ศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดฉากแล้ว ผลโพลพบว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้คะแนนนิยมไม่ถึงครึ่ง ทำให้ผู้ท้าชิงดูจะมีลุ้นในการเลือกตั้ง แม้กระนั้น นักสังเกตการณ์มองว่า ต่อให้โจ ไบเดน เป็นฝ่ายชนะ นโยบายต่างประเทศของอเมริกาอาจเปลี่ยนแปลงแค่ท่วงทีลีลา ทว่าทิศทางใหญ่ยังคงรับไม้ต่อจากทรัมป์

  การดำเนินนโยบายต่างประเทศภายใต้คำขวัญอเมริกาต้องมาก่อนของทรัมป์ ดูจะส่งผลบั่นทอนสถานะผู้นำโลกของสหรัฐฯ ไม่น้อย ทำให้นานาชาติเกิดคำถามว่า สหรัฐฯ มิได้เป็นพี่เบิ้มใจถึงพึ่งได้ในการค้ำจุนสันติภาพระหว่างประเทศอีกต่อไปแล้ว ใช่หรือไม่  

  ความแคลงใจในข้อนี้เกิดจากนโยบายของทรัมป์สารพัดเรื่อง บางเรื่องสร้างความขุ่นข้องเมินหมางกับชาติพันธมิตรอย่างนาโต บางเรื่องเพิ่มความเป็นปรปักษ์กับประเทศคู่แข่งอย่างจีน บางเรื่องตอกย้ำความเป็นอริกับประเทศคู่ปรับอย่างอิหร่าน และบางเรื่องละทิ้งพันธะในความร่วมมือหลายฝ่ายอย่างข้อตกลงโลกร้อน

  ถึงแม้รัฐบาลทรัมป์เปิดประตูใหม่ๆในทางการทูต หวังแก้ปมปัญหาคาราคาซังที่กระทบต่อเสถียรภาพของโลก อย่างเช่นเรื่องนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ แต่การพบหารือครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างทรัมป์กับผู้นำเปียงยางก็ยังไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม

  นักการทูตและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิเทศสัมพันธ์มองกันว่า หากผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต โจ ไบเดน สามารถล้มทรัมป์ได้ เขาคงต้องซ่อมเสริมสถานะของอเมริกาเป็นการใหญ่ อย่างไรก็ดี ไบเดนคงไม่ถึงกับโยนนโยบายต่างประเทศของผู้นำคนปัจจุบันจากพรรครีพับลิกันทิ้งน้ำไปเสียทั้งหมด 

ทรัมป์ทำอะไรก็ผิด?

ทรัมป์กับไบเดน ใครจะชนะในเดือนพฤศจิกายน ยังเร็วเกินไปที่จะคาดเดา แต่ถ้าไบเดนชนะ เรื่องใหญ่ที่รองประธานาธิบดีสมัยบารัค โอบามา ผู้นี้จะต้องจัดการเป็นลำดับแรกๆ ในด้านการต่างประเทศ คือ ปรับปรุงความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรแอตแลนติก เจรจากับจีน และพูดคุยกับเกาหลีเหนือและอิหร่าน

  ไบเดนคงต้องเก็บกวาดผลงานหลายอย่างที่ทรัมป์ทำเลื่อนเปื้อนเอาไว้

  ในเรื่องจีน ทรัมป์เปิดศึกกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกด้วยมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าหลายระลอก ทำให้เกิดสงครามการค้ายืดเยื้อตลอดระยะเวลาเกือบสองปี และนับแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทรัมป์ยังกล่าวโทษไวรัสจีนที่ทำให้คนอเมริกันนับแสนติดเชื้อโควิด-19

  นี่ยังไม่นับเหตุระหองระแหงกับปักกิ่งอีกหลายเรื่อง เช่น กรณีเลิกให้สถานะพิเศษแก่ฮ่องกง คว่ำบาตรผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮ่องกง งัดข้อกับจีนในเรื่องทะเลจีนใต้ สั่งแบนหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน รวมถึงวิจารณ์ปักกิ่งในเรื่องการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์

  ในเรื่องความสัมพันธ์กับพันธมิตรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ทรัมป์ยิงคำถามดุเดือดว่า นาโตมีไว้ทำไม องค์การความร่วมมือทางทหารที่ก่อตั้งเมื่อปี 1949 ในยุคสงครามเย็นกับโซเวียตแห่งนี้ ยังจำเป็นอยู่อีกหรือ ถ้ายังต้องการคงไว้ ชาติยุโรปก็ควรจะเพิ่มงบฯ กลาโหมของแต่ละประเทศ เพื่อแบ่งเบาภาระของอเมริกา ยิ่งกว่านั้น ทรัมป์ยังประกาศจะลดจำนวนทหารอเมริกันในเยอรมนีอีกต่างหาก

  การลดทหารในต่างแดนเป็นคำมั่นสัญญาข้อหนึ่งในนโยบายหาเสียงของทรัมป์เมื่อปี 2016 วอชิงตันเริ่มถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานแล้วหลังจากบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มตอลิบันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยตั้งเป้าที่จะถอนกลับทั้งหมด ขณะเดียวกัน ทรัมป์ยังสั่งถอนทหารออกจากซีเรียด้วย

  ในเรื่องอิหร่าน เมื่อปี 2018 ทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่เตะหะรานทำกับบรรดามหาอำนาจ โดยประกาศที่จะจัดทำฉบับใหม่ พร้อมกับออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมเพื่อบีบให้ยอมเจรจา แต่อิหร่านยังคงยืนกรานยึดถือข้อตกลงฉบับปัจจุบัน

  ในเรื่องเกาหลีเหนือ ถึงแม้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่พบปะพูดจากับผู้นำเปียงยาง แต่การเจรจาถอดถอนอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลียังไปไม่ถึงไหน

  ในเรื่องข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกรุงปารีส การถอนตัวของทรัมป์ดูจะเรียกเสียงตำหนิติเตียนอย่างอื้ออึงมากที่สุด ทรัมป์อ้างว่า ข้อตกลงฉบับนี้บั่นทอนเศรษฐกิจอเมริกา เพิ่มภาระงบประมาณแก่รัฐบาลอเมริกัน พร้อมกับเรียกร้องให้เจรจาใหม่ ทว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

ฝากความหวังกับไบเดน? 

ตลอดสี่ปีในวาระประธานาธิบดี ทรัมป์มุ่งลบล้างผลงานนโยบายต่างประเทศของโอบามาแทบทุกเรื่อง นอกจากเลิกมองจีนเป็นหุ้นส่วน หันหลังให้ข้อตกลงโลกร้อน ผละออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน เขายังถอนตัวจากกระบวนการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือทีพีพี ด้วย

  ผู้คนในแวดวงการทูตทั่วโลกกำลังตั้งตาคอยที่จะถอนใจอย่างโล่งอกกับความพ่ายแพ้ของทรัมป์ในศึกเลือกตั้งสมัยสองของเขา หลายคนคาดหวังที่จะเห็นไบเดน ซึ่งมีประสบการณ์ด้านนโยบายต่างประเทศมานานหลายทศวรรษ ปลุกชีพนโยบายยุคโอบามากลับมาอีกครั้ง เริ่มที่ข้อตกลงโลกร้อนเป็นลำดับแรก

  อย่างไรก็ดี นักสังเกตการณ์เตือนว่า อย่าเพิ่งตั้งความหวังแบบขาวล้วนดำล้วน เพราะประเมินว่า ต่อให้ไบเดนชนะ สหรัฐฯ ที่สะบักสะบอมด้วยพิษโรคระบาด เผชิญกับการผงาดของจีน อาจไม่เบนเข็มจากทิศทางที่เน้นผลประโยชน์แห่งชาติอย่างเข้มข้นมากนัก

  ไมเคิล พิลส์เบอร์รี อดีตเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ นักวิเคราะห์กิจการจีน ซึ่งทำงานเป็นที่ปรึกษาวงนอกให้ทรัมป์ บอกว่า อันที่จริง สหรัฐฯ เริ่มใช้ท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยของโอบามาแล้ว ทีมที่ปรึกษาของไบเดนก็มองจีนด้วยความวิตก ทั้งในเรื่องการเสริมสร้างกำลังทางทหาร การสอดแนม และการปฏิบัติด้านการค้า

  ทอม เฟล็ตเชอร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรีสามคนของอังกฤษ บอกว่า รัฐบาลไบเดนคงไม่เปลี่ยนนโยบายต่อจีนอย่างขนานใหญ่ เพียงแต่อาจเปลี่ยนไปใช้ท่าทีที่นุ่มนวลกว่า คำพูดคำจาที่รื่นหูกว่า กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดกว่า

  เดวิด โอซัลลิแวน อดีตเอกอัครราชทูตอียูประจำกรุงวอชิงตัน บอกว่า ไบเดนอาจรื้อฟื้นข้อตกลงกับอิหร่าน และกลับเข้าร่วมข้อตกลงการค้ากับเอเชีย แต่เขาคงทำคล้ายทรัมป์ที่เรียกร้องให้ปรับปรุงข้อตกลงให้ตอบสนองอเมริกาเพิ่มขึ้น

  ส่วนในเรื่องนิวเคลียร์เกาหลีเหนือนั้น นักวิเคราะห์เห็นพ้องกันว่า ไบเดนคงสานต่อการเจรจายุติโครงการนิวเคลียร์ที่ทรัมป์ได้เปิดเกมรุกค้างไว้

 

อ้างอิง :

Reuters, 24 August 2020

Reuters, 24 August 2020

 

 

 

 

Tags: ,