หรือนี่จะเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของแฟรนไชส์นี้ที่จะยิ่งทำให้สามารถยืดหยัดข้ามกาลเวลา ซึ่งรวมไปถึงการชวนนักแสดงผิวดำอย่างไอดริส เอลบามาเป็นเจมส์บอนด์ รวมถึงสายลับ 007 คนใหม่ที่จะเป็นผู้หญิง และความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ไม่พ้นจะทำให้เราได้เห็นรอยแยกระหว่างคนต่างเจเนอเรชั่น ท่ามกลางข้อถกเถียงถึงเหตุ ผล และความเหมาะสมของการเลือกนักร้องและนักแสดงของหนัง เราก็ยังไม่วายเป็นคอมเมนต์ทำนอง “OK Boomer” มางัดกับคอมเมนต์ของแฟนๆ ยุคดั้งเดิมอยู่เนืองๆ ซึ่งแน่นอนว่าทีมผู้สร้าง และตัวบิลลี่ อายลิชเอง น่าจะรู้ถึงข้อขัดแย้งนี้แน่ๆ จึงเป็นที่น่าติดตามอย่างยิ่ง ว่าทั้งเจมส์ บอนด์ ภาคใหม่ และเพลงประกอบชิ้นใหม่นี้จะออกมามีรสชาติเป็นอย่างไร 

ที่มา:

https://edition.cnn.com/2020/01/14/entertainment/billie-eilish-james-bond-trnd/index.html

https://en.wikipedia.org/wiki/James_Bond_music

https://www.thedrum.com/opinion/2015/09/25/james-bond-greatest-example-music-marketing

https://blog.hollywoodbranded.com/blog/james-bond-product-placement-the-definitive-timeline-of-brands-in-bond

https://www.thesun.co.uk/tvandshowbiz/5825590/danny-boyle-net-worth-james-bond-quit/

https://collider.com/best-james-bond-theme-songs-ranked-worst-to-best/#for-your-eyes-only

https://www.thetemptrack.com/2015/12/10/editorial-why-writings-on-the-wall-fails-as-a-bond-theme/