อีกครั้งสำหรับปรากฏการณ์ซูเปอร์ฟูลมูนหรือดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุด แม้ว่าครั้งนี้จะไม่ใช่พระจันทร์สีเลือดเหมือนในวันที่ 31 มกราคม 2018 ซึ่งครั้งนั้นเป็นครั้งแรกในรอบ 152 ปี ที่เกิด จันทรุปราคา ซูเปอร์มูน และบลูมูน พร้อมกัน หรือเมื่อครั้ง Super Blood Moon  ที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว ในช่วงวันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2019 แต่ซูเปอร์ฟูลมูนในครั้งนี้ก็สวยงามไม่แพ้กัน โดยเฉพาะคนที่พลาดซูเปอร์มูนครั้งแรกของปีมาแล้วในวันที่  9 มีนาคมที่ผ่านมา (ซึ่งเล็กกว่าครั้งนี้

โดยในครั้งนี้ มีรายงานว่าเมื่อคืน เวลาประมาณตีหนึ่งดวงจันทร์โคจรเข้าสู่จุด Perigee หรือจุดที่ใกล้โลกสุดของวงโคจร ระยะห่างเพียง 356,902 กิโลเมตร โดยในวันนี้ 8 เมษายน ยังคงจะเห็นปรากฏการณ์ซูเปอร์มูน ซึ่งจะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าจันทร์เต็มดวงวันปกติ 7 % และสว่างกว่า 16 % ซึ่งสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก

ซูเปอร์ฟูลมูน ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ทางชาติตะวันตกเรียกว่าพิงก์มูน’ (Pink Moon) ไม่ใช่เพราะว่าเราจะเห็นพระจันทร์เป็นสีชมพู แต่เพราะนี่เป็นปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกของฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือ โดยชื่อนี้ได้มาจากดอกไม้สีชมพูที่ชื่อว่า phlox subulata ซึ่งจะบานในฤดูใบไม้ผลิในอเมริกาเหนือ โดยในแต่ละประเทศ แต่ละซีกโลกก็จะมีชื่อเรียกปรากฏการณ์นี้ไม่เหมือนกัน บางที่อาจจะเรียก Fish Moon บ้างก็เรียก Sprouting Grass Moon หรือ Egg Moon

โดยหากพลาดในครั้งนี้ จะต้องรอปีหน้า เพราะปรากฏการณ์ซูเปอร์มูน หรือดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกจะเกิดขึ้นครั้งต่อไปวันที่ 26 พฤษภาคม 2021 โดยจะห่างจากโลกประมาณ 357,454 กิโลเมตร

อ้างอิง

https://metro.co.uk/2020/04/07/supermoon-2020-called-pink-moon-12520866/

https://www.space.com/biggest-supermoon-2020-super-pink-moon-guide.html

https://www.sciencealert.com/if-you-need-a-distraction-there-ll-be-a-rare-super-pink-moon-on-wednesday

ภาพ : ซูเปอร์มูนที่เกิดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา โดย Heuler ANDREY / AFP

Tags: , ,